ยืนตรงเคารพธงชาติ มีที่มาจากอะไร ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ยืนตรงเคารพธงชาติ มาจากไหน?

ปลายเดือนตุลาคม 2563 มีเหตุการณ์ป้าคนหนึ่งเข้าไป “ตบ” เด็กนักเรียนผู้หญิงกลางสถานีรถไฟ จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุที่เธอคนนั้นไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ

แน่นอนครับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตีความเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ถึงแม้ว่าน้องนักเรียนคนนั้นจะให้เหตุผลว่า ที่เธอไม่ยืนเคารพธงชาติเป็นเพราะปวดประจำเดือน ไม่ได้มีอะไรซุกไว้อยู่ในกอไผ่เสียหน่อย

แต่เหตุผลจริงๆ จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากจะชวนถกเถียงในที่นี้หรอกนะครับ ที่อยากจะชวนคุยในที่นี้ก็คือ ทำไมเราถึงมีธรรมเนียมยืนตรงเคารพธงชาติต่างหาก

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า อะไรที่เรียกว่า “ธงชาติ” นั้น ไม่ใช่สิ่งเก่าแก่ที่มีในวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิม ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงอะไรๆ ที่เกี่ยวพันกับเรื่องของธงชาติไปด้วยทั้งหมด

ซึ่งนั่นก็ย่อมรวมถึงธรรมเนียมการยืนตรงเคารพธงชาติด้วย

พ.ศ.2478 รัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีความคิดที่จะแห่ธงไตรรงค์ (ซึ่งเพิ่งจะเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6) ไปตามถนนเส้นต่างๆ ทั่วประเทศกันทุกวันขึ้นปีใหม่ (ตอนนั้นคือวันที่ 1 เมษายน) แน่นอนว่าพอมีงานแห่ก็ต้องมีการออกห้างร้านและโรงมหรสพ ซึ่งรัฐท่านก็อยากให้ทุกๆ โรงมหรสพทำเพลงชาติขึ้นก่อนจะมีการแสดง และก็ให้ผู้ชมทุกคนลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพด้วย ในทำนองเดียวกับเพลงสรรเสริญพระบารมี

แต่สุดท้ายแนวคิดดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนปีนั้น มีมติว่า ในบางจังหวัดจะไม่มีกองทหาร ไม่มีแตรวงประจำกองลูกเสือหรือโรงเรียน จึงกลัวจะไม่สมเกียรติ และมีเหตุผลประหลาดๆ ต่อท้ายด้วยว่า ถ้าไม่สมเกียรติแล้วจะทำให้ปลุกใจให้รักชาติไม่แน่นแฟ้น

อย่างไรก็ตาม ผลจากการประชุมครั้งนี้ก็ทำให้รัฐสยามในขณะนั้นเกิดความคิดที่ว่า ถ้าจะปลุกใจให้รักชาติอย่างได้ผลก็ต้องเริ่มจาก “ยุวชน” ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการในปัจจุบัน) ไปดำเนินการ

4 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้ส่งบันทึกโครงการที่จะทำเรื่องการปลุกใจให้ราษฎรรักชาติมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

ซึ่งในบันทึกดังกล่าวเสนอให้อบรมทั้งเด็กและประชาชนทั่วไปไปพร้อมกัน โดยในส่วนของการอบรมเด็ก ได้ระบุเป็นการเฉพาะเจาะจงเลยด้วยว่า

“ทุกโรงเรียนทั้งโรงเรียนประชาบาลและรัฐบาลควรจะมีเสาธงชักธงชาติในเวลาเปิดการสอน”

 

ขอให้สังเกตว่า ในบันทึกฉบับนี้ไม่ได้บอกให้เคารพธงชาติด้วยการ “ยืนตรง” แต่ที่ต้องยืนกันอย่างในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะช่วงระหว่าง 5 มิถุนายนจนถึง 4 พฤศจิกายน 2478 ที่กระทรวงธรรมการยื่นบันทึกนี้ หน่วยงานอื่นก็ได้พัฒนาธรรมเนียมการเคารพธงชาติเอาไว้แล้ว

พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (และนายกรัฐมนตรีในภายหน้า) ได้ออกคำชี้แจงทหารเรื่อง “การเคารพธงชาติ” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมปีเดียวกันว่า ให้ทหาร (ไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแบบหรือไม่ก็ตาม) หยุดเพื่อเคารพธงชาติเมื่อมีการชักธงขึ้น-ลง ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่แห่งใดก็ตาม

