มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / การพัฒนาเมืองไทย

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

การพัฒนาเมืองไทย

 

นักวิชาการที่เรียนและจำแต่ทฤษฎีฝรั่ง มักจะออกอาการเวลาพูดถึงผังเมืองและปัญหาเมืองในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ทุกเมืองที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นล้วนมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร ปัญหาที่อยู่อาศัย หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองย้อนอดีต มองแบบแผนการพัฒนาเมืองของบ้านเรา

แน่นอนว่าต่างไปจากเมืองอื่นๆ ที่มีการวางผังเมืองในระบบทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ หรือที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ในระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

เมืองไทยเป็นเมืองแห่งอิสรเสรีประชาธิปไตย แม้จะมีผังเมืองควบคุม แต่ทุกคนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนล้วนสามารถพัฒนาเมืองในพื้นที่ตนได้ดั่งใจทุกรูปแบบ

เริ่มต้นตั้งแต่ มีคนขุดคลอง เอาดินมาถมเป็นถนน แล้วแบ่งแปลงที่ดินสองข้างทางขาย ให้คนซื้อไปสร้างร้านค้าบ้านเรือน ที่มีมาแต่ครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง

 

อาทิ เจ้าสัวยม ขุดคลองสาทร และนำดินถมทั้งสองฝั่งเป็นถนนสาทรเหนือและใต้ แบ่งที่ดินที่เคยรกร้างทางทิศใต้ของถนนสีลม เป็นแปลงๆ ให้พ่อค้า คหบดี และชาวต่างชาติสร้างที่ทำการบริษัท และบ้านพักอาศัย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า จึงได้รับพระราชทานราชทินนามว่าหลวงสาทรยุกต์

ความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินบริเวณสาทร กลายเป็นแบบอย่างของถนนสุรวงศ์ ทางทิศเหนือของถนนสีลม ตามด้วยถนนสี่พระยา รวมทั้งถนนขนาดเล็ก อย่างถนนพิพัฒน์ ของหลวงโกษาพิพัฒน์ ถนนสุรศักดิ์ ถนนประมวญ และถนนคอนแวนต์ ที่แยกย่อยจากถนนสีลม ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ถนนรองเมือง ของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นต้น

แบบแผนนี้ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา ตามความเจริญของบ้านเมือง จากถนนสีลมไปสู่ถนนสายอื่นๆ โดยเฉพาะทางหลวงสายต่างๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น สุขุมวิท (ตะวันออก) เพชรเกษม (ใต้) พหลโยธิน (เหนือ) สุขสวัสดิ์ (ใต้) รวมทั้งถนนที่แยกย่อย ไม่ว่าจะเป็นถนนแจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน ประชาราษฎร์ ลาดพร้าว รามอินทรา ฯลฯ

ยังมีการแยกย่อยเป็นซอยเล็กซอยน้อยต่อเนื่องไปอีก อย่างถนนสุขุมวิท มีการแบ่งแยกซอยย่อยกันอย่างสนุกสนาน โดยไม่มีมาตรฐาน รูปแบบ ระยะ ขนาดแต่อย่างใด เริ่มตั้งแต่เพลินจิต นานา อโศก พร้อมมิตร พร้อมจิต พร้อมพงษ์ เรื่อยไปจนถึงปากน้ำ

ยิ่งขยายเส้นทางเป็นทางหลวงบางนา-ตราด ก็ยังคงรูปแบบและวิธีเดียวกันต่อไป จนกลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในปัจจุบัน

 

แม้แต่ย่านที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักทั้งไทยและเทศ อย่างพัฒน์พงศ์ ธนิยะ ทองหล่อ เอกมัย โชคชัย รวมทั้งย่านใหม่ๆ อย่างวัชรพล เสนา เสือใหญ่ ลำลูกกา หทัยราษฎร์ สรงประภา ล้วนมาจากการจัดสรรที่ดินแบบเดิม และจัดสรรที่ดินพร้อมสร้างบ้านให้แบบใหม่

วิธีการพัฒนาเมืองแบบนี้ ยังแพร่ไปยังภูมิภาค ทุกจังหวัดทั่วประเทศ การพัฒนาพื้นที่แบบนี้แตกต่างไปจากการวางแผนหรือวางผังตามหลักวิชาการในต่างประเทศ เป็นการพัฒนารายแปลงที่ดินแบบไทย รูปแบบ รูปร่าง แผนผัง จึงเป็นไปตามทางน้ำ แปลงสวน แปลงนาดั้งเดิมสมัยสถาปนาพระนคร ไม่ได้เป็นแถว แนวตรง ตาตาราง แบบเมืองขึ้นฝรั่ง

เมื่อรวมกับการควบคุมการก่อสร้างอาคารและการใช้ที่ดิน ที่เป็นแบบเดียวกัน คือตามใจไทยแท้ ทำให้บ้านเมืองเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งการใช้พื้นที่ ประเภทอาคาร และขนาดอาคาร รวมไปถึงผู้คนที่อยู่อาศัยปนกันหลายระดับ เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย

 

แต่ไม่ว่าจะมีสภาพวุ่นวายอย่างไร

แต่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรือปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อย่างไร

ก็จะนำไปสู่การปรับตัว ปรับเปลี่ยน เปลี่ยนขาด สู่ความสมดุลใหม่ ตามสัญชาตญาณของคนเผ่าไทย ที่ต่างไปจากเผ่าพันธุ์อื่น

จนเป็นที่ประจักษ์ว่า ไทยนั้นอยู่รอด และปลอดโรค (โควิด)