วรศักดิ์ มหัทธโนบล : มองการอพยพเข้าไทยของชาวจีนโพ้นทะเลแบบโพสต์โมเดิร์น

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (5)
หลักคิดแห่งการอพยพ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ใช้เครือข่ายและทุนสังคมในฐานะปัจจัยบวกเป็นศูนย์กลางนี้ก็ได้รับการวิจารณ์เช่นกัน ว่าเป็นแนวที่จำกัดเฉพาะเครือข่ายทางสังคมและครอบครัวเป็นพื้นฐานเบื้องต้นมากจนเกินไป

การวิจารณ์นี้เห็นว่า การศึกษาแนวเครือข่ายควรจะรวมเอาผู้ที่ได้ผลประโยชน์คนอื่นในฐานะที่เป็นสื่อกลางเข้ามาด้วย ซึ่งรวมทั้งผู้ที่อยู่ตามแนวชายแดนหรือในพื้นที่ปลายทาง เพราะคนเหล่านี้อาจเป็นนายจ้างที่กำลังมองหาเหล่าแรงงานอพยพอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ค้าขายตามพื้นที่ที่ว่า

ดังนั้น ตัวแสดงที่เข้ามาพัวพันกับเครือข่ายการอพยพจึงมิได้มีเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น หากยังมีผู้ที่คอยจ้องจะเอาเปรียบผู้อพยพรวมอยู่ด้วย

แนวการศึกษาทั้งสี่แนวจากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ทำให้เห็นภาพรวมว่า การอพยพมีระดับและมิติในการศึกษาที่กว้างขวางและลึกซึ้งเฉพาะตัว

ที่ควรกล่าวย้ำในที่นี้ด้วยก็คือ แนวการศึกษาทั้งสี่นี้เป็นเพียงหนึ่งของการแยกแยะหลักคิดให้เห็นอย่างเป็นระบบเท่านั้น ยังมีการศึกษาที่มีวิธีการแยกแยะอื่นอยู่อีกไม่น้อยในแวดวงการศึกษาหลักคิดการอพยพ งานศึกษาเหล่านี้จะต่างก็แต่เพียงวิธีการนำเสนอของผู้ศึกษาแต่ละคน

ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจและมีจุดเด่นเป็นของตัวเองทั้งสิ้น

ที่สำคัญ แม้การศึกษาหลักคิดจะเป็นดังที่ว่ามา แต่ก็ยังมีงานศึกษาที่พยายามสรุปให้เห็นว่า หลักคิดทั้งหมดที่มีการศึกษากันมานั้นอาจแยกให้เห็นเป็นกลุ่มความคิดได้อย่างไรบ้างอีกด้วย

 

ดังงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่เสนอว่า การศึกษาการอพยพจากที่ผ่านมาแยกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มทฤษฎีหน้าที่นิยม (functionalist theory) กับกลุ่มทฤษฎีความขัดแย้ง (conflicting theory)

ทั้งนี้ ในกลุ่มทฤษฎีหน้าที่นิยมมีความโน้มเอียงที่จะให้ความสำคัญกับการไปสู่จุดดุลยภาพ (equilibrium) โดยกลุ่มนี้มีสมมุติฐานว่า ผู้มีรายได้น้อยย่อมต้องเคลื่อนย้ายไปยังที่ที่มีรายได้มากกว่า

ทฤษฎีในกลุ่มนี้จึงเสนอหลักคิดเรื่องต้นแบบผลักดันและดึงดูด (push-pull model) และต้นแบบแรงโน้มน้าว (gravity model) และหลักคิดคลาสสิคใหม่ของการอพยพขึ้นมา โดยเห็นว่า กลุ่มทฤษฎีนี้มองการอพยพเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งไร้พลวัตในตัวเอง

