เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | โหมโรงเย็น

“เออว่ะ…เออแน่ะ… ลูกหลานมันพูดกะกูแล้ว…” ยายแม้นแกยกมือย้วยย้ายเหมือนอย่างจะร่ายรำ ปากก็พร่ำพูดอยู่อย่างนั้น

“…ลูกหลานมันพูดกะกูแล้ว…”

ยายแม้นแกนั่งอยู่หลังวงระนาด ที่กำลังบรรเลงเพลงโหมโรงเย็นอยู่บนชานเมือง ระหว่างรอพระมาสวดศพตาพิมผัวแก

“ลูกหลาน” ที่ยายแม้นแกพร่ำพูดอยู่นี้ก็คือเหล่านักดนตรีวงระนาดลูกศิษย์ตาพิมผัวแกเอง

ตาพิมหรือครูพิม ครูวงระนาดประจำวัด แกเพิ่งเสียชีวิตไปตามวัยสังขารอย่างสงบ ตั้งศพเป็นคืนแรกบนชานเรือนบ้านแกเอง

“แม่มากินข้าวก่อน เดี๋ยวพระมาแล้ว”

ลูกหลานแท้ๆ ของยายแม้นเข้าไปฉุดรั้งให้แกออกมาจากหลังวงระนาด

“…กูไม่หิว กูจะคุยกะพวกลูกหลานกู…”

แล้วยายแม้นก็พึมพำทำท่าทางเหมือนกำลังคุยอยู่กับใครบางคน

ใครบางคนก็คือ “ครูพิม” นักระนาด ครูระนาดของวงที่กำลังบรรเลงเพลงโหมโรงเย็นอยู่นี้

“…ฉิ่งต้องลงจังหวะเว้ย ฉิ่งฉับไม่ใช่ฉับฉิ่ง เสียงฉับต้องลงให้ตรงจังหวะลูกตกของเพลง”

“สามชั้น จังหวะยืดอย่างนี้”

ครูพิมแกทำมือประกอบให้คนฉิ่งตีเปิดเสียงฉิ่ง แล้วตีประกบฉิ่งเป็นเสียงฉับ

“ทั้งวงหยุดก่อน ฟังครูจะบอกให้ ครูของครูข้าสอนว่า วงระนาดทั้งวงนี้เหมือนครอบครัวหนึ่ง มีพ่อ แม่ ลูกชายสอง ลูกสาวคนเล็กหนึ่ง คือปี่พาทย์เครื่องห้านี่ไง”

“เอ้า ลองทายซิมีเครื่องอะไรมั่ง ใครเป็นพ่อเป็นแม่ ใครเป็นลูก”

“ก็ครูกับป้าแม้นนี่ไงเป็นพ่อเป็นแม่”

ไอ้โด่งระนาดเอกเริ่มแหย่ครู

“แล้วเอ็งเป็นลูกกูเรอะ”

เสียงฮากันทั้งวงเมื่อเห็นไอ้โด่งเอี้ยวตัวหลบไม้ตีฆ้องที่ครูพิมหมายเดาะกบาล

“เอ้า ใครทายถูกว่าระนาดเอก ทุ้ม ฆ้องวงใหญ่-เล็ก ปี่ ห้าเครื่องนี่ใครเป็นใคร”

“ผมว่ากลองตะโพนเป็นพ่อนะ”

ไอ้ปื๊ดคนระนาดทุ้มชักสนุกเริ่มทาย

“ไม่เอาเครื่องจังหวะเว้ย”

ครูพิมยกมือเหมือนห้าม

“ถ้างั้นผมว่าระนาดเอกเป็นพ่อแน่”

ไอ้เปียคนฆ้องวงเล็กออกเสียง

“ผิดหมดว่ะ ไม่ต้องทายแล้ว ครูของครูสอนอย่างนี้จำไว้”

แล้วครูพิมก็หยิบปี่ในประจำวงที่ไอ้ทิพย์มือปี่ทำตาปริบๆ

“ปี่ในนี่เปรียบเหมือนพ่อ เสียงจะลอยขึ้นคุมและดูแลทั้งวง แม่ก็คือ ฆ้องวงใหญ่คอยแจกลูก เน้นเนื้อๆ เพลงให้ฟังทั้งวง ส่วนเอกทุ้มนี่เอ็งว่าใครเป็นใครเอ้า”

ไอ้แถมคนฆ้องวงใหญ่เพิ่งกระหยิ่มว่าได้เป็นเหมือนแม่วง ชิงพูด

“ระนาดเอกเป็นพี่ชายคนโต ระนาดทุ้มเป็นน้องชายคนรอง น้องสาวคนเล็กเป็นฆ้องวงเล็กใช่ไหมครู”

“ถูก ฆ้องวงเล็กคือน้องสาวคนเล็ก นอกนั้นผิด ที่ถูกคือ พี่ชายคนโตคือระนาดทุ้ม ส่วนน้องชายคนรองคือระนาดเอกเว้ย”

ครูพิมไขปริศนาวงต่อ

“พ่อปี่นั้นลอยเสียงคุมวงคุมเพลงอยู่ข้างบน ขณะแม่ฆ้องวงใหญ่คอยแจกลูกเนื้อเน้นๆ ให้เจ้าระนาดเอกเอาไปแปรปราดเปรียวเกรี้ยวกราดเอาตามใจ ตามประสาลูกชายคนกลางที่มักเอาแต่ใจตัวไง ส่วนลูกชายคนโตนั้นเหมือนระนาดทุ้มคอยตอดคอยตามประคับประคองเจ้าน้องชาย ให้อยู่กับร่องกับรอยนั่น ส่วนน้องสาวคนเล็กคือฆ้องวงเล็กนั่งข้างแม่ก็กะหนุงกะหนิง สนุกสนานไปกับแม่และพี่ทั้งสอง”

ครูพิมแกพูดจนศิษย์ทั้งวงเห็นภาพและเริ่มเข้าใจหน้าที่ของตนขณะบรรเลง ซึ่งแต่ละเครื่องมือต่างก็มีวิธีบรรเลงดังเรียกว่า “ทาง” เพลงของแต่ละเครื่องมืออยู่นั้น

“ส่วนพวกเครื่องจังหวะทั้งหลาย ก็คือพื้นชานเสาเรือนให้นั่งบรรเลงอยู่ด้วยกันนี่ไง”

ยายแม้นแกทำท่าทำทางพลางตบพื้นชานเรือนเหมือนว่าได้ฟังตาพิมแกสาธยายอยู่ต่อหน้าศิษย์ที่กำลังบรรเลงเพลงโหมโรงเย็นรอพระมาสวดศพอยู่นี่

ศพตาพิมครูระนาด

มโหรีล่ม

ตะกั่วถ่วงลูกระนาดระนาดระเนน

เสียงจึงเพี้ยนเบี่ยงเบนเป็นแปร่งหู

สำคัญคนฆ้องใหญ่ใช่มือครู

วงที่ดูเหมือนจะดีเลยไม่ดี

สามสายซ้อนอ้อนแอ้นไม่แม่นนิ้ว

คันสีผิวแผ่วผันผิดคันสี

ทั้งด้วงอู้พรูพัลวันตี

มโหรี มโหฬาร ประลาญประเลง

จะเข้ครั่นนิ้วครั่นปานจับกบ

ขลุ่ยตะปบนิ้วพล่อยลอยโหวงเหวง

ลักจังหวะคร่อมจังหวะต๊ะโตงเตง

ขุนบรรเลงเพลงพินาศซัดเซซัง

คนฉิ่งไม่ฉิ่งฉับเป็นฉับฉิ่ง

กลองไม่ติงทั่งติง ทั่งติงทั่ง

ทั้งกระบวนรวนเรประเดดัง

คนรู้ฟัง ไม่รู้ฟัง นั่งโห่ฮา

นักดนตรีอ่อนหัดเพิ่งหัดเล่น

หลงว่าเป็นวงโปรดโลดถลา

พอขึ้นเพลงก็ลื่นล้มลงล่มลา

วงก็คว่ำคาตา คาเวที!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์