อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : พลวัตไทย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

นายหวัง ยี่ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวเมื่อ 15 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลคราวเยือนไทยล่าสุด

“…เป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับผมที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทย นับตั้งแต่โรคระบาดโควิดเริ่มช่วงต้นปีนี้…” (1)

ไม่ทราบว่านายหวัง ยี่ เห็นและคิดอย่างไรต่อการลุกฮือครั้งใหญ่ของเยาวชนเพื่อขับไล่ระบอบประยุทธ์

ทว่า แผนงานการทูตของเขาที่แยบยลต่อภูมิภาคนี้ได้เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

 

การมาของหวัง ยี่

หวัง ยี่ เยือน 4 ประเทศในภูมิภาคได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว และไทย

เขาใช้เวลาอันสั้นแต่มีสาระสำคัญยิ่งยวดต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

กัมพูชาเป็นประเทศแรกที่เขาเยือน มีนักวิชาการบางส่วนชี้ว่า แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กล่าวคือ มีการลงนามการค้าเสรี (Free Trade Area-FTA) กับกัมพูชาซึ่งเป็นสิ่งที่กัมพูชาไม่เคยทำกับประเทศใดมาก่อน อีกทั้งยังย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงภาวการณ์ขาดดุลการค้าของกัมพูชาที่มีต่อจีน (2)

ที่สำคัญมาก จีนเริ่มต้นผูกความสัมพันธ์อย่างแน่หนากับผู้นำกัมพูชาล่วงหน้า 2 ปีเนื่องจากกัมพูชาจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2022 เท่ากับว่า อะไรก็ตามจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ในกำกับของกัมพูชา ทว่า ยังอยู่ในมือที่มองเห็นได้ของจีนอีกด้วย

ในขณะที่จีนผูกพันกัมพูชาด้วยการค้า ความช่วยเหลือ ผู้นำต่อผู้นำ พร้อมพันธะการเมืองแน่นหนา 2 ปี พันธะเยี่ยงนี้ของจีนได้เกิดขึ้นใน สปป.ลาวประเทศเล็กแต่สำคัญต่อจีนและภูมิภาค

13-14 ตุลาคม ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง ยี่ เยือน สปป.ลาว จีนตกลงลดภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าจาก สปป.ลาวเข้าจีนคิดเป็นเท่ากับสินค้าจาก สปป.ลาวไปจีนนับต่อไปนี้ปลอดภาษี

ไม่เพียงเท่านั้น พันธะการเมืองระยะยาวก็เกิดขึ้นโดยพลัน ทั้งจีนและ สปป.ลาวตกลงทำงานร่วมกันสร้างชุมชน ที่ร่วมกันในอนาคตและริเริ่มเป็นช่องทางสีเขียว (green channel) อำนวยการให้การขนส่งสินค้าผ่านการข้ามพรมแดน

พร้อมกันนั้น ทางการ สปป.ลาวมั่นใจในประสิทธิภาพการสกัดกั้นโรคระบาดใหญ่โควิดของจีนและแสดงความพอใจที่จีนช่วยเหลือ สปป.ลาวต่อสู้ไวรัสร้ายกาจนี้ด้วย (3)

 

คำหวานที่ไทย

ท่ามกลางการลุกฮือขับไล่ระบอบประยุทธ์โดยการนำของเยาวชนและราษฎร การมาเยือนของเพื่อนจากปักกิ่งคงเป็นทั้งความมั่นใจและกำลังใจให้ระบอบประยุทธ์

ดังนั้น ทุกสิ่งอย่างที่จีนให้จึงชโลมใจชนชั้นนำไทยในยามยาก แม้จะเป็นคำหวานเลี่ยนๆ ก็ตาม

ทางการจีนสาธยายของเก่าคือ ความร่วมมือด้านการลงทุนจีน-ไทยในกรอบระเบียงทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง Guangdong-Hongkong-Macau Greater Bay Area (GBA) กับโครงการลงทุนเรือธงของรัฐบาลไทย โครงการระเบียงเศรษฐกิจ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) เป็นเมกะเมืองที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่ง the Pearl River Delta Economic Zone มี 9 เมืองกับ 2 เขตปกครองพิเศษทางใต้ของจีนอันเป็นที่ชื่นชมของหวัง ยี่ ระหว่างเยือนไทยหนนี้

ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังเน้นความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างจีนและไทยในโครงการดิจิตอล Big Data เทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล

ทว่า ในความคิดของผม ทั้งมวลนี้นับเป็นการปลอบประโลมใจไทยในยามยากโดยเฉพาะวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีพลานุภาพต่อการเปลี่ยนแปลงและจัดการยากยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังเพื่อนผู้มาเยือนจากปักกิ่ง พวกเขาใช้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ภูมิภาคของเขาในลุ่มน้ำโขงและอาเซียน

