ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีนิทรรศการของศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลกอีกคนมาแสดงในบ้านเรา
ผลงานของเขาได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สำคัญหลายแห่งทั่วโลก อาทิ Gavin Brown”s Enterprise นิวยอร์ก Kunstverein Freiburg เยอรมนี (2006); Gallery Side 2 โตเกียว Giti Nourbakhsch Gallery, เบอร์ลิน Kunsthalle Basel บาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ และ Fruitmarket Gallery เอดินบะระ ฯลฯ
ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ
อุดมศักดิ์เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด
เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านศิลปะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าศึกษาระดับปริญญาโทในสถาบัน The Art Institute of Chicago
ในช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษจากคำศัพท์ที่เขาขีดเส้นใต้เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ โดยในขณะที่ทักษะการใช้ภาษาของเขาเพิ่มขึ้น หน้าหนังสือพิมพ์ก็จะเริ่มเปอะดำเข้าขึ้นเรื่อยๆ จนเหลือแต่เพียงช่องว่างเล็กน้อยบนหน้ากระดาษ
ซึ่งพื้นที่ว่างที่เหลือเหล่านี้แสดงถึงความเข้าใจในภาษาอังกฤษของเขาที่มีมากขึ้น
ด้วยการผสานระหว่างสิ่งที่รู้และไม่รู้
และการสร้างเครือข่ายอันสลับซับซ้อนระหว่างพื้นที่บวกและลบเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นสาระสำคัญในผลงานของเขาในเวลาต่อมา
อุดมศักดิ์สร้างชื่อด้วยผลงานจิตรกรรมนามธรรมอันโดดเด่นด้วยการใช้การตัดแปะตัวอักษรจากสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ แผ่นใบปลิว วาดทับด้วยสีหมึก ปากกา สีอะครีลิก จนเหลือแต่พื้นที่ในตัวอักษรและตัวเลขบางตัว
ผนวกกับการใช้วัสดุในชีวิตประจำวันอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น ผ้าปูเตียง กระดาษแก้ว หรือแม้แต่ป้ายยี่ห้อสินค้า และพลาสติกกันกระแทก ผ่านการนำเสนอด้วยวิธีการทดลองที่เป็นเอกลักษณ์แบบเป็นนามธรรมในรูปทรงของตารางเครือข่ายที่ซับซ้อนหลายชั้นบนพื้นผิวที่หนาแน่น
และปฏิเสธที่จะยึดติดกับเรื่องราวและคำอธิบายที่ชัดเจน หากแต่เปิดโอกาสให้ผู้ชมใช้จินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวในการเสพผลงานของเขา
ผลงานของอุดมศักดิ์เป็นการตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ เป็นการค้นหาความหมายว่าอะไรคือแก่นแท้ของการมีชีวิต ด้วยวีธีการอันสามัญอย่างการปฏิบัติ อันเป็นวิธีคิดของศาสนาพุทธในเชิงปรัชญามากกว่าในเชิงศาสนาและพิธีกรรม แก่นแท้ที่เป็นองค์รวมของทุกสรรพสิ่ง เป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่โลกที่เราไม่อาจหวนคืน หรือโลกของความว่างเปล่า ซึ่งในโลกตะวันตกมีความหมายแบบเดียวกับสภาวะนามธรรม ซึ่งหมายถึงสถานะของสิ่งที่ไม่เป็นที่รู้จัก สิ่งที่ไม่มีภาษา อันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับโลกของความคิดมากกว่าเหตุการณ์ หรือก็คือเสรีภาพจากคุณลักษณะในการแสดงภาพลักษณ์ในงานศิลปะ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เสรีภาพจากการเล่าเรื่อง เสรีภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง
โดยปกติอุดมศักดิ์ไม่ค่อยมีนิทรรศการแสดงผลงานในประเทศไทยนัก (ก่อนหน้านี้ที่เคยมีก็เมื่อสิบปีที่แล้ว)
คราวนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่เขาจะมีงานแสดงในบ้านเราถึงสองนิทรรศการในสองสถานที่ด้วยกัน
นิทรรศการแรกมีชื่อว่า A Retrospective จัดแสดงในหอศิลปะวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการรวบรวมผลงานย้อนหลังของอุดมศักดิ์จำนวน 24 ชุด ที่กินระยะเวลานับตั้งแต่ช่วงปี 1989-2015 เพื่อนำเสนอกระบวนการและเทคนิครวมถึงแนวความคิดที่เกิดขึ้นกับเขาในแต่ละช่วงเวลาของการทำงาน
แต่สิ่งที่น่าทึ่งอย่างมากก็คือผลงานที่แสดงในนิทรรศการนี้หาใช่เป็นผลงานเก่าของเขาจริงๆ ไม่ หากแต่เป็นผลงานเกิดจากการคัดลอกผลงานดั้งเดิมของอุดมศักดิ์ขึ้นมาใหม่โดยไม่ผิดเพี้ยน หากแต่ย่ออัตราส่วนของภาพลง 1 ซ.ม. ทุกภาพ (ซึ่งไม่ได้ย่อแค่ขนาดของภาพ หากแต่ทุกองค์ประกอบทุกเส้นสายทุกรายละเอียดในภาพก็ถูกย่อลงตามสัดส่วนทั้งหมดด้วย)
ซึ่งทั้งหมดเกิดจากฝีมือของศิลปินรุ่นใหม่ที่ถูกคัดเลือกมาร่วมงาน
ที่ทำแบบนี้เพราะอุดมศักดิ์ต้องการตั้งคำถามกับความเป็นต้นฉบับและความเป็นลิขสิทธิ์ของงานศิลปะ อีกอย่าง ผลงานเก่าๆ ของเขาหลายต่อหลายชิ้นก็แยกย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมดแล้วด้วย ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ข้างๆ ภาพวาดบางชิ้นยังมีข้อความสั้นๆ ที่เขียนจากลายมือของอุดมศักดิ์บนผนัง ที่ไม่ใช่การสาธยายแนวความคิดของผลงานอย่างที่ศิลปินส่วนใหญ่ชอบทำกัน หากแต่เป็นเหมือนบันทึกสั้นๆ จากความทรงจำอันสัพเพเหระของศิลปินที่ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับภาพวาดอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน อาหารการกิน เกมกีฬา และความทรงจำในอดีต
ซึ่งอุดมศักดิ์เล่าให้ฟังว่า
“มันเหมือนเป็นการเล่าเรื่องการไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ว่าในช่วงปีนั้นๆ มันเกิดอะไรขึ้น เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การทำงาน เรื่องของศาสนา มันอาจจะทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น คืออาจจะไม่ได้เข้าถึงตัวงานโดยตรง แต่อาจจะเป็นเรื่องราวที่เราเล่าก็ได้”
นิทรรศการ A Retrospective จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2016 ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่
ส่วนนิทรรศการที่สองของ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ นั้นมีชื่อว่า Paint It Black จัดแสดงในแกลเลอรี่เว่อร์, กรุงเทพฯ โดยเป็นนิทรรศการเดี่ยวในรอบ 10 ปี ในประเทศไทยของเขา ที่นำเสนอผลงานชุดล่าสุดของอุดมศักดิ์ ในปี 2559 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาร่วม 2 ปี ณ สตูดิโอของเขาที่จังหวัดเชียงใหม่
ถ้าเทียบกับนิทรรศการชุดแรกแล้ว ผลงานในนิทรรศการชุดนี้ให้ความรู้สึกคลี่คลายลง ด้วยการใช้โทนสีแต่น้อย รูปทรงที่เรียบง่าย สงบนิ่ง ลดทอน บางชิ้นใช้แค่สีเดียวแต่เล่นกับความแตกต่างของพื้นผิว
แต่บางชิ้นก็ยังมีความหวือหวาของสีสันและการใช้วัสดุที่พบได้ในชีวิตประจำวัน (found object) มาเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน
อาทิ เสื่อ วงล้อจักรยาน กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่โต๊ะปิงปองและรังนก ที่ทำให้นึกไปถึงผลงานของเขาในสมัยก่อนบ้างเหมือนกัน
“จริงๆ แล้วมันก็มาจากหลายแหล่ง ถ้าดูดีๆ มันก็มีที่มาจากงานตัวเลขที่ผมทำสมัยก่อน นอกจากนั้นมันก็มาจากเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างบางทีตอนกินเหล้ากับเพื่อน เวลาเรายกแก้วขึ้นมามันก็เป็นรอยวงกลมบนโต๊ะ หรือบางทีผมก็เอาวงล้อจักรยานมาชุบสีแล้วก็ปั๊มลงไป หรือบางทีคิดอะไรไม่ออกก็กลับไปดูงานตั้งแต่เริ่มต้นว่าเราทำอะไรมา มันเหมือนกับเป็นการถ่ายทอดภาพที่เราเห็นและสะสมเอาไว้ในสมองออกมา” อุดมศักดิ์กล่าวถึงผลงานชุดล่าสุดของเขา
สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คืออุดมศักดิ์มักจะตั้งชื่อผลงานของเขาด้วยชื่อเพลงต่างๆ หรือแม้กระทั่งนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาอย่าง Paint It Black เองก็เป็นชื่อเพลงของวงร็อกรุ่นเก๋าอย่าง The Rolling Stones อีกด้วย
“ผมอยากให้มันมีเสียงเข้ามาในนิทรรศการ เพราะเสียงเพลงมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างทรงพลัง อีกอย่างเวลาเราทำงานอยู่ในสตูดิโอมันเหมือนการจำศีล มันค่อนข้างเดียวดาย ดนตรีมันก็เหมือนเป็นเพื่อนของเราน่ะ” อุดมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการ Paint It Black จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2016 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook Gallery VER หรือ อี-เมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890