คนมองหนัง | 25 ปี อัลบั้ม “Different Class” ของ “Pulp”

คนมองหนัง

เดือนเมษายน พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) ผมเดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษ หรือ “เรียนซัมเมอร์” ที่อังกฤษ

วันหนึ่ง ผมเข้าไปเดินเล่นในร้านขายซีดี-เทป HMV แล้วสายตาก็พลันสะดุดกับปกอัลบั้มเพลงชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพผู้คนมายืนแถวเรียงรายกันในงานวิวาห์

ในฐานะเด็กที่กำลังจะขึ้น ม.3 ผมพอจะอ่านภาษาอังกฤษออกว่าชื่อวงดนตรีเจ้าของผลงานคือ “Pulp” ส่วนชื่ออัลบั้มคือ “Different Class” แม้จะยังไม่เข้าใจความหมายของชื่อวงและชื่ออัลบั้มก็ตาม

ผมตัดสินใจลองซื้อเทปคาสเส็ตของอัลบั้มชุดนั้นมาฟัง

จำได้ว่าตัวเองค่อนข้างติดหูกับเพลงช้าชื่อ “Something Changed” และ “Bar Italia” แต่มิได้เข้าใจลึกซึ้งในเนื้อหาของมันสักเท่าไหร่ (กระทั่งเนื้อร้องก็ยังฟังออกไม่หมด ส่วนหนึ่งเพราะผมไปหลงเชื่อข้อความแนะนำที่ระบุไว้บนปกเทปว่าผู้ฟังไม่ควรอ่านคำร้องระหว่างรับฟังบทเพลง)

กลับถึงเมืองไทย ผมยังหยิบเทปม้วนนั้นมาฟังอยู่เรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามีหลายบทเพลงที่ไพเราะดี

แต่ต้องรอจนถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัยโน่นแหละ ผมจึงเริ่มตระหนักว่า “Common People” เพลงเอกจากอัลบั้มชุดดังกล่าวอาจจะมีเนื้อหาซึ่งวิพากษ์ประเด็นเรื่องชนชั้นแฝงอยู่

แล้วผมก็เพิ่งมาเข้าใจเนื้อหาของเพลงเพลงนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นตอนอายุใกล้ 30 ปี

ในวัยเกิน 30 ผมไปท่องเที่ยว ใช้ชีวิต และศึกษาอะไรนิดหน่อยที่สหราชอาณาจักรเป็นเวลาราวหนึ่งปี

ปีนั้น “Pulp” กลับมาออกทัวร์และจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ที่เมืองเชฟฟิลด์บ้านเกิดของพวกเขาในช่วงเดือนแรกๆ ที่ผมไปถึงพอดี น่าเสียดายที่อะไรหลายอย่างยังไม่ลงตัวนัก ผมจึงไม่ได้ตีตั๋วรถไฟไปเชฟฟิลด์และไม่ได้จองบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตของ “Pulp”

ผมทำได้เพียงแวะไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้าน “Bar Italia” ย่านโซโหเป็นครั้งคราว หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมเข้าไปเที่ยวดื่มกินในเมือง หรือเมื่ออยากดูฟุตบอลยุโรปฟรีจากช่องดาวเทียมอิตาลี

รวมทั้งยังบังเอิญได้ยินเพลง “Common People” อยู่เสมอ ทั้งจากวงดนตรีในผับย่านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน ไปจนถึงเครื่องเล่นวิทยุในร้านขายของที่เอดินบะระ

แน่นอน ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าตนเองกำลังเป็น “ทัวริสต์/นักเรียนต่างชาติ” ที่มองเห็นความขัดแย้งทางชนชั้นของสังคมอังกฤษเป็นเพียงเรื่องคูลๆ เหมือนตัวละครในเพลงฮิตดังกล่าวหรือเปล่า?

