ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เปลี่ยนนายกดีกว่าอุ้มนายกจนการชุมนุมทะลุเพดาน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ปฏิเสธต่อไปไม่ได้อีกแล้วว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ยิ่งกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังจะส่งผลต่ออนาคตของประเทศอย่างไพศาล แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มของประเทศจากนี้ได้แม้แต่นิดเดียว

ถ้าประเทศไทยหลังปี 2557 เป็นประเทศที่ประชาชนถูกเหยียบย่ำให้อยู่ใต้กระบอกปืน ประเทศไทยในปี 2563 ก็เป็นประเทศที่การเมืองมวลชนเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐใต้กระบอกปืนอย่างไม่เคยมีมาก่อน หรือกล่าวอีกนัยก็คือเป็นปีที่การเมืองออนไลน์-การเมืองบนท้องถนนต่อสู้ระบอบเผด็จการ

ตลอดปี 2563 ซึ่งเป็นปีทองของการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เริ่มต้นจากการแก้รัฐธรรมนูญเริ่มลุกลามเป็นไล่นายกเผด็จการและการปฏิรูปสถาบันไปในที่สุด ทั้งที่ประเด็นปฏิรูปสถาบันเพิ่งถูกพูดถึงแค่ในเดือนสิงหาคม หรือไม่ถึงสี่เดือนเท่านั้นเอง

ประเทศไทยในเวลานี้ถูกครอบงำด้วยบรรยากาศของการแบ่งขั้วทางการเมือง แต่ “ขั้ว” จากเรื่อง “แก้” หรือ “ไม่แก้” รัฐธรรมนูญกลับกลายเป็น “ปฏิรูป” หรือ “ไม่ปฏิรูป” สถาบันไปแล้วทั้งสิ้น กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครในประเทศเผชิญมาก่อนเลย

จากวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่ง “รุ้ง” ปราศรัยเรื่องสิบข้อเสนอปฏิรูปท่ามกลางความตื่นตะลึงของทุกคน การชุมนุมวันที่ 8 พฤศจิกายน ยกระดับสู่การระดมประชาชนเดินขบวนยื่นหนังสือเรื่องสถาบันอย่างไม่มีใครคาดคิด และยังไม่มีใครตอบได้หลังจากนี้จะลุกลามไปเป็นเรื่องอะไร

คุณประยุทธ์อ้างว่ารัฐประหารปี 2557 เพื่อปกป้องสถาบัน และในการปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่งนายกในปี 2563 คุณประยุทธ์ก็อ้างกับคนในคณะรัฐมนตรีว่าทำไปเพื่อสถาบันทั้งสิ้น แต่ความจริงคือเจ็ดปีที่คุณประยุทธ์เป็นนายกทำให้ประเด็นสถาบันลุกลามอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย

ด้วยการอ้างว่าตัวเองเป็นนายกเพื่อสถาบัน รวมทั้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกล้มสถาบันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า ดร.ทักษิณ, พรรคเพื่อไทย , ธนาธร, พรรคอนาคตใหม่, นปช., คนเสื้อแดง ฯลฯ คุณประยุทธ์ทำให้ปัญหาเรื่องไม่เอาคุณประยุทธ์กลายเป็นไม่เอาสถาบันไปโดยปริยาย

ถ้าถือว่าการชุมนุมเยาวชนปลดแอกวันที่ 18 กรกฎาคม เป็นขั้นตอนใหม่ของการต้านเผด็จการ การชุมนุมวันที่ 8 พฤศจิกายนก็เท่ากับเรามีการชุมนุมแบบนี้เข้าเดือนที่สี่ โดยเดือนสุดท้ายผ่านไปโดยไม่มีวันไหนปลอดเหตุที่รัฐบาลแสดงพฤติกรรมราวตัวร้ายโรคจิตในหนังเกรดบี

