ฉัตรสุมาลย์ : พาทัวร์องค์พระปฐมเจดีย์

เป็นตอนที่สองของบทความแรกที่ใช้ชื่อว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” ค่ะ สนุกแล้วก็ตื่นเต้นกับข้อมูลที่เรานึกว่าเรารู้แล้ว แต่ที่รู้มานั้นก็ยังตื้นเขินและผิวเผิน มาเรียนรู้ด้วยกันอีกทีนะคะ

เรากำลังเดินรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ขณะที่รอหลวงพี่รูปอื่นๆ อยู่ที่ด้านนอกของตัวอาคาร แดดร้อนเปรี้ยง ก็บ่าย 3 โมงค่ะ ดูท้องฟ้าในรูปที่ให้ดูอาทิตย์ก่อนจะเห็นสีฟ้าเข้ม แสดงว่าไม่มีเมฆหมอกเลย แดดเต็มๆ อยากได้ภาพสวยต้องทนร้อนค่ะ รูปองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นสีทองนั้น ฉากหลังต้องฟ้าเข้มอย่างเดียว ขอบอก

มีชายหนุ่มคนหนึ่งคุกเข่าเอาน้ำขวดมาถวายพระภิกษุณี เป็นภาพที่ประทับใจ เห็นในศรัทธาของเขาค่ะ ในถุงนั้นน่าจะมีน้ำเย็นๆ 7 ขวด พระไปกัน 10 กว่ารูป ได้ถวายเฉพาะรูปไหนมาถึงก่อนก็ได้ไป อ้าว ทีนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งวัยเลยกลางคนมาเล็กน้อย ขอมามีส่วนกับน้ำที่โยมเขาเพิ่งถวายพระ

ก็ไม่ว่ากัน แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะนัก เพราะเขาตั้งใจถวายพระ และพระก็ยังได้ไม่ครบ ต่อมาพบว่า เธอหากินแถวนั้นเอง เป็นอาชีพ

 

ท่านธัมมนันทาว่า ตอนที่ทำวิจัยเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เคยมาได้รูปพระพุทธเจ้าประทานเมล็ดมะม่วงที่เสวยแล้วแก่คนสวนให้เอาไปปลูก หลวงพี่ก็เลยเดินหารูปที่ว่านี้ จนมาถึงมุขถัดมา

เข้าไปในมุขทางขวามือ เป็นจิตรกรรมที่เพิ่งทำขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง แต่เป็นจุดที่ขอร้องว่า ต้องเข้าไปชมค่ะ

คนที่นั่งเฝ้า ไม่ได้เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่าของเรื่องราวที่อยู่บนฝาผนังที่อยู่ด้านหลังของเธอ ห้ามถ่ายรูป แต่มีหนังสือให้ตามเรื่องได้ อ่านหนังสือก่อน แล้วค่อยดูภาพ จะทำความเข้าใจได้ไม่ยาก หนังสือก็หาซื้อได้ที่หน้าประตูนี่ละค่ะ หากแต่การเข้าเล่มไม่ได้คุณภาพ เปิดทีเดียวหลุดร่วงออกมาเป็นแผ่นๆ ไสกาวไม่ดีค่ะ

เดินทะลุเข้าไปดูห้องข้างในก่อนนะคะ แล้วเดี๋ยวค่อยออกมาดูจิตรกรรมที่ห้องชั้นนอก เพราะเล่าเรื่องต่อเนื่องกัน

 

ในห้องข้างใน ดูที่ฝาผนังซ้ายมือค่ะ เป็นเรื่องราวของพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เราจำได้นะคะว่า เมื่อท่านหันมานับถือพุทธศาสนานั้น ทรงให้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างออกหน้าออกตา ก็เลยทำให้คนในศาสนาอื่นปลอมตัวเข้ามาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุน จะได้อยู่ดีกินดี ประมาณนั้น

มีรูปพวกพราหมณ์กำลังเปลื้องผ้าแล้วใส่จีวรแฝงเข้ามาในพระพุทธศาสนา

เมื่อความทราบถึงพระเจ้าอโศกจึงโปรดให้มีการตรวจสอบบรรดาพระภิกษุ หากถามข้อธรรมะแล้วตอบไม่ได้ก็บังคับให้สึก บางทีมีถึงตาย ทั้งหมดนี้เป็นการที่ข้าราชบริพารทำไปตามความเข้าใจของตนเอง

ไปถึงเรื่องราวที่อำมาตย์กำลังจะเล่นงานพระ จิตรกรรมบนฝาผนังตอนนี้เป็นพระภิกษุถูกบังคับให้เข้าแถว และมีพระภิกษุที่นั่งอยู่หัวแถว ยกมือขึ้นห้ามอำมาตย์

พระภิกษุรูปนี้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าอโศก อำมาตย์ไม่กล้าลงโทษประหาร เมื่อพระเจ้าอโศกทรงทราบก็ตกพระทัยในการที่อำมาตย์ทำการเกินรับสั่ง

