ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : “คนกินแสง” นิทรรศการศิลปะแห่งแสงที่เคลื่อนไหวในความมืด (ตอน1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
บรรยากาศภายในนิทรรศการ คนกินแสง พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ภาพโดย Namfah Boon

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้มีนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจนิทรรศการหนึ่งถูกจัดขึ้นที่เมืองเชียงใหม่

ซึ่งนอกจากจะเป็นนิทรรศการเปิดตัวประเดิมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่ของประเทศไทยที่มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมันไม่ได้เป็นนิทรรศการศิลปะที่แสดงผลงานภาพวาดของศิลปินแบบปกติทั่วไปอย่างที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคย

หากแต่แสดงผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่ง

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า “คนกินแสง” (THE SERENITY OF MADNESS)

และผู้กำกับภาพยนตร์คนนั้นมีชื่อว่า อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Ashes, 2012 Courtesy of Apichatpong Weerasethakul
Ashes, 2012 Courtesy of Apichatpong Weerasethakul

ถ้าพูดถึงชื่อของอภิชาติพงศ์ หลายคนที่เป็นคอหนังนอกกระแสคงคุ้นเคยกับเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์อิสระชาวไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และคว้ารางวัลจากเวทีประกวดระดับโลกมามากมายหลายแห่ง

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโทด้านวิจิตรศิลป์ สาขาภาพยนตร์ จาก The School of Art Institute of Chicago

อภิชาติพงศ์ เป็นหนึ่งในคนทำภาพยนตร์ไม่กี่คนใประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ ภาพยนตร์ของเขามักจะเป็นการทดลอง ท้าทาย ยั่วล้อ บิดขนบและระบบคิดในการทำภาพยนตร์ โดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากภาพยนตร์ไทยสมัยเก่าๆ ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์สมัยก่อนๆ ไปจนถึงการ์ตูนเล่มละบาทที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง

ผนวกเข้ากับความเชื่อพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา ตำนานท้องถิ่น เรื่องผีสาง และการหยิบยกเอาเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ของชนบท และเหล่าคนชายขอบที่ไม่เคยมีความหมายในสังคมขึ้นมาพูดถึง

รวมถึงการนำเสนอความเป็นไทยในแบบธรรมชาติที่ไม่แสร้งดัด บทสนทนาที่ไร้การปรุงแต่ง

การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศมากกว่าการเล่าแบบเอาเรื่อง

การหยิบเอาแรงบันดาลใจจากละครจักรๆ วงศ์ๆ

ความน่ารักน่าเอ็นดูและอารมณ์ขันอันใสซื่อของคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้นำเสนอแบบล้อเลียน

สลายเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเมืองกับชนบท ทำลายอคติทางเชื้อชาติ ด้วยการใช้ภาษาท้องถิ่นในหนัง

แม้กระทั่งหยอกเอินและวิพากษ์วิจารณ์ความคร่ำเคร่งจนเกือบจะคร่ำครึของศาสนา

อีกทั้งยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทางชนชั้นได้อย่างแนบเนียน

รวมถึงแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชนมากกว่าจะนำเสนอความเป็นชาตินิยมและความเป็นไทยตามแบบแผนที่กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานทางศิลปะของไทยชอบนำเสนอในเวทีโลก ด้วยการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์อันเรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิผล

ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างพรมแดนของความจริงกับมายา

แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้เทคนิคเดียวกันย้ำเตือนกับเราอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราเห็นบนจอภาพยนตร์นั้นไม่ใช่เรื่องจริง

Jenjiraplasmaelectric (From For Tomorrow for Tonight), 2011Courtesy of Apichatpong Weerasethakul
Jenjiraplasmaelectric (From For Tomorrow for Tonight), 2011Courtesy of Apichatpong Weerasethakul

สําหรับความเป็นคนทำหนัง อภิชาติพงศ์คงไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ตัวเองอีกแล้ว ดูได้จากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับจากงานเทศกาลหนังระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล

ไม่ว่าจะเป็นจากรางวัล Un Certain Regard จากหนังเรื่อง “สุดเสน่หา” (Blissfully Yours)

และรางวัล Jury Price จากหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด!” (Tropical Malady) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศส

และ แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) ที่ได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองเวนิส อิตาลี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานภาพยนตร์ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ของเขาที่ได้รางวัลสูงสุดภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ครั้งที่ 63 อีกด้วย

ด้วยดีกรีขนาดนี้ อภิชาติพงศ์น่าจะเป็นผู้กำกับฯ ที่เนื้อหอมและเป็นที่ต้องการตัวที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

หากแต่ในความเป็นจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เหมือนกับชะตากรรมของคนทำหนังนอกกระแสทั่วๆ ไป ผลงานของเขาไม่ได้รับการตอบรับที่ดีในบ้านเรานัก

จนสามารถกล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้กำกับหนังไทยที่มีคนไทยดูน้อยที่สุดคนหนึ่ง

เหตุเพราะหนังของอภิชาติพงศ์มักจะให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึก และสัญชาตญาณ มากกว่าการเล่าเรื่อง (หรือที่คนส่วนใหญ่แดกดันว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” นั่นแหละ)

การแช่กล้องนานๆ และดำเนินเรื่องเนิบช้าเอื่อยเฉื่อย เป็นเหตุให้นักดูหนังหลายๆ คน ที่เคยชินกับการดูหนังแบบเอาเรื่องและตัดต่อฉับไวอย่างหนังฮอลลีวู้ด มักตำหนิว่างานของเขาน่าเบื่อ ชวนหลับ ไม่ปะติดปะต่อ หยาบถึงขั้นมักง่าย ซ้ำร้ายเหมือนคนทำหนังไม่เป็นด้วยซ้ำ

ทั้งที่ในความเป็นจริง หนังของอภิชาติพงศ์ใช้ประโยชน์จากศักยภาพในความเป็นภาพยนตร์อย่างถึงที่สุด ด้วยการให้ความสำคัญกับรายละเอียดของภาพ ลำดับชั้นของแสงสว่างและความมืด รายละเอียดของสี การจัดวางทัศนธาตุหรือองค์ประกอบทางสายตาอย่างละเอียดอ่อน และมิติของเสียง

เรียกได้ว่าเป็นการใช้ศักยภาพของภาพยนตร์อย่างถึงขีดสุด

พูดอีกอย่างก็คือ การดูหนังของเขาให้สมบูรณ์พร้อมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ดูหนังของเขาในโรงภาพยนตร์

แต่น่าเสียดายที่โอกาสในการดูหนังของเขาในโรงหนังบ้านเรามีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ด้วยเงื่อนไขทางการตลาดที่ทำให้หนังของเขาถูกฉายอย่างจำกัด

แถมยังต้องประสบกับชะตากรรมที่เลวร้ายจากความคับแคบของระบบเซ็นเซอร์เมืองไทย ปัจจุบันหนังของอภิชาติพงศ์เดินสายไปฉายเรียกเสียงชื่นชมในโรงหนังทั่วโลก ยกเว้นโรงหนังในเมืองไทย

หนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง “รักที่ขอนแก่น” (Cemetery of Splendor) ก็ไม่มีโอกาสเข้าฉายในเมืองไทย และตัวอภิชาติพงศ์ยังประกาศหยุดทำภาพยนตร์ (ขนาดยาว) ในประเทศไทยอีกด้วย

หลังจากนี้คนไทยอย่างเราจะมีโอกาสได้ดูชมผลงานของเขาในโรงภาพยนตร์อีกหรือไม่ ก็ไม่อาจรู้ได้