สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย Ep.16 หลังพฤษภาคม 2535

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ผลประโยชน์แห่งชาติไม่ใช่แรงจูงใจที่แท้จริง หรือเป็นแรงจูงใจหลักในการทำรัฐประหาร แต่มักจะถูกใช้อยู่บ่อยครั้งเพื่อเบี่ยงเบนผลประโยชน์ส่วนตน [ของคณะนายทหารผู้ก่อการ]”

Paul Brooker (2009)

กองทัพถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองบนถนนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 และนำไปสู่การพ่ายแพ้ ที่แทบไม่ต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่อย่างใด…

กองทัพไม่สามารถรับมือกับกระแสการต่อสู้ของมวลชน ที่ตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ แน่นอนว่า ถนนยังคงเป็นพื้นที่สำหรับการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเสมอ และก็เป็นเช่นนั้นทั่วโลก

การพ่ายแพ้ทางการเมืองของทหารในปี 2535 เป็นความหวังอย่างมากว่า เมื่อกองทัพมีบทเรียนครั้งสำคัญจาก “ความไร้พลังของอำนาจปืน” บนท้องถนนที่กรุงเทพฯ แล้ว ผู้นำกองทัพจะยอมพาทหาร “กลับกรมกอง” (หรือสำนวนในละตินอเมริกาเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “back to the barracks”) อันมีนัยถึงแนวคิดเรื่อง “การถอนตัวของทหารออกจากการเมือง” (military withdrawal from politics)

ฉะนั้น หากมองเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในกรอบของวิชา “เปลี่ยนผ่านวิทยา” (Transitology) แล้ว เราอาจกล่าวถึงเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เกิดจากความรุนแรง และระบอบเก่าที่สืบโยงอยู่กับระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการรัฐประหารในปี 2534 ถูกทำลายลงด้วยพลังการชุมนุมต่อต้านบนถนน ซึ่งถือเป็นรูปแบบหลักของการต่อสู้ของประชาชน เมื่อต้องสู้กับระบอบเผด็จการทหาร เพราะโอกาสที่ผู้นำทหารจะยอมเดินลงจากอำนาจเองนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การลงจากอำนาจจึงมักต้องใช้กำลังบนถนนเป็นพลังการต่อสู้เสมอ

ชัยชนะนี้หากเปรียบเทียบกับสำนวนของฤดูกาลทางการเมืองแล้ว เราคงจะต้องเรียกว่า “บางกอกสปริง” เช่นอาหรับสปริง

ฤดูใบไม้ผลิ 2535

เมื่อผู้นำแบบอำนาจนิยมในการเมืองไทยแทบไม่ยอมลงเอง จึงเกิดการใช้กำลังประชาชนบนถนนทั้งตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 หรือในบางครั้งอาจเกิดจากการยึดอำนาจของ “ทหารสายพิราบ” เช่น รัฐประหารในเดือนตุลาคม 2520 แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า การเปลี่ยนผ่านเพื่อออกจากระบอบอำนาจนิยมนั้น ต้องอาศัย “กำลัง” ในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดเป็นเครื่องมือเสมอ จนดูเหมือนว่า การเปลี่ยนผ่านในไทยมีสองทางเลือกคือ จะเปลี่ยนด้วยกำลังประชาชน หรือด้วยกำลังทหาร

การใช้กำลังของประชาชนในพฤษภาคม 2535 จึงเป็นอีกครั้งที่ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนั้นเอง แต่การผลักทหารออกจากการเมืองในครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตมีขีดความสามารถที่ก่อให้เกิด “การควบคุมโดยพลเรือน” (Civilian Control) ที่เข้มแข็งนั้น ยังคงเป็นคำถามสำคัญที่ไม่รู้จบในการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารของไทย

การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดที่จะเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้จริง เพราะมรดกของระบอบอำนาจนิยมที่ดำรงอยู่ในไทย ยังเปิดช่องทางให้กองทัพมีอำนาจได้เสมอ

ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ไม่แตกต่างกันก็คือ เมื่อรัฐบาลพลเรือนได้อำนาจทางการเมืองมาแล้ว พวกเขาจะกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดความสัมพันธ์เช่นนี้อย่างไร หรือจะปล่อยให้ปัญหาแก้ได้ด้วยตัวเอง

ดังเป็นความเชื่อในปี 2535 ว่า รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 น่าจะเป็น “การยึดอำนาจครั้งสุดท้าย” เพราะการรัฐประหารครั้งนั้น ไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง

เนื่องจากรัฐบาลชาติชายเองก็มีคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนอยู่มาก อันเป็นผลจากความสำเร็จของนโยบายทางเศรษฐกิจและต่างประเทศ