ขณะที่รัฐบาลประจานตัวเองถึงความเป็นเผด็จการ สิ่งที่ผู้ชุมนุมกระทำคือการชุมนุมที่ยกระดับความแหลมคมทางประเด็นและปริมาณไม่หยุดยั้ง การปราศรัยของ “รุ้ง ปนัสยา” วันที่ 10 สิงหา เบาหวิวเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ตอนนี้ทะลุเพดานขั้นบุกอวกาศไปขยับจักรวาล

หากเปรียบเทียบการเมืองไทยว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันหลักๆ ซึ่งเป็นเหมือน “ดาวฤกษ์” ของจักรวาลการเมือง ความเคลื่อนไหวทั้งหมดของนักศึกษาประชาชนหลัง 13 ตุลา ก็เป็นเหมือนยานอวกาศที่บินหาจุดเหวี่ยงที่เหมาะสมเพื่อจะหลุดจากแรงยึดเหนี่ยวที่ทำให้ยังอยู่ในจักรวาลนี้ต่อไป

แน่นอนว่า “ปฏิรูปสถาบัน” เป็นเรื่องใหญ่จนไม่มีใครตอบได้ว่าจะปฏิรูปหรือไม่และอย่างไร และกระทั่งรัฐบาลก็ไม่อยู่ในฐานะจะตอบเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องลาออกเป็นสิ่งที่คุณประยุทธ์เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ลุกลามไปเรื่องอื่นๆ จนไม่ยอมลาออก ซ้ำยังจะกอดตำแหน่งเหนียวแน่นต่อไป

ตราบใดที่คุณประยุทธ์ยังเชื่อว่าตำแหน่งนายกของตัวเองเป็นเรื่องเดียวกับการจรรโลงสถาบัน ตราบนั้นพฤติกรรมรัฐบาลก็จะเดินหน้าไปสู่ทิศทางสามรูปแบบ หนึ่งก็คือยัดคดีให้นักศึกษาประชาชนเหนื่อยจนท้อไปเองในที่สุด สองคือการปลุกม็อบชนม็อบ และสามคือการปราบปรามประชาชน

รัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ไม่เคยหยุดยั้งในการใช้กฎหมายเล่นงานประชาชน แต่ด้วยความเข้มข้นในการยัดคดีอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ การสกัดนักศึกษาประชาชนจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อรัฐได้ความร่วมมือจากตำรวจ, อัยการที่พร้อมทำงานตามใบสั่ง และศาลที่อาจเอนเอียงทางการเมือง

ตำรวจไทยดำเนินคดีผู้ชุมนุมโดยยึดหลักความเป็นธรรมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ด้วยวิธีทำคดีซึ่งตำรวจแสดงให้เห็นอย่างแรงกล้าว่าต้องการจับ, ตั้งข้อหาหนักเกินความจริง รวมทั้งหาเรื่องฝากขังไปไม่สิ้นสุด กลไกเดียวในการผดุงความยุติธรรมย่อมเหลือแต่ศาลเท่านั้นเอง

โดยหลักการแล้วศาลกับความยุติธรรมต้องเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงคือประชาชนไม่น้อยคลางแคลงใจในความเป็นกลางต่อคดีที่มีการเมืองเรื่องสีเสื้อเกี่ยวข้องเสมอ ยุทธวิธียัดคดีให้ผู้ชุมนุมเหนื่อยจนท้อจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จ หากสถานการณ์คดีผู้ชุมนุมเป็นอย่างที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ด้วยคำตัดสินของศาลในวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ไม่ยอมให้ตำรวจฝากขังทั้งเพนกวิน, ไมค์, รุ้ง, อานนท์, สมยศ และคนอื่นๆ ทั้งที่สองรายโดนคดี “ขบวนเสด็จ” ศาลแสดงให้เห็นความพยายามเป็นอิสระจากอำนาจการเมืองมากจนรัฐบาลควรตระหนักว่าวิธียัดคดีไม่ได้ผลต่อไป

รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลประกาศด้วยความภูมิใจว่าแกนนำคณะราษฎรมีหมายอีกกว่า 80 คดี ตำรวจใต้อาณัติคุณประยุทธ์จึงแสดงให้เห็นว่าต้องการใช้คดีสกัดความเคลื่อนไหวประชาชนอย่างยิ่งยวด บทบาทศาลจึงสำคัญในแง่สัญญาณเตือนให้รัฐบาลและตำรวจยุติพฤติกรรมนี้ลง

ด้วยความเชื่อของคุณประยุทธ์เรื่องการลาออกจะทำให้สถานการณ์ลุกลาม ทางเดียวที่รัฐบาลจะกำหราบนักศึกษากำลังเหลือแต่วิธีม็อบชนม็อบ ท่าทีของตัวละครหลายรายช่วงต้นพฤศจิกายนบ่งบอกว่าผู้มีอำนาจมีแนวโน้มจะใช้ยุทธวิธีปลุกคนไทยให้ฆ่ากันเองมากขึ้นจนน่าสะพรีงกลัว

จากประสบการณ์ของสังคมไทยที่รัฐชำนาญในการปลุกปั่นประชาชน ยุทธวิธีม็อบชนม็อบจะเริ่มต้นด้วยการที่รัฐทำลายความเป็นคนของคนกลุ่มที่รัฐล็อคเป้าปราบเสมอ ตัวอย่างเช่นนักศึกษายุค ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ถูกยัดข้อหาว่าเป็น “แกว” หรือคอมมูนิสม์ที่แทรกซึมมาจากเวียดนาม

คำถามคือด้วยสภาพความเป็นจริงของการชุมนุมที่มีแต่นักเรียน, นักศึกษา, อาชีวะ, คนชั้นกลางรุ่นใหม่ รวมทั้งคนหลากหลายอาชีพซึ่งเสี่ยงตายรวมตัวทุกหัวระแหงมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะทำลายความเป็นคนของเขาด้วยข้อหาอะไรดี?

พรรคพลังประชารัฐและกองหนุนคุณประยุทธ์โจมตีผู้ชุมนุมเป็นพวกล้มสถาบัน และสัญญาณของการใช้สถาบันเป็นใบอนุญาตให้คุกคามหรือทำร้ายผู้ชุมนุมก็มีสูงขึ้นจนเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะกรณีใส่เสื้อเหลืองตบนักศึกษาที่รามคำแหง หรือโยนระเบิดปิงปองใส่ผู้ชุมนุมที่แยกท่าพระช่วงต้นเดือน

อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณผู้ชุมนุมขับไล่ประยุทธ์ที่มากจนไม่รู้จะมากอย่างไร การโจมตีผู้ชุมนุมเป็นพวกล้มสถาบันจะทำให้รัฐเผชิญสถานการณ์ที่อิลักอิเหลื่อมากขึ้น เพราะจะนำไปสู่คำถามว่าอะไรทำให้คนจำนวนมากเป็นแบบนี้ และรัฐจะกวาดล้างคนทั้งหมดนี้อย่างไรดี

ในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ รัฐเลือกวิธีกวาดล้างนักศึกษาโดยกระตุ้นให้เกิดการฆ่าคนไทยด้วยเกือบ ๕๐ ราย แต่ในปี ๒๕๖๓ คนไทยที่รัฐตามแนวทางนี้จำเป็นต้องฆ่าน่าจะมีจำนวนมากกว่าปี ๒๕๑๙ เยอะจนคำถามคือใครจะเป็นคนลงมือกระทำอาชญากรรมต่อคนร่วมชาติแบบนี้ดี