คำชี้แจงนี้ยังระบุให้บุคคลที่อยู่ในค่ายทหารทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า-แม่ขาย ลูก-เมียทหารทั้งปวง) ทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย และแน่นอนว่าใครต่อใครก็ตามที่ถูกเชิญไปในค่ายทหารก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกันนี้แหละ

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงในขณะนั้น ยังได้ออก “ระเบียบเรื่องการชักธงชาติ” ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยว่าด้วยการชักธงลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม ปีเดียวกัน และก็เป็นกฎหมายฉบับนี้แหละนะครั ที่กำหนดเวลาชักธงขึ้น-ลงตอน 8 โมงเช้า กับ 6 โมงเย็น อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี

กฎหมายฉบับนี้ยังย้ำเราอยู่บ่อยๆ ด้วยว่า ให้ “เคารพธงชาติ” ถึงจะไม่บอกว่าให้หยุดยืนตรงๆ เหมือนคำชี้แจงของพันเอกหลวงพิบูลสงครามที่มีมาก่อนหน้านั้นก็ตาม

ดังนั้น ถึงในบันทึกของกระทรวงธรรมการจะไม่ได้บอกว่าเราจะต้องเคารพธงชาติอย่างไร ก็เหมือนบอกไปแล้วอยู่ดี

 

อะไรต่างๆ ที่วนเวียนอยู่รอบๆ “ธงชาติ” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อปลูกสำนึก “ชาตินิยม” ให้กับประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย “เพลงชาติ” ก็เป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากร่างต้นฉบับคำแถลงเรื่อง “ความจำเป็นที่ต้องมีเพลงชาติ” ของหลวงพิบูลสงคราม เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กันยายน 2476 (ต้นฉบับเขียนด้วยลายมือของหลวงวิจิตรวาทการ) ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า

“การที่จะเตือนให้เราระลึกถึงชาติอยู่เสมอนั้น ก็จำจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึง และเป็นเครื่องปลุกใจ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงให้แต่งเพลงชาติขึ้น”

โดยในร่างต้นฉบับดังกล่าวยังได้ระบุปิดท้ายไว้ด้วยว่า

“ขอให้เพลงชาตินี้เป็นเครื่องเตือนใจชาวสยามให้รักชาติ ขอให้เพลงจงเป็นเครื่องปลุกใจทหารให้แกล้วกล้าในสมรภูมิ ไว้ลายนักรบของไทยซึ่งเป็นนักรบที่ดียิ่งมาแล้วในอดีต และขอจงเป็นเครื่องปลุกใจพลเมืองทุกคนให้เห็นชาติเป็นสิ่งสำคัญอันควรเชิดชูให้ยืนยงคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน เทอญ”

เพลงชาติจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำ “ธงชาติ” และ “ชาติ” ให้ศักดิ์สิทธิ์นั่นแหละครับ

ข้อความในบันทึกของกระทรวงธรรมการ ฉบับเดียวกับที่ทำให้เด็กนักเรียนต้องไปยืนเคารพธงชาติกันทุกเช้าที่ผมยกมาอ่านกันข้างต้นนั้น ยังมีข้อความตอนหนึ่งระบุเอาไว้ด้วยว่า

“ธงชาติเป็นเครื่องหมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไรย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว แต่รู้สึกว่าโดยทั่วๆ ไปยังมีผู้เอาใจใส่น้อย ที่จริงควรจะปลุกเด็กให้เห็น “ธงชาติ” เป็น “วัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ขลัง” ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่บัดนี้ ให้ผู้ที่เคารพธงชาติก็นึกเสมือนว่าเคารพชาติของตน ให้ธงชาติเป็นเครื่องแทนชาติจริงๆ”

ในเมื่อต้องการให้ “ธงชาติ” เป็น “วัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ขลัง” แล้ว ก็จึงไม่แปลกอะไรสักนิดที่ในการชักธงชาติต้องมีพิธีกรรมทั้งการร้องเพลงชาติ และการยืนตรงเคารพธงชาติอย่างเป็นพิธีกรรม

 

