วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ทายาทธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

 

มุมมองและบทเรียน
ว่าด้วยการสร้างทายาทสืบทอดธุรกิจ
เป็นอีกมิติที่สำคัญ

กรณีธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี และครอบครัว มีเรื่องราวแตกต่างกันสองยุค

“คุณพ่อไม่เพียงแต่ส่งลูกๆ ไปเรียนในโรงเรียนไทย แต่ยังได้ส่งพวกเราไปเรียนในเมืองจีนด้วย ดังนั้น พี่น้องของผมทั้ง 12 คนจึงสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว และหลังจากที่พวกเราได้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นคุณพ่อ เรายังคงติดต่อกับชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลเรื่อยมา ซึ่งทำให้กิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ขยายออกไปในทั่วประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเล” เรื่องเล่าอีกตอนของธนินท์ เจียรวนนท์ สะท้อนยุคก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี (จาก “บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History)

ยุคนั้นอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามใหญ่มีศูนย์กลางในยุโรป (2448-2452) ในช่วงเวลานั้นอิทธิพลอาณานิคมลดบทบาท ขณะเครือข่ายธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในราชสำนักไทย

โมเดลการศึกษาเล่าเรียนตามแบบฉบับ อ้างอิงกรณีธนินท์ เจียรวนนท์ จุดเริ่มต้นสำคัญจากโรงเรียนเผยอิง โรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีน ดำเนินงานโดยสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2463 ได้ชื่อว่าเป็นสถานศึกษาสร้างผู้นำธุรกิจไทยเชื้อสายจีนในตำนานหลายต่อหลายคน

สำหรับธนินท์ เจียรวนนท์ มีความเกี่ยวข้องแค่ช่วงสั้นๆ “…ผมย้ายจากโรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด ไปเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนสารสิทธิ์วิทยา จังหวัดราชบุรี” เรื่องเล่าอีกเวอร์ชั่น (จากหนังสือ “ธนินท์ เจียรวนนท์ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”) ปัจจุบันคือ “สารสิทธิ์พิทยาลัย โรงเรียนซาเลเซียนแห่งแรกในประเทศไทย” เป็นโรงเรียนประจำ ก่อตั้งขึ้นในปี 2472

“…ผมได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อและสมัครใจมาเรียนที่ซัวเถาตอนอายุ 11 ขวบ” อีกบางช่วงบางตอนของเรื่องเล่า ถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ สะท้อนชีวิตการศึกษาของธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ปรับเปลี่ยนหลายต่อหลายครั้ง

“…ผมเรียนที่ซัวเถาจนถึงมัธยมปีที่ 1 ก็ย้ายไปเรียนที่กวางเจาโดยอาศัยอยู่กับพี่สาวซึ่งเรียนอยู่ที่กวางเจาเช่นกัน…ผมอยู่ที่กวางเจาได้ 1 ปี ยังไม่ทันได้เรียนจบ ผมก็ย้ายไปเรียนภาษาอังกฤษที่ฮ่องกง…ผมอยู่ฮ่องกงจนอายุ 17 ปี”

ในที่สุดในปี 2500 เขากลับเมืองไทยเริ่มต้นทำงานในธุรกิจครอบครัวด้วยวัยเพียง 18 ปี

 

เรื่องราวข้างต้น แตกต่างอย่างมากมายกับยุคต่อมา ทว่ามีบางร่องรอยสัมพันธ์กันอยู่บ้าง

“เรื่องราวตอนสำคัญมากๆ ต้นยุคธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ซึ่งกำลังจะโลดแล่นกับยุคอเมริกา เปิดฉากขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง” (อ้างจาก “ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี อิทธิพลอเมริกา”)

จนมาถึงเหตุการณ์สำคัญในปี พ.ศ.2513 เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ร่วมมือร่วมทุนกับ Arbor Acres แห่งสหรัฐอเมริกา

ธนินท์ถึงกับกล่าวว่า “…เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในชีวิตของผม”

สังคมธุรกิจไทยเชื่อมโยงและอ้างอิงกับระบบอเมริกันอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งการศึกษา เป็นอีกฉากตอนสำคัญ เรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นนำไทย จนถึงวงในสังคมธุรกิจ เดินตามกระแส การส่งบุตร-หลานเข้าสู่ระบบการศึกษาโลกตะวันตก เป็นความต่อเนื่องอย่างน่าทึ่ง จากยุโรปในยุคอาณานิคม จนถึงอเมริกาเหนือในยุคอิทธิพลสหรัฐอเมริกา

ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของบุตร-ธิดา ตามกระแส โดยส่งไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา

หากเทียบเคียงกับกรณีอื่นๆ ในสังคมธุรกิจไทย ซึ่งย้อนไปไม่ไกล พอจะมีภาพต่อเนื่องจากพวกนิมมานเหมินท์ (กรณีธารินทร์ และศิรินทร์) ในช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้า หรือช่วงต้นๆ สงครามเวียดนาม มายังกรณีบัณฑูร ล่ำซำ ในยุคถัดมา ก่อนหน้าราวทศวรรษเดียว ทั้งสองกรณีล้วนอยู่ในยุคเข้มข้นอิทธิพลสหรัฐ