ถ้าเงื่อนไขในการปลุกให้คนไทยฆ่ากันเองในปี ๒๕๑๙ เกิดจากความผูกพันอย่างแรงกล้าต่อสถาบันที่รัฐใส่ร้ายว่านักศึกษาจะทำลายล้าง การปลุกปั่นให้คนไทยฆ่ากันเองใน ๒๕๖๓ จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐปลุกเร้าให้คนไทย “อิน” กับสถาบันต่างๆ จนพร้อมจะฆ่ามากกว่าปี ๒๕๑๙ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ขณะที่รัฐโจมตีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวก “ล้มสถาบัน” รุนแรงขึ้นทุกวัน ปริมาณผู้ชุมนุมและจำนวนคนในสังคมที่กล้าเปิดตัวว่าอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมกลับเพิ่มขึ้นโดยไม่ขาดสาย ความเป็นจริงที่คนจำนวนมากต้องการ “ปฏิรูปสถาบัน” ทำให้รัฐไม่สามารถใช้ประเด็น “ล้มสถาบัน” ปลุกปั่นได้มากเท่าที่เคยเป็น

หากรัฐจะดันทุรังเล่นเกมใช้ประชาชนฆ่าประชาชน สิ่งที่รัฐต้องทำคือการปลุกระดมจนคนเชื่อว่าคนเป็นล้านคือฝ่าย “ล้มสถาบัน” แต่ปัญหาคือภารกิจนี้เป็นไปได้ยาก ถึงพยายามทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ และหากโชคร้ายอาจจะเผชิญการตอบโต้จากฝ่ายถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง

หากธงของคุณประยุทธ์อยู่ที่การยึดครองตำแหน่งนายกไว้ต่อไป ในที่สุดรัฐบาลจะเหลือทางเลือกแค่การปราบปรามประชาชนเท่านั้น แต่ในเวลาที่แม้แต่ชนชั้นนำอย่างศาลยังส่งสัญญาณแบบนี้ การปราบปรามมีโอกาสจะได้รับคำขานรับจากสังคมน้อยมาก ยกเว้นในกลุ่มสุดโต่งที่สนับสนุนรัฐบาล

ในแง่นี้แล้ว ต่อให้เป็นทางเลือกที่รัฐบาลได้เปรียบที่สุดอย่างการปราบปราม ผลสะเทือนที่จะตามมาหลังปราบปรามนั้นมหาศาลจนอาจไม่ช่วยให้คุณประยุทธ์รักษาตำแหน่งนายกได้อย่างที่ต้องการ

รัฐบาลและกองหนุนรัฐบาลพูดเยอะเรื่องคนรุ่นใหม่ไม่ฟังรัฐบาล แต่สิ่งที่รัฐบาลไม่เข้าใจคือการไม่ฟังเกิดขึ้นเพราะคนไม่เชื่อในระบบคุณค่าที่รัฐยัดเยียดมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนการใช้กำลังปลุกม็อบชนม็อบหรือปราบปรามประชาชนนั้นไม่มีทางสำเร็จ ต่อให้อาจจะทำให้คนเสียชีวิตได้ก็ตาม

สังคมไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจุดจบคืออะไร รัฐพยายามขัดขวางความเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรุนแรงในเวลาที่จะทำให้ประชาชนมองรัฐเป็นภัยยิ่งขึ้น ผลของความรุนแรงจึงมีแต่จะยิ่งปลุกให้ประชาชนต้านรัฐเหมือนที่เป็นมาตลอดหลังวันที่ 13 ตุลาคม

กลุ่มสุดโต่งในสังคมไทยคิดว่าสถานการณ์ประเทศในปีนี้เหมือนกับปี ๒๕๑๙ หรือกระทั่ง ๒๕๕๓ จนจะทำอะไรก็ได้อย่างที่เคยทำ แต่ด้วยโครงสร้างทางความรู้สึกนึกคิดที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล การใช้ความรุนแรงโดยรัฐจะเป็นชนวนให้รัฐถูกต้านจนเราเดินหน้าสู่สังคมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากพลเอกประยุทธ์เป็นคนอื่นคือหนทางที่ดีที่สุดในการเก็บประเทศไว้อย่างที่เคยเป็น เพราะหากทำทุกวิถีทางเพื่อเก็บพลเอกประยุทธ์เอาไว้ ผลลัพธ์ที่ได้คือประเทศไทยอาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง