เพ็ญสุภา สุขคตะ : ไฉนจึงพบน้อยนัก “พระนาคปรกล้านนา”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีผู้สอบถามกันมามากว่า ทำไมในดินแดนล้านนาจึงไม่นิยมสร้าง “พระพุทธรูปนาคปรก” บ้างเลย

ไม่ว่าตั้งแต่สมัยหริภุญไชยเมื่อพันปีเศษ หรือยุคทองของล้านนาราว 500-700 ปีก่อนก็แทบไม่พบ มิพักต้องพูดถึงยุคฟื้นฟูล้านนาเมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมา

ยกเว้นกระแสวัฒนธรรมข้ามภาคจากสยาม ที่มีการกำหนดให้พระนาคปรกกลายเป็นพระประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ ซึ่งเป็นคติใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้มีการสร้างพระนาคปรกขนาดกะทัดรัดแบบสำเร็จรูปกระจายตามวัดต่างๆ วางตามศาลาบาตรให้คนทำบุญ ซึ่งไม่สามารถสะท้อนถึงคำอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะได้เลย

ถามว่าในดินแดนล้านนาพบพระพุทธรูปนาคปรกบ้างหรือไม่

คำตอบคือพบบ้างประปราย ในที่นี้จะขอนำเสนอเฉพาะองค์เด่นๆ ให้รู้จัก 3 ชิ้น ได้แก่

1. พระศีลาวัดพระธาตุลำปางหลวง

2. พระอู่ทองนาคปรกวัดพระธาตุศรีจอมทอง

และ 3. ชิ้นส่วนนาคปรกสำริดปริศนาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

 

พระศีลาวัดพระธาตุลำปางหลวง

พระศีลาองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศตะวันตก ด้านหลังองค์พระเจดีย์ วัดพระธาตุลำปางหลวง ในวิหารโถงเปิดเปลือย ชื่อว่าวิหารละโว้

ครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีการเข้าใจผิด ด้วยการติดป้ายคำบรรยายว่าพระหินองค์นี้คือ “พระพุทธสิกขีปฏิมาศิลาดำ” ของพระนางจามเทวีที่มอบให้เจ้าอนันตยศ โอรสแฝดน้องที่มาครองเมืองเขลางค์นคร

ต่อมาทั้งอาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย และศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล สองนักวิชาการใหญ่ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีแห่งเมืองลำปาง ได้ทักท้วงว่า “ไม่น่าจะใช่”

เหตุที่พุทธลักษณะของพระนาคปรกองค์ดังกล่าว เก่าไม่ถึงยุคทวารวดี คือไม่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 หากแต่มีอายุหย่อนลงมาอีก อาจจะ 6-8 ศตวรรษ

การใช้คำว่า “อาจจะ” เนื่องจากหากกำหนดอายุให้เก่าสุด อาจร่วมสมัยกับศิลปะยุคบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชของกัมพูชาเลยก็เป็นได้ พิจารณาจากพระพักตร์เหลี่ยม พระโอษฐ์เป็นกรอบหนา มีไรพระมัสสุ สวมกุณฑล (ตุ้มหู) แผงนาค 7 เศียรที่ทุกเศียรด้านข้างหันมองขึ้นที่เศียรประธานตอนบน ก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกับนาคในเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 18

แต่ทว่า เมื่อพิจารณาถึงพระวรกายที่ดูอวบอ้วน ชายจีวรตัดสั้นๆ เป็นเขี้ยวตะขาบเหนือพระถัน (ขออภัยที่ภาพประกอบในที่นี้มีผ้าห่มจีวรมาทับ) ละม้ายกับพระพุทธรูปที่พบได้ทั่วไปในล้านนากลุ่ม “สิงห์หนึ่ง” นั้น ทำให้นักวิชาการบางท่านเห็นว่า พระนาคปรกองค์นี้ไม่เก่าถึงยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช

หากแต่เพิ่งสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชมากกว่า อาจสร้างโดยหมื่นโลกนคร (พระเจ้าอาวของติโลกราช) ผู้ครองนครเขลางค์เมื่อ 500-600 ปีก่อน ด้วยความรำลึกถึง “พระนางจามเทวี” ตามตำนานที่ระบุว่าพระนางเสด็จมาจากละโว้ และพระนางเคยพระราชทานพระพุทธสิกขีปฏิมาศิลาดำองค์หนึ่งให้แก่โอรสแฝดน้องไว้

