ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
หลายคนอาจไม่ทราบว่านอกจากทำภาพยนตร์แล้ว อภิชาติพงศ์ยังเป็นศิลปินทัศนศิลป์ที่ได้รับการยอมรับนับถือในฐานะศิลปินระดับแนวหน้าของโลกคนหนึ่งเลยทีเดียว
ผลงานของเขาถูกจัดแสดงและสะสมในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และสถาบันทางศิลปะชั้นนำทั่วโลก
ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยครั้งของเขาที่ได้มาแสดงในบ้านเรา
นิทรรศการ “คนกินแสง” (THE SERENITY OF MADNESS) จัดโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ ร่วมกับ Independent Curators International นิวยอร์ก
เป็นนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกที่มีการรวบรวมผลงานของอภิชาติพงศ์ มาจัดแสดงด้วยกันในหลากสื่อหลายประเภท ทั้งภาพยนตร์ 16 ม.ม. วิดีโอจัดวาง วิดีโอไดอารี ภาพถ่าย งานวาดเส้นและภาพพิมพ์
นับเป็นการเผยให้เห็นอีกมิติหนึ่งของเขาที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน
นอกจากนั้น นิทรรศการครั้งนี้ยังแสดงภาพถ่ายเบื้องหลัง เอกสาร บทบันทึก หนังสือ และสิ่งของที่ใช้อ้างอิงในการทำภาพยนตร์ที่ผ่านมาของเขาอย่าง ดอกฟ้าในมือมาร (2543) สุดสเน่หา (2545) และ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553)
รวมทั้งภาพร่างก่อนการสร้างภาพยนตร์และวิดีโอ รวมถึงผลงานที่ร่วมสร้างสรรค์กับศิลปินท่านอื่น (อาทิ ทิลดา สวินตัน ศิลปินนักแสดงอาร์ตตัวแม่ที่เราเคยกล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านมา)
นอกจากนี้ ยังมีผลงานภาพยนตร์สั้นทดลองของเขาอีก 30 เรื่องที่หาดูได้ยากยิ่ง
โดยแบ่งเป็นสี่โปรแกรม สองโปรแกรมแรกฉายในเดือนแรก และสองโปรแกรมหลังฉายในเดือนหลัง ซึ่งจะฉายทุกวันตลอดช่วงเวลาแสดงงาน
ซึ่งภาพยนตร์สั้นทดลองเหล่านี้นี่เองที่เป็นเสมือนหนึ่งแบบร่าง หรือการทดลองทางเทคนิคทางภาพยนตร์ที่ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์เรื่องยาวของเขานั่นเอง
ปกติลำพังการได้ดูภาพยตร์ของอภิชาติพงศ์ก็ถือเป็นประสบการณ์หายากที่ไม่อาจสัมผัสได้ในภาพยนตร์ธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว
การได้ชมผลงานของเขาในหอศิลป์ก็เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
ด้วยการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมพิเศษขึ้นราวกับว่ามันเป็นโลกส่วนตัวอีกใบหนึ่งของศิลปิน
ซึ่งสภาวะแวดล้อมพิเศษเช่นนี้นี่เอง ที่มีส่วนช่วยเสริมมนต์ขลังและดึงผู้ชมให้เข้าไปสู่โลกส่วนตัวของเขาได้อย่างง่ายดาย
อันที่จริง บรรยากาศที่อบอวลอยู่ในนิทรรศการศิลปะ คนกินแสง ของอภิชาติพงศ์ ก็เป็นบรรยากาศที่ไม่ต่างอะไรกับการดูภาพยนตร์ของเขา
กล่าวคือ เต็มเปี่ยมไปด้วยความลึกลับ ล่องลอย ฟุ้งฝัน ให้ความรู้สึกเหมือนหลุดอยู่ในรอยต่อระหว่างความฝันและความจริง หากแต่ถูกทำให้ทวีคูณขึ้นด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมพิเศษจากการใช้เทคนิคของงานศิลปะที่ผสมผสานสื่อต่างๆ หลากหลายเข้าไว้ด้วยกันอย่าง ภาพยนตร์ทดลอง, วิดีโอจัดวาง, ภาพถ่าย และภาพพิมพ์ ซึ่งให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนังโดยสิ้นเชิง เพราะการชมภาพยนตร์ เราต้องนั่งอยู่กับที่บนเก้าอี้และซึมซับรับรู้สิ่งที่อยู่ในจอ แต่การเดินเข้าไปดูงานศิลปะแห่งแสงในห้องมืดเช่นนี้ มันแทบไม่ต่างอะไรกับการหลุดเข้าไปผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ยังไงยังงั้น