ในช่วงทศวรรษ 2520 สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง สหรัฐพ่ายแพ้ เครือข่ายธุรกิจอเมริกันในไทยสั่นไหว บางรายถอนตัว

แต่ธนินท์ เจียรวนนท์ คงเชื่อมั่น ท่ามกลางช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ตื่นเต้น ระบบและแบบแผนการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแบบฉบับอเมริกันกำลังเฟื่องฟูทั่วโลก กระแสมายังประเทศไทยด้วย มีการเปิดการหลักสูตรที่เรียกว่า MBA กันอย่างครึกโครม

ในจังหวะนั้นซีพีมีการปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับแบบแผนธุรกิจอเมริกันอย่างตั้งใจในหลายมิติ ว่าไปแล้วเป็นไปตามกระแสสังคมธุรกิจไทยในเวลานั้น ซึ่งผู้คนมักมองผ่านและอ้างอิง กิจการดั้งเดิมซึ่งปรับตัวครั้งใหญ่ อย่างกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ และเครือซิเมนต์ไทย

 

บุตรทั้งสามของธนินท์ (สุภกิต-ณรงค์-ศุภชัย) ล้วนผ่านการศึกษาเล่าเรียนด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา นับเป็นช่วงเวลาที่ดี เมื่อจบการศึกษาในทศวรรษ 2530 สังคมธุรกิจไทยเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู เต็มไปด้วยโอกาสอย่างมากมาย แต่ที่จริงมิใช่เรื่องง่าย

“คุณธนินท์บอกลูกๆ ว่าอย่าหวังจะเข้ามาทำธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ซึ่งถือว่าดำเนินกิจการได้ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดลูก-หลานอยากจะทำธุรกิจก็ต้องทำในสิ่งที่เริ่มต้นใหม่เท่านั้น อันนั้นเป็นที่มาที่ผมได้เริ่มต้นการทำงานของผมในหมวดเทเลคอมเมื่อปี 2536” ศุภชัย เจียรวนนท์ เคยกล่าวไว้ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ในงานแถลงข่าว Startup Thailand 2016)

ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ภาพทายาททั้งสามไว้อย่างตั้งใจ ในเรื่องเล่า (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History) ดูสอดคล้องกัน “สุภกิต ซึ่งเป็นลูกชายคนโต …รับผิดชอบดูแล “ทรูวิชั่นส์” (True Visions ธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) ตั้งแต่เริ่มต้น…” เรื่องเล่าที่ว่า ได้ตัดตอนเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะขยายความ

สุภกิต เจียรวนนท์ บุตรคนโตอยู่ในวัย 55 ปีได้ผ่านประสบการณ์มาพอสมควร อาจจะถือว่ามีส่วนร่วมในธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมตั้งแต่ช่วงต้น โดยมีตำแหน่งกรรมการบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น (เดิมชื่อเทเลคอมเอเซีย) มาแต่ต้น ตั้งแต่ปี 2536 กรณีบุกเบิกทรูวิชั่นส์ที่กล่าวถึง เป็นประสบการณ์สำคัญ ย้อนกลับไปมากกว่า 2 ทศวรรษ หรือในช่วงเขายังอยู่ในวัยไม่ถึง 30 ปี

ตำนานนั้นอยู่ในยุคทักษิณ ชินวัตร บุกเบิกธุรกิจสื่อสาร ได้สัมปทานทีวีแบบบอกรับ (Pay TV) ในนาม IBC (ปี 2532) สุภกิต เจียรวนนท์ ตามกระแสด้วย ได้รับสัมปทานในธุรกิจเดียวกันในปี 2537 เขาเปิดตัวครั้งแรกต่อสาธารณชนในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ UTV ในปลายปีนั้น สั่นสะเทือนวงการพอสมควร ในที่สุด ปี 2541 UTV ได้เข้าซื้อกิจการ IBC กลายเป็น UBC ก่อนจะมาเป็นทรูวิชั่นส์ (True Visions) ในอีกทศวรรษต่อมา

“ณรงค์ ลูกชายคนที่สอง…ผมมอบหมายงานขยายธุรกิจโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตในจีนให้เขาดูแล…” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวถึงบุตรคนที่ 2 จากข้อมูล C.P. Lotus Corporation ธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนเริ่มขึ้นอย่างจริงจังปี 2540 ในโมเดล Hypermarket แห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ ดูเหมือนจะเป็นไปเช่นเดียวกันกับเรื่องราวบุตรคนที่สาม

“…ศุภชัยได้รับการโอนย้ายให้มารับผิดชอบธุรกิจโทรคมนาคมของเครือ โดยผมให้เริ่มจากโทรศัพท์พื้นฐาน (โทรศัพท์บ้าน) เพื่อตั้งต้นเรียนรู้ขึ้นไปทีละขั้น… ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ.2540 ธุรกิจโทรคมนาคมของเราได้รับผลกระทบ…” (อ้างแล้ว)

สำหรับธนินท์ เจียรวนนท์ และซีพี ช่วงเวลาวิกฤตการณ์ปี 2540 จึงมีความสำคัญอย่างซับซ้อน