บางทีพระพุทธสิกขีปฏิมาศิลาดำอาจสูญหายไปนานแล้วตั้งแต่สมัยล้านนายุคทอง ทำให้มีการสร้างองค์ใหม่ขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงองค์เดิม ด้วยเหตุนี้แม้พุทธศิลป์จะดูไม่เก่าถึงยุคพระนางจามเทวี-เจ้าอนันตยศ แต่ชาวลำปางก็ยังคงเรียกพระนาคปรกองค์ดังกล่าวว่า พระสิกขีศิลาดำ ติดปากสืบมา

ปัจจุบันป้ายคำบรรยายเรียกสั้นๆ ว่า “พระศีลา” หรือ “พระศิลา” เรียกแบบง่ายๆ ตามวัสดุที่ใช้สร้าง ส่วนวิหารที่ประดิษฐานก็เรียกกันว่า “วิหารละโว้”

หากถอดรหัสของชื่อวิหาร ก็จะพบว่าเป็นชื่อที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระนางจามเทวีเสด็จมาจากละโว้ ดังนั้น วัดโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางมักมีวิหารทิศใดทิศหนึ่งใช้ชื่อว่าละโว้ หรือไม่ก็จามเทวี เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงวีรกษัตรีย์พระองค์นี้

เพียงแต่ทิศทางที่ตั้งของวิหารละโว้วัดพระธาตุลำปางหลวงจะมีความแตกต่างจาก “วิหารละโว้” ของวัดพระธาตุหริภุญชัย และ “วิหารจามเทวี” ที่วัดพระธาตุเสด็จ กับวัดพระแก้วดอนเต้า (ทั้งสองแห่งอยู่ในลำปาง) ซึ่งวิหารทั้งสามแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ

 

พระอู่ทองวัดพระธาตุศรีจอมทอง

พระพุทธรูปนาคปรกหล่อสำริดรมดำ ประดิษฐานในพระวิหารจัตุรมุขของวัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่หลังกึ่งกลางงาช้าง 2 กิ่ง (หมายเหตุหามุมถ่ายให้ได้ภาพเต็มองค์ยากมาก) เมื่อสอบถามข้อมูลจากทางวัดว่าพระองค์นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครนำมาถวายยุคไหน

ได้คำตอบว่า “เป็นของเก่ามาก คงอยู่คู่กับวัดมานานแล้ว อาจจะตั้งแต่เริ่มสร้างในสมัยพระเมืองแก้วเมื่อ 500 ปีก่อน”

คำตอบนี้ชวนให้ขบคิดต่อไปว่า ทำไมพุทธศิลป์ของพระนาคปรกองค์ดังกล่าว จึงไม่ใช่ศิลปะล้านนาตอนปลายสมัยพระเมืองแก้ว ที่นิยมเรียก “พระสิงห์สาม”

ไฉนกลับเป็น “ศิลปะแบบอู่ทอง” อันไกลตัว คือพระพักตร์เหลี่ยมถมึงทึง รัศมีบนพระเศียรเป็นกรวยแหลม อันเป็นรูปแบบผสมระหว่างศิลปะขอม (ศิลปะลพบุรี) กับศิลปะหริภุญไชย

ทั้งศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศาสตราจารย์ฌ็อง บ๊วสเซอร์ลีเยร์ และศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ต่างสรุปตรงกันว่าพระนาคปรกของวัดพระธาตุศรีจอมทองนี้ เป็นศิลปะอู่ทองรุ่นแรกสุดมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตอนกลาง (1730-1780)

หมายความว่า มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญไชย (ลำพูน) ตอนปลาย ก่อนจะล่มสลาย แล้วถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาโดยพระญามังรายในปี 1824-1835

ส่วนแผงนาค 7 เศียรของพระอู่ทองนี้ พบว่าค่อนข้างวิจิตรเกินลักษณะโดยรวมของศิลปะอู่ทอง เป็นการหล่อสำริดด้วยฝีมือช่างล้านนายุคทอง เห็นได้ชัดว่านาคแต่ละตัวมีหงอนและเครายื่นแหลม เป็นตัว “ปัญจรูป” (นาค + มังกรของจีน ซึ่งชาวล้านนาเรียกตัว “ลวง”) แล้ว

คำถามที่ยังคิดไม่ตก-ขบไม่แตกในขณะนี้คือ พระนาคปรกแบบอู่ทองรุ่น 1 มาประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองได้อย่างไร และแผงนาคปรกอันอลังการนี้สร้างโดยพระเมืองแก้วใช่หรือไม่?

