เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระเจ้าพร้าโต้” ความวิจิตรแห่งจิตวิญญาณ ล้านนาตะวันออก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เส้นแบ่งของความหยาบ
กับความวิจิตร

การเรียกชื่อพระพุทธรูปสกุลช่างหนึ่งซึ่งพบเฉพาะในกลุ่มเมืองแถบล้านนาตะวันออก หมายถึงแพร่-น่าน เป็นพระแกะสลักด้วยไม้ท่อนเดียวแบบคร่าวๆ ง่ายๆ โดยเรียกชื่อตามเครื่องมือที่ใช้ถากไม้คือ “มีดพร้า” หรือ “อีโต้” ว่า “พระเจ้าพร้าโต้” นั้น

เดิมเคยให้คำนิยามกันว่า การเรียกเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการสร้างพระพุทธรูปที่มีความหยาบ ไม่วิจิตรประณีต แค่ใช้ “มีดพร้า” หรือ “อีโต้” ถาก แลเห็นรอยมีดเป็นบั้งๆ ก็เป็นองค์ปฏิมาได้

กอปรกับเมื่อพิจารณาถึงพุทธศิลป์ก็ไม่มีความงาม ทรวดทรงผิดสัดส่วน พระพักตร์ดูพื้นเมือง ยิ่งเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานความงามของพระพุทธรูปคลาสสิคแบบพระสกุลสิงห์ 1, 2, 3 ต่างๆ ด้วยแล้ว

ยิ่งทำให้พระเจ้าพร้าโต้ถูกเรียกในเชิงทับถมดูแคลนว่า “พระเจ้าหน้าเด๋อ” ยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งคำเรียกนี้ปรากฏในหนังสือของศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว เรื่อง “โบราณวัตถุ โบราณสถาน ในวัดล้านนา” พิมพ์ปี 2549

ทว่าในปัจจุบันนี้ เมื่อเราพิจารณาพุทธศิลป์ของพระเจ้าพร้าโต้อย่างละเอียดลออ ก้าวข้ามความ “หน้าเด๋อ” แบบบ้านๆ ก็จะพบความจริงว่า “พระเจ้าพร้าโต้” นี้ มีการออกแบบในทุกองค์ประกอบที่ค่อนข้างแหวกแนวและสร้างสรรค์ ชนิด Creative อย่างสุดๆ มีการสอดแทรก “ลีลา-ลูกเล่น” หลายอย่างด้วยความอาจหาญ

“ฉีกกรอบความคิดซ้ำเดิม” หรือเป็น “ขบถศิลปะ” ได้อย่างน่าทึ่ง ในระดับที่เราต้องหันมาพินิจพิเคราะห์ “คุณค่าใหม่” กันเลยทีเดียว

ดังนั้น เราจึงควรตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่างคำว่า “วิจิตร” กับ “ความหยาบ” ว่า บางครั้งในความหยาบนั้นก็อาจซุกซ่อนความวิจิตรพิสดารไว้อย่างแยบยลเช่นเดียวกัน

 

อานิสงส์ของการสร้าง “พระเจ้าไม้”

หากแบ่งตามวัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธรูป พระเจ้าพร้าโต้ย่อมถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ “พระเจ้าไม้” เช่นเดียวกับพระเจ้าไม้องค์อื่นๆ

การสร้างพระพุทธรูปโดยจำแนกตามวัสดุนั้น ทางล้านนามีความนิยมและความสันทัดแตกต่างกันไป แล้วแต่กรณี เช่น ขึ้นอยู่กับวัสดุปัจจัยที่หาได้ และยังขึ้นอยู่กับสถานะของผู้สร้าง

ในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เราจะเห็นว่าชนชั้นปกครองนิยมสร้างพระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งมีส่วนผสมระหว่างทองคำบริสุทธิ์แทรกปนกับทองสำริด

วัสดุต่างๆ ที่ใช้สร้างพระพุทธรูปในสังคมล้านนา มีการสอดประสานกับความเชื่อในเรื่อง “อานิสงส์ของการถวายพระพุทธรูป” โดยมีความเชื่อว่า ผู้ที่สร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุแตกต่างกัน จะได้รับอานิสงส์ด้วยการเสวยสุขทั้งในเมืองคนและเมืองฟ้าตามระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน ดังนี้

๏ พระพุทธรูปที่เขียนบนใบไม้ เช่นใบลาน มีอานิสงส์ได้เสวยสุขนาน 5 กัป (กัปหนึ่งยาวนานเกินอสงไขยปี)

๏ พระพุทธรูปที่สลักจากหยก ไม้จันทน์ มีอานิสงส์ 13 กัป

๏ พระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองเหลือง หรือทองแดง มีอานิสงส์ 17 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สลักจากท่อนไม้ต่างๆ มีอานิสงส์ 19 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สร้างด้วยครั่ง และงาช้าง มีอานิสงส์ 20 กัป

๏ พระพุทธรูปที่ก่ออิฐถือปูน มีอานิสงส์ 32 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สร้างจากหินและเงิน มีอานิสงส์ 45 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สร้างจากผงดอกไม้ผสมรัก มีอานิสงส์ 100 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สร้างจากทองคำ มีอานิสงส์ 120 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สร้างจากโลหะ 5 ชนิด (ปัญจโลหะ) มีอานิสงส์ 10,000 กัป

๏ พระพุทธรูปที่สร้างจากแก้วมณี มีอานิสงส์ อสงไขยกัป (มากเกินจะคณานับได้)

เห็นได้ว่า กรณีของการสร้าง “พระเจ้าไม้” มีอานิสงส์มากถึง 19 กัปป์ เอาเข้าจริง เพียงแค่ 1 กัป ก็มากเกินประมาณแล้ว การสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุไม้ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาวัสดุทั้งหมด เนื่องจากลงทุนน้อยที่สุด แค่หาท่อนไม้เนื้อแข็งคุณภาพดี และได้ช่างฝีมือดีมาแกะสลักเท่านั้นก็สามารถนฤมิตองค์พระปฏิมาได้แล้ว

พระเจ้าไม้จึงนิยมสร้างในลักษณะที่เรียกว่า “พระเจ้าคู่อายุ” “พระเจ้าสืบชาตา” ในโอกาสที่ผู้สร้างมีอายุครบรอบปีสำคัญ เช่น วัยเบญจเพส 25 ปี หรือรอบนักษัตรต่างๆ 36 ปี, 48 ปี, 60 ปี, 72 ปี, 84 ปี และ 96 ปี

ยิ่งถ้าหากใครสามารถจัดการกับวัสดุไม้ด้วยตนเองได้ทุกขั้นตอน นับแต่เป็นไม้ที่ปลูกเอง ตัดเอง รวมไปถึงกระบวนการถากเอง แกะสลักเอง จนสำเร็จ เจ้าตัวจะยิ่งมีความภาคภูมิใจมากกว่าการจ้างวานให้บุคคลอื่นช่วยทำ

พระเจ้าไม้ในล้านนาจึงสร้างขึ้นจากไม้ไม่จำกัดประเภท พบทั้งไม้ขนุน ไม้มะม่วง ไม้ฉำฉา ไม้มะขาม ไม้ซ้อ ไม้ธง และขนาดที่พบก็ไม่จำกัด ทั้งขนาดเล็กจิ๋วสูงไม่กี่นิ้ว จนสูงเป็นเมตร รูปแบบพุทธศิลป์ก็ไม่จำกัด ทั้งประทับนั่ง ยืน นอน ปางก็มีทั้งมารวิชัย สมาธิ เปิดโลก ฯลฯ

 

ใครสร้างพระเจ้าพร้าโต้

ก่อนอื่นเรามาดูว่า พระเจ้าพร้าโต้นี้พบที่ไหนบ้าง รวมทั้งใครหรือกลุ่มชนชาติพันธุ์ใดเป็นผู้สร้าง

พบว่าพระเจ้าพร้าโต้มีเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ได้แก่ เมืองแพร่และน่าน เท่าที่พบหลักๆ และเด่นที่สุดคือ ที่วัดศรีดอนคำ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จำนวน 3 องค์ องค์ใหญ่ 1 องค์เล็ก 2

ทางวัดศรีดอนคำบันทึกไว้ว่า เดิมมี 5 องค์ คือสร้างตามคติ “พระเจ้าทั้ง 5 ในภัทรกัปป์” ต่อมา องค์หนึ่งได้ถวายแด่ “สมเด็จย่า หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ตอนที่เสด็จพระราชดำเนินมาเมืองลอง ทำให้ปัจจุบันพระเจ้าพร้าโต้องค์นั้นอยู่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง

พระเจ้าพร้าโต้อีกองค์หนึ่ง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างพร้อมกลุ่มวัดศรีดอนคำ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวง ใจกลางเมืองแพร่ บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ ทั้งหมดเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง

นอกจากนี้ ยังพบพระเจ้าพร้าโต้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพระยืนปางเปิดโลก ยังไม่ทราบที่มาว่าทางกรมศิลปากรได้มาจากวัดใดในจังหวัดน่าน

จากประวัติวัดศรีดอนคำระบุว่า พระเจ้าพร้าโต้สร้างพร้อมกัน 5 องค์ในปี พ.ศ.2236 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคที่ดินแดนล้านนาทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ซึ่งน่าแปลกทีเดียวที่ศิลปกรรมกลับไม่ได้เป็นแบบสกุลช่างที่เราเรียกว่า “มอญ-ม่าน-เงี้ยว”

กล่าวคือ พระพุทธรูปแบบพม่า มักทำพระพักตร์ก้มหน้า อ่อนหวาน ทาปากแดง ครองจีวรเป็นริ้วพลีทหลายชั้น และคาดหน้าผากด้วยเส้นแถบฝังเพชรพลอย

ปี 2236 ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วงนั้นผู้ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณดูแลล้านนาแทนกษัตริย์พม่ามีชื่อว่า “มังแรนะร่า” ส่วนเมืองแพร่มี “พญาแพร่” ปกครองอยู่ เราไม่ทราบนามจริงว่าพญาแพร่ผู้นี้เป็นใคร และมีเชื้อสายชาติพันธุ์ใด รวมทั้งจะมีบทบาทในการสร้างพระเจ้าพร้าโต้ที่วัดศรีดอนคำด้วยหรือไม่

มาถึงคำถามที่ว่า ชาติพันธุ์ใดควรเป็นผู้สร้างพระเจ้าพร้าโต้ ไทลื้อ ไทยวน ไทน้อย (ลาวล้านช้าง) หรือขมุ?

เรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากบริเวณเมืองลอง กลุ่มชนดั้งเดิมคือไทยวน และมีไทใหญ่ (เงี้ยว) กลุ่มพ่อค้าวัวต่างเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานปะปนอยู่บ้าง ทว่ากลุ่มไทใหญ่มีรูปแบบศิลปะที่คล้ายคลึงกับมอญพม่ามากกว่ารูปแบบพระเจ้าพร้าโต้ที่เราเห็น

กลุ่มของไทยวน ไม่น่ามีความเป็นไปได้ เพราะชาติพันธุ์นี้นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1, 2, 3 แบบคลาสสิคสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน

แล้วกลุ่มไทลื้อเล่า มีความเป็นไปได้ไหม ในเมื่อลื้อก็เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในเมืองน่าน กระจายแถวเมืองปัว ท่าวังผา ทางตอนบนของน่านที่เป็นรอยต่อเมืองพะเยา แต่ศักราช 2236 นั้น ยังไม่มีการอพยพชาวลื้อจากสิบสองปันนาเข้าสู่ล้านนาแต่อย่างใด

ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่รูปแบบพุทธศิลป์ของพระเจ้าพร้าโต้ จะสร้างโดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทน้อย คือลาวล้านช้างจากหลวงพระบาง รวมทั้งชาติพันธุ์ขมุ ซึ่งเป็นประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความผูกพันกับชาวล้านนาตะวันออกกลุ่มแพร่น่านมาอย่างเนิ่นนานและแนบแน่น

เราไม่เคยมีการกล่าวถึง “งานพุทธศิลป์ของเผ่าขมุ” ว่ามีลักษณะอย่างไร คือมักมองว่าคนกลุ่มนี้น่าจะนับถือผี หรือไร้งานศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ

ดิฉันเห็นความแตกต่างในเชิงช่าง รสนิยม สุนทรียะในองค์พระเจ้าพร้าโต้ ว่าไม่เหมือนงานพระเจ้าไม้ล้านนาทั่วไปแต่อย่างใด จึงคิดว่าไม่น่าจะใช่ผลงานของกลุ่มคนที่เป็นชาวไทยวนพื้นเมือง

จึงขอเสนอว่า นี่อาจเป็นศิลปะของชาวขมุ หรือลาวล้านช้าง ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวัฒนธรรมในกลุ่มล้านนาตะวันออก

 

พระเกศหนามทุเรียน
พระเศียร-โมลีพิสดาร

เมื่อมองพระเจ้าพร้าโต้ อย่าดูแค่พระพาหาตัดตรง พระกรไม่วางเรียบบนพระเพลา (หน้าตัก) แต่กลับยกขึ้นคล้ายหยิบจับอะไรบางอย่าง พระวรกายแข็งหนาไม่ได้สัดส่วน

ความวิจิตรของพระเจ้าพร้าโต้ไม่ได้อยู่ที่พระพักตร์รูปไข่ พระขนงเป็นวงโค้ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มเป็นกลีบบัว เหมือนกับพระสกุลช่างล้านนาสิงห์ 1, 2, 3

หากแต่อยู่ที่การทำพระกรรณ (หู) เป็นแผงกว้างใหญ่ ตกแต่งริ้วกระหนกก้านขดล้อมใบพระกรรณ การทำกรอบพระโอษฐ์ยกสูงแบบคมกริบด้วยความตั้งใจจนดูคล้ายปากปลิ้น การทำเม็ดพระศกแหลมสูงเป็นกรวยซ้อนชั้นคล้ายหนามทุเรียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระรัศมีเปลวหรือที่ชาวล้านนาเรียก “จิกโมลี” นั้น มีความพิถีพิถันมากเป็นพิเศษด้วยการทำก้นหอยนูน 6 วงโดยรอบ (วัดศรีดอนคำองค์ใหญ่) หรือทำเป็นลายกลีบบัวสูงซ้อนหลายชั้น (ของวัดหลวง) รัศมีเปลวนี้มีความสูงสง่ามาก สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะตกแต่งรายละเอียดให้ประณีตงดงาม

งามมากเกินกว่าจะถูกมองว่าเป็นแค่ “พระเจ้าพร้าโต้” ที่สร้างขึ้นด้วยการถากไม้ท่อนเดียวแบบหยาบๆ