มนัส สัตยารักษ์ | ทางออกหรือทางตัน

ไม่ได้ไปเที่ยวไหนกับเขา อยู่บ้านอ่านหนังสือ อ่านข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ ดูข่าวในทีวี และติดตามข่าวร้อนๆ จริงบ้างเท็จบ้างจากโซเชียลออนไลน์ หมุนไปเวียนมาอยู่ประมาณนี้

ภาพที่เกิดขึ้นในห้วงความคิดระยะนี้ก็คือ ภาวะวิกฤตรอบโลก รอบเมืองไทย และในเมืองไทย

ไฟป่าจากเมืองใหญ่ที่ออสเตรเลียหรือแคลิฟอร์เนีย เมื่อมองด้วยสายตานกจากระดับสูง ก็ดูราวกับว่าโลกคือดวงไฟยักษ์กลมๆ ดวงหนึ่ง ไม่ไช่ดาวสีฟ้าที่เย็นตา ถัดจากภัยแล้งอันร้อนรุมโลกก็พบกับน้ำท่วม ดินถล่ม คลื่นยักษ์ วาตภัย พายุมรสุม กล่าวได้ว่าครบทั้ง 8 มหาภัย

ดังนั้น พอเจอข่าว (จากที่ไหนก็ลืมเสียแล้ว) ว่าพบน้ำจำนวนมากบนดวงจันทร์ พลันก็เกิดจินตนาการวิตกว่าน้ำอาจจะท่วมโลก

เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้ เอเชียเจอมรสุมไปตามๆ กัน อินเดียหนักกว่าเพื่อน น้ำท่วมนิวเดลีผู้คนเสียชีวิตถึง 1,300 คน ถัดมาไม่นานเกิดเหตุเหมืองถล่มที่พม่า พายุที่ฟิลิปปินส์ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีไต้ฝุ่นชื่อแปลกๆ ถล่มกัมพูชาและเวียดนามหลายระลอก ทางการเวียดนามต้องอพยพประชากรหนีตาย 5.7 แสนคนไปในที่ปลอดภัย ฯลฯ

เมืองไทยราษฎรหลายจังหวัดเดือดร้อนกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำล้นเขื่อนที่โคราช ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วนับว่าประเทศไทยโชคดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ผมถือเคล็ดว่าจะไม่เอ่ยคำว่า “เราโชคดี” โดยไม่จำเป็น เหตุที่ถือเคล็ดนี้สืบเนื่องมาจากสังเกตได้ว่า เมื่อขับรถไปดีๆ พอชมว่า “โชคดีรถไม่ติด” เท่านั้นแหละ การจราจรก็จะติดขัดขึ้นมาทันที (ฮา)

ในกรณีของพายุมรสุม “โมลาเบ” นี่ก็เช่นกัน เมื่อ 2 วันก่อนหน้านี้ทางการเตือนประชาชนคนไทย 47 จังหวัดให้เตรียมระมัดระวังฝนตกหนักและน้ำท่วมในวันที่ 30-31 ตุลาคม

นึก “โชคดี” อยู่ในใจ (โดยยังไม่ได้พูดออกมา) ว่าประเทศไทยไม่เจอหนักอย่างเพื่อนบ้าน แต่พอถึงวันที่ 28 ตุลาคม ทีวีจอเดียวกันก็เตือนประชาชน 64 จังหวัด เพิ่มขึ้นทันทีอีก 17 จังหวัด!

ในวันเวลาไล่เลี่ยกัน ดูเหมือนจะเป็นวันที่ 26 หรือ 27 ตุลาคม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงข่าว คน กทม.และปริมณฑลจะเผชิญฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 7 จุด (7 พื้นที่) หลังเจออากาศเย็นระลอกแรกเมื่อหมดหน้าฝน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า เนื่องจากในช่วงสัปดาห์นี้มีมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม ทำให้สภาพบรรยากาศถูกกดทับจนฝุ่นไม่สามารถกระจายตัวได้ ทำให้ค่าฝุ่นเริ่มเกินมาตรฐาน

เป็นอันว่า ฝน น้ำ พายุ อากาศร้อน อบอุ่น หรือหนาว ไม่ทำให้เรา “โชคดี” แต่อย่างใด

“ประชาชนต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยรัฐบาลในการลดปัญหา”

ท่านแนะนำในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าอย่างนั้น

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องหลักของสัปดาห์นี้ คือเรื่องการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 2 วัน วันที่ 26 และ 27 ตุลาคม เพื่อหาทางออกวิกฤตของการประท้วง “ปลดแอก” ซึ่งสื่อบางฉบับได้กระแหนะกระแหนเฉียบคมด้วยอารมณ์ขันว่า “ทางออกหรือทางตัน?”

รายละเอียดของการอภิปรายคล้ายกับทุกครั้งที่มีการประชุมรัฐสภา กล่าวคือ มีการโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ปริมาณมากเสียจนไม่ควรจะนำมากล่าวซ้ำ ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ ส.ส.ท่านหนึ่ง กรีดแขนตัวเองกลางที่ประชุมรัฐสภาเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วรอดพ้นจากความตายไปได้นั้น ผมไม่ได้หลุดคำว่า “เราโชคดี” เพราะทั้งประธานสภาและสื่อต่างประเทศไม่ได้สนใจกับวีรกรรมครั้งนี้แม้แต่น้อย เพียงแต่ทุกฝ่ายไม่ควรซ้ำเติมคนเจ็บป่วยก็พอแล้ว

สรุปเนื้อหาสุดท้ายที่ได้จากการประชุมก็คือ ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย รับเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงาน “ปรองดอง” โดยมอบสถาบันพระปกเกล้าศึกษารูปแบบ

ประธานรัฐสภากล่าวว่า ได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เพราะเป็นหน่วยงานที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ศึกษารูปแบบหาทางออกร่วมกัน ออกแบบโครงสร้างของคณะทำงานว่าควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากข้อเสนอจากรัฐสภายังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการรูปแบบใดแน่ชัด

ต้องหาจุดประสงค์ในการตั้งคณะทำงาน หากจะใช้รูปแบบคณะกรรมการ จะประกอบด้วยใครบ้าง และจะเชิญผู้ร่วมชุมนุมเข้าร่วมด้วยหรือไม่ จำเป็นต้องให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยคิด

โดยส่วนตัวผมไม่ได้หวังอะไรจากการ “ปรองดอง” จึงไม่มีความเห็นในส่วนนี้

ส่วนที่ผมต้องการเห็นคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

จับความจากการอภิปรายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา โดยสรุปแล้วถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งจากภาคประชาชน ทั้งสองท่านได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญแล้วจะถึงขั้นตอนการลงมติรับหลัการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการคลี่คลายข้อขัดแย้งที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงและนำไปสู่วิกฤต

การอภิปรายประเด็นนี้เกือบทำให้ผมหลุดคำว่า “เราโชคดี” ออกไปแล้ว แต่บังเอิญว่ารู้สึกคับข้องใจภาษากายของ พล.อ.ประยุทธ์ที่พูดไปพลางกระแทกนิ้วจิ้มพื้นโต๊ะอย่างแรงไปพลางแทบทุกคำพูด เป็นอาการของคนที่ไม่สามารถปกปิดจุดเดือดในใจได้

อาการเช่นนี้ของบิ๊กตู่ทำให้ลังเลที่จะพูดว่า “เราโชคดี” ครับ

เสียดายที่ 2 ประเด็นสำคัญไม่ได้ข้อยุติในการประชุมวิสามัญครั้งนี้

ประเด็นแรกก็คือ ประเด็นของการที่ม็อบ “ราษฎร 63” เรียกร้องอิสรภาพให้แก่ฮ่องกง ซึ่งเท่ากับว่าผลักไทยให้เป็นศัตรูกับจีน สื่อมวลชนไทยประณามม็อบว่า “เป็นทาส USA”

รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นผู้เปิดประเด็นนี้ในการประชุมวิสามัญของสภาในวันแรก ภาพหรือคลิปที่ปรากฏคือม็อบผู้ประท้วงได้ชักธงฮ่องกง อุยกูร์ ทิเบต ไต้หวัน กลางผู้ชุมนุมประท้วงที่ราชประสงค์ ธงเหล่านี้เป็นธงของกลุ่มคนจีนที่มีปัญหากับประเทศจีนทั้งสิ้น

อีกประเด็น ก็คือข้อเรียกร้องของ “เยาวชนปลดแอก” ที่เพิ่มเติมขึ้น 10 ข้อ แล้วเรียกว่า “ปฏิรูปสถาบัน” ไม่ได้มีการอภิปรายในสภา เข้าใจว่าเพราะถูกกำหนดให้อยู่นอกกรอบ

เสียดายที่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ใช้โอกาสนี้อภิปราย เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลสามารถอธิบายได้ ครบทั้ง 10 ข้อ เพื่อว่าเยาวชนจะได้เลิกเข้าใจผิด จะได้ไม่ค้างคาไปอย่างไม่มีจุดจบ รวมทั้งช่วยให้ผู้ฟังทางบ้านได้พลอยเข้าใจไปด้วยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมานานแล้ว

หรือจะเก็บดองไว้เป็นเชื้อสำหรับอ้างในการยืดอายุอำนาจ?