เกษียร เตชะพีระ | การเมืองปัจจุบัน

เกษียร เตชะพีระ

ผมเห็นว่าในแง่ความมั่นคงทางกำลังและอำนาจในระบบสถาบันการเมือง รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ดูเข้มแข็งเกินกว่าจะถูกโค่นโดยลำพังการชุมนุมประท้วงของประชาชน

ทว่าในแง่ความชอบธรรมทางการเมืองและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ก็ขาดพร่องอ่อนเปลี้ยพอที่จะล้มเหลว

การตระหนักถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของรัฐบาลจะช่วยทำให้ไม่ประมาทและสามารถเข้าใจว่าทำไมบางครั้งผู้ชนะก็อาจล้มเหลวได้

ภาพรวมของการเมืองไทยภายใต้ระบอบ คสช.และภาคต่อเนื่อง (the sequel) คือการเริ่มต้นจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ซึ่งประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ผูกโยงเข้าด้วยกัน ภายใต้เงื่อนไขที่ประชาธิปไตยถูกตีกรอบจำกัดทางอัตวิสัยและภววิสัย และมีพระราชอำนาจนำ

ผ่านการรัฐประหารของ คสช. ไปสู่ ->

ภาวะการเมืองที่ซึ่งประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์เคลื่อนคลายจากกันเนื่องจากแรงกระทบสะเทือนของระบอบเผด็จการทหาร คสช. ที่ขาดความชอบธรรมและบกพร่องด้านประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ คสช.และภาคต่อเนื่องอ้างอิงอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันจารีตประเพณีต่างๆ อยู่เป็นนิจศีล ได้ทำให้สถาบันเหล่านั้นพลอยตกอยู่ในวิถีเพ่งเล็งแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนไปด้วย

กล่าวได้ว่ามาตรการและการปฏิบัติเชิงรัฐกิจทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบ คสช.และภาคต่อเนื่องช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้พาการเมืองไทยมาถึงจุด “เสมือนระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์” (virtual absolutism) ที่ซึ่ง [บทบัญญัติรัฐธรรมนูญกับวิถีการใช้อำนาจที่เป็นจริง], [อำนาจที่เป็นจริงกับความพร้อมรับผิด], และ [อำนาจบังคับกับอำนาจนำ] ตกห่างจากกัน (discrepancies)

จนหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีกล่าวได้อย่างเปิดเผยว่า “ผมเป็นรัฐ ท่านเป็นประชาชน” (prachatai.com/journal/2015/09/61507) และได้การรับรองจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” (prachatai.com/journal/2019/03/81492)

อันเป็นแนวโน้มเสี่ยงอันตรายยิ่งภายใต้ระเบียบการเมืองที่เข้าใจว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

แนวโน้มลักลั่นแปลกผิดปกติในมิติสนามการเมืองไทยปัจจุบัน อาจสรุปรวบยอดได้ว่า :

การเมืองในระบบ : เป็นปฏิกิริยา

การเมืองภาคประชาชน : เป็นปฏิรูป

การเมืองวัฒนธรรม : เป็นปฏิวัติ

หมายความว่า การเมืองในระบบสถาบันทางการของรัฐโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งกลไกสถาบันที่ประกอบกันเข้าเป็นอำนาจบริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ถูกยึดกุมด้วยพลังอำนาจที่มีแนวโน้มการเมืองต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มุ่งรักษาสถานะเดิม (status quo) หรือแม้แต่ย้อนยุคกลับสู่อดีตแบบปฏิกิริยา (reactionary) ดังเช่นมติและคำวินิจฉัยที่ปรากฏออกมาเกี่ยวกับประเด็นการเคลื่อนไหวผลักดันเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักปัจจุบัน

ส่วนการเมืองภาคประชาชนมีแนวโน้มหลักคือปฏิรูป (reformism) ดังแสดงออกใน 3 ข้อเรียกร้อง (หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ยุบสภา) 2 จุดยืน (ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร, ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ) และ 1 ความฝัน (ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง) ของคณะประชาชนปลดแอก (www.voicetv.co.th/read/isU07b6JB)

ทว่าการเคลื่อนไหวเชิงการเมืองวัฒนธรรม (การต่อสู้ทางวาทกรรม สัญลักษณ์ ภาษาสื่อสาร และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้คุณค่า นิยามความหมายและยืนยันความจริง) ไปไกลถึงขั้น “ทะลุเพดาน” ของระเบียบอำนาจดังที่เป็นอยู่หรือ “ปฏิวัติ” (revolutionary) แล้ว เช่น ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม (prachatai.com/journal/2020/08/89231), การฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ที่สนามราษฎร์ (https://th.wikipedia.org/wiki/หมุดคณะราษฎรหมุดที่_2) เป็นต้น (ดูข้อวิเคราะห์ตีความของ PEERA SONGK?NNATHAM ใน bostonreview.net/global-justice/peera-songkunnatham-the-law-ought-be-king)

มิพักต้องพูดถึงคำปราศรัยในที่ชุมนุมหรือแฮชแท็กยอดนิยมต่างๆ ในสื่อสังคมทวิตเตอร์

การที่เยาวชน นักเรียน-นักศึกษารุ่นปัจจุบันประกาศอย่างน่าตื่นใจได้ว่า “เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการปฏิวัติ” ผู้ที่อบรมบ่มสอนและแสดงสาธิตให้พวกเขาได้เห็นได้ยินได้เรียนรู้เข้าใจว่าความอยุติธรรมเฉพาะหน้าใกล้ตัวที่เขาเผชิญในสถาบันที่เขาสังกัด เช่น ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย มันเชื่อมโยงเป็นระบบ/แท่ง/เนื้อเดียวกันกับระเบียบอำนาจใหญ่ที่ไม่ชอบธรรมในสังคมการเมือง

และฉะนั้น จึงไม่มีทางจะบำบัดแก้ไขความอยุติธรรมเล็กๆ ได้โดยไม่ท้าทายต่อสู้พลิกคว่ำอำนาจไม่ชอบธรรมใหญ่ระดับบ้านเมืองนั้น ไม่ใช่ครูบาอาจารย์หรือนักการเมือง “ชังชาติ” ที่ไหนหรอก

แต่คือระบอบ คสช.และภาคต่อเนื่อง รวมทั้งเครือข่ายบริษัทบริวารผู้ “รักชาติ” ที่กระทำการให้พวกเขาได้ประสบพบเห็นเป็นรูปธรรมอยู่กับหูตาตนเองทุกเมื่อเชื่อวันตลอด 6 ปีที่ผ่านมานั่นเอง

ประเด็นปัญหาอยู่ตรงการเมืองในแต่ละมิติภาคส่วนนั้นกำกับโดยกฎเกณฑ์ตรรกะหรือไวยากรณ์ในการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป เช่น

การเมืองในระบบเป็นเรื่องศิลปะของความเป็นไปได้ (the art of the possible) ในการช่วงชิงรวมคะแนนเสียงพรรคพวก สร้างพันธมิตร/เสียงข้างมาก (coalition/majority-building) ขึ้นมาเพื่อผลักดันเป้าหมายเฉพาะเจาะจงทางการเมืองให้สำเร็จลุล่วงไป บนพื้นฐานหลักสัมฤทธิ์คตินิยม (pragmatism) ที่ไม่มีมิตรแท้และไม่มีศัตรูถาวร

ส่วนการเมืองภาคประชาชน เป็นเรื่องการออกแบบนิยามทางวาทกรรมเพื่อสร้างคู่ขั้วตรงข้ามระหว่าง “ประชาชน” ส่วนข้างมากที่สุด กับ “ชนชั้นนำ” ส่วนน้อยที่ทุจริตฉ้อฉลขึ้นมา บนพื้นฐานอุดมการณ์หรืออุดมคติทางการเมืองบางอย่าง เพื่อผลักดันระเบียบวาระการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทิศทางที่พึงปรารถนา

ในขณะที่การเมืองวัฒนธรรมเป็นการต่อสู้กับศัตรูทางความคิดความเชื่อที่หยั่งยึดฝังรากลึกเป็นช่วงชั้นอยู่ในสถาบันสังคมวัฒนธรรมวิชาการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ที่อยู่ในความคิด จิตใจและเอกลักษณ์ของตัวเราเอง ซึ่งบ่อยครั้งมันอยู่อย่างที่เราไม่รู้สึกสำนึก ไม่ทันคิด ไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป เหมือนปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็น พอกดปุ่มเข้า ก็ทำให้เราเคลื่อนไหวกระทำการแบบเป็นไปเองอย่างอัตโนมัติ อันเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ละเอียดอ่อนพิสดาร กินเวลากว่าจะรื้อทิ้งและเลิกเชื่ออย่างเห็นผลได้

เมื่อแนวโน้มในมิติสนามการเมืองแต่ละภาคส่วนผิดแผกแตกต่าง ลักลั่น ไม่สม่ำเสมอกัน (desynchronized, uneven) เช่นนี้ อาการตึงเครียด ขัดขา ปีนเกลียวกันจึงเกิดขึ้นได้ เช่น กลุ่มวุฒิสมาชิกปฏิกิริยาก็หวาดระแวงไม่ยอมรับฟังสานเสวนากับนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมที่ปฏิวัติ, หรือการชุมนุมประท้วงที่ตั้งเป้าเรียกร้องเฉพาะหน้าเชิงปฏิรูป แต่มีคำปราศรัย ประกอบพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์หรือใช้วาทกรรมแบบปฏิวัติ เป็นต้น

ทำให้การคลี่คลายหาทางออกทางการเมืองในมิติแต่ละสนาม แต่ละภาคส่วนติดขัดลำบากยุ่งยากขึ้น