นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ศีลธรรมเมือง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความเข้าใจของผมที่ได้จากความรู้อันผิวเผินก็คือ ศาสนาใหญ่ๆ ที่มีคนนับถือจำนวนมากล้วนเกิดในเมืองทั้งสิ้น คงมีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้เป็นอย่างนั้น แต่เหตุผลสำคัญที่สุดก็เพราะ เงื่อนไขของเมืองทำให้ศาสนาต้องตอบปัญหาที่เป็น “สากล” ไม่จำกัดเฉพาะชนเผ่าหรือชุมชนหมู่บ้าน พระเจ้าของศาสนาสากลจึงเป็นพระเจ้าของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะที่สิงในต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น เช่นเดียวกับศีลธรรมของศาสนาสากล ก็เป็นศีลธรรมของทุกคน

แต่เมื่อศาสนาสากลขยายตัวมากขึ้น ในที่สุดก็ต้องขยายเข้ามาครอบงำหมู่บ้านหรือชนเผ่าจนได้ ลักษณะที่เป็น “สากล” (เช่น ด้านที่เป็นอภิปรัชญาของศาสนา) ย่อมคลายลง เพื่อกลมกลืนกับความเชื่อท้องถิ่น

คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยพูดว่า พุทธศาสนาของไทยนั้นเป็นศาสนาของหมู่บ้านและราชสำนักเท่านั้น

จะด้วยเหตุใดก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เมืองมีพัฒนาการช้ากว่าส่วนใหญ่ของมหาทวีปเอเชีย-ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออก, อินเดีย, ตะวันออกกลาง หรือยุโรปก็ตาม ล้วนเกิดเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากมาแต่โบราณเก่าแก่ทั้งสิ้น แต่เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขนาดใหญ่หน่อยและมีประชากรจำนวนมาก มักเป็นเมืองท่าซึ่งอาจถูกย้ายหรือทิ้งร้างไปได้ เมื่อเส้นทางการค้าเปลี่ยนไป

(บางคนอาจพูดถึงเมืองที่มีศาสนสถานขนาดใหญ่เช่นเมืองพระนครหรือพุกาม แต่ยังไม่มีการขุดค้นสำรวจเมืองเหล่านี้ ที่ทำให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่และขนาดของประชากร และถ้าเมืองเหล่านี้เคยเป็นเมืองที่มีประชากรมากจริง ก็ล้วนถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมาทั้งสิ้น)

เมืองของภูมิภาคนี้คือหมู่บ้านขนาดใหญ่ แม้มีราชสำนักตั้งอยู่ ก็ไม่ทำให้หมู่บ้านเปลี่ยนสภาพเป็นเมืองแต่อย่างใด

ศาสนาของหมู่บ้านและศาสนาของราชสำนักเป็นเช่นไร?

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พุทธศาสนาของหมู่บ้านไทยคือการผสมกลมกลืนระหว่างคำสอนของพุทธกับความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาผี แม้กระนั้นก็แยกหน้าที่จากกัน เรื่องของการกำกับควบคุมจิตใจหรือศีลธรรมประจำใจกับอภิปรัชญา เช่น โลกนี้โลกหน้า เป็นหน้าที่คำสอนของพุทธ ส่วนเรื่องของจริยธรรมทางโลก เช่น การกำกับควบคุมพฤติกรรมของคนที่มีต่อทรัพยากรส่วนรวม เป็นหน้าที่ของศาสนาผี

วัดอันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์และทำบุญนั้น ในภาคเหนือมีผีหรืออารักษ์วัดคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของคนที่เข้าสู่พื้นที่สาธารณะนั้นด้วย นี่ดูจะเป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนถึงการผสมกลมกลืนของพุทธและผีในศาสนาของชาวบ้าน