และผู้อพยพเป็นเพียงผู้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยต่างๆ และละเลยในประเด็นที่ว่า การอพยพเป็นกระบวนการทางสังคมที่อาจย้ายตามครอบครัวหรือเครือข่ายได้เช่นกัน ซึ่งโดยสรุปแล้ว กลุ่มทฤษฎีนี้มิได้นำปัจจัยที่มิใช่ทางเศรษฐกิจมาพิจารณาด้วย

เช่น ปัจจัยการอพยพกลับถิ่นฐานเดิม ความแตกต่างของรายได้ หรือบทบาทของรัฐที่เข้ามาจัดการกับการอพยพ เป็นต้น

อนึ่ง ต้นแบบความโน้มน้าวเป็นหลักคิดหนึ่งของประชากรศาสตร์ โดยใช้หลักคิดว่าด้วยแรงโน้มถ่วงของไอแซ็ก นิวตัน ในส่วนที่กล่าวถึงการดึงดูดกันของวัตถุ (bodies) จนทำให้เกิดพลังของมวลสาร (masses) มาใช้อธิบายการอพยพในเชิงภูมิศาสตร์ ด้วยการแทนที่วัตถุด้วยถิ่นฐาน (location) และแทนที่มวลสารด้วยที่ตั้ง (importance) ตามลำดับ

โดยที่ตั้งจะสามารถทำให้วัดขนาดของประชากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือตัวแปรอื่นๆ ที่ถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม หลักคิดนี้จึงมีพื้นฐานความคิดที่ให้ความสำคัญกับถิ่นฐานหนึ่งหรือสองแห่งรวมกัน ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวไปมาของผู้อพยพระหว่างถิ่นฐาน

 

ส่วนกลุ่มทฤษฎีความขัดแย้ง อันเป็นหลักคิดที่ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจร่วมกัน (collective decision) มากกว่าการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล

ฝ่ายที่สังกัดหลักคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ของแรงงานอพยพมองว่าการอพยพคือ การวางยุทธศาสตร์ของครัวเรือนเพื่อจัดการความล้มเหลวของตลาดและการกระจายความเสี่ยงของรายได้ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเพียงการขยายผลประโยชน์ของปัจเจกแบบที่กลุ่มทฤษฎีแรกมอง

อีกทั้งยังเห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้กับการขาดแคลนเชิงสัมพัทธ์ (relative deprivation) ในสังคมต้นทางเป็นแรงผลักดันสำคัญของการอพยพเช่นกัน

นอกจากนี้ ทฤษฎีในกลุ่มนี้ยังรวมไปถึงทฤษฎีมาร์กซิสต์ (Marxist theory) ทฤษฎีพึ่งพา (dependency theory) และทฤษฎีระบบโลก (world system) ที่เห็นว่า การอพยพมีฐานะสนองตอบต่อการแพร่กระจายของทุนนิยม

โดยทุนนิยมทำให้ผู้ที่อยู่ชนบทอพยพเข้าเมืองมาเป็นแรงงานให้กับกระฎุมพี ไม่ว่าจะเป็นการอพยพระหว่างประเทศหรือภายในประเทศก็ตาม

งานศึกษาแนวนี้ยังเห็นว่า การอพยพยังมีต้นทุนจากปัจจัยในบริบทอื่นที่กลุ่มทฤษฎีความขัดแย้งมิได้กล่าวถึง นั่นคือ การอำนวยความสะดวกของกลุ่มทางสังคม ภูมิศาสตร์ ตลอดจนข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคหรือส่งเสริมการอพยพ เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อกลุ่มคนจนในอันที่จะเข้าถึงทรัพยากร ตลาด และการเมือง ซึ่งเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง

จะเห็นได้ว่า งานศึกษาชิ้นดังกล่าวไม่เพียงจะแยกหลักคิดการอพยพให้เห็นเป็นกลุ่มทฤษฎีเท่านั้น หากยังวิจารณ์ด้วยการชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ในสองกลุ่มทฤษฎีนี้อีกด้วย เหตุฉะนั้น สิ่งที่พึงพิจารณาต่อไปจึงคือ ไม่ว่าจะพิจารณาจากหลักคิดเฉพาะหรือกลุ่มหลักคิดก็ตาม

เราเห็นอะไรในหลักคิดการอพยพจากที่กล่าวมาบ้าง?