แต่ข่าวลือแพร่กันออกไปแล้ว ว่าพระเจ้าอโศกเข่นฆ่าพระภิกษุ บรรดาพระภิกษุจำนวนไม่น้อยที่เดินทางลี้ภัยจากพระเจ้าอโศก เป็นเหตุที่อธิบายได้ว่าพระศาสนาขยายขึ้นไปสู่ส่วนบนของอินเดีย ไปสู่ดินแดนที่เป็นแคชเมียร์ในปัจจุบัน สมัยนั้นเรียกว่ากัษมีระ ตรงนี้เอง ที่การจารึกพระคัมภีร์ที่เดิมเป็นภาษาบาลีเริ่มบันทึกเป็นภาษาสันสกฤต เพราะภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่นิยมกันในราชสำนัก แล้วขยายออกไปทางเหนือและตะวันออก เข้าสู่ทิเบต จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ตามลำดับ

ตามทิศทางการเดินทางเช่นนี้ พระพุทธศาสนานิกายนี้ บางครั้งจึงเรียกว่านิกายทางเหนือ ว่ากันตามภูมิประเทศนั่นเอง

ภาพการแผ่ขยายพระศาสนาไปสู่ตะวันออกปรากฏอยู่บนผนังถัดมาที่อยู่ด้านหน้าของเรา ต้องชมศิลปินค่ะ วาดรูปได้ดี สัดส่วนถูกต้อง สื่อความใช้ได้

สถาปัตยกรรมการพัฒนารูปทรงพระสถูปเจดีย์จะศึกษาได้จากจิตรกรรมในห้องนี้แหละค่ะ

สถูปสาญจีรูปทรงอย่างไร รูปทรงนี้ ไปมีอิทธิพลต่อการสร้างพระสถูปที่ปรากฏในศรีลังกาทั้งหมดในสมัยพระเจ้าอโศก ตอนที่ส่งพระโอรสคือพระมหินท์ไปสืบพระศาสนาในศรีลังกา

รูปทรงพระสถูปสาญจีเป็นพระสถูปที่พระมารดาของพระมหินท์เถระ คือพระนางวิเทหิสร้างถวายพระโอรสนั่นเอง

เรื่องรูปทรงพระเจดีย์นี้สำคัญมาก เพราะจะอธิบายความเป็นมาที่สืบเนื่องมาจนเป็นพระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแห่งนี้ เดิมที่พบนั้นเป็นรูปทรงแบบสาญจี ต่อมาจึงสร้างแบบยอดพระปรางค์ทับ

และต่อมาในรัชสมัยของ ร.4 แห่งรัตนโกสินทร์ จึงสร้างเป็นรูปทรงศรีลังกาคลุมองค์เดิมอีกครั้งหนึ่ง

 

อีกผนังหนึ่ง ตรงประตูทางเข้า-ออกนั้น มีรูปพระยากงที่เป็นพระบิดา และพระยาพาน พระโอรส อยู่เหนือประตู

ผนังนี้ เล่าถึงตำนานของเมืองนครปฐม พระยากงเจ้าเมืองนครปฐมและพระมเหสีอธิษฐานขอให้ได้พระโอรสให้มาสืบราชสมบัติ ครั้นพระมเหสีทรงพระครรภ์และคลอดพระโอรสออกมานั้น เอาพานเข้าไปรับ พานโขกศีรษะทารก จึงตั้งชื่อพระโอรสว่า พระยาพาน

ผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อ ตำนานไม่ค่อยสมจริงนัก อีกเวอร์ชั่นหนึ่งว่าชาวบ้านเรียกขานว่าพระยาพาล เพราะต่อมาปลงพระชนม์พระบิดา จึงพยายามเลี่ยงไปใช้ชื่อพระยาพาน ก็เลยต้องสร้างตำนานขึ้นมาสนับสนุน ความไม่สมจริงอีกข้อหนึ่งคือ คลอดทารกแล้วเอาพานไปรับ ปกติมีแต่จะเอาของรองรับทารกที่นิ่ม ไม่ใช่แข็งแบบพาน

ขอโทษค่ะ ออกไปนอกเรื่อง เดี๋ยวไม่จบ

เมื่อทารกคลอดแล้ว โหรหลวงทำนายว่าทารกนี้จะกระทำปิตุฆาต ให้เอาทารกไปฆ่าเสีย ทหารก็เอาทารกไปทิ้งที่ชายเมือง มีตา-ยายคู่หนึ่งรับไปเลี้ยง ยายชื่อยายหอม เป็นที่มาของดอนยายหอม มีสถานที่ตามชื่อนี้อยู่จริงๆ

ยายหอมเลี้ยงดูทารกชายที่หน้าตาน่ารักจนเติบใหญ่ ให้การเลี้ยงดูอย่างดีจนได้เข้าไปรับราชการกับเจ้าเมืองราชบุรี

ต่อมาเมืองราชบุรีทำศึกกับเมืองนครปฐม พระยาพานเป็นนายทัพของราชบุรี ออกทัพมารบกับพระยากง พระยากงพลาดท่าถูกฟัน เขาว่าถึงขนาดฟันพระศอขาด มีชื่อถนนขาดปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ครั้นได้ชัยชนะ พระยาพานก็ตั้งใจจะเข้าไปเคลมพระมเหสีของพระยากง ตามวิถีของผู้ชนะ

ครั้นจะข้ามธรณีประตูเข้าไปในห้องบรรทมของพระนาง ก็ได้ยินเสียงลูกแมวร้อง แม่แมวเอ็ดลูกๆ ว่า อย่าทำเสียงดังไป ดูซิว่าลูกจะเอาแม่เป็นเมีย

พระยาพานเอะใจว่า ปกติแมวพูดภาษาคนไม่ได้ น่าจะเป็นเทพมาบอกกระมัง จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแม้พระมเหสีของพระยากงนั้นเป็นมารดาของตนจริงๆ ก็ขอให้มีน้ำนมไหลออกมาจากถันของพระนาง

ก็เป็นจริงตามที่ตั้งจิตอธิษฐาน ครั้นไถ่ถามความกันแล้ว แน่พระทัยว่าพระนางเป็นพระมารดาของตนจริงๆ พระยาพานกลับไปโกรธยายหอมว่าไม่บอกความจริง จึงให้เอาตัวยายหอมไปฆ่าเสีย

แล้วกลับมาคิดเสียพระทัย เล่าโดยย่อเลยนะคะ โปรดให้สร้างพระประโทณเจดีย์ที่ดอนยายหอม ถวายกุศลแก่ยายหอม และให้สร้างพระปฐมเจดีย์ที่มีความสูงเท่านกเขาเหิน ถวายพระราชบิดา

เป็นตำนานที่มาพระเจดีย์ที่เป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองนครปฐม

แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากนะคะ

 

ออกมาที่ห้องชั้นนอก คราวนี้ จิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราวการบูรณะพระร่วงโรจนฤทธิ์ในสมัยล้นเกล้าฯ ร.6 ค่ะ

ของเดิมที่พบนั้น มีเพียงพระพักตร์ พระอุระ พระหัตถ์ ทำให้พอเดาได้ว่าเป็นปางใด การบูรณะองค์พระทั้งองค์ ส่งเข้ามาทำในกรุงเทพฯ

ตอนที่ส่งกลับออกไปประดิษฐานที่องค์พระปฐมเจดีย์นั้น ลำเลียงเป็นชิ้นส่วนไป แต่ละชิ้นมีสลักสำหรับให้ประกอบเข้าได้พอดีกัน

อัญเชิญมาทางรถไฟ ขบวนที่ ร.ฟ.ท.153 รูปในจิตรกรรมฝาผนังให้รายละเอียดตรงตามเรื่องราวในประวัติศาสตร์

ลำเลียงลงมาเป็นชิ้นๆ น่าสนใจมาก ข้ามสะพานยักษ์ที่ในหลวง ร.6 สร้างให้เป็นของขวัญแก่ชาวเมืองนครปฐม

ตรงขึ้นสู่องค์พระปฐมเจดีย์

ประกอบกันเข้าเป็นองค์พระสูงถึง 7 เมตร โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายตั้งแต่บัดนั้นจนปัจจุบัน น่าอัศจรรย์กรรมวิธีของการขนย้ายองค์พระ มาศึกษาดูได้จากจิตรกรรมฝาผนังที่นี่เอง

นอกจากนั้น บนจิตรกรรมฝาผนังมีเรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ร.7 เสด็จมาประดิษฐานพระอังคารของล้นเกล้าฯ ร.6 ไว้ที่ห้องด้านใน เบื้องหลังองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามที่ ร.6 ทรงตั้งพระทัยไว้ด้วย เป็นการจารึกประวัติศาสตร์อย่างดี

ออกมาจากมุขนี้ ลงบันไดไปข้างซ้ายมือ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว ประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปโบราณที่ย้ายมาจากวัดพระเมรุในนครปฐม

องค์นี้เก่าค่ะ ย้อนไปถึงสมัยทวารวดีโน่น

 

มุขสุดท้ายเป็นวิหารพระพุทธรูปนอน องค์ใหญ่เป็นที่สองรองมาจากพระนอนวัดโพธิ์ซึ่งเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เมื่อนมัสการพระนอนแล้ว ออกมาจากพระวิหาร หากมาตอนบ่าย จุดนี้จะเป็นจุดที่เห็นองค์พระปฐมเจดีย์เต็มตา แน่นอนที่สุดมีเสียงแชะ แชะ ทันทีเลยค่ะ

ไปจบรอบที่พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นทัวร์ที่รวบรัดให้พอดีกับพื้นที่ในคอลัมน์ค่ะ

อยากให้มานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ใหม่ เก็บรายละเอียดใหม่ จะเห็นความลุ่มลึกในเชิงประวัติศาสตร์มากขึ้นค่ะ

เหงื่อแตกโชกทั้งตัว… แต่อิ่มใจ