อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ดำดิ่งสัมผัสรส

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (55)
อุทยานรส (1)

“กัดหญ้ารสฝาด

มีแต่ฉันเอง

ที่รับรู้รสของมัน”

บทกวีไฮกุของ มาซาโอกะ ชิกิ (1894)

 

เขากลับถึงบ้านค่ำกว่าที่เคย นักศึกษาสองถึงสามคนดักพบเขาระหว่างทาง มหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล แม้จะมีอาณาบริเวณกว้างขวาง แต่นักศึกษาเหล่านั้นรู้ดีว่าจะพบเขาได้ที่ไหน

ดังนั้น แม้ว่าเขาจะรู้สึกรำคาญเจ้ากลิ่นสารเคมีที่ติดอยู่ตามปลายแขนเสื้อและเน็กไท เขาก็ไม่อาจปฏิเสธความตั้งใจของนักศึกษากลุ่มนั้น

เขาใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการแปรค่าสีของออกไซด์เหล็กและผลลัพธ์อื่นๆ ที่จะตามมาจนพวกนักศึกษาชั้นนำเหล่านั้นพอใจ

และเมื่อเขาเดินมุ่งหน้ากลับบ้าน ดวงอาทิตย์ก็ได้ลาลับขอบฟ้าไปแล้ว

หลังจากถอดรองเท้าไว้ที่ประตู อิเคดะ คิคูนาเอะ รู้สึกได้ถึงความหิวที่กำลังโจมตีเขาอย่างหนักหน่วง

อันที่จริงแล้วเขาควรกินอะไรสักเล็กน้อยที่ร้านกาแฟแบบคิสซาเทนหน้ามหาวิทยาลัย

แต่เขาก็มัวแต่เพลินกับการตอบคำถามและการสาธยายเรื่องราวต่างๆ ในโลกของเคมี อนุมูล สารประกอบ แร่ธาตุ เป็นทั้งความเพลิดเพลินและเป็นแรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ของเขาในวัย 43 ปี

เขายังมีเรื่องราวให้ได้ค้นคว้าอีกมากแม้ว่าเขาจะรู้สึกเหมือนมันยังไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนาจะพบจริงในโลกของเคมี

 

กลิ่นหอมจากซุปและข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ที่ผ่านพัดออกมาจากครัว ทำให้เขาไม่รีรอที่จะขัดสมาธิและนั่งลงที่โต๊ะกลางบ้าน

ภรรยาของเขาอาจจะไม่ใช่แม่ครัวผู้เก่งกาจหรือมีฝีมือเท่าใดนัก แต่เขาก็พึงใจกับอาหารที่ทำจากรสมือของเธอ

ความเคยชินเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากและลิ้นของมนุษย์นั้นเป็นอวัยวะที่อนุรักษนิยมที่สุด ใครบางคนเคยบอกกับเขาเช่นนั้นและเขาผงกศีรษะเชื่อในคำกล่าวอย่างหมดจิตหมดใจ

เทอิ-ภรรยาของเขาทยอยนำอาหารมาวางลงบนโต๊ะ ต้มปลาหมึกกับไชเท้า ซุปแตงกวา และปลาซาบะย่างเกลือ เขาหยิบตะเกียบมาถือไว้ในมือ นึกขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เขามีอาหารรสเลิศเช่นนี้ได้กิน

การใช้ชีวิตกว่าสองปีที่ไลป์ซิกในเยอรมนียิ่งทำให้เขาโหยหาและยึดมั่นกับรสชาติของอาหารญี่ปุ่นมากกว่าเดิม

หากไม่เป็นเพราะการได้อยู่ใกล้ชิดกับศาสตราจารย์ วิลเฮลม์ ออสวอลด์ ผู้มีชื่อเสียงแล้ว อาหารที่นั่นคงทำให้เขาลงเรือกลับนับแต่สัปดาห์แรกเลยทีเดียว

หลังจากภรรยาของเขานั่งลงที่ฝั่งตรงข้าม เขาก็ใช้ตะเกียบคีบเนื้อปลาซาบะขึ้นทาน รสหวานของปลาซาบะทำให้เขาตระหนักถึงรสชาติที่มนุษย์คุ้นเคย หวาน เค็ม เปรี้ยว และขม ไม่น่าเชื่อว่าอาหารทั้งหมดในโลกล้วนขึ้นอยู่กับรสชาติทั้งสี่นี้

แต่ทันทีที่เขาตักน้ำซุปแตงกวาขึ้นชิมเขาก็เปลี่ยนความคิดไป

มีบางสิ่งในน้ำซุปที่แตกต่างจากรสชาติทั้งสี่ มันเป็นรสที่ทำให้เขานึกถึงเนย นึกถึงหน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศที่เขากินในเยอรมนี บางสิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความเอร็ดอร่อยและเพลิดเพลินจนทำให้หยุดกินสิ่งนั้นไม่ได้

อิเคดะถามภรรยาของเขาว่าในน้ำซุปมีอะไรพิเศษไหม

คอมบุ ภรรยาของเขาตอบ น้ำซุปดาชิที่ทำจากคอมบุธรรมดา

อิเคดะตักน้ำซุปขึ้นลิ้มรสอีกครั้ง แน่ชัด มีรสชาติบางอย่างที่แตกต่างออกไป และรสชาตินั้นต้องมาจากคอมบุ สาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง

อิเคดะลุกออกจากโต๊ะ หยิบสมุดบันทึกจากโต๊ะทำงาน เขาเขียนบันทึกลงไปว่า พบรสชาติที่แตกต่างในคอมบุ ควรเริ่มต้นวิจัยนับแต่พรุ่งนี้เลย

ปีนั้นเป็นปี ค.ศ.1907 ปีนั้นเป็นปีที่อิเคดะกำลังมุ่งหน้าไปสู่การค้นพบ “อูมามิ”

 

ไกลออกไปในคาบสมุทรเลียวตง ชินจิ นากามูระ นายทหารประจำกองทัพพระจักรพรรดิในเกาหลีกำลังพักผ่อน หลังจากปราบปรามการลุกขึ้นก่อการกบฏของพวกไร้ฝีมือชาวเกาหลีในเดือนก่อน

เขารู้สึกว่าควรหาเวลาว่างให้กับตนเองอย่างจริงจัง การมาประจำการอยู่ที่นี่ทำให้เขาเสพติดสิ่งที่เป็นของหมักดอง กิมจิเป็นสิ่งที่เขาโปรดปรานนับแต่แรก และหลังจากได้ลิ้มรสมันครั้งแล้วครั้งเล่าเขาก็เริ่มต้นหมักกิมจิไว้ทานด้วยตนเอง

โรงหมักกิมจิของเขาตั้งอยู่ด้านหลังของค่ายทหาร ภายใต้โรงนาขนาดใหญ่ที่ถูกดัดแปลงเพื่อการณ์นี้ ชินจิจะเดินสำรวจทุกเช้าและเย็นไปตามไหที่อัดแน่นไปด้วยกระหล่ำปลีสีขาวที่บัดนี้มีสีแดงเรื่อๆ เขาเปิดไหนั้นไหนี้ขึ้นชิม แต่ละไหใช้กะหล่ำปลีจากต่างถิ่นกัน แต่ละไหใช้เกลือจากต่างสถานที่กัน

เขาพบว่าความแตกต่างขององค์ประกอบให้รสเปรี้ยวที่ต่างกันอย่างรู้สึกได้ การศึกษาวิชาทหารในฝรั่งเศสทำให้เขาติดนิสัยชิมรสกิมจิไม่ต่างจากไวน์ เขาอมกิมจิไว้ในปากก่อนจะเคี้ยวมันอย่างรวดเร็ว เมื่อได้รส เขาจะถ่มส่วนที่เหลือลงพื้นไม่ต่างจากการบ้วนไวน์หลังการชิม ถัดจากนั้นเขาจะจิบน้ำชาให้ลิ้นได้รับรู้รสฝาดเฝื่อนก่อนจะชิมกิมจิไหถัดไป

