ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
สถาบันพระปกเกล้า โดยนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารของสถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอ 2 รูปแบบโครงสร้าง และวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
เป็น 2 รูปแบบที่นายชวนได้สั่งการให้สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหน่วยงานสังกัดรัฐสภาเร่งออกแบบ หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ลุกขึ้นเสนอกลางสภาในญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อระดมทางออกจากวิกฤตการเมือง
เป็นการเสนอโดยที่ผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ลุกขึ้นขานรับ
ขานรับให้ใช้กลไกรัฐสภาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับ 2 รูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอนั้น
นายชวนเผยว่า รูปแบบที่ 1 เป็นไปตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ
ประกอบด้วย ผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เช่น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น
นายชวนระบุว่า วิธีนี้มีจุดอ่อน หากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วม องค์ประชุมก็จะไม่ครบ หากคุยไม่รู้เรื่องก็ล่ม ไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะเสร็จเร็วได้
รวมทั้ง ถ้ามองผิวเผิน จะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ถือว่าน่ากังวล
ส่วนรูปแบบที่ 2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ
“จะนำ 2 รูปแบบนี้ไปประสานกับฝ่ายต่างๆ ตามรูปแบบที่ 1 ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะมาในรูปแบบที่ 2 หรือดึงรูปแบบที่ 1 กับ 2 มาประสานกัน ในส่วนของตัวบุคคล โดยอาจต้องไปถามตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หรือคนนอกจะมาร่วมด้วยหรือไม่ เพราะต้องไปคัดคนให้ได้จำนวนไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหาของบ้านเมือง”
นายชวนระบุ
ก่อนที่วันรุ่งขึ้น นายชวนจะนำ 2 รูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอเข้าหารือกับตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ของกลไกในนิติบัญญัติ
ประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 รวมทั้งนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ นายชวนเผยว่า ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยัง 4 อดีตนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ล่าสุด 3 อดีตนายกฯ ตอบรับยินดี พร้อมให้ความร่วมมือ
ยกเว้นนายสมชายนั้น นายชวนระบุว่ายังติดต่อไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพ ขอให้รอสักระยะ
ด้านซีกฝ่ายค้าน แม้เริ่มแรกจะปฏิเสธเสียงแข็งว่าจะไม่ร่วม แต่เมื่อนายชวนออกหน้า ให้สภารับบทนำเรื่องนี้ ท่าทีก็เริ่มอ่อนลง
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสเต็ปแรกที่เชิญทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน
ถ้าในสเต็ปแรกทุกฝ่ายยอมรับให้มีคณะกรรมการชุดนี้ ฝ่ายค้านก็พร้อมเข้าด้วย แต่ถ้าทุกฝ่ายไม่ยอมรับ ฝ่ายค้านก็คิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะร่วม
โดยเฉพาะความเห็นจากฝ่ายผู้ชุมนุม ถ้าไม่ยอมรับ ฝ่ายค้านก็คงไม่เข้าร่วม เพราะการแก้ปัญหาครั้งนี้ ต้องเอาผู้ชุมนุมและประชาชนเป็นตัวตั้ง
“ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่” นายสุทินยืนยัน
นี่จึงทำให้ทุกฝ่ายจับตาไปที่ท่าทีม็อบราษฎร
ซึ่งล่าสุดกลุ่มราษฎรได้แถลงจุดยืนไม่ยอมรับคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เพราะไม่ใช่ทางแก้ปัญหา โดยยังยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องตามเดิม
สอดคล้องกับท่าทีของนายอานนท์ นำภา ที่ประกาศจุดยืน หลังได้รับการปล่อยตัวที่หน้าเรือนจำ ยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้องเดิม
“พวกเรากำหนดข้อเรียกร้องไว้ 3 ข้อ ถ้าจะลด ลดเหลือข้อเดียวคือข้อ 3 เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมาพูดกัน จะตั้งมากี่กรรมการ ถ้าไม่อยู่บนเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ไม่ต้องมาคุย”
ทว่าแม้ขณะนี้ยังไม่ทันเห็นรูปร่างของคณะกรรมการปรองดองชุดนี้ แต่กลับมีความเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรุนแรงออกมาแล้ว จากซีกรัฐบาลด้วยกันเอง หลังเห็นโมเดลเชิญอดีตนายกฯ
โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
เมื่อนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ออกมาโวย ไม่เห็นด้วยที่จะเชิญคนเหล่านี้มาร่วม
เพราะนายอานันท์ก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก
เพราะนายอภิสิทธิ์ก็มีจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์
เพราะนายสมชายก็ชัดเจนว่าเป็นคนของใคร
พูดง่ายๆ ในทัศนะของนายสิระ คนเหล่านี้มีท่าทีเหมือนกับ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร กล่าวคือ สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกนั่นเอง
เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาให้ความเห็นสำทับนายสิระว่า อดีตนายกฯ เหล่านี้มีฝ่ายอยู่แล้ว
“คนเหล่านี้จะมาใช้กรรมการชุดนี้เป็นเครื่องมือหรือเปล่า มาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือ จะมาเสนอปฏิรูปสถาบันหรือไม่ ถ้าจะมาเสนอปฏิรูปสถาบัน ผมจะฟ้อง ถ้าจะเอา 3 ข้อเรียกร้องของนักศึกษาเข้ามาเพื่อสมานฉันท์ ผมจะไม่สมานฉันท์ด้วย”
นายไพบูลย์ยืนยัน
แน่นอนว่า เมื่อต่างฝ่ายต่างตั้ง “เงื่อนไข” ในการเข้าร่วม จึงเป็นโจทย์ที่นายชวนจะต้องใช้ความสามารถในการเดินหน้า แสวงหารูปแบบเพื่อนำพาความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ตามที่หลายฝ่ายในสังคมอยากเห็น
แม้ข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจะปิดประตูตายจากคำยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว แต่ “ความจริงใจ” ที่ฝ่ายรัฐจะเป็นฝ่ายยื่นในช่วงเวลานี้ ถือเป็นหนทางสำหรับการถอยคนละก้าวอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะความจริงใจด้วยการยอมรับเสียทีว่ารัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่ยังทำตัวเป็นคนกลางรับฟังข้อเสนอ แต่ทำเป็นไม่ได้ยินแบบที่เป็นอยู่
ทั้งๆ ที่สถานการณ์การเมืองที่บานปลายมาจนถึงขณะนี้ก็ล้วนมีที่มาจากการฟังแบบไม่ได้ยินของรัฐบาลทั้งสิ้น
เพราะต้องยอมรับว่า หากไม่มี “ค่ำคืนหลอกลวง” โดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ กับ 250 ส.ว.ที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง เล่นเกม “ลองของ” ขอยื้อ เตะถ่วงให้ที่ประชุมรัฐสภา ยังไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา สถานการณ์ตลอดทั้งเดือนตุลาคมอาจไม่เลยเถิดขนาดนี้ก็เป็นได้
ทั้งยังเป็นความเลยเถิดขนาดที่อดีตนายกฯ ทั้งหลายพร้อมใจตอบรับเข้าร่วมเป็นกรรมการปรองดอง ด้วยห่วงใยต่อปัญหาบ้านเมือง ที่กำลังจะกลายเป็นวิกฤตอย่างใหญ่หลวงแบบไม่เคยมีมาก่อนด้วย