ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดเล่นๆ กับนักข่าวว่าถ้าประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ท่านจะเขียนกฎหมายเสียเอง และจะเขียนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด แม้จะไม่เก่งกฎหมายก็จะพยายาม
“ผมถึงบอก ถ้าไม่เรียบร้อย ผมเขียนเองก็ได้ จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ ผมไม่ได้เขียนแบบที่อยากเขียน ผมไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ผมอ่านเอา และเอาความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการอะไรมาเขียน แล้วจะดูว่า มันผ่าน หรือไม่ผ่าน หรือจะไม่มีผ่านมากกว่าเดิม มันอยู่ที่ใจของทุกคน หากใจทุกคนอยากจะทำ ก็ทำได้หมดในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ ที่ทำไม่ได้” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำพูดดังกล่าวทำให้มีการตีความว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายกฯ จะเป็นคนร่างเอง ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พูดบนเวทีว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะร่างเองว่า
“ผมพูดถึงว่า ถ้ามีปัญหามากนัก ทำนองนั้น ผมก็จะมาลองคิดดูว่า ผมควรจะทำเองหรือเปล่า บางทีผมก็พูดทำนองอย่างนี้ ผมถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่เป็นทางการ อย่ามาถือสาผม ผมก็พูดของผมให้มีอารมณ์ไปเรื่อย ถือเป็นหลักการพูด รู้จักกันบ้างหรือไม่ ซึ่งคำทางพระเรียกว่า เทศน์แบบคาบลูก คาบดอก”
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000069154
ส่วนที่น่าสนใจในคำพูดนี้อยู่ตรงคำว่า “จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ” ซึ่งมันทำให้ฉันคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาถูกทางแล้ว อย่างน้อยก็เริ่มตั้งคำถามได้ถูกต้อง เพราะหากจะเริ่มเขียนกฎหมายให้ตรงกับที่ประชาชนต้องการ เราก็ต้องถามต่อว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนต้องการอะไร?”
สิ่งที่ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง พูดอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
สิ่งที่ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
สิ่งที่ คุณวัฒนา เมืองสุข พูดอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
สิ่งที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
สิ่งที่ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
สิ่งที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่พูดอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
สิ่งที่เพนกวินพูดเกี่ยวกับการศึกษาอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
ในทางกลับกัน สิ่งที่ทุกคนข้างต้นพูดก็อาจเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ?
กลับมาถามใหม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเกือบห้าสิบล้านคนต้องการอะไร?
ท่านนายกฯ จะเดินไปถามทีละคน แล้วจดๆ มาทีละข้อจนครบห้าสิบล้านคนห้าสิบล้านข้อเป็นอย่างน้อย แล้วจึงนำมาเขียนเป็นกฎหมายเพื่อให้ตรงกับที่ประชาชนต้องการ ก็คงเป็นไปไม่ได้
อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทกฎหมายหลักของประเทศ ซึ่งหากพวกเราเคยเรียนวิชาสังคมศึกษาชั้นประถมปลายหรือมัธยมต้นมาบ้างก็จะรู้เหมือนที่ฉันรู้ว่า รัฐธรรมนูญนั้นคือกฎหมายสูงสุด กฎหมายพื้นฐาน ที่กำหนดรูปแบบของรัฐ เช่น เป็นรัฐเดี่ยวหรือเป็นสหพันธรัฐ กำหนดความสัมพันธ์ของรัฐกับพลเมือง กำหนดโครงสร้างและรูปแบบในการปกครองประเทศ เช่น จะปกครองประเทศด้วยระบอบใด ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับที่มาของอำนาจในการบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ของพลเมืองกับรัฐว่าจะเป็นรัฐที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของพลเมืองหรือให้ความสำคัญกับอำนาจของรัฐ
เพราะฉะนั้น โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนุญไม่ใช่กฎหมายที่จะมาเขียนกันใหม่บ่อยๆ เว้นแต่การเขียนใหม่นั้นตั้งอยู่บนฐานของความต้องการล้มล้างหลักการปกครองเดิมแล้วแทนที่ด้วยหลักการปกครองใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นความต้องการที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและระบอบ” ความผิดว่าด้วยการล้มรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับความผิดฐานกบฏ
แต่ในกรณีของประเทศไทยดูเหมือนว่าระบบคิดของเราถูกทำให้เชื่อว่าการโค่นรัฐธรรมนูญฉบับเดิมเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเกิดจากการ “ความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย, ความชั่วของนักการเมือง และเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตของพลเมือง”
การโค่นรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพื่อเขียนในโลกทัศน์แบบไทยจึงเกิดขึ้นเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย เลวทราม แล้วสร้างสิ่งใหม่ที่บอกว่ามันคือเครื่องมือให้เราไกลจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง
ในกระบวนการนี้จะเห็นว่าทีละเล็กทีละน้อย เราจะถูกดึงออกไปจาก “หลักการ” ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากสถาบันแม่บทที่กำหนดโครงสร้างและรูปแบบการปกครองประเทศไปสู่กฎหมายเพื่อกำจัดคนชั่ว นักการเมือง แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น
ไปจนถึงรายละเอียดยิบย่อยว่าด้วยจะให้เรียนฟรีกี่ปี!!!!!! (ทั้งๆ ที่นโยบายเช่นนี้ควรเป็นเรื่องที่สามารถออกแบบได้ในขอบเขตของหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยซ้ำไป”
กลับมาที่คำถามเดิม แล้วจะเขียนกฎหมายให้ตรงกับความต้องการของคนทุกคนได้อย่างไร?
ถ้ากฎหมายนั้นหมายถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉันคิดว่า ถ้าท่านนายกฯ อยากให้มันถูกเขียนออกมาตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด ท่านไม่ต้องทำถึงขั้นเดินไปถามประชาชนห้าสิบล้านคน
แต่ลองไปยืมโมเดลของการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นคือ ท่านน่าจะต้องจัดการเลือก สสร. หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เสียก่อน เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่ใกล้เคียงที่สุดกับการตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรร่างที่ออกมาจะตรงกับที่ประชาชนต้องการ ก็ต้องเริ่มที่ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกคนที่จะเข้าไปร่าง หรือเลือกตัวแทนของตนเองเข้าไปร่าง
หลักการนี้เรียกว่าเป็นการหาคนมารับผิดชอบแทน
สมมุติว่า ฉันเลือกนายประชา เข้าไปเป็น สสร. คนทั้งจังหวัดของฉันก็เลือกนายประชา เพราะเขาหาเสียง สัญญาว่าจะไปผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด
ปรากฏว่า นายประชา ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของฉันและคนจังหวัดของฉัน แต่ปรากฏว่าพอได้ไปเป็นแล้ว ไม่ทำตามสัญญา กลับลำ หันไปฮั้วกับพวกที่จะอยากรวมศูนย์อำนาจกลับไปที่ส่วนภูมิภาคเหมือนเดิม ถามว่าฉันจะทำอย่างไร?
ฉันก็ต้องด่าตัวเองว่าเลือกผิด เลือกผิดไป ก็ต้องรับผิดชอบผลที่ตนเองเลือก
หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกันกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ถ้านายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง รัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เวลาเกิดอะไรห่วยๆ ชั่วๆ นอกจากการด่าคนห่วยๆ พวกนั้นแล้ว ประชาชนอย่างเราก็ด่าตัวเอง “กูนี่โง่จริงๆ ที่เลือกมันมา” หรือถ้าเราไม่ได้เลือก เราก็จะได้ด่าไอ้คนที่เลือกเข้ามาว่า “มันทำงานห่วยแบบนี้ ไอ้พวกฐานคะแนนเสียง ส.ส. พรรคนี้มึงดูแล้วจำได้นะ” หรืออะไรก็ว่าไป
แต่เรียนด้วยความเคารพ ถ้าเป็นคนที่เราไม่ได้ “เลือก” แล้วเข้ามาบริหารงานแบบแย่ๆ หรือผิดพลาด เราบอกตามตรงว่า เราก็ได้แต่เกาหัวแกรกๆ ว่า “แล้วกูจะโทษใคร” เพราะโทษตัวเองก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เลือกมานี่ ผลมันจึงออกมาว่า รัฐบาลที่ “อาสา” เข้ามาบริหารประเทศโดยที่ประชาชนไม่เลือกจึงต้องรับคำก่นด่าจากประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมจากฝีมือการบริหารของรัฐบาลไปเต็มๆ
เรื่องร่างรัฐธรรมนุญก็เช่นกัน ประชาชนอย่างฉันก็ได้แต่นั่งงงๆ เพราะอยู่ในกลุ่มคนที่จะเรียกว่านั่งอยู่บ้านที่หลังคารั่วอยู่ดีๆ และกำลังพยายามกดดันคนที่ทำหลังคารั่วว่า เฮ้ย ซ่อมหลังคาสิ ฝ่ายซ่อมหลังคาก็พยายามจะซ่อม แต่อยู่ๆ มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาเป่านกหวีดปรี๊ดๆๆๆ กรี๊ดๆๆ บอกว่า ซ่อมหลังคาก็อยู่ไม่ได้หรอกบ้านหลังนี้ มีแต่สิ่งอัปรีย์ จัญไร ต้องเผาทิ้งสร้างใหม่เท่านั้น
ฝ่ายที่จะซ่อมหลังคาก็บอก ใจเย็นๆๆ ค่อยๆ ซ่อม เสา คาน ฐานรากยังอยู่ได้ ฝ่ายจะเผาทิ้งบอกมันเป็นเรื่องเสนียด ไม่ซ่อม ต้องล้างบาง ต้องปฏิรูป จากนั้นก็ไปขอหน่วยรักษาความปลอดภัยมาช่วยล้างเสนียด วางแผน ปฏิรูป ฝ่ายจะซ่อมหลังคาก็ต้องแตกญะญ่าย พ่ายจะแจไป เพราะใครจะหาญต่อกรกับหน่วยรักษาความปลอดภัย
จากนั้นหน่วยรักษาความปลอดภัยก็คัดคนเข้ามาวางยุทธศาสตร์สร้างบ้านแปงเมืองกันใหม่ ล้างของเก่าทิ้ง ฝ่ายที่คิดว่าแค่ซ่อมหลังคาก็นั่งมองดูกันตาปริบๆ
มีหน่วยกล้าตายเข้าไปแสดงความเห็นบ้าง ว่าเอ๊ะ แปลนบ้านใหม่ มันจะมีหลังคาคลุมสำหรับบางคน หลังคารั่วสำหรับบางคน และไม่ที่คุ้มกะลาหัวสำหรับบางคนหรือเปล่า และแปลนนี้มันแค่วางโครงสร้าง ฐานราก บนกรอบคิดใหญ่ว่าเราจะสร้างบ้านทรงไหน ทรงอังกฤษ ทรงสเปน ทรงไทย หรือเขมร?
และคำถามที่สำคัญคือ “อ้าว นี่เราไม่ได้เป็นคนเลือกสถาปนิกเลยนะ หน่วยรักษาความปลอดภัยเป็นคนเลือกสถาปนิกมาให้เรา”
นี่คือสภาพของคนที่เห็นว่าไม่ควรทุบบ้านทิ้ง เราอยู่ในบ้านของเราดีๆ ก็มีคนมาทุบบ้าน ส่งสถาปนิกมาให้ออกแบบบ้านให้เราใหม่ ระหว่างนี้เราก็นั่งรอนอนรออยู่ในเต็นท์ชั่วคราว ในเงื่อนไขที่ห้ามวิจารณ์การทำงานของสถาปนิก พอออกแบบเสร็จ ก็มาเรียกเราไปลงเสียงว่าจะเอาแบบบ้านหลังนี้หรือไม่เอา
เราดูแบบแล้วเห็นข้อบกพร่องหลายอย่าง เพราะบ้านหลังนี้ดูเหมือนว่าไม่ออกแบบมาให้เป็นบ้านสำหรับคนทุกคนอย่างเสมอภาค และคนในบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารบ้าน เราก็อยากจะบอกสมาชิกในบ้านว่า ถ้าเราอนุมัติแบบบ้านหลังนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าคืออะไร แต่ปรากฏว่าการออกความเห็นแย้งกับแบบบ้านหลังนี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุม
เราซึ่งมีชีวิตอยู่ในเต็นท์ตอนนี้ กลุ่มหนึ่งก็อยากมีบ้านหลังใหม่เร็วๆ แม้จะเป็นบ้านที่อาจจะมีหลังคาโหว่ในตำแหน่งของเราก็ดีกว่าอยู่ในเต็นท์หรือเปล่า?
บางกลุ่มก็บอกว่าจะไม่ยอมรับแบบบ้าน แต่ถ้าไม่ยอม เราก็ต้องอยู่เต็นท์กับหน่วยรักษาความปลอดภัยไปเรื่อยๆ
หรือถ้ายอม หน่วยรักษาความปลอดภัยก็ตามมาดูแลเราทุกย่างก้าวอย่างห่วงใยถึงในบ้านอยู่ดี
แล้วก็นั่นแหละ คำถามคือ เราไม่น่าต้องมาอยู่ในจุดนี้เลย ถ้าเรายอมซ่อมหลังคาตามเสียงส่วนใหญ่เสียตั้งแต่แรก
ปัญหามันจึงอยู่ตรงนี้ เราไม่จำเป็นต้องมาลงมติรับแบบบ้านจากสถาปนิกที่เราไม่เลือก ส่วนพวกที่ควรมารับผิดชอบต่อชะตากรรมที่เกิดกับบ้านหลังนี้อย่างกลุ่มเป่านกหวีด ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะหนีไปเข้าวัดฟังธรรม หรือเนียนๆ ไปปลูกป่า
ไม่ออกมารับผิดชอบผลงานของตัวเองเลย
วันนี้ถ้าท่านนายกฯ จะเหนื่อย จะหงุดหงิดว่าทำอะไรก็ไม่ถูกใจใครเสียที บ่นกันอยู่ได้ วิจารณ์กันอยู่ได้ ก็ต้องไปโทษพวกที่เป่านกหวีดแหละ ว่าพาท่านมายืนอยู่ ณ จุดลำบาก รับทุกอย่างเละตุ้มเป๊ะไปหมดแบบนี้ได้ยังไง
ที่สำคัญ คนที่ออกมาเป่านกหวีดปรี๊ดๆ นี่วันลงประชามติ อาจจะไปเที่ยวฮอกไกโด หรือตากอากาศ นั่งวิปัสสนาอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ไม่ได้ออกมาช่วยลงมติ “เยส” ให้ท่านก็เป็นได้ เรียกว่า พามาแต่ไม่พากลับ
วันที่ 7 สิงหาคมนี้ มาดูกันว่าใครจะออกมารับผิดชอบกับแบบบ้านที่มาจากสถาปนิกซึ่งประชาชนไม่ได้เลือก
ป.ล. ถ้าไม่ผ่าน ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ลงมือจัดการเลือกตั้ง สสร. เลยค่ะ คนไทยจะได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก เอะอะจะไม่ไปโทษท่าน