ย้อนกลับไป ค.ศ.1995 หลังจาก “Pulp” ปล่อยซิงเกิล “Common People” ออกมาสร้างความสั่นสะเทือนทั่วสหราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รวมถึงตลอดช่วงซัมเมอร์ปีนั้น

วงดนตรีจากเชฟฟิลด์ก็วางจำหน่ายอัลบั้มชุด “Different Class” อันเป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ห้าของพวกเขา ในวันที่ 30 ตุลาคม

25 ปีผ่านไป นี่ยังคงเป็นอัลบั้มที่ประสบความความสำเร็จและเป็นที่จดจำสูงสุดของ “Pulp” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์หมุดหมายของยุคสมัย “บริตป๊อป” และ/หรือ “คูล บริแทนเนีย” อันเฟื่องฟูตลอดทศวรรษ 1990 และเป็นเสียงที่ทรงพลังทางสังคมมาตราบถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จของ “Different Class” แยกไม่ขาดกับความโด่งดังของ “Common People” ซึ่งคำร้องอันยอดเยี่ยมคมคายฝีมือ “จาร์วิส ค็อกเกอร์” นักร้องนำ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงของผู้คนหลายกลุ่มในสังคม

จาร์วิสได้แปรประสบการณ์ที่เขาพบเจอระหว่างเป็นนักเรียนภาพยนตร์ที่เซนต์มาร์ติน คอลเลจ มาเป็นบทเพลงเพลงนี้

เมื่อจู่ๆ นักศึกษาหญิงต่างชาติ (ชาวกรีซ) ซึ่งดูมีฐานะดี ก็เดินเข้ามาเจรจาพาทีเล่นๆ ว่าเธออยากลองใช้ชีวิตเหมือนสามัญชน (common people) เช่นเขาดูบ้าง ในขณะที่ทั้งคู่พบกันในชั้นเรียนวิชาประติมากรรม

“เธอคิดว่าชนชั้นล่างมันเป็นอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างจะน่าตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ (สังคม) ชนชั้นล่างเป็นอะไรบางอย่างที่เธอจะสามารถเข้าไปเที่ยวชมในฐานะนักท่องเที่ยวได้” จาร์วิสให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์หนนั้นเมื่อปี 1996

จาร์วิสบอกว่า บทสนทนากับนักศึกษาต่างชาติคราวนั้น ทำให้เขาตระหนักจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิตว่า “ชนชั้น” มีอยู่จริงๆ

อารมณ์ความรู้สึกที่ว่าได้ก่อให้เกิดบทเพลง “Common People” ที่มีเนื้อหาโจมตีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับธุรกิจท่องเที่ยว/การศึกษาข้ามชาติ อย่างโกรธเกรี้ยว

ผ่านเนื้อหาว่าด้วยหญิงสาวร่ำรวยจากต่างประเทศที่ปรารถนาจะร่วมหลับนอนกับชายหนุ่มสามัญชนชาวอังกฤษ ทว่าในความเป็นจริง เธอกลับไม่สามารถจะใช้ชีวิตแบบคนชั้นล่างได้แม้เพียงคืนเดียว

“Common People” ยังมีความข้องเกี่ยวกับจุดยืนของ “Pulp” ในสมรภูมิบริตป๊อป

ด้านหนึ่ง จาร์วิสเคยวิจารณ์อัลบั้มชุด “Park Life” ของกลุ่มเด็กหนุ่มชนชั้นกลางอย่าง “Blur” ว่าคือการแสร้งทำเป็นเห็นอกเห็นใจหรือพยายามพูดแทนคนชั้นล่างด้วยจริตปัญญาชน ซึ่งตัดความหยาบคายดิบเถื่อนแบบบ้านๆ ออกไป

อีกด้านหนึ่ง “Pulp” ก็เคยร่วมแสดงเป็นวงเปิดในคอนเสิร์ตของกลุ่มเด็กหนุ่มชนชั้นแรงงานชาวแมนเชสเตอร์อย่าง “Oasis” ที่เชฟฟิลด์เมื่อเดือนเมษายน 1995 ซึ่ง “โนล กัลลาเกอร์” บรรยายถึงบรรยากาศครั้งนั้นว่า ผู้ชมต่างบ้าระห่ำเมื่อเสียงเพลง “Common People” ดังขึ้น

แม้จะไต่ทะยานไปถึงแค่อันดับสองในตารางซิงเกิลยอดนิยมของสหราชอาณาจักร แต่ชีวประวัติของ “Common People” กลับพบพานความสำเร็จมากมายหลังจากนั้น

ในปี 1995 “Pulp” ได้ขึ้นแสดงบนเวทีหลักของเทศกาลดนตรี “แกลสตันบิวรี” แทนที่ “The Stone Roses” และเมื่อพวกเขาเริ่มบรรเลงเพลง “Common People” บรรดาผู้ชมหน้าเวทีต่างก็พร้อมใจร่วมกันร้องตามด้วยน้ำเสียงดังกระหึ่ม จนกลบเสียงร้องนำของจาร์วิส

