อนุช อาภาภิรม : วิกฤตโรคระบาดเขย่าความมั่นคงโลก

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (30)
โควิด-19 กับความมั่นคงของโลก

ผลกระทบหลักของโควิด-19 ได้แก่ การเร่งกัดกร่อนเสถียรภาพหรือความมั่นคงของชาติต่างๆ ซึ่งจะแสดงตัวในหลายรูปแบบและหลายระดับ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ

อธิบายได้ดังนี้คือ

ประเทศทั้งหลายในขณะนี้ขับเคลื่อนไปด้วยการบริโภคและการก่อหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นทุกที ซึ่งไม่ยั่งยืน การเพิ่มการบริโภคนี้แสดงออกที่ชาติต่างๆ พยายามรักษาการเติบโตของจีดีพีอัตราสูงเท่าที่จะทำได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลัง เห็นได้ชัดขึ้นว่า สืบเนื่องจากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น

นับแต่ทศวรรษ 1970 โลกได้เผชิญกับวิกฤตินิเวศและวิกฤติเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมา คือ

ก) ในต้นทศวรรษ 1970 มนุษย์ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่ากับที่ธรรมชาติสามารถสนองให้ได้ นั่นคือเราใช้โลกหมดทั้งใบพอดี ทั้งนี้ เป็นการคำนวณของเครือข่ายรอยเท้า (นิเวศ) โลก แต่การใช้โลกก็ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง จนในปี 2018 มนุษย์ใช้โลกถึง 1.7 ใบ เพื่อสนองการบริโภคของพวกเขา

ถ้ามนุษย์ทุกคนบริโภคมากเหมือนชาวอเมริกัน ต้องใช้โลกถึง 5 ใบจึงจะพอ และถ้าบริโภคมากเหมือนชาวจีนต้องใช้โลกถึง 2.2 ใบ ทั้งสหรัฐและจีนต่างต้องการเพิ่มการบริโภค หรือจีดีพีของตนขึ้นอีก การบริโภคเกินความสามารถที่โลกจะสนองให้ย่อมทำให้ให้เกิดวิกฤตินิเวศอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ข) ในต้นทศวรรษ 1970 สหรัฐได้ผลิตน้ำมันจากแหล่งธรรมดาถึงขีดสูงสุด การผลิตไม่เพิ่มขึ้นจนได้แหล่งน้ำมันจากอลาสก้า จึงกลับผลิตน้ำมันถึงขีดสูงสุดเป็นครั้งที่สองในปี 1985

หลังจากการผลิตน้ำมันของสหรัฐได้ลดลงโดยลำดับ จนสหรัฐกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ทางการสหรัฐได้ อุดหนุนการขุดเจาะน้ำมันอย่างเต็มที่ ผสานกับนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ทำให้การผลิตน้ำมันของสหรัฐเฟื่องขึ้นอีกครั้ง ระหว่างปี 2009 ถึง 2019

การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 134 จนกลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก

แต่แหล่งผลิตน้ำมันใหม่นี้ไม่ใช่เป็นแบบธรรมดา แต่อัดแน่นอยู่ในหินดินดาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงจึงจะได้มา หลุมน้ำมันก็หมดง่าย ดังนั้น จึงไม่ได้มีความยั่งยืนอะไร การผลิตน้ำมันจากแหล่งทำนองนี้ของสหรัฐคาดว่าจะถึงขีดสูงสุดแล้ว

ในขณะนี้การผลิตและราคาน้ำมันของโลกมีลักษณะผันผวน เกิดสงครามราคาน้ำมันในหมู่ประเทศผลิตน้ำมันใหญ่ คือซาอุดีอาระเบีย สหรัฐ และรัสเซีย เหล่านี้ยิ่งลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มการก่อหนี้และความ เหลื่อมล้ำ

ค) เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงินหลายครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จนถึงปี 2008 โยกคลอนความมั่นคงของโครงสร้างการเงินโลก กระบวนโลกาภิวัตน์ สร้างความไม่มั่นใจว่ากลไกตลาด การแทรกแซงของรัฐบาลและเหล่าธนาคารกลาง รวมถึงเทคโนโลยี ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาระบบเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางได้อย่างไร

ง) เกิดหายนภัยธรรมชาติรุนแรงในที่ต่างๆ ทั่วโลก มีสามกลุ่มใหญ่ได้แก่

ก) การระบาดของโรคอุบัติใหม่จากไวรัสหลายครั้งในศตวรรษที่ 21 มีโรคซาร์ส เป็นต้น

ข) พายุเฮอร์ริเคนและไต้ฝุ่นหลายลูก

ค) ไฟป่าและอุบัติภัยอื่นๆ หายนภัยเหล่านี้ แม้ว่าจะเกิดในระดับท้องถิ่น แต่ก็ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก สร้างความหวาดกังวลต่อผู้คนในวงกว้าง ทัศนะด้านลบ เช่น “วันล้างโลก” ปกคลุมไปทั่ว

สถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนสำคัญเร่งให้หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตัวหนี้สินที่เพิ่มขึ้นนี้ ได้ทำให้ความสามารถในการรับมือกับวิกฤติทั้งหลายลดลง

 

การศึกษาของคณะนักวิชาการกลุ่มธนาคารโลกเผยแพร่ครั้งแรกปลายปี 2019 พบว่าหนี้สินในหมู่ประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนับแต่ปี 1970 มีลักษณะคล้ายคลื่นใหญ่ 4 ลูกด้วยกันได้แก่

คลื่นลูกแรก ระหว่างปี 1970-1989

ปรากฏหนี้สินในประเทศละตินอเมริกา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จบลงด้วยวิกฤติการเงินในประเทศเหล่านี้และประเทศที่มีรายได้ต่ำ

คลื่นลูกที่สอง ระหว่างปี 1990-2001

หนี้สินในประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จบลงด้วยวิกฤติการเงินเอเชีย (บางทีเรียกวิกฤติต้มยำกุ้ง) ซึ่งลามไปยังละตินอเมริกา รัสเซีย กระทั่งในสหรัฐเอง

คลื่นลูกที่สาม ระหว่างปี 2002-2009

เกิดการขยายตัวของสินเชื่อทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว สิ้นสุดลงด้วยวิกฤติการเงินโลกในสหรัฐและยุโรปตะวันตก รวมถึงภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (ECA Region) มีรัสเซีย อาร์เซอร์ไบจาน อุซเบกิสถาน เป็นต้น

คลื่นลูกที่สี่ ระหว่างปี 2010 ถึงปัจจุบัน (ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19)

เป็นการระเบิดของหนี้ครั้งใหญ่ที่สุด เร็วที่สุด และกว้างขวางที่สุด สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ยอดรวมหนี้สินของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 114 ของจีดีพีในสิ้นปี 2010 เป็นร้อยละ 170 ในสิ้นปี 2018 คิดเป็นตัวเงินราว 55 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศจีน หนี้รวมของประเทศเพิ่มขึ้นสูงมากเป็นร้อยละ 255 ของจีดีพีในสิ้นปี 2018

(ดูบทความของ M. Ayhan Kose และคณะ ชื่อ Global Waves of Debt ใน operknowledge.worldbank.org, 2020)

 

ภาวะหนี้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ก็ได้เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน และในหลายด้านมีความรุนแรงและสำคัญกว่า เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจ-การเงินโลกนั้น กำหนดโดยประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่กี่ประเทศ เช่น ดูได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศใหญ่ของโลกได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ เงิน ยูโรของสหภาพยุโรป เงินปอนด์ของอังกฤษ และเงินเยนของญี่ปุ่น มีสกุลเงินหยวนจากจีนเท่านั้นที่ต่อแถวร่วมเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ในที่นี้จะกล่าวถึงหนี้สินของสหรัฐที่มีเงินดอลลาร์เป็นใหญ่

หนี้ของสหรัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 1970 ถึงปี 2019 นั่นคือในปี 1970 หนี้รัฐบาลมียอดรวม 371 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 35 ของจีดีพี (ในปีนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย) ในปี 2019 หนี้ของรัฐบาลเพิ่มเป็น 22.72 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 106 ของจีดีพี และนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในประเทศ หนี้รัฐบาลได้เพิ่มเป็น 27 ล้านล้านในเดือนตุลาคม 2020 คิดเป็นกว่าร้อยละ 136 ของจีดีพี

สาเหตุที่ทำให้หนี้สินรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นจนน่ากังวลว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิดจาก

ก) ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลมีรายได้น้อยขณะเดียวกับที่ต้องใช้เงินมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข) การเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารโดยฉพาะ นับแต่การประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกในปี 2001

ค) ค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพและสังคมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนเองก็แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ถีบตัวสูงได้ยากขึ้นเรื่อย

ง) การระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อการเยียวยารักษาจำนวนมาก จนหนี้สินแห่งชาติของรัฐบาลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 27 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม 2020 (บทรายงานของ Kimberly Amadeo ปริทัศน์โดย Michael J. Boyle ชื่อ US National Debt by Year Compared to GDP and Major Events ใน thebalance.com อัพเดต 09/10/2020)

โควิด-19 ก่อผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกอย่างฉับพลันยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจหรือหายนภัยทางธรรมชาติใด ภาคธุรกิจเอกชนรวมทั้งสถาบันการเงินและภาคครัวเรือนอยู่ในภาวะที่ยืนไม่ติด เพราะว่ารายได้ลดลงมาก

