เกษียร เตชะพีระ | ภราดรภาพ : แนวคิดและการปฏิบัติ

เกษียร เตชะพีระ

อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ 101 เกี่ยวกับปรากฏการณ์แฟลชม็อบของนักเรียน นักศึกษาปัจจุบันเรื่อง “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” เมื่อ 26 กันยายน ศกนี้ (www.the101.world/101-one-on-one-ep182/)

ในคำสนทนาที่เป็นมิตร ปรารถนาดี รัดกุมและพยายามเข้าอกเข้าใจคนรุ่นใหม่ชิ้นนี้ อาจารย์สุวรรณากล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “ภราดรภาพ” (fraternit?) ไว้อย่างน่าสนใจว่า :

“ปฏิวัติฝรั่งเศสให้รากฐานทางความคิดกับสังคมการเมืองที่เป็นสมัยใหม่ มีรากฐานประชาธิปไตย 3 ข้อ คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ 3 ข้อนี้เป็นความพยายามที่จะปฏิเสธสังคมก่อนหน้านั้นที่อยู่กันเป็นช่วงชั้นวรรณะ คนรับสิทธิ์ไม่เท่ากัน

“ตอนนี้คนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 กลับไปสมาทานคุณค่าปฏิวัติฝรั่งเศส 2 ข้อ คือ เสรีภาพ กับ เสมอภาค แต่สิ่งที่น่าจะน้อยใจมากๆ คือภราดรภาพ เพราะถูกลืม ตรงนี้เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมประเทศชาติเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น เฉพาะประเทศไทย ถ้าพูดแบบไทยๆ ภราดรภาพก็คือการนับญาติพี่น้องกัน เราเป็นคนไทยด้วยกัน เราเป็นชุมชนเดียวกัน เป็นต้น ตรงนี้มีปัญหามาก

“สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับเสรีภาพมาก อาจเพราะการเมืองไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานั้นพรากเสรีภาพไปจากประชาชนเสมอ และยิ่งเข้มข้นรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เลยต้องต่อสู้เรื่องนั้น แต่ดิฉันเป็นห่วงเรื่องภราดรภาพ เพราะเราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว”

ในฐานะที่ผมพอได้อ่านค้นและสอนแนวคิดทฤษฎีการเมืองเสรีประชาธิปไตยมา จึงอยากถือโอกาสขยายความข้อคิดของอาจารย์สุวรรณาข้างต้นให้แตกประเด็นกว้างขวางออกและลึกลงไป เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ด้วยความเข้าใจเท่าที่ผมมี

อาจารย์กล่าวชอบแล้วที่ว่ารากฐานความคิดสังคมการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งรับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (libert, galit, fraternit) ซึ่งมิอาจแยกจากกันได้ ต้องมาด้วยกันไปด้วยกันอย่างครบชุด

สมดังที่นักเรียน-นักศึกษาพากันชู 3 นิ้วชี้กลางนางเป็นสัญลักษณ์ เพราะหากขาดไปนิ้วใดนิ้วหนึ่ง ความหมายก็ย่อมเปลี่ยน และถ้าหากขาดสองนิ้วคือนิ้วชี้กับนิ้วนางแล้ว ความหมายก็จะพาลกลับตาลปัตรเป็นหยาบร้ายทีเดียว

ที่หลักการทั้ง 3 ต้องไปด้วยกันนั้นเพราะมันตั้งอยู่บนแก่นแกนฐานคิดร่วมหนึ่งเดียวกันที่มองเห็นคนทุกคนเป็นปัจเจกบุคคล (individual) อันเป็นหน่วยโดดๆ ด้วนๆ จากคณะรวมหมู่หรือองคาพยพทางสังคมวัฒนธรรมและสังคมการเมืองอื่นๆ ซึ่งเคยกดทับกำกับควบคุมตัวเขาหรือเธอเอาไว้ (อาจารย์สุวรรณาใช้คำว่า “สังคมก่อนหน้านั้นที่อยู่กันเป็นช่วงชั้นวรรณะ คนรับสิทธิ์ไม่เท่ากัน”) อีกทั้งยังถือปัจเจกบุคคลทั้งหลายเป็นผู้มีเหตุผลจิตตารมณ์ต่างๆ โดยธรรมชาติพร้อมมูลในตัวหรือคิดเองเป็นนั่นเอง

ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุในบทความไม่นานมานี้ว่าสิ่งที่ท่านได้ยินอย่างชัดเจนจากนักเรียน-นักศึกษาทุกวันนี้คือ “สำนึกในความเป็นปัจเจกของตนเอง”

