คำ ผกา | รักเราไม่เท่ากัน

คำ ผกา

สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดของโครงการปฏิวัติสยาม 2475 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยนั้นมีอายุสั้นเกินกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในเชิงสถาบันการเมือง

สิ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามจะทำทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบายทางวัฒนธรรมจบสิ้นไปพร้อมๆ กับอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป.เอง

มองในแง่นี้ทำให้เราต้องจำนนต่อข้อเท็จจริงที่ว่าชนชั้นนำไทย หรือชนชั้นผู้ปกครองกลุ่มเก่าของสยามนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความลุ่มลึกแหลมคมทางการเมืองเชิงวัฒนธรรมมาโดยตลอด

และในสนามรบทางวัฒนธรรมนี้ ฉันไม่แน่ใจว่าจะเกินเลยไปหรือเปล่าที่จะบอกว่าพวกเขาไม่เคยเพลี่ยงพล้ำเลย

หลัง 2475 มีความพยายามจะ modernized และ standardized ภาษาไทยให้สอดรับกับคุณค่าว่าด้วยความเสมอภาค และความเป็นเหตุเป็นผลแบบสากล

ตั้งแต่ลดจำนวนพยัญชนะเพื่อให้ภาษาเป็นสิ่งที่เรียบง่าย เข้าถึงง่าย

ไปจนถึงการปฏิรูประบบการเขียน ไวยากรณ์ เพิ่มเครื่องหมายวรรคตอน เพื่อให้การลำดับความคิดในภาษาไทย ไม่วนเวียนเป็นเขาวงกต แต่กระจ่างไปตามตรรกะที่ไวยกรณ์กำกับให้เป็น

ทว่า ก็ถูกขัดขวาง และสถาปนาอำนาจศักดินาในภาษาไทยต่อให้รุงรัง เต็มไปด้วยยศศักดิ์ ที่ต่ำที่สูง

ไปจนถึงการไม่ยอมใส่เครื่องหมายวรรคตอน ทั้งจุลภาค ทั้งฟูลสต็อป ส่งผลให้คนเขียน อ่าน และเขียนแบบจุดเทียนเวียนวน ไม่มีระบบคิดที่แจ่มชัด

และภายใต้ระบบภาษาเช่นนี้ทำให้ความสามารถในการคิดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลพลอยอ่อนแอลงไปด้วย

การดีเบต หรือการถกเถียงกันด้วยเหตุผลไปทีละเรื่องทีละประเด็น แทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในระบบคิดแบบไทยๆ

ทำให้เราทั้งหลายต้องมีชีวิตภายใต้การถกเถียง เอาชนะกันด้วยโวหาร สำนวน ภาษาที่หวือหวา มีวลีฮิตอันแสนกระทบใจไปแทน และเราต้องถูกทิ้งเท้งเต้งท่ามกลางสำนวนที่ตรรกะพังพินาศ เช่น หมามันยังรักลูก ทำไมคนไม่รักลูก หรือขนาดโจรหรือคนชั่วยังจงรักภักดี แต่ทำไมคนดีมีการศึกษาเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน

รัฐบาลคณะราษฎรในครั้งกระโน้นพยายามปลูกฝังจิตสำนึกใหม่ให้กับ “ไพร่สยาม” ด้วยการบอกว่า เราไม่ใช่ไพร่สังกัดมูลนายอีกต่อไปแล้วนะ

เราคือประชาชนเจ้าของประเทศ ด้วยการตั้งชื่อถนนเป็น “ราษฎร์บูรณะ”

หรือตั้งชื่อสถานที่ราชการ โรงเรียนด้วยการลงท้ายว่า “ราษฎร์อุปถัมภ์”

หรือเขียนไว้บนสมุดที่แจกนักเรียนว่าเป็นสมุดโดยภาษีประชาชน ฯลฯ

แต่สิ่งเหล่านี้ถูกลบเลือนความหมาย หรือแม้กระทั่งถูกเปลี่ยนชื่อไปให้กลับสู่โหมด ที่รัฐได้ “ประทาน” ลงมาให้แก่ประชาชนผู้อ่อนแอ น่าสงสาร และสิ้นไร้ไม้ตอก

มโนทัศน์ว่าด้วยประชาชนเจ้าของประเทศแทบไม่มีโอกาสหรือระยะเวลาที่ทอดนานพอลงหลักปักฐานได้ในประเทศนี้

เราจึงกลายเป็นคนไทยที่มีชีวิตอยู่ด้วยการต้องสำนึกในบุญคุณของใครสักคนเสมอมาที่ไม่ใช่ตัวเราและโคตรเหง้าของเราเอง

คำว่า สามัคคีคือพลังในบริบทของไทย ไม่ได้หมายถึง solidarity ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพด้วยกัน ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ด้วยกัน ไม่แม้แต่จะหมายถึงพลังแห่งความรักชาติในหมู่ประชาชนด้วยกัน

แต่สามัคคีคือพลังในบริบทแบบไทยๆ กลับหมายถึงคำสั่งห้ามมิให้ท้าทายอำนาจรัฐ เพราะการคิดต่างจากรัฐ หมายถึงการสร้างความแตกแยก คือการไม่รู้รักสามัคคี

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ สามัคคีในบริบทไทยหมายถึงการยินยอมให้เกิดความมืดบอดทางปัญญา

ยินยอมมีชีวิตภายใต้การกำกับของรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข

และภูมิใจที่ได้โง่เง่าเช่นนั้นเพราะคิดว่าตนเองกำลังเป็นคนดีของบ้านเมืองอยู่

มโนทัศน์ว่าด้วย “ความรัก” ในการเมืองไทยก็ไม่ได้ถูกพัฒนาให้เป็น “คุณ” ต่อการปลูกฝังคุณค่าของแนวคิดประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

เพราะเราไม่ได้มองว่าความรักในอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นต้องมาพร้อมกับความเสมอภาค

หาไม่แล้วความรักนั้นจะเป็นแค่เครื่องมือเพื่อเอาไว้ข่มขู่ ขูดรีด ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ร่ำไป

ฝ่ายจารีตของไทยนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในการกล่อมเกลาอุปนิสัยและจิตสำนึกของคนผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า เรื่องแต่ง ละคร

ช่ำชองในการสร้างองคาพยพในการเผยแพร่เรื่องเล่าเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องจริงฝังแน่นอยู่ในวิธีของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น

เช่น แนวคิดเรื่องพ่อปกครองลูก เมื่อเรามองการเมืองเป็นเรื่อง พ่อและลูก เราจึงเห็นว่าประชาชนคือ ลูก ผู้ปกครองคือ พ่อ

ถามให้ตอบแบบเร็วๆ ว่า ระหว่างพ่อกับลูกใครมีอำนาจมากกว่ากัน ทุกคนก็ต้องตอบว่า “พ่อ”

ถามให้ตอบแบบง่ายๆ อีกว่า ทำไมพ่อจึงมีอำนาจมากกว่า คำตอบคือ ก็เพราะในอุปมานี้ สิ่งที่บังเกิดในหัวเราของเราคือ ลูกคือเด็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลูกจะเติบโตได้ก็โดยมีพ่อแม่ เลี้ยงดู ให้อาหาร สั่งสอน ให้การศึกษา

ในที่นี้ พ่อจึงเป็นผู้ให้ ลูกเป็นผู้รับ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลูกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ดังนั้น ลูกจึงต้องมีภาวะพึ่งพิงพ่อ (หรือแม่) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การท้าทายอำนาจของพ่อจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เพราะการท้าทายอำนาจของพ่อ อาจนำมาซึ่งการถูกทอดทิ้ง