ช่วงเวลาของการชิมผลิตผลจากฝีมือของเขาเป็นช่วงเวลาแสนหฤหรรษ์

นายทหารบางคนอาจหาความเพลิดเพลินจากการตระเวนไปตามซ่องน้ำโลมที่ตั้งอยู่มากมายในเมือง การใกล้สิ้นสุดของยุคโจซอนทำให้หญิงสาวเกาหลีจำนวนมากหันมาทำอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หลายคนหน้าตาดีอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กระนั้นเรื่องราวเหล่านี้ก็หาได้ดึงดูดความสนใจของชินจิไม่ หากอวัยวะรับรู้รสของความสุขในหนุ่มคนอื่นอยู่ที่อวัยวะเพศ

สำหรับชินจิแล้วลิ้นของเขาก็ทำหน้าที่ที่ว่านั้นแทน

ชินจิไม่เคยร่วมเพศโดยการใช้อวัยวะส่วนอื่นนอกจากลิ้น และด้วยเหตุนี้เองที่เขาพบว่าการใช้ลิ้นชิมอาหารให้ความสุขมากกว่าการใช้ลิ้นกับส่วนอื่นของสตรีนางใด

 

ครอบครัวของชินจิ นากามูระ เป็นครอบครัวเล็กๆ จากไซตามะ พ่อของเขาเป็นช่างทำพู่กันจากหางม้า

ในขณะที่แม่มาจากครอบครัวชาวนา กระนั้นการเป็นลูกคนเดียวทำให้เขาได้รับอาหารที่ครบถ้วนนับแต่วัยเด็ก

อาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าจะมีความอดอยากเกิดขึ้นในบางครั้งกับชุมชนแต่ครอบครัวของเขาไม่เคยมีคำนั้นเลย

สามมื้ออาหารของครอบครัวนากามูระมีอาหารที่เพียงพอ

ความประณีตของพ่อ ความมุ่งมั่นของแม่ทำให้ครอบครัวของเขาผสานสองสิ่งเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การงาน อาชีพหรือแม้แต่เรื่องราวของอาหาร

ลิ้นของชินจิพัฒนาจากจุดนั้นและก่อนอายุสิบขวบเขาก็พบว่าตนเองหลงใหลในอาหารมากกว่าสิ่งใด ที่โรงเรียน ในมื้อกลางวัน ชินจิจะขอแลกอาหารกล่องของเขากับเพื่อน

แน่นอนทุกคนปรารถนาอยากกินอาหารของเขาในขณะที่เขากลับอยากลิ้มรสอาหารของคนอื่น เพียงเวลาไม่นานนัก เขาก็สามารถแยกรสของข้าวที่มาจากแต่ละถิ่นผ่านทางอาหารของเพื่อน

ไม่นานนักเขาก็สามารถแยกรสของแตงกวาที่ปลูกในดินคนละชนิดจากอาหารของเพื่อน

ไม่นานนักเขาก็สามารถแยกรสของปลาจากต่างแม่น้ำผ่านทางอาหารของเพื่อน

และในวันหนึ่ง ชินจิ นากามูระ ก็ได้ใช้พรสวรรค์ด้านการชิมและคุณสมบัติอันพิเศษจากลิ้นของเขาแนะนำเจ้าของร้านอาหารที่ครอบครัวของเขาไปกินเป็นประจำ

เขาบอกให้เจ้าของร้านเติมเกลือลงไปในซุปหอยลายกับสาเกเพียงครึ่งนิ้วก้อย รสชาติของซุปดีขึ้นอย่างอัศจรรย์

หลังจากนั้นทุกครั้งที่ชินจิเดินผ่านร้านแห่งนั้น ผู้เป็นเจ้าของร้านจะออกมาโบกมือทักทายเขาเสมอ

นับแต่วันนั้น ชินจิก็ตระหนักว่าในโลกของอาหาร เราทั้งผองคือพี่น้องกัน