 

ปริศนาเศียรนาคแผ่พังพาน

ยังมีชิ้นส่วนนาคปรกสำริดอีกชิ้นหนึ่ง เป็นโบราณวัตถุหมายเลขทะเบียน 181/18 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลำพูน ขนาดสูง 47.5 เซนติเมตร กว้าง 37 เซนติเมตร

นาคปรกดังกล่าวเป็นรูปนาค 5 เศียรแผ่พังพาน สวมกระบังหน้าสูงพอประมาณ กระบังหน้าตกแต่งลวดลายกระหนกใบไม้คล้ายกับนาค 5 เศียรที่ประดับบันไดนาควัดเจดีย์หลวง วัดสวนดอก วัดอุโมงค์ ในเชียงใหม่

ทั้งสามแห่งนี้ได้รับอิทธิพลมาจากนาคปูนปั้นของศิลปะล้านนายุคต้น อดีตเคยประดับสถาปัตยกรรม แต่ร่วงหล่นลงมา ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของกรมศิลปากร เช่น นาคที่วัดเกาะกลาง ป่าซาง ลำพูน และนาคที่วัดป่าสัก เชียงแสน เชียงราย ซึ่งต่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากนาคสมัยหริภุญไชยผสมกับสุโขทัยอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ที่บริเวณแผงอกของนาคสำริด ยังตกแต่งลวดลายใบไม้คล้ายกับที่พบในเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง (หมิง) ซึ่งเป็นที่นิยมในงานศิลปกรรมล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราช คือราวช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20-ต้น 21

มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเศียรนาคปรกชิ้นนี้ 2 แนวทาง แนวทางแรก อาจเป็นชิ้นส่วนที่เคยใช้ประดับงอนรถหรือราชยานคานหามหรือไม่? กับแนวทางที่สอง อาจเคยใช้ประดับฉากหลังของพระพุทธรูปนาคปรก เป็นไปได้ไหม?

ไม่ว่าจะใช้ประดับสิ่งใดก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุดหลักฐานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าคติการทำ “เศียรนาคแผ่พังพาน 5 เศียร” ในวัฒนธรรมล้านนา ก็ได้รับความนิยมในระดับหนึ่งมาแล้วด้วยเช่นกัน

เพียงแต่ว่า เรายังไม่พบหลักฐานอย่างชัดเจนของ “พระพุทธรูปนาคปรกที่เป็นศิลปะล้านนาอย่างแท้จริง” ชัดๆ เลยสักองค์ ด้วยสององค์ที่กล่าวมานั้น ล้วนเชื่อมโยงกับเรื่องราวของขอมละโว้ หรืออู่ทองทั้งสิ้น

จึงเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมในวัฒนธรรมล้านนา จึงไม่นิยมการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก?

 

ที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก

พระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงตอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เสร็จใหม่ๆ แล้วทรงกระทำลักษณาการใดลักษณาการหนึ่งเป็นเวลาต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ เพื่อทบทวนสิ่งที่ทรงตรัสรู้ รวม 7 สัปดาห์ ดังที่เรารู้จักกันว่า “สัตตมหาสถาน”

ในสัปดาห์ที่ 6 (คัมภีร์โบราณบางเล่มระบุสัปดาห์ที่ 5 บ้างสัปดาห์ที่ 7 แต่นักวิชาการสรุปว่าควรเป็นสัปดาห์ก่อนสุดท้ายคือสัปดาห์ที่ 6) ขณะทรงบำเพ็ญสมาธิใต้ต้นจิก (มุจลินท์) นั้น ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำหนัก

พญานาคที่อยู่ในสระใกล้ต้นมุจลินท์จึงได้เลื้อยขึ้นมาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธองค์จากพายุฝน เพื่อให้การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้ามีความราบรื่นต่อเนื่อง