ส่วนพุทธของราชสำนักนั้นเป็นอย่างไร อันที่จริงก็ไม่ต่างจากพุทธหมู่บ้านนัก เพียงแต่อ้างให้พิธีกรรมต่างๆ เชื่อมโยงกับศาสนาพราหมณ์ ให้ดูมีศักดิ์ศรีเกียรติยศสูงกว่าผีเท่านั้น แต่ความแตกต่างอันหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าสำคัญอย่างมากในเรื่องพุทธก็คือ ศีลธรรมของพุทธถูกทำให้มีช่วงชั้นตามวัฒนธรรมช่วงชั้นของราชสำนัก

เช่นศีลห้านั้น ที่เชื่อกันในหมู่บ้านว่าใครละเมิดย่อมเป็น “บาป” ทั้งสิ้น ไม่มียกเว้น แต่ในราชสำนักจะเป็นบาปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ละเมิดมีสถานะทางช่วงชั้นใด จะฆ่าคน, ริบทรัพย์, ผิดลูกผิดเมีย, กล่าวเท็จ หรือเสพสิ่งที่ทำให้ครองสติได้ยาก ย่อมขึ้นกับว่าเขามีสถานะ, ตำแหน่ง หรือฐานันดรใด สิทธิในการละเมิดศีลถูกเปลี่ยนเป็น “หน้าที่” ซึ่งทำให้พ้นออกไปจากบาปบุญคุณโทษทางศาสนา

เช่นเดียวกับจริยธรรมในศาสนาผี ก็ยกเว้นให้แก่ผู้มีสถานะทางช่วงชั้นสูงเช่นกัน ดังนั้น ศาสนาผีในราชสำนัก (ที่อ้างว่าเป็นพราหมณ์) จึงไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับแก่ทุกคนเสมอกันอย่างในหมู่บ้าน หรือว่าที่จริงแทบไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใดๆ เลยนอกจากพิธีกรรม

(บางคนอาจบอกว่า ขึ้นชื่อว่ารัฐย่อมละเมิดศีลธรรมของศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็จริง แต่ผมอยากเตือนสองข้อ 1/ รัฐเป็นนามธรรมที่อยู่พ้นออกไปจากกลุ่มบุคคลผู้ถืออำนาจ ระบอบปกครองของไทยโบราณ แยกให้รัฐเป็นนามธรรมที่แยกออกไปจากกลุ่มบุคคลมากน้อยแค่ไหน และ 2/ รัฐและศีลธรรมมีปัญหาเสมอมา โดยเฉพาะในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโทษประหารชีวิต, สิทธิสตรี, ทาสและการกดขี่ ฯลฯ ข้อสรุปว่ารัฐย่อมอยู่เหนือศีลธรรมนั่นแหละ คือตัวปัญหาที่ไม่ได้เห็นสอดคล้องต้องกันเสมอไป)

เมืองสมัยใหม่เป็นพื้นที่อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากหมู่บ้านและราชสำนัก ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวนะครับ สินค้าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตของคนในเมือง ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายสูงมาก ล้วนมาจากการซื้อขาย ไม่มีทางได้มาจากพันธะของไพร่ที่ต้องผลิตป้อนความต้องการของคนในเมือง ยังไม่พูดถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เมืองเป็นพื้นที่อันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากหมู่บ้านและราชสำนัก

พุทธศาสนาไทยไม่มีศีลธรรมของเมือง เช่น ไม่มีเรื่องของความเสมอภาค, กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและใช้บังคับแก่ทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน, ไม่มีเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล, ไม่มีเรื่องความก้าวหน้าทางวัตถุ, ไม่มีเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล ฯลฯ ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องเหล่านี้ จะสอนหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ศาสนาทุกศาสนาจำเป็นต้องเกิดกระบวนการตีความคำสอนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าปฏิรูปศาสนาหรือสังฆเภทก็ตาม แต่ผลก็คือเปลี่ยนจุดเน้นของคำสอนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