ปี 2014 เพลง “Common People” ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 จากลิสต์รายชื่อ 500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของนิตยสาร NME โดยอยู่เหนือผลงานของ “Oasis” และ “Blur”

เช่นเดียวกับที่แฟนเพลงจำนวนมากลงความเห็นว่า “Common People” คือ “เพลงชาติ” ที่นิยามความรุ่งเรืองของยุคบริตป๊อปได้ดีที่สุด

ปี 2017 สถานีวิทยุบีบีซีเชฟฟิลด์ได้เฉลิมฉลองวาระครึ่งศตวรรษแห่งการก่อตั้ง ด้วยบทเพลง “Common People” จากน้ำเสียงของคณะนักร้องประสานเสียงท้องถิ่นและเหล่าสามัญชนชาวเชฟฟิลด์อีกร่วม 300 ชีวิต

เพลงเพลงนี้ยังดำรงอยู่อย่างข้ามกาลเวลา แม้จะได้รับการตีความด้วยมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

เช่น บางคนอาจตั้งคำถามว่าเหล่าสามัญชน (common people) คือกลุ่มคนที่โหวตเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี โหวตเห็นด้วยกับเบร็กซิท และโหวตเลือกบอริส จอห์นสัน เป็นนายกฯ ด้วยความรู้สึกต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและหวาดกลัวต่อ “ความเป็นอื่น” ตามประสาผู้ด้อยอำนาจที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจในสังคมตะวันตกใช่หรือไม่?

ทั้งนี้ จาร์วิส ค็อกเกอร์ นั้นไม่เห็นด้วยกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร สวนทางกับเสียงส่วนใหญ่ในเชฟฟิลด์ที่โหวตเห็นด้วยกับการถอนตัว

อัลบั้ม “Different Class” ประสบความสำเร็จด้วยการทะยานขึ้นไปถึงอันดับ 1 ของตารางอัลบั้มขายดีในสหราชอาณาจักร ผนวกด้วยการคว้ารางวัลเมอร์คิวรีไพรซ์ และการมียอดจำหน่ายเกินล้านชุด

ล่วงเข้าสู่ยุค 2000 อัลบั้มชุดนี้มักมีชื่อติดอันดับเป็นหนึ่งใน 100 อัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาล/แห่งสหัสวรรษ ของสื่อและโพลหลายสำนัก

มีรายละเอียดบางประการที่หลายคนอาจยังสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับอัลบั้ม “Different Class”

เริ่มด้วยชื่ออัลบั้ม ซึ่งจาร์วิสหยิบยืมมาจากเพื่อนของเขาระหว่างไปตระเวนราตรีที่ไนต์คลับย่านรีเจนต์สตรีต

ตามจุดประสงค์ของเพื่อนจาร์วิส “Different Class” หมายถึงอะไรบางอย่างที่ดีเลิศจนไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาเทียบเทียมได้ ขณะที่จาร์วิสตีความว่าคำคำนี้มีนัยยะแฝงซึ่งวิพากษ์ระบบสังคมชนชั้นของอังกฤษ อันเป็นแก่นแกนร่วมในเนื้อหาของหลายๆ บทเพลงในอัลบั้ม

ความหมายสองแง่มุมดังกล่าวถูกตอกย้ำด้วยข้อความบนปกหลังของอัลบั้มที่ว่า “เราไม่ต้องการมีเรื่องกับใคร เราแค่ต้องการสิทธิที่จะแตกต่าง”

นี่คือจิตสำนึกทางชนชั้นที่แฝงอยู่ในหลากหลายบทเพลง ตั้งแต่ “Common People” ไปจนถึงแทร็กแรกของอัลบั้มคือ “Mis-Shapes” ซึ่งมีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “ผิดฝา ผิดพลาด ผิดตัว เราคือคนที่เติบโตมาด้วยซากเศษอาหารเลวๆ เราช่างดูแตกต่างจากพวกคุณ เราไม่ได้ทำในสิ่งที่พวกคุณทำ แต่เราก็อาศัยอยู่แถวนี้เหมือนกัน, เฮ้ย! จริงเหรอ?”