 

สิ่งที่เห็นในประการแรกคือ การศึกษาหลักคิดการอพยพมีมานานนับร้อยปีอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายและมีเป็นจำนวนมาก

ในประการต่อมา แต่ละหลักคิดล้วนเกิดขึ้นภายใต้บริบทของเวลา สังคม และสถานการณ์เฉพาะ แต่ละหลักคิดจึงมีความแตกต่างกันในเชิงโต้แย้ง ต่อยอด วิจารณ์ หรือนำเสนอใหม่

และประการที่สาม ทุกหลักคิดถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาการอพยพทั้งสิ้น

เหตุฉะนั้น การนำหลักคิดใดมาใช้ย่อมเป็นไปตามดุลพินิจของบุคคล ซึ่งมิได้หมายความว่าหลักคิดที่ถูกนำมาใช้จะเป็นหลักคิดที่ดีเลิศประเสริฐศรีที่สุด

ในส่วนการวิจารณ์หลักคิดกันไปมานั้นถือเป็นเรื่องปกติในวงวิชาการ แต่ทุกการวิจารณ์ก็ทำให้พบว่า แต่ละหลักคิดต่างมีจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเอง ไม่มีหลักคิดใดที่มีความสมบูรณ์พร้อม

นอกเสียจากอัตตาของผู้สร้างหลักคิดนั้นๆ จะเชื่อด้วยตนเองว่าหลักคิดของตนสมบูรณ์พร้อม

 

หลักคิดการอพยพที่ใช้ในกรณีจีน

การที่หลักคิดการอพยพมีพัฒนาการและความเป็นจริงเช่นนั้น ได้นำมาซึ่งความยุ่งยากใจให้กับการศึกษาในที่นี้อยู่พอสมควร ว่าการเลือกหลักคิดใดมาใช้ย่อมหลีกเลี่ยงการวิจารณ์จากผู้ที่สมาทานอีกหลักคิดหนึ่งไปไม่ได้

แต่ถ้าตระหนักในความจริงที่ว่าไม่มีหลักคิดใดที่มีความสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็จะลดความยุ่งยากใจลงไปได้ แต่ในขณะเดียวกันการนำหลักคิดใดมาใช้ก็ย่อมมีเกณฑ์ในการเลือกเช่นกัน ซึ่งเกณฑ์ในที่นี้ก็คือ การพิจารณาจากความเป็นจริงของสังคมต้นทางและปลายทางของการอพยพ

โดยต้นทางในที่นี้ก็คือจีน และปลายทางก็คือไทย

เพราะความเป็นจริงที่ว่าจะชี้ให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะทางสังคมของสองประเทศ เกณฑ์ที่ว่านี้จึงน่าที่จะต้องตรงกับหลักวิชาการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป

นอกจากหลักคิดการอพยพแล้ว ในที่นี้ยังเห็นว่าหลักคิดอื่นก็พึงที่จะกล่าวถึงด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นหลักคิดที่ส่งผลให้เกิดการอพยพทั้งทางตรงและทางอ้อม หลักคิดอื่นที่ว่านี้จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

หลักคิดที่งานศึกษานี้เห็นว่ามีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในที่นี้คือหลักคิดที่เสนอว่า การทำความเข้าใจกระบวนการอพยพในเชิงหลักคิดใหม่นั้น ลำดับแรก ควรมองว่า ความปรารถนา (aspiration) ของการอพยพเป็นเรื่องของการแสวงหาโอกาสเพื่อเติมเต็มและสร้างแรงบันดาลใจให้กับชีวิต

มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเพียงเรื่องของรายได้หรือค่าแรง

—————————————————————————————————————
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป