จิตต์สุภา ฉิน : ผ้าก็อัจฉริยะได้เหมือนกัน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คุณผู้อ่านลองจินตนาการดูนะคะว่า หากเรามีผ้าสักผืนที่เมื่อเราวางอะไรลงไปก็ตาม มันจะสามารถระบุได้ว่าสิ่งที่เราวางลงไปคืออะไร เป็นลิปสติกหนึ่งแท่ง อโวคาโดหนึ่งผล หรือช้อนกับส้อมสักคู่

ถ้าหากมีผ้าที่ฉลาดแบบนี้ เราจะเอามันไปใช้ทำอะไรดีคะ

จะว่าไปก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาเหมือนเคยอ่านเจอผ้าวิเศษแบบนี้ในการ์ตูนโดราเอมอนมาก่อน

แต่เมื่อมันเกิดมีขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะแตกต่างกันไปในรายละเอียดของการใช้งานจริงอยู่บ้าง

 

ผ้าที่พูดถึงนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในสหรัฐและจีน ที่จับมือกันพัฒนาผ้าอัจฉริยะภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า Capacitivo

ทีมนักวิจัยนำอิเล็กโทรดหรือขั้วไฟฟ้ากว่า 100 อิเล็กโทรดไปแนบเข้ากับเส้นใยของผ้าเพื่อที่จะทำให้ผ้าสามารถรับสัมผัสของวัตถุและรับ-ส่งข้อมูลได้ โดยจะเชื่อมต่อผ้าเข้ากับคอมพิวเตอร์ที่รันระบบดีพเลิร์นนิ่งซึ่งผ่านการเทรนนิ่งด้วยข้อมูลจำนวนมากมาแล้ว เมื่อวางวัตถุต่างๆ ลงไปบนผ้า ระบบก็จะวิเคราะห์ว่าลักษณะการกระทำที่เกิดขึ้นกับพื้นผิวของผ้าแบบนี้น่าจะเป็นวัตถุประเภทไหนแล้วระบุชื่อของวัตถุออกมาให้ด้วยความแม่นยำที่สูงถึง 94.5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

สิ่งที่นักวิจัยทดลองวางให้ดูในคลิปวิดีโอก็อย่างเช่น กีวี อโวคาโด และเกรปฟรุต ซึ่งบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ระบุชื่อผลไม้เอาไว้อย่างถูกต้อง

คำถามที่น่าสนใจที่จะต้องถามต่อทันทีก็คือ แล้วเราจะเอาผ้าแบบนี้ไปทำอะไรกัน

 

ประโยชน์ที่นักวิจัยได้ยกตัวอย่างเอาไว้ให้ดูสั้นๆ ก็คือการเชื่อมต่อระบบนี้เข้ากับอุปกรณ์สมาร์ตโฮมอย่างลำโพงอัจฉริยะ ที่เมื่อเราวางลิปสติกหนึ่งแท่งเอาไว้และกำลังจะออกจากบ้าน ลำโพงก็จะส่งเสียงเตือนว่าอย่าลืมหยิบลิปสติกไปด้วย

อีกสถานการณ์ตัวอย่างก็อาจจะเป็นการที่เราใช้ร่วมกับการทำอาหาร มันอาจจะสามารถเตือนเราได้ว่าเราลืมใส่วัตถุดิบบางอย่างหรือเปล่า หรือหากเรารวบรวมเอาวัตถุดิบทั้งหมดที่มีในตู้เย็นมาวางไว้บนผ้า มันอาจจะสามารถบอกได้ว่า จากวัตถุดิบทั้งหมดที่เห็น เราน่าจะทำอาหารเมนูอะไรได้บ้าง

เนื่องจาก Capacitivo ยังถือเป็นโปรเจ็กต์ต้นแบบอยู่ การนำไปใช้งานก็อาจจะยังไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามจะทำให้ผ้าอัจฉริยะขึ้นมาได้

 

ผ้าอัจฉริยะที่ฉันได้สัมผัสจริงครั้งแรกอยู่ในงาน Google I/O เมื่อหลายปีที่แล้ว เป็นโปรเจ็กต์ของ Google ที่ให้ชื่อว่า Jacquard ที่ได้รับแรงบันดาลใจการตั้งชื่อมาจากเทคนิคการทอผ้า รูปแบบของเทคโนโลยีก็คล้ายๆ กัน คือมีการผสานอิเล็กโทรดเอาไว้ในเนื้อผ้าเพื่อทำให้เราสามารถควบคุมสั่งการเทคโนโลยีได้ อย่างการสั่งเปิด-ปิดหลอดไฟด้วยการลูบหรือแตะที่เนื้อผ้า ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี

โปรเจ็กต์ Jacquard ของ Google ได้กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นหลังจากที่บริษัทหันไปจับมือกับ Levi”s และออกแบบเสื้อแจ๊กเก็ตยีนส์ Trucker Jacket ขึ้นมา เป็นเสื้อแจ๊กเก็ตที่ช่วยให้เราสามารถใช้งานสมาร์ตโฟนได้ง่ายขึ้น

รูปแบบการใช้งานจริงของเสื้อแจ๊กเก็ตตัวนี้จะเป็นแบบนี้ค่ะ สมมุติว่าเราเป็นคนที่ขับมอเตอร์ไซค์อยู่บ่อยๆ ในระหว่างที่ขับก็ต้องการใช้งานฟีเจอร์บางอย่างของสมาร์ตโฟน อย่างเช่น การรับสายเรียกเข้า เปิดเพลง หรือว่าถ่ายภาพ แต่จะหยิบโทรศัพท์ออกมาใช้ก็จะไม่ปลอดภัย เสื้อ Trucker Jacket ที่มีเทคโนโลยีถักทอเอาไว้อยู่ตรงปลายแขนเสื้อ ก็จะทำให้เราสามารถทำทั้งหมดที่ว่าได้ผ่านการแตะแขนเสื้อในรูปแบบต่างๆ

Trucker Jacket จะมีอุปกรณ์บลูทูธสี่เหลี่ยมชิ้นเล็กๆ ติดเอาไว้ให้เราสามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ตโฟนของเราได้ ดูจากภายนอกแล้วจะไม่มีทางรู้เลยว่านี่เป็นเสื้อแจ๊กเก็ตที่มีความไฮเทค แถมดีไซน์ก็ยังสวยด้วยนะคะ คนที่อยู่รอบๆ ไม่มีทางรู้เลยว่าเวลาที่เราปาดหรือแตะปลายแขนเสื้อด้านซ้ายเนี่ย เรากำลังสั่งการโทรศัพท์ของเราอยู่ แถมเจ้าตัวแท็กสี่เหลี่ยมเล็กๆ นั้นก็ยังส่องไฟและสั่นเตือนเราได้ด้วยเวลาที่เราลืมโทรศัพท์เอาไว้ที่ไหน

เวลาจะซักทำความสะอาดก็แค่ถอดแท็กออกมาก่อน แล้วก็นำไปซักได้ตามปกติ ไม่แตกต่างจากเสื้อแจ๊กเก็ตยีนส์ธรรมดาทั่วๆ ไปเลย ซักได้แบบไม่ต้องกลัวว่าอิเล็กโทรดจะหลุดหายไปไหน

 

กลับมาที่โปรเจ็กต์ Capacitivo ของเรา หลังจากพัฒนาไปสักพักเราก็น่าจะได้เห็นรูปแบบการใช้สอยแบบใหม่ๆ ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงมาก่อนเลยก็ได้ นอกจากสิ่งที่นักวิจัยได้ยกตัวอย่างไว้แล้ว ฉันคิดว่ามันก็น่าจะมีศักยภาพในการเป็นอีกหนึ่งทางที่สามารถช่วยเหลือคนตาบอดให้ระบุวัตถุที่วางอยู่ตรงหน้าได้อย่างแม่นยำ หรือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดีขึ้น

การที่เทคโนโลยีถูกถักทอเอาไว้ในเส้นใย ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยที่ใช้ในการทำเสื้อผ้า หรือเส้นใยที่อยู่ในเฟอร์นิเจอร์ ก็จะช่วยทำให้ของสิ่งนั้นกลมกลืนเป็นธรรมชาติกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ลองนึกภาพการที่เราสามารถสั่งเปิด-ปิดไฟได้จากการแตะลงไปเบาๆ บนวอลล์เปเปอร์หรือผ้าม่านอะไรแบบนั้น

ในงาน CES 2020 ที่ฉันมีโอกาสได้ไปช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ทำให้ได้เห็นว่าเทคโนโลยีในเส้นใยผ้าได้รับการพัฒนาไปเยอะมาก มีแม้กระทั่งการถักทอเอาเซ็นเซอร์เข้าไปอยู่ในชุดของพนักงานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำงาน หรือเซ็นเซอร์ในเนื้อผ้าสำหรับเปลเด็ก

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่อีกไม่นานข้างหน้าเทคโนโลยีหลายอย่างจะย้ายไปให้เราสามารถสั่งการได้จากการสัมผัสพื้นผิวของผ้าแทนหน้าจอแข็งๆ อย่างทุกวันนี้