ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]
เครื่องรางเขี้ยวเสืออาคม
หลวงพ่อนก วัดสังกะสี
ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย
เสือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เป็นที่ครั่นคร้ามเกรงกลัวนับถือของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย อีกทั้งยังมีอำนาจบารมีสูงล้ำและบริวารมากมาย จนเกิดการสร้างเครื่องรางของขลังด้วยอำนาจพญาเสือ
กล่าวถึงเครื่องรางเขี้ยวเสือ “หลวงพ่อปาน อัคคปัญโญ” หรือพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการพระเกจิชื่อดังของสมุทรปราการ จัดสร้างขึ้นมา ล้วนแต่ได้รับความนิยม ถือเป็นสุดยอดของเครื่องรางหายากมาก
อย่างไรก็ตาม เครื่องรางเขี้ยวเสือที่สร้างโดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานและมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กันคือ “หลวงพ่อนก วัดสังกะสี” นั่นเอง
สมัยก่อนนั้น สำหรับผู้ที่หาเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานไม่ได้ ก็หาเขี้ยวเสือของหลวงพ่อนก วัดสังกะสีแทน
แต่ปัจจุบันก็หายากเช่นกัน
“หลวงพ่อนก ธัมมโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคราช (วัดสังกะสี) อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ศิษย์ของหลวงพ่อปาน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำเสือ ถึงขนาดที่ว่า หลวงพ่อปานทึ่งในความมานะอดทนฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ พร้อมกับชมเชยว่าทำได้ขลังจริงๆ ทำได้เหมือนท่านมาก
สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์และชาวบ้านอยู่หลายอย่าง แต่ที่นิยมสูงสุดคือเขี้ยวเสือ เป็นการแกะแบบเต็มเขี้ยวและลงอักขระเต็มตลอดตัวเสือ
โดยนำเขี้ยวเสือที่แกะแล้วไปปลุกเสกในอุโบสถ ร่ำลือกันว่าจะปลุกเสกจนเขี้ยวเสือหมุนได้อยู่ในบาตร จึงเป็นอันเสร็จพิธี แล้วจึงนำมาแจก
พุทธคุณเด่นทั้งด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม เจริญรุ่งเรือง ค้าขายดี
ปัจจุบันหาของแท้ยาก

เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2392 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ปีระกา ที่ ต.บางกระเจ้า อ.นครเขื่อนขันธ์ (อ.พระประแดง) จ.สมุทรปราการ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา
ในวัยเด็กบิดา-มารดานำไปฝากเป็นศิษย์วัด เรียนหนังสือไทย หนังสือขอมกับพระอธิการโตที่วัดบางบ่อ ใกล้บ้านมารดา จนพอมีความรู้อ่านออกเขียนได้
กระทั่งอายุครบ 15 ปีจึงบรรพชาที่วัดกองแก้ว ต.บางยอ อ.นครเขื่อนขันธ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดา มีพระครูวิบูลย์ธรรมคุตเป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากนั้นศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและหนังสือขอมจนแตกฉาน
เมื่ออายุครบบวช กลับมาอุปสมบทที่วัดบางเหี้ย (วัดมงคลโคธาวาส) อ.บางบ่อ มีพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เรือน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่าธัมมโชติ
ศึกษาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน และรับถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมต่างๆ จากพระอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ซึ่งในยุคนั้นเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงมาก
หลวงพ่อนกมีความอดทนเป็นเยี่ยม พยายามฝึกฝนอบรมตนเองให้เกิดพลังจิตแก่กล้า ติดตามหลวงพ่อปานออกธุดงค์ไปด้วยเป็นประจำ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำคณะธุดงค์
ได้รับคำยกย่องจากหลวงพ่อปานว่า “พระนกนี้แม้จะเป็นพระหนุ่มแน่นบวชไม่กี่พรรษา แต่กำลังจิตกำลังใจนับว่ากล้าแข็งเหลือเกิน ภายภาคหน้าจะได้เป็นผู้นำหมู่คณะที่ดีต่อไป”
เคยธุดงค์เข้าไปถึงประเทศพม่า กราบพระเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี พระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง และอีกหลายแห่งหลายเมือง
ช่วงหนึ่งของการธุดงค์ได้พบและแลกวิทยาคมกับหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งให้วิชาทำปลัดขิกและวิชาทำลิงมา
ต่อมา ขุนสำแดงเดชและภรรยาชื่อนางนุ่มมีจิตศรัทธาถวายที่ดินให้สร้างวัดและขอนิมนต์ให้ปกครองวัด จึงได้นำความมาปรึกษาหลวงพ่อปาน ก็ให้ความเห็นชอบด้วย สนับสนุนให้หลวงพ่อนกไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสังกะสี
ชาวบ้านต่างๆ ก็มาช่วยกันสร้างอุโบสถและกุฏิเสนาสนะต่างๆ เจริญรุ่งเรือง
บุคลิกลักษณะ เป็นพระรูปร่างเล็ก สูงโปร่ง ว่องไว ใจดี มีเมตตาสูง ทำงานจะมีระเบียบแบบแผน อีกทั้งยังเคร่งครัดในหลักธรรมวินัย กิจของสงฆ์ปฏิบัติไม่เคยขาด โดยเฉพาะเรื่องสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น
เสียงของท่านดังกังวานน่าเกรงขาม เวลาสวดมนต์เมื่อขึ้น “นะโม” ครั้งใด แม้แต่เด็กยังร้องไห้ เพราะกลัวเสียงท่าน
นอกจากนี้ ยังเทศน์สั่งสอนให้คติเป็นธรรมย้ำเตือนใจ อบรมส่งเสริมให้ทำแต่ความดี ดั่งเช่นอุบายอันแยบคายที่ว่า “เกิดเป็นคนต้องสนใจในการศึกษาหาความรู้ให้มากๆ ใช้สติปัญญา เพราะปัญญาไม่ว่าขโมยหรือโจรปล้นเอาไปไม่ได้ คนดีมีปัญญาไม่อดตาย การบวชเรียนก็เช่นกัน เมื่อบวชแล้วต้องเรียนให้รู้ให้แจ้ง เมื่อรู้แล้วก็จะเป็นคุณให้ประโยชน์ โดยนำวิชานั้นมาบำรุงสร้างสรรค์สังคมในหมู่ชนให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”
วัตถุมงคลของขลังที่ท่านสร้างไว้มีเขี้ยวเสือ, เหรียญหยดน้ำทองแดง, ปลัดขิก, ลูกอม, ตะกรุดโทน พระปิดตา ฯลฯ แต่ละชนิดนั้นล้วนหายากและมีราคาเช่าหาสูง ชาวปากน้ำเชื่อในพุทธคุณที่ครบเครื่องรอบด้าน
วาระสุดท้าย อาพาธอย่างหนัก ก่อนละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2475 สิริอายุ 83 ปี
บรรยายภาพ
1.หลวงพ่อนก ธัมมโชติ
2.เครื่องรางเขี้ยวเสือ