จรัญ มะลูลีม : จุดเริ่มต้นของ “อุมมะฮ์”

จรัญ มะลูลีม

อุมมะฮ์ (1)

อิสลามเป็นศาสนาเดียวที่สมาคมร่วมกันบนพื้นฐานของศาสนา สามารถอ้างไปได้ถึงความคิดที่เป็นจารีตของอุมมะฮ์ นั่นคือความรู้สึกแห่งความผูกพัน การมาจากชุมชนเดียวกันในหมู่มุสลิม

คำว่าอุมมะฮ์นั้นเกี่ยวข้องกับคำว่า “อุมม์” (แม่, ที่มา) เป็นการอ้างอิงไปถึงกลุ่มชนที่แวดล้อมอยู่กับศาสนา ก่อนรุ่งอรุณแห่งอิสลาม แต่คำนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในอัล-กุรอาน

ในบริบทของอัล-กุรอาน คำว่าอุมมะฮ์ปรากฏ 64 ครั้ง (13 ครั้งปรากฏในรูปของพหูพจน์ในอัล-กุรอาน) ความหมายพื้นฐานของคำว่าอุมมะฮ์ หมายถึง “กลุ่มของสิ่งมีชีวิต มีลักษณะบางประการหรือบางสถานการณ์ร่วมกัน” (อัล-กุรอาน 10 : 19)

ในอัล-กุรอานจะพบคำว่าอุมมะฮ์ถูกใช้ในบริบทต่อไปนี้ ชุมชนมนุษย์ทั้งหมดเป็นอุมมะฮ์หนึ่งเดียว (อุมมะตัน วาฮิดะตัน) ในตอนต้น เพราะว่ามนุษยชาติถือกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน (อัล-กุรอาน 21 : 92) ศาสดาทุกท่านปฏิบัติตามทางนำของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นพวกเขามาจากอุมมะฮ์หนึ่งเดียว

อัล-กุรอานยังใช้คำว่าอุมมะฮ์เพื่อจะหมายถึงความเชื่อ (อัล-กุรอาน 10 : 47) หรือตัวอย่างของกลุ่มอุดมการณ์ (อัล-กุรอาน 43 : 22-23)

ดังนั้น อัล-กุรอานจึงประกาศให้อุมมะฮ์เป็นกลุ่มบุคคลที่แตกต่างจากมวลชนอันเนื่องมาจากอุดมการณ์หรือความมั่นใจ

คำว่า “อุมมะฮ์” จะถูกใช้อย่างกว้างไกลและกว้างขวางในทุกตำราในหัวข้อของโลกมุสลิม แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะแปลหรือนิยามความหมายของคำว่าอุมมะฮ์ได้ง่ายๆ

 

อุมมะฮ์ (Ummah) หรือที่นักบูรพคดีชาวตะวันตกเรียกว่า Ummatic หมายถึง “ชุมชนหรือชาติ” แต่มิใช่ในความหมายของชาติปัจจุบัน

ในภาษาอาหรับ อุมมะฮ์ที่กุรอานใช้นั้น บ่อยครั้งถือว่าใกล้เคียงกับคำว่าชาติ สิ่งที่เกี่ยวกับอุมมะฮ์มุสลิม จะอยู่ในระหว่างคำว่า เกาวฺม์ (ชาติหรือชุมชนในความหมายทั่วไป) และอุมมะฮ์ (กลุ่มคนเฉพาะที่อยู่ภายในชาตินั้น)

ดังนั้น ความหมายของคำว่าอุมมะฮ์สามารถอธิบายได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ในหมู่ประชาชน (นาส) กระทำในสิ่งเดียวกันที่ถูกต้องหรือเชื่อในความเชื่อที่ยุติธรรมเดียวกัน ในโองการที่แตกต่างออกไป

ตัวอย่างเช่น และจากพวกพ้องของมูซา (โมเสส) นั้นมีกลุ่มหนึ่งที่แนะนำชี้แจงด้วยความจริงและด้วยความจริงนั้นพวกเขาให้ความเที่ยงธรรม (อัล-กุรอาน 28 : 23)

ในที่อื่นๆ อัล-กุรอานกล่าวว่า เมื่อเขา (มูซา) มาถึงบ่อน้ำของเมืองมัดยัน เขาก็ได้พบประชาชนกลุ่มใหญ่ (คือ) อุมมะฮ์ ผู้ซึ่งกำลังให้น้ำดื่ม (อัล-กุรอาน 7 : 159) (แก่สัตว์เลี้ยงของตน)

จากโองการแรกแสดงให้เห็นว่าอุมมะฮ์เป็นส่วนพิเศษของคำว่าเกาวฺม์ หรือชาติซึ่งทำงานอย่างเที่ยงตรงและนำทางคนอื่นๆ

และในโองการที่สองเราพบว่าผู้คนของมูซา (Musa) หรือโมเสสเป็นผู้ก่อตั้งอุมมะฮ์ เพราะว่ามนุษย์ทั้งหมดมีอาชีพเดียวกัน (คนเลี้ยงสัตว์) และกระทำการในแบบเดียวกัน (ให้น้ำ)

 

ศาสดามุฮัมมัดกับการตีความคำว่า อุมมะฮ์

คัมภีร์อัล-กุรอานตรัสว่า แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาย่อมเป็นพี่น้องกัน ศาสดามุฮัมมัดจึงได้ประกาศว่า ในความสัมพันธ์ต่อกันและกัน ชาวมุสลิมเป็นเหมือนสิ่งปลูกสร้าง แต่ละส่วนเสริมกำลังกัน และสนับสนุนทางด้านกำลังจากส่วนอื่นๆ (Bukhari, Book 46. Bab 3)

อนัศ อิบนุ มาลิก รายงานว่า ศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า พวกท่านจะไม่ได้เป็นผู้ศรัทธา หากว่าเขามิได้มีความปรารถนาต่อพี่น้องมุสลิมของเขา เหมือนอย่างที่เขาปรารถนาต่อตัวเอง (Bukhari, Book 46. Bab 3)

อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุมัร ได้ยกเอาคำกล่าวของท่านศาสดามากล่าวถึงดังนี้ ชาวมุสลิมเป็นพี่น้องกับชาวมุสลิม เขาไม่ควรทำผิด หรือให้ความผิดกระทำต่อเขา หากว่าเขาให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องของเขาอัลลอฮ์ก็จะให้ความช่วยเหลือแก่เขา… แต่หากว่าเขาปิดกั้นมุสลิม อัลลอฮ์ก็จะปิดกั้นเขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (Bukhari, Book 46. Bab 3)

ศาสดามุฮัมมัดวางพื้นฐานรัฐใหม่ที่นครมะดีนะฮ์บนพื้นฐานของภราดรภาพนี้ สาวกของท่านซึ่งได้อพยพจากนครมักกะฮ์ในปีฮิจญ์เราะฮ์ (ตามตัวอักษรหมายถึงการอพยพ แต่หากกล่าวในทางประวัติศาสตร์อิสลามแล้วหมายถึงการอพยพของท่านศาสดามุฮัมมัดจากนครมักกะฮ์ไปยังนครยัษริบ (มะดีนะฮ์) และการอพยพครั้งนี้เองที่ถูกกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นศักราชแห่งอิสลาม ดูบรรจง บินกาซัน, สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ, กรุงเทพฯ : อัลอะมีน, 1999 , หน้า 218-219) ได้สูญเสียสิ่งของทั้งหมดไป จากการกระทำของพวกเดียรถีย์ที่นครมักกะฮ์