จินตนาการและความคิดฝันทั้งหลายทั้งมวลของอภิชาติพงศ์ถูกถ่ายทอดด้วยลีลากึ่งจริงกึ่งฝันจนยากที่จะแยกแยะหาเหตุผลหรือตีความ
การรับชมภาพยนตร์ในร่างทรงศิลปะของเขาจึงไม่ใช่การดูให้รู้เรื่อง หากแต่เป็นการสัมผัสกับประสบการณ์ ซึมซับการเลื่อนไหลและการปะทะกันของแสงสว่างและความมืด เวลาและสถานที่ และรับรู้ความทรงจำส่วนตัวของศิลปินที่ถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยสื่อหลากชนิด หลายมิติ
นับเป็นประสบการณ์รูปแบบที่แปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
(สังเกตได้ว่าผู้ชมวัยกระเตาะจะสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจกับผลงานศิลปะแบบนี้ของเขาเอามากๆ เผลอๆ จะมากกว่าผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำไป ด้วยความที่พวกเขามักจะไม่เอาตรรกะและเหตุผลมาตัดสินสิ่งที่ดูอยู่ข้างหน้า และปล่อยกายใจให้เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่มองเห็นได้ยินและสัมผัสรับรู้นั่นเอง)
เอาง่ายๆ แค่เดินปะทะกับผลงาน Ghost teen ภาพถ่ายเด็กวัยรุ่นสวมหน้ากากผีขนาดยักษ์ที่ติดบนผนังสูงเกือบจรดเพดานของพิพิธภัณฑ์ก็ทำเอาเราตื่นตะลึงยิ่งยวดแล้ว
ยิ่งการได้ดูผลงานศิลปะนานาชนิดของเขาในนิทรรศการครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับคนรักศิลปะและภาพยนตร์อย่างเราจริงๆ
นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีนิทรรศการถาวรที่แสดงผลงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยชั้นแนวหน้าของไทยและต่างประเทศมากมายหลายคน อาทิ กมล เผ่าสวัสดิ์, คามิน เลิศชัยประเสิรฐ, โฆษิต จันทรทิพย์, จักกาย ศิริบุตร, ชาติชาย ปุยเปีย, ทัศนัย เศรษฐเสรี, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, นที อุตฤทธิ์, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, นิติ วัตุยา, ประมวญ บุรุษพัฒน์, ประสงค์ ลือเมือง, โป โป, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, มณเฑียร บุญมา, มานิต ศรีวานิชภูมิ, มิตร ใจอินทร์, ไมเคิล เชาวนาศัย, วสันต์ สิทธิเขตต์, สมบูรณ์ หอมเทียนทอง, โสเพียพ พิช, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, ยุรี เกนสาคู, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นต้น
ซึ่งผลงานเหล่านี้ รวมถึงผลงานศิลปะของอภิชาติพงศ์ในนิทรรศการ เป็นการคัดสรรของภัณฑารักษ์ชั้นนำของไทยอย่าง กฤติยา กาวีวงศ์ นั่นเอง
เรียกได้ว่าได้ดูงานศิลปะอย่างอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ ไม่เสียแรงที่พาครอบครัวขับรถถ่อไปดูถึงเชียงใหม่เลยแม้แต่น้อย คุ้มค่าเวลาและน้ำมันทุกหยาดหยดจริงๆ
จัดใหญ่จัดหนักจัดเต็มเสียขนาดนี้ คอศิลปะ คอหนังนอกกระแส รวมถึงมิตรรักแฟนคลับของอภิชาติพงศ์ก็ไม่ควรพลาดงานนี้ด้วยประการทั้งปวง
อดดูคราวนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีมาให้ดูกันอีกเมื่อไหร่
เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนนะครับ ท่านผู้อ่านนน
ใครแวะเวียนไปเชียงใหม่ ก็เข้าไปชมนิทรรศการนี้ได้ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ เสียค่าเข้าชม 150 บาท เวลาทำการ 10.00-18.00 น. (ปิดวันอังคาร)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook MAIIAM Contemporary Art Museum หรือเว็บไซต์ www.maiiam.com