คุยกับ “คนรุ่นใหม่” ในแวดวงข้าราชการ รองปลัด มท.วัย 48 ปี ด้วยบทบาท “ดีไซเนอร์-คอนดักเตอร์”

“คนรุ่นใหม่” ในแวดวงข้าราชการ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัด มท.วัย 48 ปี ด้วยบท “ดีไซเนอร์-คอนดักเตอร์” : รายงานพิเศษ โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ในบรรดารองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) 4 คน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร เป็นรองปลัดที่อายุน้อยที่สุด แค่ 48 ปี ยังเหลือเวลาราชการอีก 12 ปี ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงร่ำลือว่าเขาคือ ปลัด มท.ในอนาคต

ซึ่งถ้าดูโปรไฟล์ของนักปกครองผู้นี้จะเห็นได้ว่าสมบูรณ์แบบและเติบโตเร็วมาก โดยขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่อายุ 46 ปี

เริ่มจากสอบเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้คะแนนอันดับ 1 ตามด้วยเกียรตินิยม และจบปริญญาโทสาขาเดียวกัน

เป็นปลัดอำเภอหลายอำเภอในหลายจังหวัด ไต่เต้ามาเป็นลำดับ ปี 2552 เป็นผู้ตรวจฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2554 ผอ.ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ปี 2556 ขยับขึ้นรองผู้ว่าฯ ปทุมธานี ปี 2560 โยกเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ปี 2561 ผู้ว่าฯ บึงกาฬ (อายุ 46 ปี) ปี 2562 ผู้ว่าฯ อุดรธานี

ปี 2563 รองปลัด มท. และได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคใหญ่

หากได้คุยกับรองปลัด มท.ผู้นี้ จะรับรู้ได้เลยว่า เป็นนักบริหารที่มองโลกในแง่ดี และเป็นนักประสานสิบทิศ มีบุคลิกอ่อนน้อม ที่สำคัญไม่ใช่คนที่เรียนหนังสือเก่งอย่างเดียว แต่ทำงานเก่งด้วย แม้ที่ผ่านมาจะอ่อนด้อยในเรื่องงานประชาสัมพันธ์ไปบ้าง

ช่วงที่สนทนากับรองปลัดนิรัตน์ ได้พูดคุยกันในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 50

“ผมว่าผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่คอยพิจารณาเรา หรือผู้ร่วมงาน สิ่งที่เขาดูคือผลงานมากกว่า ถึงจะได้รับการยอมรับ อายุเป็นเพียงส่วนหนึ่ง อายุน้อยไม่มีปัญหาถ้ามีวุฒิภาวะเพียงพอ ประกอบกับผลงานเป็นที่ประจักษ์ อันนี้เป็นตัววัดมากกว่า”

“ขอย้ำว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข และให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งผมไม่ขอเวลานาน เดือนเดียวก็พอ อย่าเพิ่งวิจารณ์ อย่าให้ราคาผมต่ำเหมือนอายุ แต่อยากให้ดูและมาช่วยกันทำงาน ใช้เวลาไม่นาน ธรรมชาติของคน ถ้าเรามุ่งมั่นในการทำงาน ก็ต้องเพิ่มความขยันให้เกิดความยอมรับในเวลารวดเร็ว ความขยัน ความใส่ใจ ตั้งใจ จริงจัง พูดจาดีๆ และมาร่วมกันทำ”

“ผมไปอยู่ในแต่ละที่ ภายในเดือนเดียวเสียงเหล่านี้มันหายไป ไม่ได้มีปัญหากวนใจและไม่ได้กลัวอะไรมาก เพราะเราเตรียมใจไว้อยู่แล้ว”

: ยืนยันไม่ใช่เด็กเส้นใช่ไหม

“ผมโตมาในระบบคุณธรรม สอบเข้ามา เติบโตตามเกณฑ์ ในทุกช่วงเวลาตำแหน่งก็ต้องมีผลงานที่เด่นชัด และเป็นที่ยอมรับเพียงพอที่ให้ผู้บังคับบัญชาสนับสนุนให้โตต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากกว่า”

: อยากทราบว่าทำงานอย่างไรถึงได้มีผลงานดีเด่นเข้าตาผู้บังคับบัญชา

“เมื่อเราเจอปัญหา ต้องไม่หนีปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ที่ไหนเราก็ไปดูไปแล ไปพิจารณาและหาวิธีแก้ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ผ่านไป หรืออย่าเฉย ทำเป็นเรื่องไม่สำคัญไม่ได้ เราเป็นนักปกครองมาถึงตำแหน่งนี้ อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน เจอต้องรีบแก้ และไม่มีเวลาผัดวันประกันพรุ่ง เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเจอปัญหาอะไร เมื่อทำก็เกิดเสียงสะท้อน ถ้าเจอแล้วก็แก้ปัญหาเลย”

