จัตวา กลิ่นสุนทร : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำพาประเทศไปอย่างไร?

ความจริงการ “ไม่ลาออก” มันเป็นคำตอบก่อนจะมีการตั้งคำถาม

แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า หลังเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพูดคุยช่วยกันหาทางออกวิกฤตของประเทศ กลับแทบไม่ได้ตอบโจทย์

กลายเป็นเวทีให้รัฐมนตรีหลายคนชี้แจงแสดงผลงานไปเสียเฉยๆ พร้อม ส.ส. (พรรคพลังประชารัฐ) และ ส.ว. (แต่งตั้ง) ช่วยกันสรรเสริญเยินยอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เก่ง ดี มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครเทียบเทียม—ประเทศนี้หาใครเก่งกว่านี้ไม่ได้แล้ว

แต่ก็ได้ความคืบหน้าเรื่องจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าคงไม่มีเล่ห์กลเหมือนอย่างเช่นที่ผ่านมา อย่างน้อยเหล่าผู้ประจบสอพลอทั้งหลายอาจไม่กล้าเล่นเกมยืดเยื้อเหมือนดังที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าจะกอดเก้าอี้ต่อไปด้วยความองอาจ “ผมจะทำเต็มสามารถ จนกว่าจะไม่ได้ทำ ผมไม่ต้องการอำนาจ แต่หน้าที่ผมยังไม่จบ”

จึงสร้างความฉงนกับประชาชนทั่วไปว่า แล้วท่านจะทำยังไง อยู่แบบไหน?

จะใกล้เคียงกับสุทิน คลังแสง เพื่อไทย (พท.) วิปฝ่ายค้าน ตั้งคำถามเอาไว้กลางสภาว่า “ท่านจะนำพาประเทศไปอย่างไร?”

 

ในขณะที่การนัดหมายออกมาชุมนุมของ “ราษฎร 2563” ยังจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกไปเช่นเดิม หลังการชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง (29 ตุลาคม) ถนนสีลมถึงบริเวณหน้าวัดแขก ภายหลังการประชุมสภาสมัยวิสามัญ 1 วัน (26-27 ตุลาคม) และคงจะต้องนัดชุมนุมยังสถานที่อื่นๆ อีก

1 ในผู้ชุมนุมกล่าวว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “หมดความชอบธรรม” แล้ว จะต้องออกไป แต่นายกฯ พูดกลางสภาว่า “จะไม่ตัดช่องน้อยเพื่อหนีปัญหา จะไม่ทิ้งหน้าที่ในยามที่ชาติมีปัญหา–”

นายกฯ พูดเยอะพูดยาวหลายเรื่องรวมๆ กัน ทำท่าคล้ายไม่มีอารมณ์ แต่น้ำเสียงที่เปล่งออกมาดูคล้ายเต็มไปด้วยอารมณ์ บางเรื่องทำท่าว่ามันจะสายไปแล้วอย่างที่ท่านบอกว่า “ยินดีรับฟังข้อเรียกร้อง พร้อมสนับสนุนการตั้งคณะกรรมการเพื่อนำไปสู่การพูดคุยหาทางออก”

การเอียงหูรับฟังมันควรเกิดขึ้นก่อนหน้านานแล้ว แทนที่จะปล่อยให้ใครต่อใครเที่ยวถากถางด้อยค่ากลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนผู้ชุมนุม ว่า ม็อบมุ้งมิ้ง ม็อบฟันน้ำนม ฯลฯ

“ข้อคิดเห็นอะไรถ้าเห็นว่าสอดคล้องกับผู้ชุมนุมยินดีรับไปดำเนินการ ข้อเรียกร้องใดที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องคนส่วนใหญ่ ขอสงวนสิทธิ์ ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา หน้าที่ใครใครก็ทำ ตนไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง ใครบอกว่าตนอยากอยู่นาน อยู่ยาวก็ไปถามคนที่พูด ไปถามคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้เป็นคนร่าง–”

ท่านคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระหว่างปี พ.ศ.2557-2560 ยังสบายกันดีหรือครับ–ท่านประธานร่าง อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ รวมทั้งอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยังอยู่สุขสบายกินอิ่มนอนหลับกันดีไหมครับ?

 

นายกฯ อาจคิดว่ามีผู้สนับสนุนให้คงอยู่ในอำนาจมากมาย มีเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และวุฒิสมาชิกเป็นแนวร่วมค้ำยันเก้าอี้ จึงออกมาดเก่งกาจแสดงอาการของภาษากายที่ยิ่งใหญ่เหนือพรรคร่วมทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันอาจคิดว่ามีผลงานหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาโคโรนาไวรัส (Covid-19) เพียงแต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ และ ฯลฯ ที่รัฐบาลของเขาสอบตกอย่างสิ้นเชิง

อะไรที่เป็นเรื่องไม่ค่อยจะดี ท่านนายกฯ คนนี้จะโยนกลับไปยังรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ทั้งๆ ที่ขณะนี้เข้าปีที่ 7 แล้ว ที่เขาขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ มีการเลือกตั้ง (ปี พ.ศ.2562) มีสภาผู้แทนราษฎร มีวุฒิสภา (250) คน ที่แต่งตั้งมากับมือ ซึ่งเป็นเสียงข้างมากจนเรียกว่าเผด็จการรัฐสภาได้อย่างสบาย แต่กลับพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องทุกครั้งว่า สภาที่ผ่านมาเป็นเผด็จการรัฐสภา ทั้งๆ ที่จะว่าไปรัฐสภาที่ผ่านได้รับการเลือกตั้งมาทั้งสิ้น

ผมพยายามดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดีเพื่อที่จะได้อยู่ดู “ฉากสุดท้ายของรัฐบาล” นี้ และเฝ้าติดตามจับตาดูการก้าวลงจากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

การเมืองทุกวันนี้เคลื่อนไปเร็วมาก เปลี่ยนแปลงเป็นรายวันจนติดตามแทบไม่ทัน ทำนายไม่ค่อยถูก เรียกว่าวิเคราะห์ยากลำบากมาก โดยไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะราบรื่นแบบพูดคุยกันได้อย่างลงตัว หรือว่าฉากจบอาจกลายเป็นเรื่องร้ายๆ กระทั่งผู้นำ (อาจ) ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างสุขสบาย ในบั้นปลายจำเป็นต้องแจวไปอยู่ที่อื่นๆ ยังต่างบ้านต่างเมือง

การลงจาก “หลังเสือ” ของนายกฯ ที่มาจากทหารที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีส่วนเหมือนหรือคล้ายกับ “นายกฯ ทหาร” ที่มาจากแหล่งเดียวกันบ้างหรือไม่? อย่างไร ยังไม่มีใคร (หมอดู) ทำนายทายถูกได้

หนีไม่พ้นต้องฉายหนังเก่าแบบกระชับๆ เรื่องการก้าวลงจากอำนาจของนายกฯ ที่มาจากทหาร ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกฯ คนที่ 11) ระหว่างปี พ.ศ.2502-2506 ผู้ซึ่งโด่งดังเฉียบขาดโดยมีมาตรา 17 สามารถสั่งยิงเป้าคนทำผิดอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ เป็นนายกฯ ลูกอีสานที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงแก่อสัญกรรม ปี พ.ศ.2506 มีการเปิดเพลง “พญาโศก” ไว้อาลัยดังไปทั่วประเทศ

หลังจากที่ท่านถึงแก่อสัญกรรม ไม่นานเรื่องราวเบื้องหลังได้ถูกเปิดเผยว่าร่ำรวยผิดปกติ ใช้เงินบำรุงบำเรอสตรีผู้เลอโฉมมากมาย ในที่สุดจึงถูกรัฐบาลยึดทรัพย์เป็นของทางราชการ

ถึงรัฐบาลท่านจอมพลถนอม กิตติขจร (นายกฯ คนที่ 12) นายกฯ ทหารอีกท่านหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มล้นอยู่ในตำแหน่งยาวตั้งแต่ปี พ.ศ.2506-2516 เกี่ยวดองเชื่อมโยงกับตระกูลนายทหารที่ทรงอิทธิพล คุมกองทัพเบ็ดเสร็จจนไม่มีใครคิดว่าจะตกจากอำนาจได้

นิสิต-นักศึกษาออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมต้องลาออกก่อนจำใจเดินทางออกนอกประเทศไปยังสหรัฐอเมริกา ก่อนจะขอกลับคืนแผ่นดินไทยในอีก 2 ปีต่อมา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนรวมตัวกันออกมาต่อต้าน เกิดเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นำไปสู่การเข่นฆ่านักศึกษาอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

ซึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบว่าฆาตกรพวกนั้นเป็นใครกัน ท่านได้กลับมาอยู่แผ่นดินแม่จนสิ้นอายุขัย แต่ท่านถูกทำการยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเช่นกัน

 

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 15 หลัง พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหารรัฐบาลของท่าน นายกฯ ธานินท์ กรัยวิเชียร ได้เข้าดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่าง พ.ศ.2521-2523 โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทหาร “ยังเติร์ก” ต่อมาได้ลาออกเมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมัน ท่านลุกขึ้นอภิปรายต่อว่าเอาคืนสภาผู้แทนราษฎรพอสมควร ก่อนกล่าวลาออกกลางสภา

พล.อ.สุจินดา คราประยูร สละตำแหน่งนายกฯ คนที่ 19 โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้รับการสนับสนุนจากพรรคสามัคคีธรรม ที่ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (อดีต ผบ.ทอ.) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาสนับสนุน หลังจากถูกต่อต้านจนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างทหารกับประชาชน ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน โดยเข้าดำรงตำแหน่งเดือนเมษายน 2535 และลาออก 24 พฤษภาคม 2535

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว) เจ้าของฉายา “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” ผู้มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย เข้าสู่สนามการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรค “ความหวังใหม่” และตัวท่านลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ จังหวัดนครพนม บิ๊กจิ๋วได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2539-พฤศจิกายน 2540

แต่ได้ตัดสินใจลาออกเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเงิน ก่อนเกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี พ.ศ.2540

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (นายกฯ คนที่ 16) เป็นนายทหารที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ.2523-2531 รวมกว่า 8 ปี เป็นรองแค่จอมพลถนอม กิตติขจร เพียงคนเดียวที่อยู่ยาวถึง 10 ปี 6 เดือน หลังจากบริหารประเทศจนประสบความสำเร็จหลายด้าน

พล.อ.เปรม (อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) จึงตัดสินใจวางมือด้วยการกล่าวคำว่า “ผมพอแล้ว” กับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นเสียงข้างมากรวมตัวกันไปเชิญให้ท่านรับเป็นนายกฯ ต่อไปอีก ท่านลงจากตำแหน่งอย่าง “สง่างาม” พร้อมความสำเร็จโดยไม่ต้องรอถูกตะโกนขับไล่ ให้ออกไป ออกไป ออกไป—

เหลือเพียง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ยังไม่มีใครกล้าทำนายว่าจะลงจากอำนาจเมื่อไร แบบไหน

สง่างาม หรือเจ็บปวด–?