สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงตนเอง/ต้นกิมปักกพฤกษ์ กิมปักกะหรือต้นกิมปักกะ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ต้นกิมปักกพฤกษ์

กิมปักกะหรือต้นกิมปักกะ

 

“บุคคลใดไม่รู้จักโทษในอนาคตแล้วมัวแต่เสพกามอยู่ในที่สุด กามทั้งหลายในคราวให้ผลย่อมขจัดบุคคลนั้น เช่นเดียวกับผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะขจัดผู้บริโภค”

ข้อความกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ฉบับหลวง มีชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้นกิมปักกพฤกษ์ ส่วนในฉบับมหาจุฬาใช้คำว่า กิมปักกะ หรือต้นกิมปักกะ

โดยกล่าวเปรียบเทียบว่าการเสพกามมีพิษเหมือนต้นกิมปักกพฤกษ์ หรือ กิมปักกะ หรือ ต้นกิมปักกะ

จึงขอชวนเรียนรู้กับต้นไม้ชนิดนี้

ในพระไตรปิฎกมีการบรรยายลักษณะของต้นกิมปักกพฤกษ์ไว้ว่า “มีผลคล้ายมะม่วง แต่เป็นไม้พิษ”

เมื่อตรวจสอบจากฐานข้อมูลพืชแล้ว ต้นกิมปักกพฤกษ์อาจเป็นต้นไม้ที่เราเรียกกันในยุคนี้ว่า ตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเล

เพราะมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sea mango หรือ Suicide tree ที่แสดงว่ามีพิษ

 

ตีนเป็ดทราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera manghas L. อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) ตีนเป็ดทรายเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก อายุหลายปี เรือนยอดทรงกลม เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย

ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เป็นมัน ใบอ่อนสีแดงเข้ม ขอบใบ เส้นกลางใบ และก้านใบมีสีแดงอมม่วง ใบแก่แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีซีดกว่า

ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงรูปใบหอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกรูปขอบขนาน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีขาว มีแต้มสีแดงรอบปากหลอดหรือใจกลางดอก ออกดอกตลอดปี

ผลเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน สีเขียว เมื่อแก่มีสีแดง ผิวเกลี้ยง เป็นมัน ลักษณะคล้ายผลมะม่วง จึงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า มะม่วงทะเล (sea mango) นั่นเอง

 

ตีนเป็ดทรายเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในสาธารณรัฐเซเชลส์ (Republic of Seychelles) ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในมหาสมุทรอินเดียและมีการกระจายไปอยู่ตามแนวชายฝั่งเขตร้อนของประเทศต่างๆ

ใบและผลของตีนเป็ดทรายมีความเป็นพิษต่อการทำงานของหัวใจสูงมาก

คนในสมัยก่อนใช้ยางจากต้นตีนเป็ดทรายล่าสัตว์ ในมาดากัสกาใช้เมล็ดเป็นยาทรมานนักโทษ และนักโทษส่วนใหญ่จะตายเนื่องจากพิษของไม้ชนิดนี้ หลายคนใช้เป็นยาฆ่าตัวตาย

ไม้ชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แอปเปิลแห่งการฆ่าตัวตาย” (suicide apple)

ในศรีลังกานิยมนำไม้ชนิดนี้มาทำหน้ากาก เพราะมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ยังนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยาดับกลิ่นด้วย

ชนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้เป็นยาทาภายนอกแก้หิดและใช้เป็นน้ำยาบำรุงผม

 

ยังมีตีนเป็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตีนเป็ดทรายคือ ตีนเป็ดทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มกลม ใบแน่น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีน้ำยางสีขาว กลีบดอกมีสีขาว

ต่างจากตีนเป็ดทรายตรงที่ใจกลางดอกเป็นสีเหลืองอ่อน

เป็นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ขึ้นได้ดี ต้องการแดดและความชื้นสูง ต้นโตได้ถึง 12 เมตร มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของจีน และยังพบที่นิวแคลิโดเนีย (เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงใต้)

ตีนเป็ดทะเลมักขึ้นในป่าชายเลนหรือบริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายทะเล

มีผลทรงกลม คล้ายผลส้ม มีสีเขียว

แต่มีพิษหากกินมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งยางก็มีพิษ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการทำเป็นสารเคมีฆ่าเหาได้ ทั้งตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเลมีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย

นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

 

สําหรับต้นตีนเป็ด อีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า พระยาสัตตบรรณ ตีนเป็ดนี้ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ในลักษณะของต้นไม้ในภูมินิเวศทั่วไป และเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าพระองค์แรกประทับตรัสรู้ที่ใต้ต้นไม้ต้นนี้ด้วย

ตีนเป็ดชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จะเห็นว่าเป็นคนละสกุลกับตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเล และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า blackboard tree or devil’s tree แต่ยังอยู่ในวงศ์เดียวกันคือวงศ์ Apocynaceae

ตีนเป็ดชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 15-30 เมตร โคนต้นมักเป็นพูพอนเปลือกสีเทาอมเหลืองค่อนข้างหนา

ใบเป็นแบบเรียงกันเป็นวง 5-7 ใบ แผ่นรูปมนแถบรูปไข่กลับ ปลายใบมีติ่งเล็กน้อย โคนใบสอบเรียบ ใบเป็นแบบใบประกอบนิ้วมือ

ดอกเล็กสีเขียวอมเหลืองหรืออมขาว ดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีกลิ่นแรง บางคนบอกว่าเหม็นและอาจแพ้ทำให้หน้าบวม ไอ จาม หรือถ้าสูดดมบ่อยๆ อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ได้

ผลเป็นฝักยาวเรียวสีเขียวยาว 10-20 เซนติเมตร เมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมหรือรี มีขนยาวอ่อนนุ่มปุกปุย ติดอยู่ปลายทั้งสองข้างเมล็ดแก่ประมาณเดือนมีนาคม ไม้ตีนเป็ดเป็นไม้ที่โตเร็ว เบา จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตดินสอ

ในศรีลังกานิยมนำมาใช้ทำโลงศพ

ในหมู่เกาะบอร์เนียว นำมาใช้เป็นทุ่นของอวนจับปลาและเครื่องใช้ในครัวเรือน ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ราก รสร้อนเล็กน้อย ใช้รักษาโรคมะเร็ง เป็นยาขับลมในลำไส้

ในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้รากรักษาโรคเกี่ยวกับตับ เปลือกต้น รสขมเย็น รักษาโรคเบาหวาน โรคบิด แก้โรคตับ หลอดลมอักเสบ แก้โรคท้องร่วงเรื้อรัง ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไอ แก้ไข้ เป็นยาสมานแผลในลำไส้ ขับน้ำนม ขับระดู แก้ไข้หวัด น้ำมูกไหล ขับน้ำเหลืองเสีย รักษามาลาเรีย

ในอินเดียใช้รักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง และเป็นสมุนไพรที่มีการบรรจุไว้ในเภสัชตำรับของอินเดียว่าเป็นยาชูกำลัง ยาถ่ายพยาธิและยาแก้อักเสบ

ในพระไตรปิฎกกล่าวเตือนความลุ่มหลงในเสพกามกับต้นไม้พิษแล้ว ในยุคปัจจุบันก็ควรเผยแพร่ให้ความรู้ให้เกิดปัญญาเกี่ยวกับต้นตีนเป็ดทั้ง 3 ชนิดให้กระจ่างโดยทั่วกัน เพื่อจะลดผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพนั่นเอง