(“ผู้คนเลื่อนไหลในรัฐที่หยุดนิ่ง”, www.matichonweekly.com/column/article_342609) ซึ่งผมขอเรียกสำนึกนั้นว่าแนวคิดปัจเจกนิยม (individualism)

การคิดเข้าใจตัวเองและคนอื่นว่าต่างเป็นปัจเจกบุคคลที่ควรหลุดพ้นออกมาจากพันธนาการกำกับควบคุมของกฎระเบียบแห่งองค์คณะรวมหมู่หรือองคาพยพที่กดขี่และตนไม่ได้เลือกเองทั้งปวง มาเป็นหน่วยปัจเจกโดดๆ ด้วนๆ ที่เสรี (เพราะพ้นจากการกำกับควบคุมอย่างไม่สมัครใจโดยองค์คณะรวมหมู่ใดๆ ที่ใหญ่กว่า) และเสมอภาคเท่าเทียมกัน (เพราะทุกคนเป็นหน่วย ปัจเจกโดดด้วนเท่ากัน ไร้สังกัดชาติตระกูลสถาบันฐานะตำแหน่งที่จะอ้างอภิสิทธิ์ใหญ่กว่าเหนือกว่าคนอื่นโดยธรรมชาติได้) นี้ ในอีกแง่หนึ่งก็ก่อปัญหาโดยตัวมันเองอยู่ในตัว

เพราะปัจเจกบุคคลดังกล่าวอาจเห็นแก่ตัวจนปะทะขัดแย้งแย่งชิงกันเองอย่างไร้หลักการกฎเกณฑ์ใดกำกับ จนเกิดเป็นสงครามของทุกคนต่อทุกคนและภาวะอนาธิปไตยได้ (แบบที่โทมัส ฮอบส์ ว่าไว้)

หรือเกิดการสะสมทรัพย์สิน รวยจนเหลื่อมล้ำ พิพาทแย่งชิงกันอย่างหาข้อยุติโดยสะดวกไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจส่วนกลางอันอิสระเที่ยงธรรมมาวินิจฉัยตัดสินและบังคับให้เป็นไปตามนั้น (แบบที่จอห์น ล็อก ว่าไว้)

หรือมิอาจผนึกรวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อมีกำลังรวมหมู่ไปปฏิบัติภาระหน้าที่และกิจการส่วนรวมอันลำบากใหญ่โตต่างๆ ให้บรรลุเจตนารมณ์ทั่วไปได้ เพราะเป็นแค่ปัจเจกบุคคลโดดๆ ไร้กฎเกณฑ์ที่ทุกคนร่วมกันออกเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอันชอบธรรมคอยกำกับให้เป็นสังคม (แบบที่ฌอง-ฌากส์ รูสโซ ว่าไว้)

ทางออกเพื่อแก้ปัญหานี้ที่รูสโซเสนอก็คือ ให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมาทำสัญญาประชาคมกับตัวเองที่แปรสภาพไปเป็นสังคมรวมหมู่โดยสมัครใจ ก่อเกิดเป็นสังคมประชาธิปไตยอันเป็นหน่วยรวมหมู่และบ่อเกิดของพันธนาการกฎหมายอันชอบธรรมขึ้น โดยที่ยังคงเสรีภาพและเสมอภาคของปัจเจกบุคคลไว้ด้วย (เสรีภาพ = การทำตามกฎที่ตัวเราออกเองร่วมกันในสังคม ไม่ใช่ คสช. และพรรคพวกออกแทนให้โดยพลการ)

จากนี้ปัจเจกบุคคลเสรีและเสมอภาคโดดๆ ด้วนๆ จึงกลายสภาพไปเป็น -> ปัจเจกบุคคลประชาธิปไตยผู้เป็นสมาชิก หรือองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยโดยรวมอย่างมิอาจแยกออกมาจากสังคมองค์รวมได้

ดังที่นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ ได้บรรยายความแตกต่างระหว่างปัจเจกบุคคลโล้นๆ โดดด้วนแบบเสรีนิยม (ไร้ความเป็นชุมชน/ภราดรภาพที่ชัดเจน) กับปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตยไว้ในหนังสือเสรีนิยมกับประชาธิปไตย (ค.ศ.1988) บทที่ 9 ปัจเจกนิยมกับอินทรียนิยม

พอสรุปเป็นตารางได้ว่า (ดูตาราง)

จะเห็นได้ว่าคำตอบสุดท้ายของรูสโซต่อโจทย์การสร้างภราดรภาพ/ความเป็นชุมชนขึ้นมาในหมู่ปัจเจกบุคคลผู้เสรีและเสมอภาคกัน ก็คือการรวมตัวของปัจเจกบุคคลทั้งหลายเข้าด้วยกันเป็นสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง

หรือพูดอีกอย่างได้ว่านิ้วชี้กลางนางทั้งสามจะชูขึ้นได้อย่างเข้มแข็งมั่นคงร่วมกันเป็น [เสรีภาพ+เสมอภาค+ภราดรภาพ] ก็แต่ในสังคมประชาธิปไตยอันเป็นชาติที่ น่ารักและน่านิยมเพราะเป็นชาติที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

ปัจจุบันสังคมไทยเรายังติดแหง็กอยู่ในระบอบที่อาจเรียกได้ว่าเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ (virtual absolutism) ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์@คสช. ซึ่งกดขี่ลิดรอนทั้งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของราษฎรยังเปลี่ยนไม่ผ่านและไปไม่ถึงสังคมประชาธิปไตยดังกล่าว

ฉะนั้น ความเป็นชุมชน/ภราดรภาพแบบประชาธิปไตย ก็เฉกเช่นเดียวกับเสรีภาพและความเสมอภาค ย่อมมิอาจกระทำให้บรรลุผลประจักษ์เป็นจริงได้เต็มที่ ในสภาพที่นักเรียน-นักศึกษาและราษฎรผู้ “สำนึกในความเป็นปัจเจกของตนเอง” ทั้งหลายยังถูกผูกมัดพันธนาการกดทับอยู่ในองค์รวมหรือองคาพยพแบบเก่าซึ่ง “อยู่กันเป็นช่วงชั้นวรรณะ คนรับสิทธิ์ไม่เท่ากัน” และมีให้และให้ได้แต่ความเป็นชุมชนศักดินาอุปถัมภ์อันอบอุ่นแต่อึดอัด เหลื่อมล้ำและไม่เสรี หรือกระทั่งตราหน้าผู้เห็นต่างว่าเป็น “คนอื่น” นอกชุมชน ไม่นับญาติเป็นพี่น้องร่วมชาติด้วย และพร้อมจะใช้กำลังรุนแรงเข้าห้ำหั่นทำร้ายอย่างอำมหิต

แต่กระนั้น นี่ก็มิได้หมายความว่าหลัก [เสรีภาพ+เสมอภาค+ภราดรภาพ] อันเป็นอุดมคติหรือยูโทเปียของปัจเจกบุคคล ผู้มาร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้เป็นแฟลชม็อบต่อต้านเผด็จการจะมิอาจนำไปปฏิบัติได้เลย การปฏิบัติอุดมคติ (the practice of utopia) นั้นเหล่านักเคลื่อนไหวต่อสู้สามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้เดี๋ยวนี้แม้จะไม่เต็มที่สมบูรณ์ มิพักต้องรอให้ถึงจุดหมายบั้นปลายในอนาคต

การที่พวกเขาฝ่าฝืนคำสั่งอำนาจของรัฐอันมิชอบออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงก็คือการปฏิบัติหลักเสรีภาพทันที

การที่พวกเขาไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีเหลื่อมล้ำภาคบังคับที่พวกเขามิอาจรับได้และมิอาจยอมทำตามได้โดยสมัครใจ เช่น การไม่ลุกขึ้นยืน หรือยืนตรงโดยชูสามนิ้วด้วย ก็คือการปฏิบัติหลักเสมอภาคทันที

และการที่พวกเขาเสียสละออกแรงกายแรงใจความคิดอ่านเอื้อเฟื้อช่วยเหลือห่วงใยแสดงน้ำใจไมตรีรักสามัคคีแบ่งปันปกป้องซึ่งกันและกันและต่อคนอื่นซึ่งล้วนเป็นคนแปลกหน้าไม่เคยรู้จักมักจี่ไม่รู้หน้าค่าตากันมาก่อนในระหว่างการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมา จนผู้คนมากหลายรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจและน้ำตาเอ่อคลอบ่อยๆ ก็คือการปฏิบัติหลักภราดรภาพทันทีนั่นเอง

ในสังคมการเมืองสมัยใหม่ การเตือนให้ระลึกถึงภราดรภาพหรือความเป็นชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากขาดความเป็นชุมชนไปและมีแต่เสรีภาพล้วนๆ โดยลำพังแล้ว ปัจเจกบุคคลก็อาจบ้าได้

ทว่าในทางกลับกัน ลำพังความเป็นชุมชนล้วนๆ แต่ไร้เสรีภาพก็ย่อมทำให้ปัจเจกบุคคลตกอยู่ในฐานะไพร่ทาสไปตลอดกาล (“…freedom without community means madness, while community without freedom means serfdom.”, Zymmunt Bauman, Life in Fragments : Essays in Postmodern Morality, 1995, p.127)