“ถ้าคิดได้แล้วอย่ารีรอ หนึ่งคือถ้าคิดว่ามันถูกกฎหมายถูกขั้นตอนแล้วทำเลย มีผิดมีสะดุดบ้างก็ไปแก้ข้างหน้า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในระหว่างที่เราเดินไปแก้ปัญหาไป แต่ถ้าไม่ลงมือทำเลยปัญหาจะหมักหมม พี่น้องประชาชนจะรู้สึกไม่ดี ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เราเจอแล้วทำทันทีจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี ความร่วมมือก็จะเกิด”

“ผมเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม คำว่าฮีโร่ไม่มีในหัวผม เน้นการสร้างทีม คือเราไปอยู่ในจังหวัดส่วนไหนเขาแข็ง ภาคราชการ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ถ้าเขามีศักยภาพพอที่จะมาช่วยได้ ผมจะเชิญทุกคนมาคุย หรือแสวงหาความร่วมมือว่าใครช่วยตรงไหนได้บ้าง”

“เราก็เป็นดีไซเนอร์ เป็นคอนดักเตอร์ที่คอยประกอบกำลังกัน คอยสร้างทีมขึ้นมา เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลให้เดินได้ ให้บรรลุเป้าหมายได้ นี่คือสิ่งที่น่าจะให้ความสำคัญของการทำงานในยุคปัจจุบัน”

“อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดยุคปัจจุบัน ยังต้องรักษาคุณสมบัติของการเป็นนักปกครองไว้อยู่ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นมาคือ ต้องเป็นนักบริหารที่ทันกับสถานการณ์ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว ปัญหาต่างๆ หรือความต้องการต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแทบจะทุกวินาที ถ้าไม่เน้นมิติในการบริหารให้มากขึ้น อาจจะบริหารไม่ทันในบางโอกาส นี่คือสิ่งที่เป็นบทหนักของคนที่ทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำหน้าที่มิตินักปกครอง และนักบริหารควบคู่กันไป”

นอกจากนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องเป็น change management ต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ได้ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรถึงจะพาเมืองที่เรารับผิดชอบ ประชาชนที่เราดูแลอยู่ เดินไปสู่เป้าหมายให้ได้ ไม่ใช่เปลี่ยนอะไรยังไม่รู้เลย นักบริหารการเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนโดยรักษาเป้าประสงค์ไว้ให้ได้

: เวลาเจอปัญหาอุปสรรคแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

หลักๆ แรกเลยคือทำอย่างไรถึงจะรักษาประโยชน์ของพี่น้องประชาชนให้ถูกทาง เราดูแลทุกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เป็นข้าราชการมันเอนเอียงไม่ได้ ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ กรณีได้วันนี้คนอีกกลุ่มก็จะมีปัญหา ถ้าเราทำอะไรที่ตรงไปตรงมา และเป็นไปด้วยประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ไม่ว่าวันนี้หรือวันข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรที่จะมาปรากฏให้เราไปตอบคำถามภายหลัง

อันนี้คือหลักคุณธรรม ถ้าใช้หลักคุณธรรมจะสบายใจและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

: ยังมีเวลาอีก 10 กว่าปี วางแผนชีวิตราชการไว้บ้างหรือเปล่า

“เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ทุกคนต่างฝันที่อยากจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อยากเป็นเจ้าเมือง ผมว่านี่ก็เป็นฝันของแต่ละคน”

“สำหรับผมที่ผ่านมาสูงสุดแล้ว ที่เหลือจะเดินไปได้แค่ไหนอันนั้นก็แล้วแต่บุญวาสนา แล้วแต่สิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้ดีที่สุด ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย แต่ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในราชการก็หวังเพียงว่าจะทำอะไรให้กับประเทศชาติ ให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่านั้น”

: ในการทำงานมีใครเป็นต้นแบบหรือชื่นชอบ

“ตอบไปจะหาว่าสอพลอไหม เห็นตัวอย่างมาเยอะ อย่างท่านฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ทุ่มเทการทำงาน บางวันท่านต้องไปพบผู้ใหญ่กลุ่มโน้นกลุ่มนี้มากมาย หลังจากหมดเวลาราชการก็ยังเห็นเคลียร์งาน สั่งงานในแฟ้มอยู่ ผมเห็นท่านเป็นตัวอย่าง ท่านไม่เคยปล่อยให้งานค้าง ดึกดื่นอย่างไรก็ต้องทำ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นให้เร็วที่สุด นี่คือตัวอย่างปัจจุบัน”

“ขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาในอดีตก็เห็นมากมาย ที่มีความมุ่งมั่นจะทำให้เกิดการสร้างความสุขให้กับประชาชนหรือแก้ปัญหาทุกข์ร้อนให้กับประชาชนให้หมดสิ้นไปให้เร็วที่สุด โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย”

: ช่วงอยู่อุดรฯ 1 ปีมีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง

“อุดรฯ เป็นเมืองที่สนุกสนานมากกับการทำผลงานให้ได้ตามความต้องการของพื้นที่ เพราะอุดรฯ เป็นเมืองใหญ่ อยู่เฉยไม่ได้ เกียร์ว่างไม่มี งานหนัก ถ้าในเรื่องของกายภาพก็มีการพัฒนาเมืองในเรื่องของการทำให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย แล้วก็เติมสีสันความสวยงามให้กับเมือง เพื่อเชื่อมต่อกับมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเมืองที่คนมาเที่ยวเยอะอยู่แล้ว”

“แต่จะก้าวไปให้ไกลกว่านั้น ทำให้มีจุดดึงดูดลูกค้า นักท่องเที่ยว ทำให้เป็นเมืองแห่งการจัดประชุม เป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น”

“สิ่งดีๆ เหล่านี้ มันจะคงอยู่ตลอดไป ถ้าคนอุดรฯ ทุกคน ทุกภาคส่วนทำต่อไป”

: ในฐานะที่เคยอยู่โซนอีสานและมารับผิดชอบโดยตรง มองอนาคตภาคนี้อย่างไร

“ผมมาอยู่อีสาน 3 ปีหลัง มองว่าเป็นดินแดนที่มีศักยภาพ และที่สำคัญคนอีสานน่ารักมาก เพียงแต่โอกาสบางอย่างไม่ได้รับการนำเสนอ คือการช่วยกันถกช่วยกันคิดที่จะสื่อไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือสื่อไปถึงรัฐบาล ให้มาช่วยสนับสนุน”

“ฝนแล้งก็ไม่ได้แล้งจนไม่มีน้ำจะกิน มีฝนตกเพียงพอ แต่พื้นที่ชลประทานที่มีการเก็บน้ำไว้อาจจะยังมีน้อย ต้องเสนอว่าตรงไหนทำได้อีก จะได้เป็นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์พื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น”

“แรงงานอีสานเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ต้องส่งออกไปต่างประเทศหรือในกรุงเทพฯ แต่ถ้ามีการสร้างงานมากขึ้น จะลดการเดินทางของแรงงานข้ามถิ่น และเกิดการผลิตในพื้นที่ กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานหรือกิจกรรมประกอบของแรงงานก็จะเกิดมากขึ้น จะเกิดการหมุนเวียนของเงินมากขึ้นนี่คือศักยภาพของแรงงานภาคอีสาน และวันนี้ไม่ได้มองแค่ 20 จังหวัดอีสาน ถ้ามองแค่นี้จะมองว่าอุดรฯ เป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบน ก็ขีดแม่น้ำโขงเป็นขอบเขตของเรา”

“แต่ปัจจุบันคิดแค่นี้ไม่ได้ สะพานแม่น้ำโขงเป็นตัวเปิดประเทศ ทุกวันนี้เรารับคนลาวปีหนึ่ง 3,500,000 คน อุดรฯ ซึ่งอยู่ใกล้หนองคายจะได้ประโยชน์อะไรตรงนี้บ้าง”

“วันนี้เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุดรฯ จะไม่มองว่าเราเป็นศูนย์กลางของอีสานอีกแล้ว แต่ต้องมองว่าเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบไปด้วย อีสาน 20 จังหวัด ลาวทั้งประเทศ จีนตอนใต้ เวียดนามทั้งประเทศและกัมพูชา จะทำอย่างไรถึงจะดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนหรือกำลังซื้อต่างๆ ให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอย หรือเกิดกิจกรรมในแผ่นดินอีสานให้มากที่สุด โดยให้อุดรฯ เป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน การรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวต่างๆ ที่จะช่วยกระจายไปยังจังหวัดรอบๆ ได้อย่างไม่ยาก”

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่ารองปลัด มท.ผู้นี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอีสานให้พัฒนาก้าวหน้าตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่