ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : โคตะระศิลปิน (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Guernica. Paris, June 4, 1937. Oil on canvas, 349.3 x 776.6 cm Image licenced to Stephen Forsling FORSLING, STEPHEN by Stephen Forsling Additional copyright permission to reproduce the work of PABLO PICASSO must be obtained from the Artists Rights Society (ARS), 536 Broadway, 5th Floor, New York, NY 10012. Please contact ARS at (212) 420-9160 or fax (212) 420-9286 or e-mail [email protected]. Usage : - 3000 X 3000 pixels (Letter Size, A4) © Erich Lessing / Art Resource

ในปี 1937 รัฐบาลสเปนได้ว่าจ้างให้ปิกัสโซ่ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศสวาดภาพฝาผนังขนาดใหญ่สำหรับแสดงในศาลาสเปนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะนานาชาติในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส

ในช่วงที่เริ่มทำงาน เขาได้ข่าวโศกนาฏกรรมที่เกอร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ในสเปน ประเทศบ้านเกิดของเขา ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก อาศัยกองกำลังทหารนาซีและฟาสซิสต์บุกโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านจนย่อยยับในสงครามกลางเมือง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี

ทำให้เขาเกิดความโกรธแค้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจวาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเกอร์นิกาขึ้นมาแทน

เขาลงมือเขียนภาพขนาดใหญ่ถึง 3.89 x 7.76 เมตร ด้วยสีน้ำมันทาบ้านที่เขาสั่งทำเป็นพิเศษ มันเป็นภาพเขียนแบบคิวบิสซึ่มที่ใหญ่สุดที่เขาเคยทำมา เขาตั้งชื่อมันว่า Guernica, 1937 และกล่าวถึงภาพภาพนี้ว่า

“สงครามครั้งนี้ของสเปนคือการต่อสู้ของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาชน ต่อต้านเสรีภาพ ชีวิตในการเป็นศิลปินของผมตลอดมานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานกับฝ่ายขวาจัดและความตายของศิลปะ อย่างนั้นแล้วจะมีใครหน้าไหนคิดว่าผมจะมีความเห็นพ้องกับฝ่ายขวาจัดและความตายได้อีก? ในภาพที่ผมกำลังวาดอยู่นี้ ซึ่งผมจะเรียกมันว่า เกอร์นิกา ผมได้แสดงออกถึงความชิงชังชนชั้นเผด็จการและทหารที่ทำให้สเปนจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งความเจ็บปวดและความตายอย่างที่มันเป็นอยู่”

เขาใช้เวลาวาดภาพนี้ถึง 35 วัน มันแล้วเสร็จในวันที่ 4 มิถุนายน 1937

มันเป็นภาพวาดแบบคิวบิสซึ่มที่แสดงภาพอันบิดเบี้ยวของหญิงสาวที่ร่ำไห้อุ้มศพลูกน้อยในอ้อมแขน เหนือศีรษะของเธอมีวัวยืนเบิ่งตาเบิกโพลง ภาพของซากศพทหารที่นอนตาย

ภาพของม้าที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดทรมาน

ภาพของคนที่กรีดร้องอย่างน่าเวทนา ที่อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง

ถึงแม้จะเป็นภาพในโทนขาวดำแบบเดียวกับภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่มันก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ ด้วยภาพวาดภาพนี้ ปิกัสโซ่ใช้เทคนิคของงานศิลปะสมัยใหม่ถ่ายทอดความความเลวร้ายน่าสยดสยองของสงครามได้อย่างทรงพลังยิ่ง

 

เมื่อภาพนี้เสร็จ มันถูกนำออกแสดงในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส

และด้วยความที่ปิกัสโซ่มีเจตนารมณ์ว่าตราบใดที่ประเทศสเปนยังอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการ และยังไม่คืนสู่ความเป็นเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาจะไม่ยอมให้ภาพนี้ถูกส่งกลับคืนไปที่นั่นเป็นอันขาด

ดังนั้น หลังจากถูกนำไปแสดงในหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ภาพนี้จึงถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MOMA)

จนกระทั่งหลังจากที่นายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 สเปนก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด ภาพเกอร์นิกาก็ถูกนำกลับสู่สเปนในปี 1981 และถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Reina Sof?a ในกรุงมาดริด จวบจนปัจจุบัน

และไม่ว่าจะเกิดสงครามขึ้นครั้งใดในโลก ภาพ เกอร์นิกา ก็มักจะถูกยกมาเป็นตัวอย่างของการต่อต้านสงครามอยู่เสมอมา

มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงที่ปิกัสโซ่อยู่ที่ปารีสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่นาซียาตราทัพเข้ามาศิลปินขบถหัวเอียงซ้ายอย่างเขาย่อมตกเป็นเป้าหมาย ในขณะที่เขาถูกสอบสวนตรวจค้นสตูดิโอ รอบแล้วรอบเล่าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเขายื่นภาพโปสการ์ดที่เป็นรูปของภาพวาดเกอร์นิกาให้เจ้าหน้าที่นาซี

หมอนั่นหยิบมาดูแล้วถามด้วยความเย้ยหยันว่า “ตกลงคุณเป็นคนทำมันขึ้นหรอกเหรอ?”

ปิกัสโซ่สวนกลับไปทันควันว่า “ไม่ คุณนั่นแหละที่เป็นคนทำ”

 

ถึงแม้จะมีชื่อเสียอันฉาวโฉ่ในเรื่องความเจ้าชู้ มากรักหลายใจ มักมากในกาม กดขี่และเหยียดหยามสตรีเพศ ทิ้งขว้างไม่ใส่ใจไยดีเมียและลูกที่ไข่ทิ้งไว้เป็นโขยง และปฏิบัติกับญาติสนิทมิตรสหายอย่างเลวร้ายจนขึ้นชื่อ

(อดีตคนรักคนหนึ่งของปิกัสโซ่กล่าวกับเขาว่า “ในเชิงศิลปะ คุณอาจจะเป็นคนที่วิเศษสุด แต่ถ้าในเชิงศีลธรรม คุณมันก็เป็นแค่ไอ้สวะไร้ค่าคนหนึ่ง” อูยยย!)

หากแต่ปิกัสโซ่เป็นศิลปินที่ขยันขันแข็งและเปี่ยมพลังในการสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่ง (เอาจริงๆ มันก็คนละเรื่องกันแหละนะ)

เขาใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอย่างเต็มที่จวบจนเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในปี 1973 ด้วยวัย 91

ทิ้งผลงานอันมากมายมหาศาลเอาไว้อย่าง ภาพวาด 1,900 ภาพ ประติมากรรม 1,200 ชิ้น เซรามิก 3,200 ชิ้น ภาพวาดลายเส้น 7,000 ภาพ และภาพพิมพ์ 30,000 ภาพ

ผลงานและแนวคิดทางศิลปะของเขาส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังนับไม่ถ้วน

และไม่ว่าเราจะชอบหรือชังผลงานและตัวตนของเขาหรือไม่ก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ปาโบล ปิกัสโซ่ เป็นหนึ่งในศิลปินที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกศิลปะไปตลอดกาล

 

แถมท้าย : great artists steal

หลายคนคงเคยได้ยินวลีเด็ดของปิกัสโซ่ที่ว่า “Good artists copy, great artists steal.”

(ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาพูดเอาไว้จริงหรือเปล่าน่ะนะ)

รวมถึงการหยิบฉวยเอาเอกลักษณ์ของงานศิลปะแอฟริกันพื้นเมืองมาเป็นของตนได้อย่างแนบเนียน แต่รู้ไหมว่าศิลปินผู้ยิ่งยงผู้นี้เคยถูกจับเข้าซังเตในข้อหาผู้ต้องสงสัยในการขโมยงานศิลปะจริงๆ มาแล้ว

และงานศิลปะที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ไก่กาที่ไหน หากแต่เป็นภาพวาด โมนาลิซ่า ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี เลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องก็คือ กาลครั้งหนึ่งในปี 1907 ศิลปินหนุ่มปิกัสโซ่และกวีหนุ่มเพื่อนสนิท กีโยม อาปอลีแนร์ ไปผูกมิตรกับเสเพลบอยชาวเบลเยียม เชรี ปิเยเร็ต เลยจ้างเขาเป็นเลขาฯ ชั่วคราว

อยู่มาวันนึง อีตาปิเยเร็ตก็เข้าไปจิ๊กรูปปั้นออกมาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์มาสองตัว (สมัยนั้นระบบรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ยังไม่รัดกุมนัก) แล้วเอามาให้อาปอลีแนร์ ซึ่งเอามาให้ปิกัสโซ่อีกทอด

หลังจากนั้นในปี 1911 ปิเยเร็ตก็เป็นหนี้พนันสนามม้า อาปอลีแนร์เลยมาใช้หนี้ให้

ปิเยเร็ตเลยตอบแทนด้วยการแอบเข้าไปขโมยรูปปั้นมาให้อาปอลิแนร์อีก

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีข่าวใหญ่โตเกี่ยวกับการขโมยภาพวาดโมนาลิซ่าจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

ปิเยเร็ตก็เกิดอาการหัวเสธ. คิดหาประโยชน์จากเรื่องนี้ จึงหอบรูปปั้นที่ตัวเองขโมยเข้าไปหานักข่าว แล้วเล่าเรื่องใส่สีตีไข่ว่าเขาเป็นคนขโมยเอง เพื่อทดสอบความไร้ประสิทธิภาพของพนักงานรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์

และแน่นอนว่าเรื่องนี้ไปถึงหูตำรวจ

อีตาปิเยเร็ตก็เลยถูกรวบตัวโดยมีพ่อหนุ่มอาปอลิแนร์และปิกัสโซ่พลอยติดร่างแหมานอนซังเตไปด้วย

หลังจากสารภาพทุกอย่างไปจนหมดไส้หมดพุง ตำรวจก็รู้ว่าสองคนนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการขโมยภาพโมนาลิซ่า พวกเขาเลยถูกปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขว่าให้คืนรูปปั้นที่ขโมยมาซะดีๆ

จนถึงทุกวันนี้รูปปั้นที่ว่าก็ยังถูกเขียนคำอธิบายในสูจิบัตรว่า “เคยเป็นทรัพย์สินของเมอร์ซิเออร์ปิกัสโซ่ อยู่ระยะหนึ่ง” (อ่านะ!)