ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : โคตะระศิลปิน (ตอน1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ภาพ Les Demoiselles d'Avignon (1907), By Pablo Picasso - Museum of Modern Art, New York, PD-US, https://goo.gl/ZNxgOh

ถ้าจะพูดถึงศิลปะแล้วไม่พูดถึงศิลปินคนนี้เห็นจะเป็นไปไม่ได้

เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20

ผู้ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนงตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม เซรามิก ไปจนถึงงานออกแบบเวทีละคร

ถ้าเอ่ยชื่อของเขาออกมา น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ต่อให้ไม่เคยรู้เรื่องศิลปะเลยก็ตามที

เขาคนนั้นมีชื่อว่า ปิกัสโซ่

ถ้าจะให้หาคำจำกัดความของศิลปินผู้นี้คงเป็นเรื่องยากเอาการ เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักรักตัวฉกาจ เป็นศิลปินการเมืองตัวยง ยิ่งถ้าจะให้พูดถึงงานศิลปะของเขา คุณก็ต้องเลือกเอาว่าจะพูดถึงยุคไหน เพราะมันโคตะระเยอะ

หรือหากจะพยายามทำความเข้าใจเขา เราคงต้องมองเขาแบบเดียวกับหนึ่งในรูปแบบทางศิลปะของเขาอย่างคิวบิสซึ่ม ที่เราสามารถมองเห็นแทบทุกด้านของบุคคลในภาพวาดพร้อมๆ กันนั่นแหละนะ

 

ปิกัสโซ่ มีชื่อเต็มที่ยาวเหยียดตามประสาคริสเตียนว่า ปาโบล ดิเอโก โฆเซ่ ฟรานซิสโก เด เปาลา ฆวน เนโปมูเซโน มาเรีย เด ลอส เรมิดิออส ซิปริอาโน เด ลา ซานติซิมา ตรินิแดด มาร์ติ ปาตริซิโอ คลิโต รุยซ์ซี ปิกัสโซ่ (Pablo Diego Jos? Francisco de Paula Juan Nepomuceno Mar?a de los Remedios Cipriano de la Sant?sima Trinidad Martyr Patricio Clito Ru?zy Picasso)

แต่เราจะเรียกเขาสั้นๆ ว่า ปาโบล ก็แล้วกัน

เขาเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1881 ที่เมืองมาลากา แถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของประเทศสเปน พ่อของเขา โฆเซ่ รุยซ์ เป็นศิลปินและครูสอนศิลปะ เขาสอนลูกชายให้วาดภาพตั้งแต่เจ็ดขวบ และเริ่มฉายแววอัจฉริยะมานับแต่นั้น

ว่ากันว่า พ่อของปาโบลตัดสินใจวางพู่กันเลิกวาดภาพไปเลยเมื่อได้เห็นภาพวาดของลูกชายตัวเองตอนอายุสิบสอง ตอนอายุสิบสาม เขาและครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองบาร์เซโลนา

ปาโบลสอบติดโรงเรียนศิลปะเข้าไปเรียนในชั้นที่มีนักเรียนอายุมากกว่าเขาเกือบสิบปี

หลังจากนั้นเขาก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองมาดริด และเข้าเรียนในสถาบันศิลปะที่นั่น แต่เขาก็ไม่สนใจเรียนสักเท่าไหร่ และใช้เวลากับการตระเวนดูงานศิลปะของศิลปินชั้นครูอย่าง เบลาสเควซ, โกยา และ เอล เกรโก ซึ่งส่งอิทธิพลต่อแนวทางศิลปะของเขาในเวลาต่อมา

โดยเขาเริ่มพัฒนาแนวทางการวาดภาพของเขาจากแบบเหมือนจริงไปสู่แบบสัญลักษณ์นิยมที่เฟื่องฟูในยุคนั้น ด้วยการใช้สีสันที่ผิดจากธรรมชาติ

โดยเขาผสมผสานแนวทางของศิลปินอย่าง โรเซตติ, ตูลุส-โลแตรก, เอ็ดวาร์ด มุงก์ และศิลปินชั้นครูอย่าง เอล เกรโก และแนวคิดในการทำงานส่วนตัวเข้าไว้ด้วยกัน

 

ในปี 1900 เขาย้ายไปอยู่ที่ปารีส ทั้งๆ ที่ถังแตกและไม่กระดิกภาษาฝรั่งเศสสักแอะ เขาอาศัยอยู่กับเพื่อนในอพาร์ตเมนต์โทรมๆ ไม่มีอาหารพอยาไส้

บางครั้งเขาต้องเผาภาพเขียนตัวเองต่างฟืนเพื่อประทังความหนาว

ภาพเขียนในยุคนี้ของเขาจึงมีโทนหม่นหมองด้วยสีน้ำเงินและเขียว และมักจะวาดภาพโสเภณี ขอทาน และคนยากไร้อดโซ

ซึ่งแนวทางนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “ยุคสีน้ำเงิน” (Blue Period, 1901)

ต่อมาเมื่อเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะของปารีสจนลืมตาอ้าปากได้บ้างรวมถึงความสุขกับชีวิตรัก เขาก็เริ่มใช้โทนสีที่สดใสอย่างสีส้มและชมพูวาดภาพเรื่องราวที่สนุกสนานรื่นเริงอย่างนักแสดงละครสัตว์ นักกายกรรม และตัวตลก ซึ่งแนวทางนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “ยุคสีกุหลาบ” (Rose Period, 1904-1906)

ในเวลาใกล้เคียงกันเขาได้พบกับงานศิลปะพื้นเมืองของแอฟริกันและหลงใหลในรูปทรงเส้นสายและลวดลายอันทรงพลังของมัน ผนวกกับการใช้รูปทรงเรขาคณิตเชิงนามธรรม ซึ่งผลลัพธ์นี้ปรากฏอย่างชัดแจ้งในภาพวาด Les Demoiselles d”Avignon, 1907 ของเขา ที่ได้ชื่อมาจากซ่องโสเภณีในบาร์เซโลนา

ภาพโสเภณีห้านางที่ยืนเปลือยกายเรียกแขกถูกวาดออกมาในรูปทรงที่หยาบกระด้างรุนแรง หน้าอกนางแบบถูกวาดเป็นหยักแหลม เรียวขาถูกวาดเป็นแท่ง ใบหน้าของนางแบบดูแปลกประหลาดจนน่ากลัว

บางคนดูคล้ายกับหน้ากากแอฟริกัน ภาพนี้สร้างความตื่นตะลึงให้กับแวดวงศิลปะของปารีสอย่างใหญ่หลวง

แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนปิกัสโซ่หลายคนเองก็ตื่นตระหนกกับมัน นักสะสมบางคนบอกว่ามันน่าขันสิ้นดี บ้างก็ว่ามันเป็นความหายนะของศิลปะ บ้างก็ว่ามันเป็นภาพวาดของคนบ้าเลยก็มี

ถึงแม้ในยุคนี้ที่ผู้คนคุ้นเคยกับศิลปะสมัยใหม่กันมานานเป็นศตวรรษแล้ว ภาพนี้ก็ยังคงท้าทายสายตาของคนดูงานศิลปะอยู่ดี

ด้วยการตั้งคำถามกับขนบในการวาดภาพเปลือยของสตรี ปิกัสโซ่ค่อยๆ สร้างสัญลักษณ์ของความงามขึ้นมาและทำลายมันลงอย่างป่นปี้ไม่มีชิ้นดี

 

ซึ่งภาพวาดนี้เองที่เปิดเส้นทางสู่แนวทางการทำงานศิลปะแนวใหม่ของปิกัสโซ่ ในปี 1980 เขาและเพื่อนศิลปินชาวฝรั่งเศส ฌอร์ช บราก (Georges Braque) ร่วมกันทำการทดลองใช้รูปทรงทางเรขาคณิต (ซึ่งได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผลงานในช่วงสุดท้ายของ ปอล เซซานน์ ที่มีองค์ประกอบในภาพเป็นรูปทรงเรขาคณิต) มาใช้ในการทำงานศิลปะจนกลายเป็นแนวทางใหม่ขึ้นมา

ด้วยการวาดภาพที่ไม่ยึดหลักทัศนียภาพโดยสิ้นเชิง และทำลายรูปทรงของสิ่งที่พวกเขาวาดจนกลายชิ้นส่วนของพื้นผิวแบนราบรูปทรงเรขาคณิตชิ้นเล็กชิ้นน้อย มาประกอบขึ้นเป็นรูปทรงเชิงนามธรรม ซึ่งศิลปินรุ่นพี่อย่าง อองรี มาตีส (Henri Matisse) วิพากษ์วิจารณ์ภาพวาดของพวกเขาว่าเป็นเพียงแค่ “รูปลูกบาศก์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (little cubes)

ทั้งสองจึงเอามันมาตั้งเป็นชื่อแนวทางศิลปะที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาใหม่ และนั่นเองเป็นจุดกำเนิดของศิลปะแนว “คิวบิสซึ่ม” (Cubism, 1909-1919) ขึ้นมา

ศิลปะแนวทางนี้นอกจากจะมีเอกลักษณ์อยู่ที่การคลี่คลายรูปทรงและองค์ประกอบในภาพวาดให้กลายเป็นเรขาคณิตแล้ว ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของมันก็คือ แทนที่จะนำเสนอภาพของสิ่งต่างๆ จากมุมมองเดียว มันกลับฉายภาพของสิ่งเหล่านั้นออกมาในหลากหลายมุมมอง

จนเราสามารถเห็นมุมมองทั้งด้านหน้าและด้านข้างของคน สัตว์ หรือสิ่งของในภาพได้พร้อมๆ กันในคราวเดียว ราวกับวัตถุหรือคนในภาพถูกคลี่ให้กางออกมา

ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการนำเสนอถึงเนื้อหาที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งของตัวแบบมากกว่าจะเป็นแค่การวาดภาพเหมือนธรรมดาๆ

นอกจากภาพวาดแล้ว ศิลปะคิวบิสซึ่ม ยังมีงานประติมากรรม และงานศิลปะปะติด/สื่อผสม

และนอกจากจะมีศิลปินอีกหลายคนเข้าร่วมในแนวทางศิลปะนี้แล้ว แนวคิดของมันส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวิวัฒนาการของวงการศิลปะในเวลาต่อมา และเป็นต้นธารของศิลปะสมัยใหม่อีกหลากแขนง

อาทิ ศิลปะ Abstract, Futurism, Suprematism, Dada, Constructivism และ De Stijl เป็นต้น