ในทางประติมานวิทยา คติการทำพระพุทธรูปปางนาคปรกมีมาแล้วครั้งแรกในศิลปะอินเดียสมัยอมราวดี ที่แคว้นอานธระ (อินเดียตะวันออกเฉียงใต้) พุทธศตวรรษที่ 7-9 ส่งอิทธิพลเข้ามาในลังกาและทวารวดีของไทย

แต่กลุ่มคนที่นิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกมากที่สุด ได้แก่ วัฒนธรรมเขมร ซึ่งจะเรียกว่าศิลปะขอม หรือศิลปะลพบุรี (ยามกล่าวถึงศิลปะเขมรในประเทศไทย) ก็สุดแท้แต่ เหตุเพราะ “นาค” มีความเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างเมืองของกัมพูชา ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขา ฝ่ายหญิงเป็นธิดาพญานาค

ศิลปะขอมจึงให้ความสำคัญต่อปางนาคปรกมากเป็นพิเศษยิ่งกว่าศิลปะของสกุลช่างอื่นใดในอุษาคเนย์

บางท่านอาจมีคำถามว่า ตำนานการสร้างเมืองสุโขทัย ก็มีการระบุว่าพญาร่วงเป็นลูกของนางนาคด้วยเช่นกันมิใช่หรือ? ทำไมความผูกพันหรือความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกของสุโขทัยจึงค่อนข้างแผ่วจาง พบน้อยมาก แค่ปูนปั้นวัดเจดีย์เจ็ดแถวที่ศรีสัชนาไลย และที่วัดมหาธาตุเชลียง เพียงไม่กี่แห่ง ล้วนเป็นศิลปะสุโขทัยยุคต้นทั้งสิ้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “นาคปรก” แม้จุดกำเนิดเคยนำมาใช้งานทั้งพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานและเถรวาท (เพราะพบอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกันในงานพุทธศิลป์สมัยอนุราธปุระของลังกา ซึ่งนับถือนิกายเถรวาทอย่างเข้มข้นด้วยซ้ำ) ก็จริง

ทว่ากระแสตอบรับในกลุ่มเถรวาทเมืองอื่นๆ ณ แว่นแคว้นสุวรรณภูมิช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-18 อาทิ วัฒนธรรมหริภุญไชย วัฒนธรรมพุกาม หรือแม้แต่ทวารวดีตอนปลาย กลับไม่ขานรับ นำพระปางนาคปรกไปสานต่อให้เอิกเกริกอย่างเท่าที่ควร ด้วยเห็นว่าวัฒนธรรมเขมรที่นิยมสร้างพระปางนาคปรกอย่างเข้มข้น เป็นกรอบแนวคิดของนิกายมหายาน

ทำให้ศิลปะล้านนาเองก็คงไม่สะดวกใจที่จะขานรับแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายมหายานไปแล้วโดยปริยาย

ยิ่งในยุคที่ล้านนากำลังติดต่อกับลัทธิลังกาวงศ์ (ตรงกับยุคที่เมืองหลวงคือโปลนนาลุวะ) ผ่านขึ้นมาทางสุโขทัย หรือหันไปมองทางตะวันตก ฝ่ายพุกาม มอญหงสาวดี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนิกายเถรวาทที่นิยมทำพระปางมารวิชัย หรือนานๆ ทีอาจทำปางสมาธิ ยิ่งไม่มีการสร้างพระนาคปรกแต่อย่างใด

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่งคือ การแผ่อิทธิพลเข้ามาอย่างรุนแรงของจีนเรื่อง “การทำสัตว์น้ำรูปมังกร” ที่ถูกนำมาแทนที่คติการทำ “นาคแผ่พังพาน 5 เศียร 7 เศียร” ของวัฒนธรรมอุษาคเนย์

ล้านนารับคติใหม่เรื่อง “นาค” มาเต็มๆ จากนาค 5 เศียร 7 เศียร แบบขอมที่ขึ้นมาผ่านละโว้ อู่ทอง เมื่อหมดยุคหมดสมัย ในล้านนามีแต่การทำ “ปัญจรูป” หรือตัว “ลวง” ซึ่งเป็นนาคเศียรเดียวเต็มไปหมด สัปดาห์หน้าจะโฟกัสเรื่องนี้