ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : ศิลปะแห่งร่างกายอันเปลือยเปล่า ของศิลปินสาวโพสต์เฟมินิสต์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
VB61 หรือ Still Death (2007), เวนิส อิตาลี ภาพและข้อมูลจากหนังสือ Vanessa Beecroft: Photographs, Films, Drawings โดย Thomas Kellein, Vanessa Beecroft สำนักพิมพ์ Kunsthalle Bielefeld เว็บไซต์ www.vanessabeecroft.com

ที่ผ่านมาเขียนถึงศิลปินเพศชายติดๆ กันมาหลายตอนแล้ว

เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกีดกันทางเพศ

คราวนี้เลยจะเขียนถึงศิลปินเพศหญิงกันบ้างอะไรบ้าง

แต่จะเขียนถึงทั้งทีก็ต้องหยิบเอาเรื่องที่น่าสนใจอย่างศิลปะที่เปิดเผยเนื้อหนังมังสาอันเปลือยเปล่าอย่าง ศิลปะนู้ด กันดีกว่า

แต่ก่อนแต่ไร ใครๆ ก็มีความเชื่อกันว่า “ศิลปะนู้ด” หรือศิลปะภาพเปลือย มักจะเป็นโลกแห่งการสร้างสรรค์ของผู้ชาย

สังเกตได้จากทั้งศิลปินเพศชายที่ผูกขาดศิลปะในแขนงนี้เรื่อยมา

ที่ทางของผู้หญิงในโลกของศิลปะนู้ดมีให้เพียงแค่เป็นไม้ประดับ เป็นแรงบันดาลใจ

หรือเป็นนางแบบที่คอยโพสท่าสวยๆ

ให้ศิลปินทั้งหลายถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะอันแสนจะเย้ายวนให้ได้ชมกันเท่านั้น

ถึงจะมีศิลปินหญิงที่ทำงานศิลปะบ้าง ก็ยังอยู่ในจำนวนน้อย และไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ยิ่งเป็นศิลปะนู้ดยิ่งแล้วใหญ่

แต่ในปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิสตรี หรือเฟมินิสต์ขึ้นในโลก สังคมยอมรับความเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชายกันมากขึ้น

ศิลปะนู้ดก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในโลกของผู้ชายอีกต่อไป

 

ปัจจุบันมีศิลปินหญิงมากมายที่ทำงานศิลปะนู้ด หรือภาพเปลือยออกมาสู่สายตาของสาธารณชนคนรักศิลปะ และในบรรดานั้นมีศิลปินหญิงร่วมสมัยผู้หนึ่งที่ถ่ายทอดงานศิลปะ ผ่านร่างกายอันเปลือยเปล่าได้อย่างน่าสนใจ มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ศิลปินหญิงผู้นั้นมีชื่อว่า วาเนสซา บีครอฟต์ (Vanessa Beecroft)

เกิดในปี 1969 ที่เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี เธอเป็นลูกครึ่งอิตาเลียน/อังกฤษ

วัยเด็กเธอใช้ชีวิตกับแม่ หลังจากที่พ่อและแม่ของเธอหย่าขาดจากกันเมื่อเธออายุได้สามขวบ

ด้วยความที่แม่ของเธอเป็นคนไร้ศาสนาและหัวก้าวหน้าสุดโต่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ยากในสังคมชนบท ในเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยคาทอลิกเคร่งศาสนาของอิตาลี พวกเธอแม่ลูกจึงถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนนอกคอก ถูกกีดกันและตั้งแง่รังเกียจ

ด้วยสภาพชีวิตที่อดอยากแร้นแค้นและหิวโหยจนต้องควบคุมความอยากอาหาร ทำให้เธอติดนิสัยในการเขียนไดอารีที่บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอกินมาเป็น 10 ปี

นอกจากความทุกข์ทรมานจากความอยากอาหารแล้ว ในช่วงวัยรุ่นเธอยังต้องทุกข์ทรมานกับโรคบูลิเมีย และความวิตกกังวลกับการลดน้ำหนัก

เธอเข้าศึกษาในสถาบัน Accademia di Belle Arti di Brera ในมิลาน

จนกระทั่งในปี 1993 ปีสุดท้ายของการศึกษา อาจารย์ในสถาบันชักชวนให้เธอร่วมแสดงงานกลุ่มที่นั่น

อันเป็นที่มาของงานแสดงชุดแรกของเธอที่มีชื่อว่า VB01

ซึ่งเธอตีพิมพ์ข้อความที่อยู่ในไดอารีของเธอลงบนกระดาษ

ประกอบกับการให้ผู้หญิงทั้งที่เป็นเพื่อนของเธอในสถาบันเดียวกัน รวมถึงผู้หญิงที่เธอชักชวนจากตามท้องถนนในมิลานจำนวน 30 คนมายืนเรียงรายอยู่กลางห้องแสดงงาน และแต่งกายด้วยชุดที่เธอออกแบบ โดยผู้หญิงทั้งหลายที่เธอเลือกมามักจะเป็นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกินเหมือนเธอนั่นเอง

 

หลังจากนั้นในปี 1995 เธอย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก และจัดแสดงงานอีกหลายต่อหลายครั้ง

จนกระทั่งเมื่อนักค้างานศิลปะชื่อดังบังเอิญไปเห็นผลงานของเธอที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารศิลปะและช่วยผลักดันให้เธอก้าวเข้าสู่วงการศิลปะโลกอย่างเต็มตัว

หลังจากนั้น ผลงานของเธอได้รับการจับตาในวงการศิลปะโลกและสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย

จนในปี 1997 เธอได้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเวนิส เบียนนาเล่ และมีงานแสดงเดี่ยวในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำของโลกอย่างกุกเกนไฮม์ มิวเซียม ในนิวยอร์ก ในปี 1998

ผลงานของเธอเป็นส่วนผสมระหว่างความคิดของศิลปะคอนเซ็ปชวลและประเด็นการตั้งคำถามทางสุนทรียะ ที่มุ่งเน้นในการแสดงออกด้วยสื่อศิลปะการแสดง (Performance Art) ในขนาดใหญ่ และมักจะใช้ร่างกายเปลือยเป็นสื่อในการแสดงงาน ประกอบกับการถ่ายภาพและวิดีโอ

งานของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนในยุคเรอเนซองส์ ภาพยนตร์ของผู้กำกับฯ ชั้นครูชาวอิตาลี และภาพยนตร์นิวเวฟฝรั่งเศส

เธอมักจะปล่อยให้คนดูได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงาน และสร้างพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูและนางแบบ เพื่อท้าทาย กระตุ้นเร้าปฏิกิริยาความอยากรู้อยากเห็น ความอาย และความคาดหวังของพวกเขาเหล่านั้น

อาทิ ผลงาน VB52 (2003) ที่เธอได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาการกินและความหมกมุ่นเกี่ยวกับอาหารของเธอเช่นเดียวกัน

โดยในช่วงหนึ่ง เธอมักจะเลือกกินแต่อาหารที่มีสีเดียวกันซ้ำๆ เช่น เลือกกินเฉพาะแต่อาหารสีแดง สีเขียว สีส้ม หรือสีขาว เพียงอย่างเดียวติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานๆ

เหตุเพราะเธออยากทดสอบว่าการกินแบบนี้จะส่งผลออกมาทางสีผิวของร่างกายเธอหรือไม่?

 

ผลงานชิ้นที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งของเธออย่าง VB55 (2007) ที่ใช้ผู้หญิง 100 คน ยืนเปลือยเปล่า สวมใส่เพียงถุงน่องบางเบาที่แทบจะปิดอะไรไม่มิด และนิ่งงัน ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย ไม่สบสายตากับผู้ชมอย่างสิ้นเชิง เป็นเวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง

และ VB61 หรือ Still Death (2007) ที่ใช้ผู้หญิงเปลือยเปล่า 30 คน ทาร่างกายด้วยสีดำ นอนก่ายกันอยู่ในที่สาธารณะ โดยมีบีครอฟต์ยืนอยู่ท่ามกลางพวกเธอเหล่านั้นและสาดเลือด (ปลอม) สีแดงฉานราดรดตัวของพวกเธอ

จนกลายเป็นเหมือนกับศพที่นอนตายอยู่เกลื่อนกลาดท่ามกลางกองเลือด

ผลงานที่โด่งดังอีกชิ้นของเธออย่าง VB65 (2009) ที่ใช้ชายแอฟริกันอพยพ 20 คนสวมดินเนอร์สูท (แต่บางคนนั่งตีนเปล่าไม่ใส่รองเท้า) นั่งเรียงหน้ากระดานบนโต๊ะยาว 12 เมตร ก้มหน้าก้มตารับประทานไก่ ขนมปัง และน้ำ ด้วยมือเปล่าโดยไร้ภาชนะหรือช้อนส้อมใดๆ อย่างเงียบงันเป็นเวลา 3 ชั่วโมง

ซึ่งภาพนี้เป็นการเลียนแบบภาพวาด The Last Supper อันโด่งดังนั่นเอง

 

นอกจากเป็นที่อื้อฉาวและโด่งดังในวงการศิลปะแล้ว เธอยังได้รับการชื่นชมจากแบรนด์สินค้าดังๆ ระดับโลกอย่าง หลุยส์ วิตตอง ที่เชื้อเชิญให้เธอไปจัดงานแสดงในวันเปิดช็อปใหม่ ณ ถนนชองป์ อลิเซ่ ในปารีส ในปี 2005

โดยเธอเองก็จัดให้เหล่านางแบบเปลือยของเธอไปนั่งๆ นอนๆ นวยนาดอยู่เคียงข้างกับกระเป๋าที่ตั้งอยู่ในร้านใหม่ในวันเปิดให้เป็นที่อื้ออึงของคนดูเช่นเคย

ผลงานของเธอถูกนิยามว่าเป็นงานศิลปะกึ่งแฟชั่น ที่มีความเลิศล้ำ ต่ำช้า น่าหลงใหล เซ็กซี่ ยั่วยุเย้ายวน กวนอารมณ์ และทรงพลังไปในเวลาเดียวกัน

นักวิจารณ์ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาบางคนยกย่องให้ผลงานของเธอเป็นงานศิลปะเฟมินิสต์ที่เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิงซึ่งเดิมทีเคยเป็นแค่วัตถุทางเพศของผู้ชาย ให้กลับกลายมาเป็นร่างกายที่ผู้หญิงอย่างพวกเธอเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

ในขณะที่นักวิจารณ์บางคนกลับวิจารณ์ว่าผลงานของเธอไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการโชว์เนื้อหนังมังสาหน้าอกหน้าใจที่ใส่ความประเทืองปัญญาเข้าไปเป็นกระษัยก็เท่านั้นเอง

บ้างก็กล่าวถึงผลงานของเธอว่ามันเป็นการสะท้อนถึงพื้นฐานความอัปลักษณ์ทางจิตใจ ความรังเกียจตัวเอง ความอับอาย และความหวาดวิตกและกังวลใจของตัวศิลปินเอง

 

อย่างไรก็ตาม บีครอฟต์นิยามตัวเองว่าเธอเป็นศิลปินโพสต์เฟมินิสม์ (Post-feminism) หรือศิลปินยุคหลังเฟมินิสต์ เธอไม่ได้มีความคิดที่จะปลดแอกผู้หญิงแต่อย่างใด

หนำซ้ำเธอไม่คิดว่าสิ่งที่เธอทำอยู่นั้นเป็น “ศิลปะ” ด้วยซ้ำไป เธอมักจะกล่าวว่า เธอเพียงแต่ทำไปตามสัญชาตญาณของเธอเท่านั้น

“สำหรับฉัน ฉันแค่สนใจที่จะเห็นผู้หญิงเหล่านั้นยืนอยู่ที่นั่น และเปลือยเปล่า และสำรวจดูว่า อะไรเป็นตัวกำหนดบุคลิกลักษณะของเธอ ท่าทาง ทัศนคติ หรือการแสดงออก มันก็เป็นปริศนาสำหรับผู้หญิงอย่างฉันไม่ต่างจากผู้ชายหรอก ฉันเคยอ่านหนังสือของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ที่บอกว่า สงครามเป็นสิ่งที่ผู้ชายเป็นคนก่อขึ้น สำหรับฉัน ฉันไม่คิดแบบนั้น มันจะเป็นอย่างไร ถ้าโลกนี้ไม่มีผู้ชาย โลกจะมีแต่ดอกไม้ และทุกสิ่งทุกอย่างจะสวยงามหอมหวานกระนั้นหรือ?”

“แม้แต่ตัวฉันตอนนี้เองก็ยังไม่เข้าใจโลกของผู้หญิงดีนัก และฉันยังคงกระหายใคร่รู้ และค้นหาคำตอบของมันผ่านการทำงานศิลปะของฉันอยู่จวบจนทุกวันนี้”