ขณะที่รายจ่ายเข้ามากัดกินเงินออมหรือเงินทุนที่เหลืออยู่ และที่สำคัญคือการพอกพูนหนี้ขึ้นอีก เหลือแต่ภาครัฐบาล เท่านั้นที่จะต้องพิมพ์ธนบัตร นำเงินออกมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบ

แต่รัฐบาลทั้งหลายมีความจำกัดในการก่อหนี้ เนื่องจากภาระหนี้สินได้เพิ่มโดยตลอดในช่วง 50 ปีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จึงช่วยเพียงการประคับประคองซื้อเวลาเท่านั้น และกลายเป็นว่าการเยียวยาดังกล่าวกลับทำให้มหาเศรษฐีรวยขึ้น

ส่วนประชาชนชาวรากหญ้ายิ่งยากจนข้นแค้น จำนวนมากอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ หมดหวังในอนาคตของการตั้งตัว เนื่องจากภาระของหนี้สินที่ผัดผ่อนได้ยาก และก่อความตึงเครียดสูง ระเบิดเป็นความรุนแรงได้ง่าย

 

ความอ่อนล้าของประเทศต่างๆ
ในศึกยืดเยื้อกับโควิด-19

ศึกโควิด-19 มีอย่างน้อย 3 ด้านใหญ่ด้วยกัน

ด้านหนึ่ง ได้แก่ การแพทย์สาธารณสุข ในการลดจำนวนผู้ป่วย การติดเชื้อมีเรื่องการกักบริเวณ การเว้นระยะห่างทางสังคม การปิดเมืองปิดประเทศ เป็นต้น ไปจนถึงการพัฒนาวัคซีน การรักษา ได้แก่ การพัฒนาการรักษาและยาต่างๆ และการดูแลด้านอื่น เช่น ทางจิตวิทยา

ด้านที่สอง เป็นด้านเศรษฐกิจประคับประคองให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ พบว่าการดูแลทางการแพทย์สาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ มีลักษณะขัดแย้งกันสูง ถ้าหากเน้นด้านการแพทย์สาธารณสุขมากไป ก็กระทบต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวรุนแรง ครั้นจะเปิดด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านบริการ มีการท่องเที่ยวการกีฬา เป็นต้น ก็เป็นมูลเชื้อให้โรคกลับมาระบาดอีก

มาถึงด้านที่สาม คือทางการเมือง รัฐทั้งหลายในขณะนี้ ด้านหนึ่งถูกบังคับให้ต้องทำงานที่ยากขึ้นในการดูแลพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สิน รักษามาตรฐานการครองชีพที่สูง เป็นผู้รักษาจริยธรรมและความชอบธรรม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง โควิด-19 ได้แสดงว่ารัฐจำนวนมากไม่สามารถดูแลชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนได้ดีเท่าใดนัก นอกจากนี้ ยังมีภาระหนี้ที่มีบทบาทในการลดอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำแตกแยกในสังคมทำให้การรักษาจริยธรรมและความชอบธรรมได้ยากขึ้น รัฐทั้งหลายถูกคุกคามให้กลายเป็นรัฐล้มหลวทั้งสิ้นในระดับใดระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแก้ไข

ความอ่อนล้าของการทำศึกโควิด-19 ได้แสดงออกสำคัญในด้านการเมือง ได้แก่ การชุมนุมประท้วงไปจนถึงการลุกขึ้นสู้ ลุกลามไปกระทบความมั่นคงของรัฐบาล

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐนับแต่เกิดโควิด-19 มีการชุมนุมของคนงานนับพันครั้ง เรียกร้องค่าตอบแทนและการประกันความปลอดภัยจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ มีการลุกขึ้นสู้ของขบวนการ ชีวิตคนดำมีความหมายในหลายรัฐ ขยายความแตกแยกในชาติ จนเกรงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง

ทั้งหมดสั่นคลอนต่อฐานะประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านั้นคิดกันว่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่การรับมือที่ต่ำกว่ามาตรฐานโลก ทำให้ทายกันว่าเขาน่าจะแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้

ในยุโรปหลายประเทศ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง มีการชุมนุมของผู้คนในหลายเขต ประท้วงการใช้มาตรการป้องกันระบาดใหม่อย่างเข้มข้นของรัฐบาล

ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อัตราการเติบทางเศรษฐกิจสูง โดยทั่วไปรับมือกับโควิด-19 ได้ดี โดยเฉพาะในช่วงแรก ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวาย เกิดขบวนการเสรีประชาธิปไตยต่อสู้ในเขตฮ่องกง และต่อมาในไทย ซึ่งอาจลามไปสู่ประเทศอื่นได้ในลักษณะต่างๆ ด้วยเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน

ตอนต่อไปจะว่าด้วยโควิด-19 กับความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ-จีน