พระพุทธเจ้าจะสอนเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์หรือไม่ก็ตาม แต่มีคำสอนในพุทธศาสนาที่นำมาขยายให้เป็นศีลธรรมของเมืองได้อยู่มาก เป็นต้นว่า ความเป็นเวไนยชนของมนุษย์ทุกคน อาจนำไปสู่การยืนยันความเท่าเทียมของมนุษย์ หรือความเมตตาที่ควรมีแก่ทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน อาจนำไปสู่สิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล หรือสิทธิของสัตว์ก็ได้ แต่การ “ปฏิรูปศาสนา” ในเมืองไทย ไม่นำไปสู่ศีลธรรมของเมืองเลยสักครั้งเดียว

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าศีลธรรมเมืองอาจเข้ามาทดแทนศีลธรรมส่วนบุคคล อย่างไรก็ปฏิเสธความสำคัญของศีลธรรมส่วนบุคคลไม่ได้ ไม่ว่านั่นจะหมายถึงการใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่น หรือการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมกับกิเลสของสังคมสมัยใหม่ แต่ศีลธรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับสังคมเมือง ซึ่งต้องการศีลธรรมเชิงสังคมอย่างมาก คำอธิบายทำนองว่า ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็ย่อมจะดีเองนั้น เป็นตรรกะที่ปฏิเสธความเป็นจริง เพราะไม่มีทางทำให้ทุกคนเป็นคนดี อีกทั้งความดีและคนดีนั้นไม่เที่ยง แม้แต่อรหัตตภาพ พุทธศาสนาบางนิกายยังถือว่าเป็นภาวะที่อาจเสื่อมถอยได้ คนดีจึงอาจกลายเป็นชั่วได้

ดังนั้น เราจึงอาจมีศีลธรรมเมืองที่เข้มแข็งไปพร้อมกับศีลธรรมส่วนบุคคลที่เข้มแข็งด้วยก็ได้ แต่ในโลกปัจจุบัน เราไม่อาจมีศีลธรรมส่วนบุคคลที่เข้มแข็ง โดยปราศจากศีลธรรมเมืองโดยสิ้นเชิงอย่างที่ผ่านมาในอดีตได้เลย

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า เมืองสมัยใหม่ของไทยเกิดขึ้นในพื้นที่ใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของผู้ปกครอง (คืองอกหรือขยายขึ้นจาก “เมือง” แบบเก่า) ไม่ใช่แหล่งที่คนกลุ่มอื่นพัฒนาขึ้นมาเอง เช่น พ่อค้าในยุโรป “เช่า” พื้นที่อันมีเส้นทางคมนาคมสะดวกจากเจ้า เพื่อทำเป็นตลาดสำหรับซื้อขายของพ่อค้า มีสิทธิในการปกครองตนเองและเติบโตขึ้นจนเป็นเมืองสมัยใหม่

และด้วยเหตุดังนั้น เมืองสมัยใหม่ของไทยจึงไม่ผลิตศีลธรรมเมือง กลับไปขยายศีลธรรมราชสำนักซึ่งตั้งอยู่บนความไม่เสมอภาคของช่วงชั้นให้กลายเป็นศีลธรรมเมือง การลูบหน้าปะจมูก ทั้งแก่บุคคลและแก่ “ชนชั้น” กลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสมัยใหม่และกระบวนการยุติธรรม (เช่น กฎหมายเกณฑ์ทหารในระยะแรกมีข้อยกเว้นให้แก่สถานะของบุคคลไว้ในตัวกฎหมายเลย)

ในขณะที่ชุมชนในประเทศไทยกลายเป็นชุมชน “เมือง” มากขึ้นทุกที จนในปัจจุบันเรามีประชากรในเขต “เมือง” มากกว่าชนบทไปแล้ว แต่ก็ไม่มีศีลธรรมเมืองเกิดขึ้นในศาสนาพุทธแบบไทย