ในขณะที่จีนผูกพันธะการเมืองของเขาต่อกัมพูชาและ สปป.ลาวด้วยพันธะการเมืองด้านการค้า การลงทุน ความช่วยเหลือให้แน่นขึ้น จีนยังผูกร้อยชนชั้นนำต่อชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า

ทว่า สำหรับไทย จีนเพียงขายของเก่าด้วยกรอบเศรษฐกิจที่กว้างๆ และล่องลอยไปกับเทคโนโลยีดิจิตอลอันเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จะเป็นรูปธรรมและเป็นจริงเมื่อไรยังไร้คำตอบชัดเจน

แต่กลับมัดแน่นไทยไปกับเครื่องมือทางการทูตอันจะอำนวยการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การเมือง ยุทธศาสตร์ของจีนที่ขาดไทยไปไม่ได้

นั่นคือ การขยายการทำงานของกงสุลจีนในไทยตอนเหนืออันเชื่อมต่อโดยตรงกับลุ่มน้ำโขง

 

การแข่งขันในลุ่มน้ำโขง

นอกจากคำหวานแล้ว หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางมาไทยเพื่อลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยการได้มาและการจัดจำหน่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและการเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทำการสถานกงสุลใหญ่และที่พักเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศ

ข้อตกลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ์ในการสร้างและขยายกงสุลไทยในจีนและสถานกงสุลจีนในไทย

จีนมีสถานกงสุลในไทยที่เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และสำนักงานกงสุลที่ภูเก็ต

มีการคาดการณ์ว่า จีนต้องการขยายสถานกงสุลใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหรือภาคตะวันตก

ทว่า ความเปลี่ยนแปลงในภาคเหนือและอีสานของไทยที่เชื่อมต่อลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญและมีทิศทางใหม่เกิดขึ้น

เดิมทีสถานกงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่ซึ่งตั้งขึ้นมา มีอาณาเขตครองคลุม 12 จังหวัดในภาคเหนือ

ทว่า ประเด็นขอบเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบกว้างขวางแค่ไหนไม่สำคัญเท่าสาระอันเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ลองคิดดู หากไทยจะเพิ่มกงสุลไทยในจีนอีกไม่ว่าที่ไหนก็ตาม คงตอบสนองการบริการด้านประชาชนเป็นหลักหรืออาจเป็นด้านเศรษฐกิจ

แต่หากจีนเพิ่มสถานกงสุลใหม่ในไทยซึ่งเชื่อมต่อกับลุ่มน้ำโขงด้วย เท่ากับว่าจีนเห็นความสำคัญใหม่ในภูมิภาคนี้

ความสำคัญเดิมของภาคเหนือไทยต่อจีนได้แก่ เขตเกษตรกรรม ความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม ประชากรมีการไป-มาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด

แต่ในอนาคตภาคเหนือและอีสานของไทยจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน สปป.ลาว และไทย

หากกงสุลจีนจะทำงานด้านการเข้า-ออกของผู้คนและด้านเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น

แต่หากมองด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร ลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนไปแล้ว ลุ่มน้ำโขงในมิติใหม่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองและทางทหารเพื่อการปรากฏตัว (presence) ของจีนในการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศจีนที่ลุ่มน้ำโขงเชื่อมต่อกับภูมิภาค Indo Pacific

จีนกำลังสร้างสถานี หรือ Station รองรับความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามทางการ (Conventional Warfare) ในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อันก้าวข้ามไปๆ มาๆ ระหว่างทั้งอ่าวเบงกอลและอ่าวไทยได้ด้วย

สถานีทางยุทธศาสตร์การทหารนี้เป็นหลักประกันการขนถ่ายน้ำมันสู่จีนจากตะวันออกกลางผ่านช่องแคบมะละกา ใช้ป้องกันสงครามทางการ ใช้ป้องกันการปิดกั้น (blockage) และใช้แบ่งแยกสหรัฐออกจากภูมิภาคก็ได้

ลุ่มน้ำโขงในมิติใหม่จึงเปลี่ยนจากจุดเชื่อมต่อ (link) เป็นสถานีใหญ่ (strategic station) เพื่ออำนวยการการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติอันสำคัญยิ่งยวดของจีน โดยที่ขาดเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และไทย ไปไม่ได้

ลุ่มน้ำโขงในมิติใหม่ เตรียมตัวกันไว้บ้างนะครับ

———————————————————————————————
(1) Mongkol Bangprapa “Thailand warms to China” Bangkok Post 16 October 2020
(2) ดูเพิ่มเติม อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ เหตุเกิดที่กัมพูชา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับก่อนหน้านี้
(3) Somsack Pongkhao “Cooperation with China can aid Laos” economic recovery : economist” Vientianetimes 16 October 2020