สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย ep.17 กองทัพหลัง 2535

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ผลจากการยุติของสงครามเย็นทำให้ลัทธิต่างๆ ของศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธินาซี ลัทธิคอมมิวนิสต์ และความเลวร้ายของลัทธิแบ่งแยกผิวสิ้นสุดลง เหลืออยู่แต่เพียงประชาธิปไตยเท่านั้น…”

Jack Kemp (สมาชิกรัฐสภาอเมริกัน)

หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในปี 2535 และเกี่ยวโยงกับบริบทของกระแสโลกแล้ว

เราจะเห็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นที่เป็นดัง “จุดเปลี่ยน” ใหญ่ อันนำไปสู่การกำเนิดของภูมิทัศน์ใหม่ในเวทีโลก

และมีผลกระทบกับเวทีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้เกิดเป็น “กระแสโลกาภิวัตน์” ที่ขับเคลื่อนโลกไปสู่ทิศทางใหม่

ฉะนั้น ถ้าเริ่มจากกระแสโลกของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แล้ว ไม่มีอะไรจะเป็นจุดเปลี่ยนได้มากเท่ากับการสิ้นสุดของสงครามเย็น

หากย้อนกลับไปสู่การเมืองโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่า การสิ้นสุดของสงครามโลกเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากสงครามที่มีความเป็น “เบ็ดเสร็จ” (Total War) ที่มีนัยถึง “สงครามร้อน” ที่รัฐคู่พิพาทใช้กำลังเข้าทำการรบต่อสู้กันอย่างเปิดเผย ไปสู่สภาวะของความเป็น “สงครามเย็น” (The Cold War) ที่รัฐไม่ได้ใช้กำลังรบเข้าต่อสู้โดยตรง และหลีกเลี่ยงความเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ

เพราะคู่แข่งขันในการเมืองโลกครั้งนี้แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง รัฐเช่นนี้เป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์” ซึ่งหากใช้สงครามเป็นเครื่องมือตัดสินข้อพิพาทแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 3 จะก้าวสู่ความเป็น “สงครามนิวเคลียร์” เช่นที่โลกได้เห็นตัวอย่างของอำนาจการทำลายเช่นที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

แน่นอนว่าสงครามเย็นที่เกิดขึ้นเช่นนี้มีผลกับทหารในการเมืองไทยอย่างมาก และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทหารขยายบทบาท

สิ้นสงครามเย็น

ส่วนประกอบสำคัญของสงครามเย็นคือ การแบ่งโลกออกเป็นสองค่ายทางอุดมการณ์ และต่างฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคาม

การมองเช่นนี้ทำให้เกิดการสร้างระบบพันธมิตรของแต่ละฝ่ายเพื่อรองรับต่อ “มหายุทธศาสตร์” (Grand Strategy)

เช่น สหรัฐอเมริกาในฐานะหัวขบวนของรัฐมหาอำนาจตะวันตกใช้ยุทธศาสตร์ของการปิดล้อมเพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ (Containment Policy)

การปิดล้อมดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับบรรดารัฐในพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ผลประการหนึ่งจึงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตร

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐจึงเป็นแกนสำคัญของยุทธศาสตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์

ความสัมพันธ์เช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รัฐบาลทหารในการเมืองไทยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยภายนอกของสงครามเย็น

อย่างน้อยความชัดเจนในทางยุทธศาสตร์ก็คือ รัฐบาลทหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย หรือในภาพรวมของการสร้างระบบพันธมิตรด้านความมั่นคงในระดับโลกก็คือ รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งถูกมองว่าอ่อนแอเกินไปที่จะรับมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์

อีกทั้งรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในทางยุทธศาสตร์ที่รองรับต่อการเข้าร่วมในสงครามเกาหลีของไทยในปี 2493 และการเข้าร่วมกับสงครามของสหรัฐในเวียดนามในปี 2510 และเข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามลับในลาว

ดังนั้น การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ จึงมีข้ออ้างสำคัญมาจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์

และการอ้างเช่นนี้ยังเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงอีกด้วยว่า คณะรัฐประหารไทยมีนโยบายชัดเจนที่ยืนเคียงข้างกับโลกตะวันตกในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

การรัฐประหารในยุคสงครามเย็นจึงสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารผ่านปัญหาลัทธิคอมมิวนิสต์ และการกระทำเช่นนี้ยังเป็นโอกาสให้ฝ่ายทหารได้รับความสนับสนุนจากนโยบายของสหรัฐอีกด้วย

แล้ววันหนึ่งการเมืองในเวทีโลกได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ

สงครามเย็นที่ก่อตัวมาตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้นจากสัญญาณการประกาศ “หลักการทรูแมน” ในปี 2490 (The Truman Doctrine)

แต่การมาของผู้นำใหม่ของสหภาพโซเวียตอย่างกอร์บาชอฟในปี 2528 เริ่มเห็นทิศทางการเมืองใหม่ ในปี 2530 สหรัฐและโซเวียตลงนามในความตกลงที่จะถอนอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและพิสัยใกล้ออกจากยุโรป

ในต้นปี 2532 โซเวียตถอนกำลังรบออกจากอัฟกานิสถาน

ในตอนกลางปีกองทัพเวียดนามก็ถอนตัวออกจากกัมพูชา

และจุดสำคัญเกิดในเดือนพฤศจิกายน เมื่อมีการประกาศรวมชาติของเยอรมนี อันนำไปสู่ “การทุบ” กำแพงเบอร์ลิน และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกก็เดินมาถึงจุดสุดท้าย

ในปี 2534 สงครามเย็นจึงยุติลงอย่างเป็นทางการ… ไม่มีคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามอีกต่อไปแล้ว

กองทัพไทยจะทำอย่างไรเมื่อหนึ่งในรากฐานสำคัญของการสร้างความชอบธรรมในการมีบทบาททางการเมืองหมดลง เช่นเดียวกับที่ภัยคุกคามทางทหารของคอมมิวนิสต์เวียดนามในกัมพูชาก็จบลงเช่นกัน

อีกทั้งสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยสิ้นสุดในทางทหารตั้งแต่ปี 2526 แล้ว

ภูมิทัศน์ใหม่

การจบลงของสงครามเย็นเป็นภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองโลก

ผลกระทบกับกองทัพในการเมืองไทยก็น่าจะมาถึงจุดเปลี่ยนเช่นกัน

เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ที่พัดแรงจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นเป็น “กระแสประชาธิปไตย”

ซึ่งนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันคือ แซมมวล ฮันติงตัน ได้สร้างเป็นทฤษฎีว่าด้วย “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” (Democracy”s Third Wave) ที่เชื่อว่า โลกในยุคหลังสงครามเย็นได้ก้าวสู่การสร้างประชาธิปไตย และภาพคู่ขนานที่เกิดขึ้นก็คือ การพังทลายของระบอบอำนาจนิยม และเผด็จการทหาร เช่นที่เห็นระบอบเผด็จการทหารที่เข้มแข็งในละตินอเมริกาต้องล้มลง… ได้เวลาทหารกลับกรมกองจริงๆ แล้ว!

การมาของกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลกที่สอดรับกับกระแสชัยชนะของประชาชนในยุคพฤษภาคม 2535 ทำให้หัวเรื่อง “การปฏิรูปกองทัพ” เป็นประเด็นสำคัญ และเกิดความตื่นตัวอย่างมากภายในกองทัพ

นายทหารหลายส่วนตระหนักว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และกองทัพจำเป็นต้องปรับตัวเองให้รับกับสิ่งที่เกิดในกระแสโลกด้วย หรือกล่าวในทางยุทธศาสตร์ได้ว่า สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคงต่อกองทัพทั้งภายนอกและภายในได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง…

ทหารไทยกำลังอยู่ในโลกใหม่อีกชุดหนึ่ง ที่ไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์ในแบบเดิมอีกแล้ว

โลกใหม่ชุดนี้มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในแกนกลาง ในโลกชุดนี้เห็นได้ชัดว่า ระบอบอำนาจนิยมของฝ่ายขวาที่มีกองทัพเป็นศูนย์อำนาจล้มลงในทุกภูมิภาค เช่นเดียวกับที่ระบอบอำนาจนิยมของฝ่ายซ้ายที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์กลางก็ล้มลงในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต

การล้มลงของระบอบอำนาจนิยมเช่นนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหญ่ของการสร้างประชาธิปไตยในการเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การกำเนิดของสาขา “เปลี่ยนผ่านวิทยา” (Transitology) ในวิชาการเมืองเปรียบเทียบ ซึ่งการล้มลงของระบอบเก่าเช่นนี้เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ชัดเจน

