วางบิล/แต่หนังสือพิมพ์คือความรวดเร็ว

วางบิลเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

แต่หนังสือพิมพ์คือความรวดเร็ว

ความผิดพลาดของหนังสือพิมพ์มีไม่น้อย นับแต่เบื้องต้น เกิดจากการพิสูจน์อักษร หรือการตรวจปรู๊ฟ เริ่มตั้งแต่นักข่าวหรือผู้สื่อข่าวเขียนผิดไปจากพจนานุกรมกำหนด ใช้ “ซึ่ง กับ แต่” หรือ “แก่ แด่” ฯลฯ หรือศัพท์ภาษาไทย คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น ไปถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการเรียบเรียงข่าว จากหัวหน้าข่าว จากบรรณาธิการ และที่สุด จากบรรณาธิกร (Sub-Editor)

มิฉะนั้น อาจเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนสุดท้าย เช่น เมื่อครั้งที่เกิดขึ้นจากผม คือการตรวจตราก่อนส่ง “ฟิล์ม” ไปทำเพลส

เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งนั้น คือ “วันที่” ของหนังสือพิมพ์ประจำวันนั้น เกิดจากความผิดที่ฝ่าย “ปะหน้า” ใช้หน้าหนึ่งของเดิมเมื่อวาน ซึ่งเป็นวันที่ “วันนี้” มาตั้ง แล้ว “ลืม” ลอกวันที่เดิมออก ปิดวันที่ใหม่ คือวันที่พรุ่งนี้เข้าไปแทน เมื่อมีการอ่านตรวจ คงผ่านตาด้วยเป็นวันที่วันนี้ มิได้ฉุกคิดว่า ต้องเป็นวันที่พรุ่งนี้

ความผิดพลาด “หลุด” ออกไปถึงเครื่องพิมพ์ ปล่อยให้หนังสือพิมพ์ไปถึงแผงจำหน่ายหนังสือ ผู้ขายโทรศัพท์เข้ามาที่สำนักงานตั้งแต่เช้าว่า ทำไมส่งหนังสือฉบับเมื่อวานมาให้

เขาว่า จุดแรกที่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์จะอ่านคือพาดหัวข่าว มิฉะนั้น จะชำเลืองมองไปตรงใต้หัวหนังสือที่มีวันที่กำกับ หากไม่ใช่วันที่วันนี้ คือวันที่อ่าน หลายคนจะพับหนังสือพิมพ์กลับอย่างเก่า เพราะคิดว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อวาน

ขณะที่หนังสือพิมพ์เมื่อก่อนต้องส่งไปต่างจังหวัด จะลงวันที่ล่วงหน้า คือวันที่ “พรุ่งนี้” ด้วยเหตุที่หากเป็นวันที่วันนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจะเป็นฉบับเก่า เพราะต้องส่งไปตั้งแต่วันนี้แล้วถึงคืนนี้ หรือพรุ่งนี้ ไม่เหมือนกับหนังสือกรอบกรุงเทพฯ และปริมาณฑล ที่ส่งเช้าวันนี้ ลงวันที่วันนี้

ยังมีความผิดพลาดอีกหลายประการของหนังสือพิมพ์ที่ผู้อ่านมักทักท้วงมา โดยเฉพาะคำผิด บางครั้งเป็นเรื่องของ ชื่อ ยศ ตำแหน่ง ที่ไม่สอดคล้องตามความเป็นจริง

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์เป็นความผิดที่เกิดขึ้นวันต่อวัน สมกับที่เรียกว่า “วรรณกรรมเร่งรีบ”

หากไม่เป็นความผิดร้ายแรง ยังผ่านเลยไปได้

แต่หากเป็นความผิดที่สร้างความเสียหายให้เกิดกับผู้ตกเป็นข่าว ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ประการแรก บรรณาธิการต้องสั่งให้แก้ข่าวในวันรุ่งขึ้น เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

หรือหากไม่เป็นที่พอใจของผู้เสียหาย ยังนำความผิดนั้นขึ้นฟ้องร้องต่อศาลต่อไปได้

ที่ผู้ทำงานหนังสือพิมพ์ต้องระวังเป็นพิเศษ คือความผิดอันเกิดจากความบกพร่องสะเพร่า โดยเฉพาะการใช้ราชาศัพท์ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

มิให้เกิดขึ้นได้เด็ดขาด

หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันขณะนั้น อยู่ในห้วงหลัง “14 ตุลา 16” ข่าวการเมือง และความคิดเห็นทางการเมืองเป็นไปอย่างเสรี การตรวจสอบข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมือง และบุคคลทางการเมืองเป็นไปอย่างละเอียด ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวจากผู้เสียอำนาจทางการเมืองเมื่อครั้งนั้น ต้องการกลับเข้าประเทศไทย ทั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร

การตรวจสอบข่าวจึงมิแต่เพียงให้นักข่าวออกไปสัมภาษณ์นักการเมือง สัมภาษณ์รัฐมนตรี สัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบทั้งฝ่ายตำรวจสันติบาล และทหารเท่านั้น ยังมีการตรวจสอบข่าวความเคลื่อนไหวในทางลับด้วยการรับฟังข้อมูลข่าวสารจากวิทยุสื่อสารของทางราชการ