ผลแห่งการถูกทอดทิ้งก็คือ ลูกอาจจะไม่มีชีวิตรอด

ดังนั้น ในความสัมพันธ์ของการเมืองแบบพ่อและลูก จึงเป็นเรื่องของการที่ลูกต้องพึ่งพ่อ

ดังนั้น ลูกมีหน้าที่ทำให้พ่อพึงพอใจ เช่น เชื่อฟังคำสั่ง ไม่เถียง ทำตามหน้าที่ และทำอย่างไรก็ได้ให้พ่อรัก

เพราะถ้าพ่อรักเรา เราจะรอด พ่อจะดูแลเรา

มโนทัศน์ทางการเมืองเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการบ่มเพาะวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะทำให้คนจำนวนหนึ่งมองว่าประเทศคือบ้าน รัฐบาลหรือผู้นำประเทศพึงทำบทบาทประหนึ่งพ่อที่ดี คือ รักและดูแลประชาชนเหมือนลูก

ด้วยมโนทัศน์ที่ครอบงำเราอยู่เช่นนี้ก็ทำให้เรามีนายกฯ ที่ชอบอ้างว่าตนเองกำลัง “ดูแล” ประชาชน แทนที่จะบอกว่าตนเองกำลังบริหารประเทศในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

นอกจากจะชอบอ้างว่าดูแลประชาชนที่เป็นประหนึ่งลูกนกที่วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากอ้าปากรอ กระจองอแงรอให้พ่อนกแม่นกคาบหนอนมาป้อน

จากนั้น นายกฯ หรือผู้นำรัฐบาลเหล่านี้ก็จะชอบออกมาพูดว่า เนี่ยะ เหนื่อยแล้ว ทำไมประชาชนไม่รู้จักช่วยตัวเองบ้าง รอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาล นายกฯ คนเดียวจะไปแก้ปัญหาของทุกคนได้อย่างไร

บลา บลา บลา

ไม่เพียงเท่านั้น คนเหล่านั้นยังชอบอ้างว่า มาอยู่ตรงนี้เพราะ “รักประชาชน” แบบไม่เลือกที่รักมักที่ชัง พอๆ กับที่ประชาชนที่ยังงมงายกับมโนทัศน์พ่อปกครองลูกก็โหยหาความรักความเมตตาจากผู้นำ คิดว่าผู้นำที่ดีคือผู้นำที่รักประชาชน

แต่สังคมประชาธิปไตยไม่เป็นเช่นนั้น

ประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ขาดความรักความอบอุ่น

สิ่งที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยปรารถนาและยึดเป็นคุณค่าสูงสุดคือ เพื่อนร่วมชาติร่วมสังคมต่างเคารพในกันและกัน

และหากจะมีความรักในทางการเมือง มันไม่ใช่ความรักที่ตัวบุคคล และเป็น “อารมณ์รัก” ในชะตากรรมที่ต้องเผชิญและต่างก็เคียงบ่าเคียงไหล่ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาร่วมกัน และโดยมากแล้ว อารมณ์รักระหว่างมวลชนอย่างโรแมนติกมักจะเกิดขึ้นในหมู่มวลชนที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐร่วมกัน ทว่ามิใช่การรอคอยความรักความเมตตาจากผู้นำที่เราอุปมาเป็นดั่งบิดา

คุณค่าสูงสุดในสังคมประชาธิปไตยคือความเคารพในคุณค่า ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของกันและกันจากนั้นสัมพันธ์กันอย่างยุติธรรมภายใต้กฎหมายที่ถูกเขียนมาโดยตัวแทนของประชาชน และกฎหมายหลักคือรัฐธรรมนูญที่ต้องประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะพลเมืองแห่งรัฐ

ชาติไม่ใช่ “ครอบครัว” ชาติคือหน่วยทางการเมืองหนึ่งที่พลเมืองทุกคนมีความเป็นคนเท่ากัน และไม่มีใครมีหน้ารักที่ใครหรือรอคอยความรักจากใคร