ขอแสดงความนับถือ : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

 

จัตวา กลิ่นสุนทร แห่งคอลัมน์ หน้าพระลาน

คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาแล้ว เป็นตอนที่ 7

ตอนที่ 7 นี้ มีเกร็ด “การเมือง” ที่ควรให้ความสนใจ

จัตวาเล่าว่า

 

หลังจากที่อาจารย์คึกฤทธิ์อดทนต่อสู้มาถึง 8 เดือนเศษบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อปี พ.ศ.2519

และเมื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 ดุสิต กรุงเทพฯ

กลับกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีสอบตก

สอบตกด้วยกลเกมการเมือง

ที่แม้จัตวาจะตัดบทว่า โดยใครจากที่ไหนก็ช่างมันเถอะ…

แต่กรุณาขีดเส้นใต้ กลเกมการเมือง เอาไว้ก่อน

 

จัตวาเล่าอีกว่า เมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังแบบสบายๆ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มักจะเล่าเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งบางเรื่องก็เป็นความลับอยู่นาน

(ตอนนั้น) รอบบ้านเรา ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว กำลังเปลี่ยนแปลง

มหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งต่อต้าน “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ก็เอาไม่อยู่

ต้องถอยกลับไปด้วยความสูญเสีย

พร้อมเกิดทฤษฎีโดมิโน ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

แม้มีบางคนพูดติดตลกแบบเสียดสีว่า “ญวนไม่บุกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ หรอก เพราะฝ่าการจราจรไม่ไหว รถติดมาก”

แต่อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ได้สอบถามสภาความมั่นคงแห่งชาติ แม่ทัพนายกองของกองทัพไทยว่า ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านบุกเข้ามาเราจะสามารถรักษาบ้านเมืองไว้ได้สักกี่วัน?

คำตอบที่ได้รับ น่าตกใจมากว่า– “สัก 3 วันน่าจะพอได้”?

ท่านก็เลยบอกกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลผสมของท่าน และ ท่านอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้เตรียมตัวเก็บกระเป๋าเดินทาง

“ไปเมืองจีนกันดีกว่า”!!

 

ทําไมต้องไปจีน

ไปจีนแล้วได้อะไร

ย้อนขึ้นไปอ่านข้อความที่ให้ขีดเส้นใต้เอาไว้ตอนต้น

ที่ไฉน “นายกรัฐมนตรี ต้อง สอบตก”

โดยจัตวาแย้มไว้ว่า

ผู้ที่เดินทางไปทำงาน “สร้างประวัติศาสตร์” ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศชาติ เมื่อกลับมายังเมืองไทยต้องกลายเป็นผู้นิยม “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ไปกันทุกคน?

สุดท้ายได้รับผลทางการเมืองกันไม่น้อย

อาจารย์คึกฤทธิ์เองไม่มีโอกาสเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีก…

เพราะไปสร้างความไม่พอใจให้กับหลายภาคส่วนในบ้านเรา

ทั้งฝ่ายความมั่นคง!

และประเทศมหาอำนาจที่ตรงข้ามกับจีน!

 

แม้เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กับเรื่อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ข้างต้น

แต่ยุทธบทความ ของ “สุรชาติ บำรุงสุข” ที่นำเสนอเรื่อง

“ยุทธศาสตร์กำหนดอาวุธ/อาวุธไม่กำหนดยุทธศาสตร์”

ก็น่าสนใจ

โดยสุรชาติบอกว่า “นักอาวุธนิยม มักจะพยายามทำให้เกิดความเชื่อว่า สมดุลต้องถูกรักษาไว้ด้วยการมีระบบประเภทเดียวกัน

ทำให้นักการทหารในสำนักคิดนี้วางนโยบายยุทธศาสตร์ด้วยการ “ซื้ออาวุธ-เพิ่มอาวุธ”

“การสงคราม” กลายเป็นเพียงเรื่องของ “การรบ”

และการรบนั้นอยู่ที่ “ความเป็นเลิศทางทหาร” (military excellence)

เป็นเรื่องของการจัดหายุทโธปกรณ์

โดยเชื่อว่าการมียุทโธปกรณ์ชนิดนี้ชนิดนั้นจะเป็นปัจจัยของชัยชนะในสงคราม

นักอาวุธนิยมจึงต้องสร้าง “วาทกรรม” เพื่อให้เกิดความเชื่อว่า

“เพื่อนบ้านมี เราต้องมี…ถ้าไม่มี เราแพ้!””

 

จริงหรือไม่

การดำเนินยุทธวิธี “แหวกม่านไม้ไผ่” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ น่าจะเป็นคำตอบ

และว่า ไปนับเป็นวิชั่น “ที่น่านับถือ” สำหรับการกล้าตัดสินใจไปจีนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

แม้การตัดสินใจนั่นเป็นส่วนสำคัญให้พ่ายแพ้ทางการเมือง กลายเป็นนายกรัฐมนตรีสอบตก

แต่ก็ถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “ชัยชนะ”

ชัยชนะที่ไม่ต้องรบ

เพราะที่สุดกำแพงเมืองจีน ได้กลายเป็นที่พิงให้ไทยยืนอยู่ได้

ไม่เป็นโด,bโนตัวสุดท้ายที่ล้มลงให้กับภัยคอมมิวนิสต์

แน่นอนว่าวิธีการของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ย่อมแตกต่างจากแนวทางของ “นักอาวุธนิยม”

นักอาวุธนิยม ที่กำลังถูกพูดถึงหนาหูในวาระ 3 ปีแห่งการรัฐประหารนี้