มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส /ถนนพระจันทร์

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ถนนพระจันทร์

ดูเหมือนว่า ท่าพระจันทร์ กลายเป็นจุดอ้างอิงสำคัญ สำหรับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล ในการเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่ใช่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

มองบ้านมองเมือง ขอแวะไปมองท่าพระจันทร์ หนึ่งในท่าเรือสำคัญ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีผู้สัญจรผ่านมากมาย มาแต่ครั้งอดีต จนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักแห่งหนึ่งของพระนคร

เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น ว่ามีร้านอาหารรสดี ร้านขายเครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน และการวาดรูปครบครัน ไปจนถึงร้านขายชุดนักศึกษา ชุดรับปริญญา ไม่เฉพาะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากรวมมหาวิทยาลัยอื่น รวมทั้งเสื้อผ้าแฟชั่นหน้าผมของหนุ่มสาวแต่ละยุค

ในยุคอะนาล็อก ท่าพระจันทร์ ยังเป็นสถานที่วัดกระแสนิยม นักร้องหรือดารา รวมทั้งเป็นศูนย์รวมร้านถ่ายภาพ อัดขยายภาพ ของกรุงเทพฯ

 

ตัวท่าเรือ ท่าพระจันทร์นั้น อยู่ปลายสุดของถนนพระจันทร์ ถนนสายสั้นๆ ที่ยาวไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร อยู่ระหว่างวัดพระธาตุ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทุกวันนี้ ผู้สัญจรผ่าน จะรู้เพียงว่า ถนนพระจันทร์ เป็นถนนที่สวยงาม ร่มรื่น ร่มเย็น ด้วยมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม มีถนนและทางเท้าเรียบ สะอาด

แต่คงไม่รู้ว่า ถนนพระจันทร์ เป็นถนนโบราณ มีมาแต่ครั้งสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ผู้คนเรียกขานตามชื่อป้อมพระจันทร์ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหนึ่งใน 14 ป้อมปราการ ที่เคยรายล้อมป้องกันพระนคร

เดิมทีนั้น ถนนสายนี้เป็นเพียงทางดินริมคูน้ำ ตามแนวเขตทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า กับวัดสลัก (วัดพระธาตุ)

เมื่อมีการปรับพื้นที่สนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวัง ทำให้ถนนพระจันทร์ส่วนปลายถูกผนวกรวม

ป้อมพระจันทร์นั้น เป็นป้อมที่เคียงคู่กับป้อมพระอาทิตย์ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศเหนือ โดยมีทางดินเลียบแนวกำแพงระหว่างสองป้อม ที่ต่อมา กลายเป็นถนนพระอาทิตย์

เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รวมถนนพระอาทิตย์ไว้ในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ทุกวันนี้ ถนนพระอาทิตย์จึงมาหยุดแค่ประตูถนนพระอาทิตย์ของมหาวิทยาลัย ส่วนที่เหลือ กลายเป็นถนนภายในมหาวิทยาลัยไป

 

ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อตอนที่กรมรถไฟหลวง เปิดเดินรถไฟสายใต้ กรุงเทพฯ ถึงเพชรบุรี โดยเริ่มจากสถานีบางกอกน้อย ซึ่งอยู่ฝั่งธนบุรี ที่ทำให้ผู้โดยสารต้องนั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นรถไฟและมีปัญหาในการขนส่งสินค้า

จึงมีแนวคิดจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณท่าพระจันทร์ ด้วยเป็นช่วงที่แคบของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อว่าจ้างให้บริษัทฝรั่งเศสออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้าง พบว่า ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมหาศาลถึง 1,109,400 บาท ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับงบประมาณประจำปีในเวลานั้น โครงการก่อสร้างสะพานจึงถูกระงับไป

ก่อน คสช.ปฏิวัติครั้งหลังสุด กรุงเทพมหานครมีแผนสร้างสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำแหน่งเดียวกัน คือ จากท่าพระจันทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้คนที่ต้องอาศัยเรือข้ามฟากไปยังฝั่งธนบุรี แต่โครงการดังกล่าวก็เงียบหายไปหลังปฏิวัติ

จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ถนนพระจันทร์ และ ท่าพระจันทร์ ที่ยังคงอยู่

ป้อมพระจันทร์และบางส่วนของถนนพระอาทิตย์ ที่หายไป

สะพานข้ามแม่น้ำแห่งแรกของพระนคร และสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้สร้าง

ทุกสิ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองกรุงเทพมหานคร

เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป เป็นเรื่องที่มีคนรู้บ้าง และเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้