แน่นอนว่า นักประชาธิปไตยทั่วโลกและรวมทั้งในไทยเองมีความฝันอย่างมากว่า โลกกำลังก้าวสู่ “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” (democratization)

และระบอบอำนาจนิยมแบบเก่าเดินมาถึงวาระสุดท้ายแล้ว

อีกทั้งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 2535 คือ การตอกย้ำการมาของ “คลื่นประชาธิปไตยไทยลูกที่ 3” ในทางทฤษฎี…

ถ้าคลื่นประชาธิปไตยลูกที่หนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 คลื่นลูกที่สองคือ ชัยชนะของนักศึกษา-ประชาชนในปี 2516 และคลื่นลูกที่สามคือชัยชนะในปี 2535 และตามมาด้วยความฝันใหญ่ว่า รัฐประหาร 2534 จะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย แต่ใครเล่าจะยืนยันในฝันนี้

ยิ่งมองการเมืองไทยผ่านการเมืองโลกก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความฝันนี้กำลังจะเป็นจริง

ดังจะเห็นได้ว่า แม้รัฐบาลปักกิ่งจะปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินได้ในตอนกลางปี 2532 แต่ก็เป็นชัยชนะที่เป็น “รอยด่าง” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาจนถึงปัจจุบัน

แม้การเมืองในระบบปิดแบบของจีนเอง จะสามารถควบคุมทุกอย่างได้จริง

แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการมาของคลื่นประชาธิปไตยที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ควบคุมไม่ได้ อาจจะไม่แตกต่างจากกระแสประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกในช่วงเวลาเดียวกัน อันเป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็น

ภาพของชายที่กล้ายืนขวางรถถังกลางกรุงปักกิ่ง ยังคงเป็นภาพสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสมอ

โลกที่ท้าทาย

รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 ในไทยเกิดในช่วงเวลาเดียวกับการเปิด “ยุทธการพายุทะเลทราย” (Operation Desert Storm) ของสหรัฐในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2534 เช่นกัน

และสะท้อนให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของระบอบอำนาจนิยมในการสงคราม

ในอีกด้านรัฐประหารนี้เป็นการยึดอำนาจครั้งแรกของทหารไทยในยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งการสิ้นสุดของสงครามเย็นมีส่วนอย่างมากในการทำลายความชอบธรรมของทหารในการเมืองและทหารไม่สามารถใช้คอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างได้อีกแล้ว

ฉะนั้น ปี 2535 จึงเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของการเมืองภาคประชาชนในยุคหลังสงครามเย็น และทำให้ตัวแบบไทยเป็นแถวหน้าของการสร้างประชาธิปไตยในเวทีโลก

ยิ่งมองในมุมของเทคโนโลยีการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การชุมนุมที่เทียนอันเหมินเป็น “ม็อบเครื่องแฟกซ์” เพราะนักศึกษาจีนใช้เครื่องแฟกซ์ในการกระจายข่าวสารออกสู่โลกภายนอก

ส่วนการชุมนุมที่ราชดำเนินเป็น “ม็อบมือถือ” ผู้ชุมนุมใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ

โลกาภิวัตน์เข้ามาอยู่กับการเมืองไทยอย่างชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่าเครื่องมือการสื่อสารของโลกสมัยใหม่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม และเครื่องมือนี้เป็นตัวแทนของความเป็นเสรีนิยมด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับของการเมืองโลกและการเมืองไทยเช่นนี้ ดูจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐประหารจบลงแล้วในการเมืองไทย

อีกทั้งเห็นได้ชัดว่า ผู้นำทหารและรวมถึงความเป็นสถาบันกองทัพเองมี “ค่าใช้จ่ายทางการเมือง” อย่างมากจากเหตุการณ์ปี 2535

และหลายฝ่ายมีทัศนะที่คล้ายคลึงกันว่า กองทัพบาดเจ็บทางการเมืองเกินกว่าจะหวนกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่า ความเชื่อเช่นนี้จะเป็นจริงหรือไม่

และเราได้ออกแบบกลไกทางการเมืองรองรับความฝันเช่นนี้เพียงใดในอนาคต และทหารไทยจะยอมกลับกรมกองจริงหรือไม่?

หรือผู้นำทหารยังแอบ “หอมกลิ่นการเมือง” ไม่เลิก!