ว่าที่จริง หากหมู่บ้านไทยสามารถขยายตัวจนกลายเป็นเมืองสมัยใหม่ได้เอง ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าพุทธศาสนาของหมู่บ้านอาจพัฒนาศีลธรรมเมืองขึ้นเองได้ เพราะพุทธหมู่บ้านเน้นเรื่องความเสมอภาค จึงเป็นพุทธที่เอื้อต่อการเติบโตของศีลธรรมเมือง คือขยายศีลธรรมส่วนบุคคลไปสู่ศีลธรรมเชิงสังคมได้ง่าย

เช่น การโกงสาธารณะไม่ใช่เรื่องของคน “ดีย์” คนชั่ว แต่เป็นเรื่องเชิงระบบที่เราอาจป้องกันได้

ผมนำเรื่องทั้งหมดเหล่านี้มาชวนคุยก็เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่า “คนรุ่นใหม่” ซึ่งชุมนุมประท้วงอยู่ในเวลานี้ อาจท้าทายสถาบันหลักทั้งสามของชาติ แต่เขาไม่ได้แตะเรื่องศาสนาเลย

 

ผมกลับคิดว่าตรงกันข้าม แม้พวกเขาไม่ได้เอ่ยคำว่า “ศาสนา” ออกมา แต่พวกเขากำลังพยายามสถาปนาศีลธรรมเมือง ซึ่งไม่มีในพุทธศาสนาไทย ให้เป็นหลักการทางศีลธรรมอันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง ซึ่งรวมถึงสวัสดิการที่ช่วยประกันคุณภาพชีวิตของทุกคน, เสรีภาพ, สิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ควรมีใครถูกละเมิด ไม่เฉพาะแต่ผู้ประท้วงอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ, LGBTQ, นักเรียนนักศึกษา, ทหารเกณฑ์, คนไร้บ้าน ฯลฯ

ถ้าพุทธศาสนาไทยไม่สามารถผนวกกลืนเอาศีลธรรมเมืองเช่นนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนได้ พุทธศาสนาไทยก็จะกลายเป็นสิ่ง “ตกขอบ” (irrelevant) ของคนรุ่นใหม่

ตรงกันข้ามกับการประท้วงของ กปปส.เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ศีลธรรมของ กปปส.เป็นศีลธรรมส่วนบุคคล เช่น ไม่ทุจริตคดโกงสาธารณะ, ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ซึ่งไม่ได้รวมเฉพาะศีลธรรมของพุทธศาสนาไทยเท่านั้น แต่รวมถึงค่านิยมทางสังคมซึ่งผู้นำ กปปส.ยกย่องด้วย เช่น จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, เคารพยกย่องสถาบันทางศาสนาของชาวพุทธ เช่น พระสงฆ์ หรือวัด, ยอมรับอำนาจของกองทัพว่าอยู่เหนือฝ่ายบริหาร, สภา และแม้แต่คำวินิจฉัยของศาล ฯลฯ

ในขณะที่การประท้วงของ “คนรุ่นใหม่” ในครั้งนี้ แทบไม่ได้พูดถึงศีลธรรมส่วนบุคคล แต่เฝ้าตอกย้ำคุณค่าหรือศีลธรรมเมือง เช่น ความเท่าเทียมด้านสวัสดิการและโอกาสของทุกคน, การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียม โดยไม่มีใครได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนือกฎหมายได้, สิทธิมนุษยชนซึ่งทุกคนต้องได้รับจากรัฐ และจากกันและกัน โดยเสมอเหมือนกัน, ประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ไม่มีคนกลุ่มใดอ้างอภิสิทธิ์ของความรอบรู้เชี่ยวชาญมามีอำนาจควบคุมผู้อื่น (เช่น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง) ฯลฯ

ศาสนา (โดยเฉพาะพุทธศาสนา) จึงถูกท้าทายในการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” ครั้งนี้ ไม่น้อยไปกว่าสถาบันหลักอื่นๆ เลย