ขณะเดียวกัน เบื้องหลังปกอัลบั้มอันแสนสามัญแต่โดดเด่นสะดุดตาก็มีเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเร้นอยู่

ภาพที่ทุกคนเห็นบนหน้าปกผลงานชุด “Different Class” เป็นรูปถ่ายจากงานแต่งงานจริงๆ ของ “โดมินิก-ชารอน โอคอนเนอร์”

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อน้องชายของโดมินิกมีเพื่อนเป็นช่างภาพที่ทำงานกับเหล่าวงดนตรีในยุคบริตป๊อป ว่าที่เจ้าบ่าวในเวลานั้นจึงทาบทามเพื่อนน้องชายให้มาช่วยถ่ายรูปงานแต่งของตนเอง แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าเขากำลังยุ่งกับการถ่ายปกอัลบั้มใหม่ของ “Pulp”

อย่างไรก็ตาม ก่อนงานฉลองวิวาห์หนึ่งสัปดาห์ ช่างภาพคนนั้นได้โทรศัพท์หาโดมินิกและชารอน โดยแจ้งว่า “Pulp” อยากได้รูปถ่ายวิถีชีวิตจริงๆ ของคนทั่วไปมาใส่ประกอบในปกอัลบั้ม รวมทั้งภาพงานแต่งงานด้วย

ช่างภาพเพื่อนน้องชายของโดมินิกเสนอว่าถ้าคู่บ่าวสาวยอมให้มีการนำเอาคัตเอาต์ขนาดเท่าตัวจริงของสมาชิกวง “Pulp” ทั้งหกรายไปตั้งปะปนอยู่กับคู่สมรสและแขกเหรื่อ เขาก็ยินดีจะไปช่วยถ่ายรูปให้

นี่นำมาสู่เหตุการณ์ที่มีรูปจำลองของสมาชิกวง “Pulp” ยืนแทรกอยู่ในภาพหมู่ของเจ้าบ่าว-เจ้าสาว พ่อ-แม่คู่บ่าว-สาว พี่น้องสองคนของโดมินิก เพื่อนสนิทสองรายของเขา และเพื่อนสนิทอีกหนึ่งคนของชารอน

ซึ่งจะกลายเป็นปกอัลบั้มเพลงที่มีเอกลักษณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง

จากนั้น ครอบครัวโอคอนเนอร์ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากช่างภาพคนดังกล่าวอีกเลย และไม่เคยนึกฝันว่ารูปถ่ายของพวกเขาจะไปปรากฏบนหน้าปกอัลบั้มที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งในทศวรรษ 1990 กระทั่งแม่ของโดมินิกได้พบเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ผลงานชุด “Different Class” ที่ร้าน HMV และโดมินิกเองไปเห็นป้ายบิลบอร์ดภาพปกอัลบั้มชุดนี้ระหว่างเดินซื้อของ

คู่สามี-ภรรยาโอคอนเนอร์ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จาก “ไอส์แลนด์ เร็กคอร์ดส์” ต้นสังกัดในขณะนั้นของ “Pulp”

กระทั่งปี 2011 ที่วงดนตรีจากเชฟฟิลด์กลับมารวมตัวแสดงสด ต้นสังกัดใหม่อย่าง “รัฟเทรด เร็กคอร์ดส์” จึงได้มอบตั๋วชมคอนเสิร์ตฟรีให้แก่ครอบครัวโอคอนเนอร์ นอกจากนี้ จาร์วิสยังส่งภาพถ่ายและลายเซ็นของตนเองไปให้โดมินิกและชารอน พร้อมด้วยข้อความเชิงตลกร้ายที่ว่า ขอขอบคุณที่คุณทั้งสองอนุญาตให้ “Pulp” เข้าไปก่อกวนในงานฉลองสมรสคราวนั้น

นี่คือผลตอบแทนที่โดมินิกพึงพอใจ และเหนือสิ่งอื่นใด ความรักระหว่างเขาและชารอนยังยืนยงมาได้ถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคุณค่าของอัลบั้มชุด “Different Class”

ข้อมูลจาก

https://www.thestar.co.uk/news/people/pulps-legendary-different-class-album-25-today-heres-story-behind-it-3019852

‘Cause Everybody Hates a Tourist: Different Class at 25

https://www.albumism.com/features/pulp-different-class-turns-25-anniversary-retrospective

Common People : หนึ่งในเพลงว่าด้วยความขัดแย้งทาง “ชนชั้น” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

สถานีวิทยุบีบีซีเชฟฟิลด์ฉลอง 50 ปี ด้วย MV เพลง “Common People” เวอร์ชั่นท้องถิ่น