ต่างประเทศ : เหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศส กับคำถามต่อ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

เหตุก่อการร้ายใช้มีดแทงคนในโบสถ์เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย นับเป็นเหตุก่อการร้ายครั้งที่ 2 ในรอบไม่กี่สัปดาห์ในประเทศแห่งเสรีภาพแห่งนี้

เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ รัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง

โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่าประเทศกำลังถูกโจมตีจาก “ความบ้าคลั่ง” ของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้าย

เหตุโจมตีในโบสถ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลังเหตุฆาตกรรมซามูเอล ปาตี ครูโรงเรียนชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากปาตีนำการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลามที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร “ชาร์ลี เอบโด” มาสอนนักเรียนในหัวข้อเกี่ยวกับ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในห้องเรียน

โดยปาตีถูกวัยรุ่นชาวมุสลิมหัวรุนแรงวัย 18 ปีคนหนึ่งบุกแทงและตัดศีรษะอย่างโหดเหี้ยมระหว่างกำลังเดินทางกลับบ้าน โดยมือมีดยอมรับผ่านโซเชียลมีเดียว่าเป็นผู้ก่อเหตุก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต

การ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวของนิตยสารชาร์ลี เอบโด นิตยสารแนวเสียดสี เคยส่งผลให้เกิดเหตุมือปืนบุกกราดยิงสำนักงานของนิตยสารในกรุงปารีส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วถึง 12 ราย เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งล่าสุดที่เมืองนีซ นับเป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในสังคมฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกลับมองว่าปัญหานั้นกลับอยู่ลึกไปในสังคมโดยเฉพาะแนวความคิดเกลียดกลัวศาสนาอิสลามของการเมืองฝ่ายขวา รวมถึงการตอบสนองของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะเป็นการโยนความผิดให้กับประชากรมุสลิมในประเทศ

มาเรียม ฟรองซัวส์ นักวิจัยที่ศูนย์ศึกษาศาสนาอิสลาม มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า ในสังคมฝรั่งเศสมีความพยายามของกลุ่มการเมืองขวาจัดที่เริ่มยึดพื้นที่การเมืองและสื่อกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ ในการใช้วาทกรรมโยนปัญหาอาชญากรรมและความยากจนในย่านชานเมืองให้เป็นปัญหาของชาวมุสลิม ไม่ใช่ปัญหาในแง่เศรษฐกิจสังคม

แน่นอนว่า ประธานาธิบดีมาครงแม้จะอยู่ในฟากฝั่งการเมืองปีกซ้ายได้ชนะเลือกตั้งไปอย่างง่ายดาย

แต่ต้องไม่ลืมว่ามีประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนที่สนับสนุนมารี เลอเปญ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ต้องตัดสินชัยชนะกับมาครองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

เลอเปญ นักการเมืองขวาจัดที่อ้างว่า “ฝรั่งเศสกำลังถูกโจมตีโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง” มาโดยตลอด ผลักดันให้ความหวาดกลัวศาสนาอิสลามเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งนักการเมืองฝรั่งเศสออกกฎหมายเมื่อปี 2010 ห้ามผู้หญิงมุสลิมสวมใส่ฮิญาบ หรือบรูกา ผ้าคลุมหน้าและเสื้อผ้าปิดบังร่างกายตามความเชื่อ และนั่นยิ่งทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในฝรั่งเศสถูกกดทับมากขึ้นอีก

ออเรลิออง มองดอง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชานิยมปีกขวาจากมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ ระบุว่าหลายคนตีความหลักการในการเป็นสังคมฆราวาสในฝรั่งเศสที่ผิดเพี้ยนไป โดยมองดองระบุว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ในปี 1905 ที่แยกศาสนจักรออกจากรัฐนั้น ระบุเอาไว้ว่าการบังคับให้ใครก็ตามนับถือศาสนาใดๆ เป็นสิ่งผิด และการขัดขวางไม่ให้ใครก็ตามนับถือศาสนาก็เป็นสิ่งผิดเช่นกัน

“ในบริบทของฝรั่งเศสยุคใหม่สิ่งที่เราเห็นก็คือผู้หญิงและเด็กหญิงชาวมุสลิมกลับถูกบังคับให้ถอดฮิญาบและบรูกาออก” มองดองระบุ

 

ด้านโรคายา ดิอาลโล นักเขียนของเดอะวอชิงตันโพสต์ ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการแก้ปัญหาความโหดร้ายป่าเถื่อนและบริบทแวดล้อมที่จะทำให้ความโหดร้ายนั้นเกิดขึ้น แต่แทนที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะทำให้ประชาชนหันหน้าเข้าหากัน กลับใช้วาทกรรมโยนความผิดพุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิม

ดิอาลโลยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส เจอร์ราลด์ ดาร์มานนอง ที่ระบุว่าฝรั่งเศสกำลังทำ “สงครามกับศัตรูภายใน” รวมถึงโจมตีองค์กรต่อต้านแนวคิดความหวาดกลัวมุสลิมว่าเป็นศัตรูของสาธารณรัฐ

ดาร์มานนองสั่งการให้ตำรวจบุกตรวจค้นชาวมุสลิม และองค์กรมุสลิม แม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้าย และไปไกลถึงขั้นระบุว่าตน “ตกตะลึง” ที่เห็นโซนอาหารฮาลาลในซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากเป็นการทำให้สังคมแตกแยก

ดิอาลโลระบุว่า การตอบสนองเหตุเช่นนี้จะยิ่งทำให้สังคมเกิดความแตกแยกยิ่งขึ้น

และนั่นคือสิ่งที่กลุ่มก่อการร้ายต้องการ

 

ฟรองซัวส์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยลอนดอน ระบุว่าหลังเหตุการณ์กราดยิงนิตยสารชาร์ลี เอบโด ชาวฝรั่งเศสส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่มีข้อแม้มากยิ่งขึ้น แต่ฟรองซัวส์ยืนยันว่า เนื้อหาการแสดงออกที่สร้างความเกลียดชังนั้นไม่ควรถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมในสังคมฝรั่งเศส

“มันเป็นไปได้ที่จะสามารถตื่นตระหนกกับการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าสิ่งที่นิตยสารชาร์ลี เอบโด ทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์” ฟรองซัวส์ระบุ

ท่าทีของประธานาธิบดีมาครงเองก็ถูกมองว่าเป็นการออกมาสนับสนุนสิทธิของนิตยสารที่จะตีพิมพ์อะไรก็ได้ที่ต้องการ ภาพที่ครูปาตีนำมาใช้ในห้องเรียนได้รับการรับรองจากระบบการศึกษาฝรั่งเศส ขณะที่หน้า 1 นิตยสารชาร์ลี เอบโด ถูกฉายขึ้นสู่อาคารสูงหลายแห่งรวมไปถึงในเมืองที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากเมื่อสัปดาห์ก่อน

นั่นไม่ได้ส่งผลเพียงแต่ชาวมุสลิมในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชาติมุสลิมอีกหลายชาติที่ออกมาส่งเสียงต่อต้านฝรั่งเศสอย่างประธานาธิบดีตุรกี รวมถึงนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่โจมตีนายมาครงว่ากำลังโจมตีศาสนาอิสลาม

คงต้องเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป ไม่เพียงแต่ในสังคมฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ในทุกที่ทั่วโลกที่ให้คุณค่ากับ “เสรีภาพในการแสดงออก” ว่าสิ่งนี้ควรจะมีขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน

หรือเสรีภาพที่ว่านั้น หมายรวมไปถึง “สิทธิในการดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนา” ด้วยหรือไม่นั่นเอง