ท่านจึงได้ประกาศว่า ผู้อพยพ (มุฮาญิร) คือชาวมุสลิมแห่งนครมักกะฮ์ที่อพยพไปยังนครยัษริบอันเนื่องมาจากการได้รับการกดขี่และบีบบังคับให้เลิกเคารพนับถือศาสนาอิสลาม เป็นกลุ่มชนที่ได้รับการยกย่องเอาไว้อย่างมากในอัล-กุรอาน เป็นพี่น้องคนหนึ่งของชาวอันศอร (Ansar) (ผู้ช่วยเหลือซึ่งหมายถึงชาวนครยัษริบ (มะดีนะฮ์) กลุ่มหนึ่งที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ที่เดินทางมายังนครมักกะฮ์ในช่วงแรกๆ ที่ศาสดามุฮัมมัดเริ่มเทศนาศาสนาอิสลาม พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่ให้ความช่วยเหลืออย่างอุทิศตนต่อท่านศาสดาและชาวมุสลิมที่อพยพมาจากนครมักกะฮ์)

ดังนั้น ชาวอันศอรแต่ละคนจึงต้องช่วยพี่น้องมุฮาญิรของเขา จนกระทั่งถึงเวลาที่ฝ่ายหลังมีสถานะทางการเงินมั่นคงในเมืองใหม่

ท่านศาสดายืนยันว่า บนความสัมพันธ์ของการรวมตัวกันนี้จะดำรงอยู่ตลอดไป ในการประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งสุดท้าย (ฮุญญะตุลวิดา) สองเดือนก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ท่านได้สรุปคำสอนและย้ำเตือนถึงความคิดอิสลามในความเท่าเทียม ความเป็นพี่น้องกัน การรวมตัวและความยุติธรรม

ท่านศาสดามิได้ทำลายโครงสร้างแห่งอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ ในช่วงของวิกฤตการณ์ ท่านได้เทศนาหัวหน้าตระกูลต่างๆ ของชาวมุสลิมเพื่อที่จะปรึกษากับพวกเขา แม้กระทั่งเมื่อกองทัพมุสลิมเดินทางสู่การปลดปล่อยนครศักดิ์สิทธิ์จากพวกเดียรถีย์ แต่ละเผ่าถูกนำโดยหัวหน้าของพวกเขา ซึ่งยึดถือมาตรฐานของเผ่า

ดังนั้น วิสัยทัศน์ของท่านศาสดาในเรื่องอุมมะฮ์ จึงมิได้บังคับให้ต้องทำลายความเป็นกลุ่มก้อน (อะซอบียะฮ์) แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงลำดับการภักดีของผู้คน บางทีสิ่งนี้อาจเป็นการทดลองครั้งใหญ่ในเรื่องเอกภาพแห่งความหลากหลายเป็นครั้งแรกก็ได้

(ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ใน Martin lings, Muhammad : His Life base on earlier sources, London : G.Allen and Unvin, 1983)

 

อุมมะฮ์ในความหมายทางการเมือง

เกี่ยวกับอุมมะฮ์ ทำให้นักประวัติศาสตร์อย่างเอ็ม. เอ. ชะอ์บาน (M.A.Shaban) มีความเห็นว่าอุมมะฮ์นั้นเป็น “ความคิดทางการเมืองมิใช่ความคิดทางศาสนา” (Abdullah Ahsan, Ummah or Nation? Identity Crisis Muslim, p.21) ความสับสนนี้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการตีความกฎบัตรของนครมะดีนะฮ์ ที่ซึ่งอำนาจของฝ่ายยิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความขัดแย้ง ได้รับการยอมรับ และทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายยิวและฝ่ายมุสลิมทำการป้องกันนครมะดีนะฮ์ร่วมกันในกรณีที่มีการโจมตีจากภายนอก

ในการวิเคราะห์กฎบัตรแห่งมะดีนะฮ์ เชื่อว่าสมาชิกใหม่ของกลุ่มประชาชาติทั้งชาวมุสลิมและชาวยิวนั้นมาจากอุมมะฮ์เดียวกัน ตราบใดที่พวกเขายอมรับอำนาจหน้าที่ของท่านศาสดา

ดังนั้น พลเมืองจึงเป็นอุมมะฮ์หนึ่งเดียว (เป็นชุมชนทางการเมือง) โดยมีดีน (หมายถึงศาสนาหรือวิถีชีวิต) ต่างกัน