แน่นอนว่าธรรมเนียมการยืนตรงเคารพธงชาติไม่ได้เกิดที่สยามประเทศไทยเป็นที่แรก แต่มีมาก่อนในธรรมเนียมของพวกฝรั่ง แต่ที่มาของการยืนเคารพธงชาติและเพลงชาตินั้นก็มีประวัติที่ค่อนข้างจะพิลึกเลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า มันเกิดมาจากการธรรมเนียมปฏิบัติในเพลง “เมสสิยาห์” (Messiah) ของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ที่ได้โอนสัญชาติมาเป็นอังกฤษอย่างจอร์จ ฟรีดริก แฮนเดล (George Frideric Handel, พ.ศ.2228-2302)

ในเพลงดังกล่าว จะมีธรรมเนียมการลุกขึ้นยืนกันในท่อนที่ร้องว่า “ฮัลเลลูยาห์” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดเพราะพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษ (George II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2270-2303) เพราะในคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2286 เมื่อเพลงบรรเลงถึงท่อนนี้แล้วก็ทรงลุกขึ้นยืน จนทำให้คนอื่นๆ ต้องยืนขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า พระเจ้าจอร์จที่ไม่ได้ยอดมากพระองค์นี้ ทรงลุกขึ้นยืนระหว่างที่บรรเลงเพลงเมสสิยาห์ทำไม?

 

คําอธิบายโดยสารพัดใครต่อใคร ที่ไม่ใช่ตัวพระองค์เอง ในแนวที่เป็นวิชาการมักจะสันนิษฐานไปในทำนองเดียวกันว่า เนื้อเพลงท่อนนั้นมีคำว่า King of Kings, and Lord of Lords ซึ่งเป็นความในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

การยืนขึ้นของพระเจ้าจอร์จที่ 2 จึงเป็นการยอมรับในสถานะ “Lord of Lords” ของพระองค์ เทียบเคียงกับสถานะ “King of Kings” ของพระคริสต์ จนพาให้ใครต่อใครคนอื่นในฮอลล์ต้องพากันลุกขึ้นยืนไปด้วย เพราะพระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นั่นเอง

แต่คำอธิบายทำนองนี้ก็นำไปสู่วิวาทะที่ว่า ถ้าการลุกขึ้นยืนของพระเจ้าจอร์จที่ 2 มีความหมายไปในทิศทางนั้นจริงๆ แล้วทำไมคนอื่นในฮอลล์จึงต้องลุกขึ้นยืนไปพร้อมๆ กันด้วย ในเมื่อพวกเขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาวะการยอมรับความเป็นลอร์ด หรือกษัตริย์ที่ว่านี้เลย?

อย่างไรก็ตาม การสันนิษฐานที่ว่า ก็ยังคงเป็นเพียงการเดาอยู่ดีนั่นแหละ เพราะที่จริงก็ไม่มีใครรู้น้ำพระทัยที่แท้ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ว่าทรงลุกขึ้นยืนทำไมแน่?

นอกจากคำอธิบายในทำนองข้างต้นแล้ว จึงมีทั้งคำอธิบายในทำนองที่อิงกับความรู้สึกอย่างเช่น พระองค์ทรงปลาบปลื้มกับเสียงเพลงมากเสียจนทรงต้องลุกขึ้นยืน หรือคำอธิบายในเชิงเสียดสีว่า ที่จริงแล้วคงไม่มีอะไรหรอก เพราะเมื่อฟังดนตรีบรรเลงไปนานเข้า พระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็คงจะทรงเมื่อย จนต้องลุกขึ้นยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเท่านั้นเอง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพระหว่างบรรเลงเพลงคำนับนั้น ก็ได้กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในอังกฤษโดยได้ทำให้มีการลุกขึ้นยืนระหว่างบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ควบตำแหน่งเพลงชาติอังกฤษอย่างเพลง God Save the Queen (หรือ God Save the King ขึ้นอยู่กับประมุขตอนนั้นจะเป็น King หรือ Queen) ไปในที่สุด

อันที่จริงแล้วที่มาประหลาดพิกลของธรรมเนียมการยืนตรงเคารพธงชาติอย่างนี้ ก็ดูเข้ากันดีกับ “ธงชาติ” ในรัฐที่อยากให้มันกลายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์ขลัง” มากกว่าที่จะเป็น “ความภาคภูมิใจ” อยู่เหมือนกันนะครับ