นักข่าวคนหนึ่ง ชื่อ “อุดม” เป็นนักข่าวที่เข้าไปมีความสัมพันธ์และทำความรู้จักกับนายตำรวจหลายคน ไม่แต่เพียงระดับผู้มีตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ขณะนั้นยังเป็นกรมขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน

“อุดม” ยังมีหน้าที่ติดตามข้อมูลข่าวสารหลายด้าน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อนำมาแจ้งหรือบอกข่าวกับบรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าวหน้า 1 ในแต่ละวันถึงความเคลื่อนไหวของข่าวสารการเมือง

“อุดม” ชำนาญและติดตามรับฟังข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวจากวิทยุสื่อสารที่สามารถรับคลื่นสั้นจากเครื่องส่งของทางราชการได้

วิทยุเครื่องนั้น เมื่อตั้งคลื่นที่ต้องการรับฟังแล้ว ต้องหมุนหาคลื่นไปเรื่อย ได้ยินการส่งข่าวหรือสนทนากันตรงคลื่นไหน “อุดม” จะหยุดฟัง แล้วจับใจความ การสนทนาทางวิทยุสื่อสารของทางราชการ จะใช้รหัสเรียกขานทั้งที่เป็นประจำตำแหน่ง ประจำกระทรวง และเป็นสัญญาณสั้นๆ บอกการเรียกขานด้วยอักษร “ว.”

เช่น “มท. 1” หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เจ้าหน้าที่รับคำสั่งมาให้เรียกใคร จะแจ้งผ่านคลื่นวิทยุสื่อสารว่า “มท.1 เรียก…(หมายถึงปลายทาง) ว.2 เปลี่ยน” หมายความว่าผู้ที่ถูกเรียกคือเจ้าหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ยิน (ว.2 แล้วเปลี่ยน คือเปลี่ยนการเรียกขานกลับ) เมื่อรับรู้ว่าได้ยินแล้วจึงแจ้งข้อความ หรือคำสั่งนั้นให้ทราบ ซึ่งอีกฝ่ายเมื่อได้รับข้อความหรือคำสั่งนั้น จะแจ้งกลับว่า “ทราบ”

รหัสสัญญาณของวิทยุสื่อสาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับส่งวิทยุจะทราบดีว่า “ว.” ตามด้วยหมายเลขนั้นหมายเลขนี้หมายความว่าอย่างไร เช่น ว.5 หมายถึงความลับ เป็นต้น

“อุดม” เป็นผู้ที่ชำนาญในเรื่องนี้อย่างดี วันๆ หากไม่ออกไปหาข่าวหรือพบกับแหล่งข่าว “อุดม” จะนั่งประจำในกองบรรณาธิการ บนโต๊ะมีเครื่องวิทยุสื่อสารคอยหมุนคลื่นบนหน้าปัดรับฟังเสียงที่ดังขึ้นเป็นครั้งคราว ว. นั้น ว. นี้ มีความเคลื่อนไหวอย่างไรจะเดินมาแจ้งให้ทราบเป็นครั้งเป็นหนไป

วันที่จอมพลถนอมจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ “อุดม” คอยรับฟังคลื่นวิทยุสื่อสาร พร้อมไปกับฝ่ายข่าวต่างประเทศที่คอย “สาวข่าว” จากเทเล็กซ์ของสำนักข่าวต่างประเทศสองสามแห่งที่ตีพิมพ์เสียงดังคล้ายพิมพ์ดีดเป็นพักๆ หากมีข่าวสำคัญจะมีเสียงเหมือนกระดิ่งดังขึ้นถี่ๆ หัวหน้าข่าวต่างประเทศ หรือหัวหน้าข่าวหน้า 1 หรือหัวหน้า “ซับ” จะเดินออกไปที่เครื่อง “สาวข่าว” ดูครั้งหนึ่ง

ข่าวหน้า 1 ขณะนั้น ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ทำเหมือนกับหน้าข่าว เดอะ เนชั่น คือมีพื้นที่ว่างไว้ยาวประมาณ 3-4 นิ้ว สำหรับพิมพ์ข่าวล่า หรือข่าวปิดหน้า ซึ่งอาจมาจากข่าวต่างประเทศ หรือจากข่าวในประเทศที่หัวหน้าข่าวหน้า 1 หรือ “ซับ” หน้า 1 กันพื้นที่ไว้

พื้นที่ตรงนั้น มีประโยชน์มากในวันที่มีข่าว จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางเข้าไทย พี่ชัยวัฒน์ ยนเปี่ยม ใช้พื้นที่ตรงนั้น สรุปข่าวทั้งจากข่าวต่างประเทศ และรายงานข่าวจากวิทยุสื่อสารที่ “อุดม” รายงานตั้งแต่เช้า แล้วสั่งให้ผมรอเปลี่ยนหน้าที่โรงพิมพ์

แม้ความผิดพลาดจะเกิดจากความเร่งรีบ แต่ความรวดเร็วของข่าวคืองานของหนังสือพิมพ์เช่นกัน