ปรากฏการณ์ปล่อย อายัดต่อ เทียบชุลมุนใน ม.ราม คดีอืด คำถามอื้ออึงสองมาตรฐาน?

เป็นเหตุการณ์ที่พูดถึงกันมาก พร้อมกับตั้งคำถามว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

นั่นคือทันทีที่ศาลอาญายกคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 แกนนำนักศึกษา 4 ราย คือ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ในคดีชุมนุม 19-20 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ทำให้ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

กระทั่งเวลา 20.00 น. จู่ๆ พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ วงษ์หอมหวล ผกก.สน.ประชาชื่น เดินทางมาอายัดตัว น.ส.ปนัสยา นายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ โดยระบุว่าทั้ง 3 คนมีหมายจับของ สภ.เมืองนนทบุรี, สภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา และ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยสถานีตำรวจต้นทางได้แจ้งอายัดไว้ และยังไม่ได้แจ้งยกเลิกหมายจับมา

แม้ทนายความจะโต้แย้งว่า คดีทั้งหมด ทั้ง 3 คนได้ถูกแจ้งข้อหาไปหมดแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอายัดตัวต่อได้ เนื่องจากหมายจับสิ้นผลไปแล้ว และขอให้ตำรวจประสานกับสถานีตำรวจที่ออกหมายถอนการอายัด เพื่อจะได้ไม่ต้องควบคุมตัวทั้ง 3 คนไว้อีก

ระหว่างรอการประสานงาน ทางตำรวจนอกเครื่องแบบได้นำนายพริษฐ์และนายภาณุพงศ์ขึ้นรถควบคุมตัวแยกคันกับ น.ส.ปนัสยา เดินทางมาที่ สน.ประชาชื่น

ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นความสับสนอลหม่าน เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ติดตามมาให้กำลังใจแกนนำทั้ง 3 รายที่ สน.ประชาชื่น ทราบข่าวแพร่สะพัดว่านายพริษฐ์และนายภาณุพงศ์ถูกบีบคอทำร้ายร่างกาย ทำให้มวลชนลุกฮือพากันทุบกระจกรถควบคุมตัวผู้ต้องขังจนแตก และพยายามเปิดประตูรถช่วยนายภาณุพงศ์ที่เป็นลมไม่ได้สติ กระทั่งท้ายที่สุดต้องส่งตัวนายภาณุพงศ์ไปรักษาอาการเบื้องต้นที่โรงพยาบาล

จากนั้น ทั้งเพนกวินและรุ้งได้ใช้พื้นที่หน้า สน.ประชาชื่น เปิดปราศรัยโจมตีการทำงานของตำรวจ พร้อมยืนยันว่าตำรวจไม่มีอำนาจจับกุม เนื่องจากหมายจับสิ้นผลไปแล้ว กินเวลาหลายชั่วโมง ทาง สภ.เมืองอุบลราชธานี กับ สภ.เมืองนนทบุรี จึงแจ้งเพิกถอนหมายจับ มีเพียง สภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา ที่ตำรวจเดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาและทำบันทึกจับกุมเพนกวินและรุ้งที่ สน.ประชาชื่น และเช้าวันที่ 31 ตุลาคม ได้แสดงตัวจับกุมนายภาณุพงศ์ถึงเตียงโรงพยาบาลที่เขาพักรักษาตัวอยู่ พร้อมกับยื่นคำร้องฝากขังทันที ต่อมาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำสั่งยกคำร้องฝากขังทั้ง 3 ราย

ทว่าเรื่องราวยังไม่จบ เพราะคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำ จำต้องมีคดียาวเป็นหางว่าว ยังมีคดีที่เกิดขึ้นอีกหลายท้องที่ หลายสถานีตำรวจ จ่อคิวรออายัดตัวพวกเขาไปดำเนินคดีตามกฎหมาย

ภาพที่แกนนำนักศึกษาถูกอายัดตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ตำรวจในฐานะกลไกของรัฐ มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลับบังคับใช้กฎหมายกับแกนนำในลักษณะที่มุ่งหวังจำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งการตั้งข้อหาร้ายแรง มีโทษสูงเกินกว่าพฤติกรรมที่อ้างว่ากระทำผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐานหรือไม่

อย่างคดีการทำร้ายร่างกายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ซึ่งมีภาพเหตุการณ์บันทึกใบหน้าผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนหลายราย ผ่านไปนานกว่า 10 วัน กลับออกหมายเรียกผู้กระทำผิดได้เพียง 1 ราย

ทำให้ตำรวจถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาล กลั่นแกล้งผู้ชุมนุมที่รัฐบาลมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้แจงปมคาใจนี้ว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมมักไม่แจ้งการชุมนุมในสถานที่ต่างๆ ตำรวจจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีไปตามข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วนกรณีเหตุชุลมุนที่เกิดขึ้นหน้า สน.ประชาชื่น เป็นเรื่องยุทธวิธีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาหรือการอายัดตัว ยอมรับว่าต้องมีการศึกษาปัญหา เพื่อปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่

ส่วนที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกว่า 80 หมายนั้น พล.ต.ท.ภัคพงศ์อธิบายว่า แต่ละหมายแต่ละคดี เป็นการรวบรวมการกระทำความผิดในพื้นที่ สน.ต่างๆ รวมถึงที่มีผู้เสียหาย ทั้งที่เห็นหลักฐานการกระทำความผิดทางโซเชียลมีเดีย หรือเห็นด้วยตนเอง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ทำให้เมื่อรวมกันแล้วจึงมีคดีความมากถึง 80 คดี บางคดีเกิดขึ้นในพื้นที่นครบาลอย่างเดียว ขณะที่บางคดีเกิดขึ้นคาบเกี่ยวหลายพื้นที่

พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักศึกษาที่ไปทำกิจกรรมภายใน มร. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์ทั้งหมด 5 ราย เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งหลังนำส่งแพทย์ตรวจรับการรักษาแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่ามี 2 รายต้องพักรักษาตัว 10-14 วัน ส่วนผู้ต้องสงสัยมี 10 คน

ที่มีการระบุรายชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเข้าไปทำร้ายร่างกายนั้น พนักงานสอบสวนได้เรียกตัวมาสอบปากคำแล้ว พบการกระทำความผิดชัดเจน 1 ราย จึงได้ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ส่วนที่เหลือยังอยู่ในขั้นตอนการเปรียบเทียบพยานหลักฐาน ว่าในวันเกิดเหตุได้ร่วมกระทำความผิดในข้อหาใดหรือไม่

เจ้าของรหัส น.1 ยืนยันว่า แต่ละคดีที่ตำรวจดำเนินการ ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือถ่วงเวลา เช่นในคดีนี้ก็ใช้เวลาเพียง 9 วันก็สามารถออกหมายเรียกผู้ต้องหาได้แล้ว

ขณะที่บางคดี เช่น เหตุการณ์ชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ตำรวจยังดำเนินคดีได้ไม่ครบทุกคน

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ชุมนุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจมักถูกมองเป็นเครื่องมือของรัฐบาล จนประชาชนเสื่อมศรัทธาในองค์กรสีกากี

แม้ตำรวจยืนยันว่าได้ทำตามหลักสากล หลักนิติรัฐ และนิติธรรม แต่ยังมีการท้วงติงจากหลายองค์กรสิทธิมนุษยชนถึงการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา ต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยความชอบธรรม เป็นธรรม

ที่สำคัญ ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก