วิเคราะห์ : ควบรวมกิจการอสังหาฯ ทางรอดจากวิกฤตอันเลี่ยงไม่ได้?

การควบรวมกิจการ หรือ M&A เป็นอีกวิธีหนึ่งในการปรับตัวของธุรกิจเมื่อเวลาเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตรุนแรงเหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยในเวลานี้

โดยเฉพาะกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้านจัดสรร-คอนโดมิเนียมนั้น ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูงมาก หลักหลายร้อยล้านบาทขึ้นไป ถึงพันล้านหมื่นล้าน

เวลาประสบปัญหาธุรกิจอสังหาฯ มักไม่ใช่ปัญหาการขาดทุน เพราะทรัพย์สินและสินค้าของธุรกิจนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ามาก และมักมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจนี้ จนทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ได้ จึงมักเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

นับแต่กลางปีที่แล้วที่เริ่มปรากฏปัญหาห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จเหลือขายจำนวนมาก ต่อมาครึ่งแรกของปี 2563 ก็เจอวิกฤตแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จนถึงครึ่งหลังปีก็เจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง บวกกับปัญหาวิกฤตทางการเมือง

วิธีการแก้ปัญหาธุรกิจโดยการ M&A หรือควบรวมในวงการอสังหาฯ ก็เริ่มปรากฏเป็นข่าวให้ได้ยินได้ฟังกัน

ที่นี่ในเวลานี้ คงยังไม่ระบุชื่อกันตรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ กับธุรกิจ เอาไว้ให้ผู้ดำเนินการแถลงข่าวเป็นทางการจะเหมาะสมกว่า ในที่นี้ต้องการแชร์ข้อมูลและไอเดียกันเบื้องต้นเท่านั้น

 

กรณีแรก เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเทียบกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยกันจัดเป็น บมจ.ขนาดกลาง ไปควบรวมซื้อกิจการบริษัทอสังหาฯ ขนาดเล็กนอกตลาด ทำโครงการแนวที่อยู่อาศัยแนวราบอยู่ไม่กี่โครงการ และคาดว่าคงมีที่ดินแลนด์แบงก์อยู่จำนวนหนึ่ง

กรณีนี้ผู้ขายก็ได้แก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้าได้เลยทันที

ส่วนฝั่งผู้ซื้อก็ได้โครงการอสังหาฯ แนวราบเข้ามาในพอร์ตทันทีทำให้สัดส่วนโครงการแนวสูงกับแนวราบของบริษัทดูดี

พร้อมกับจะมีตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์รับรู้รายได้เข้ามาต่อเนื่อง

 

กรณีที่สอง บริษัทอสังหาฯ ที่ประสบความสำเร็จเติบโตรวดเร็วจนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ MAI ได้ ต้องขายให้กับบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET ซึ่งเป็นอสังหาฯ ในเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่เก่าแก่ของประเทศ

ในกรณีนี้ ผู้ขายที่เป็นอสังหาฯ รุ่นใหม่ซึ่งเติบโตได้รวดเร็วมากับตลาดคอนโดฯ เมื่อเผชิญกับวิกฤตที่เร็วและแรงแบบนี้ย่อมมีปัญหาสภาพคล่องเพราะจำนวนโครงการคอนโดฯ ที่อยู่ระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์และรับรู้รายได้ย่อมจะมีจำนวนน้อยกว่าโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างออกไป การควบคุมกิจการย่อมเป็นการแก้ปัญหาที่ดีก่อนที่ปัญหาจะขยายตัว

ส่วนฝั่งผู้ซื้อ แน่นอนเป็นการเพิ่มพอร์ตอสังหาฯ เพื่อขายให้หลากหลายมากขึ้น

 

กรณีที่สาม บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เติบโตมากับตลาดคอนโดมิเนียมราคาไม่แพงมาตั้งแต่แรก เข้ามาทดแทนการเช่าอพาร์ตเมนต์มาเป็นการผ่อนคอนโดฯ ในจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกัน จนยอดเติบโตระดับหมื่นล้านบาท แต่ในข้อดีที่คอนเซ็ปต์โปรดักต์ที่แข็งแรงและดีมายาวนานก็กลายเป็นจุดอ่อนที่โปรดักต์ไม่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ตลาดเปลี่ยนทิศมาสู่แนวราบหลังโควิด-19 ระบาด ทำให้บางโครงการที่มีขนาดใหญ่มีห้องชุดเหลือขายจำนวนมาก และโครงการแนวราบที่เพิ่งเริ่มก็ยังไม่มียอดมากพอที่จะเข้ามาทดแทน

จึงมีรายงานข่าวไม่เป็นทางการว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็ไว้รอรายละเอียดเป็นทางการจากการแถลงก็แล้วกัน

ในที่นี้แค่จะบอกว่า สถานการณ์ขณะนี้ลมกำลังเปลี่ยนทิศนะ