และการพ่ายแพ้ประชาชนบนถนนในเดือนพฤษภาคม 2535 ทำให้ผู้นำหลักของกองทัพที่มาจากรุ่น 5 โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบก ต้องยุติบทบาททางการเมืองไปโดยปริยาย และไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ อันเป็นผลจากการปราบปรามประชาชน

แต่คำถามว่ารัฐประหาร 2534 จะเป็น “การยึดอำนาจครั้งสุดท้าย” ของผู้นำทหารไทยหรือไม่ ยังคงเป็นประเด็นที่แขวนอยู่ในอากาศ

ถ้ามองโลกในแง่ร้าย เราอาจเปรียบเทียบได้กับสำนวนที่มักจะถูกหยิบยกมาเสมอในการกล่าวถึงสงครามว่า “มีแต่คนที่ตายแล้วเท่านั้น ที่เห็นการสิ้นสุดของสงคราม”

ด้วยเหตุผลเดียวกัน เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “มีแต่คนตายแล้วเท่านั้น ที่เห็นการสิ้นสุดของรัฐประหารในการเมืองไทย”

และว่าที่จริงแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะทำให้รัฐประหารครั้งนั้น เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ

การกล่าวเช่นนี้ดูจะเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจอย่างมาก เพราะดูจะมองไม่เห็นถึงการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทยเลย แต่อย่างน้อยในขณะนั้น ก็มีความหวังเสมอว่า “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ” จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน และผลิดอกออกผลให้ประชาธิปไตยขยายพืชพันธุ์ไปได้ทั่วทั้งสังคม เพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจให้แก่ผู้คนโดยรวม

ความฝันในฤดูใบไม้ผลิเช่นนี้ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว สังคมในขณะนั้นมีความฝันอย่างมากกับระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น

แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้จะมีอายุยืนนานไปอีกเท่าใด และฤดูใบไม้ผลิที่เริ่มเบ่งบานหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นั้น จะยั่งยืนเพียงใด แต่กระนั้นเราก็หวังกันว่า ปี 2534 จะเป็น “รัฐประหารครั้งสุดท้าย”…

แน่นอนว่าทุกคนล้วนภาวนาให้เป็นจริงเช่นนั้น

แต่สำหรับ “นักรัฐประหารนิยม” แล้ว พวกเขาคงไม่อยากร่วมภาวนาด้วย และชนชั้นนำอีกส่วนก็ยังคงต้องการเก็บเครื่องมือนี้เพื่อใช้จัดการกับรัฐบาลที่พวกเขาไม่ปรารถนา และเครื่องมือนี้ยังจัดการได้อย่างรวดเร็ว

จากรุ่น 5 สู่รุ่น 5!

การเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นความน่าตื่นเต้นอีกแบบ

เพราะประเด็นสำคัญคือจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการล่มสลายของ “ระบอบทหารรุ่น 5” ควรจะปล่อยให้การเมืองเดินไปเอง ตามกระแสการช่วงชิงอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลของบรรดาพรรคการเมืองที่เคยเข้าร่วมกับรัฐบาล พล.อ.สุจินดา

หรือจะปล่อยให้อำนาจนี้ไปอยู่ในมือของพรรคฝ่ายค้าน

ผลของการตัดสินใจในหมู่ชนชั้นนำที่ต้องการดึงอำนาจออกจากผู้นำทหารกลุ่มเก่า ทำให้นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุครัฐประหาร ถูกดึงกลับเข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้ง โดยการตัดสินใจของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

แทนที่จะเป็นโอกาสของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ จากพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคเสียงข้างมาก แต่พรรคเหล่านี้ถูกมองว่าขาดความชอบธรรม เพราะเป็นพรรคที่เคยเข้าร่วมกับ พล.อ.สุจินดาในการจัดตั้งรัฐบาล

ทางเลือกในการแก้ปัญหาจึงได้แก่ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ซึ่งก็ดูจะสอดรับกับบทบาทของนายอานันท์ในขณะนั้น

เขาได้ทำตามข้อเรียกร้องที่จะลดอิทธิพลของกลุ่มทหาร ด้วยการจัดการโยกย้ายกำลังพลในระดับสูง คือเอานายทหารรุ่น 5 ที่มีอำนาจออกจากตำแหน่ง และเอานายทหารรุ่น 5 ที่ไม่มีอำนาจเข้ามารับตำแหน่งแทน

ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจในกองทัพโดยตรง พร้อมกันนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานสภา อันเป็นความหวังว่าการเปลี่ยนผ่านกำลังเดินรุดหน้าไป

การปรับกติกาแห่งอำนาจเช่นนี้มีส่วนลดทอนอำนาจของทหารในการเมืองลงโดยตรง

เพราะทุกครั้งที่ผู้นำทหารมีอำนาจด้วยการรัฐประหารแล้ว รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่จะต้องเปิดช่องให้ผู้นำทหารกลับเข้ามาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารด้วยการเป็นนายกฯ คนกลาง

วิธีคิดเช่นนี้แทบจะเป็นสูตรสำเร็จเพื่อประกันว่า หลังการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจะยังสามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้…

นักร่างรัฐธรรมนูญไทยพร้อมเสมอที่จะรับใช้ผู้นำทหารอย่างสุดจิตสุดใจ และพร้อมที่แก้ไขหลักการทางกฎหมาย ตามความต้องการของผู้นำทหารเสมอ และนักร่างคนเดียวกันนี้ได้สร้างความพึงพอใจให้กับผู้นำทหารในทุกยุคทุกสมัย

อย่างไรก็ตาม การมาของนายกรัฐมนตรีคนกลางของนายอานันท์นั้น น่าจะเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้คนในหลายส่วน โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง ที่อยากได้นายกฯ ที่มีความรู้และมีประสบการณ์

ขณะเดียวกันก็มีบุคลิกที่ดี เป็นที่น่าเชื่อถือแก่สังคม จนเขาได้รับสมญาว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์”

ในทางตรงข้าม ไม่มีใครต้องการผู้นำทหารที่มีข้อจำกัดในการบริหารประเทศ เพราะในขณะนั้นกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มพัดแรงขึ้นหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปลายปี 2532 สภาวะ “โลกล้อมรัฐ” ในกระแสเช่นนี้ จึงมีความเห็นพ้องต้องกันพอสมควรว่า นายกรัฐมนตรีไทยต้องพาประเทศขับเคลื่อนไปในกระแสโลกได้

และต้องยอมรับว่านายกฯ อานันท์สามารถรับบทบาทตรงนี้ได้เป็นอย่างดี

จนทำให้เกิดความเชื่อในอีกด้านว่า หมดเวลาของผู้นำทหารที่เป็นได้แค่ “นายกฯ แบบเก่า” ซึ่งทั้งโลกและไทยต้องการ “นายกฯ แบบใหม่” แล้ว

ปฏิรูปกองทัพ

แต่กระนั้นก็เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลใหม่หลังปี 2535 ยังไม่สามารถผลักดัน “การปฏิรูปกองทัพ” ได้จริง แม้จะมีเสียงเรียกร้องในเรื่องเช่นนี้มากขึ้น และหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพิ่งจบลงไม่นาน ได้มีการเปิดเวทีของภาคประชาสังคมในเรื่องนี้ขึ้นที่ห้องประชุมของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งในเวทีนี้มีทั้งนักวิชาการ นักพัฒนาสังคม (เอ็นจีโอ) สื่อมวลชน และผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่ง

ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันทั้งในเรื่องของการปฏิรูปบทบาทของทหารในการเมือง การใช้กำลังทหารในการควบคุมฝูงชน และลงไปในประเด็นรายละเอียดถึงเรื่องของการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อย เป็นต้น

หากมองย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ปี 2535 จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากที่กระบวนการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปทหารนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

กล่าวคือ ผู้นำทหารที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ในระดับสูงไม่ได้ต้องการที่จะผลักดันเรื่องเช่นนี้จริงจัง เพราะมองว่าอาจจะกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งภายในกองทัพ และจะเป็นการสร้างปัญหาให้ตัวเองมากกว่า

ส่วนนักการเมืองพลเรือนเองก็ไม่ได้สนใจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้เท่าที่ควร พวกเขามองว่าการพ่ายแพ้บนถนนในปี 2535 จะเป็นบทเรียนให้ทหารไม่กลับเข้ามายุ่งกับการเมืองอีก และในอีกส่วนก็มองว่าการเข้าไปปฏิรูปทหาร จะกลายเป็น “ประเด็นล่อแหลม” ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างทหารกับพลเรือนอีกครั้ง พวกเขาจึงไม่ควรผลักดัน

ทัศนะเช่นนี้ส่งผลให้หัวข้อการปฏิรูปกองทัพเป็นประเด็นที่จบลงในห้องประชุม แม้จะมีเวทีอื่นรองรับอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับการขับเคลื่อน

หลายฝ่ายในขณะนั้นคิดคล้ายกันว่ารัฐประหาร 2534 น่าจะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย

เพราะมีบทเรียนราคาแพงที่ผู้นำทหารต้องจ่ายในปี 2535 แต่ใครเล่าจะกล้ายืนยันว่า ไม่มีรัฐประหารในการเมืองไทยแล้ว!