การศึกษา / จับตาย้าย ‘บิ๊ก ร.ร.’ รอบ 2 เคลียร์ปม สพฐ.ปรับขนาด ร.ร.

การศึกษา

 

จับตาย้าย ‘บิ๊ก ร.ร.’ รอบ 2

เคลียร์ปม สพฐ.ปรับขนาด ร.ร.

 

เรียกว่า เกือบวุ่น สำหรับกรณีการโยกย้ายผู้บริหารสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2563 ซึ่งให้อำนาจส่วนราชการไปกำหนดจำนวนนักเรียนตามขนาดสถานศึกษา โดยให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่

ดังนั้น สพฐ.ได้กำหนดขนาดตามจำนวนนักเรียนใหม่ ประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ดังนี้ โรงเรียนขนาดเล็ก 359 คนลงมา ขนาดกลาง จำนวนนักเรียนตั้งแต่ 360-1,079 คน ขนาดใหญ่ 1,080-1,679 คน และขนาดใหญ่พิเศษ 1,680 คนขึ้นไป

ส่งผลให้เกิดปัญหาในการย้ายครั้งนี้ เพราะการลดขนาดจำนวนนักเรียนใหม่ ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษและโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดลง

ถึงขั้นบางจังหวัดไม่มีโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่เหลืออยู่เลย ทำให้ไม่มีผู้มีคุณสมบัติย้ายมาโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษได้ เพราะตามหลักเกณฑ์กำหนดให้ย้ายไล่ตามขนาด คือ ย้ายโรงเรียนในขนาดเดียวกัน ย้ายขนาดเล็กไปกลาง ขนาดกลางไปใหญ่ และขนาดใหญ่ไปใหญ่พิเศษ เพื่อป้องกันการวิ่งเต้น

ร้อนถึงต้นสังกัดอย่าง สพฐ. และหน่วยงานหลักอย่างสำนักงาน ก.ค.ศ. ต้องมาหารือเพื่อปรับแผนใหม่ ได้ข้อสรุปเสนอให้บอร์ด ก.ค.ศ.ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณาแนวทางการย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่ ซึ่งบอร์ด ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอ

 

นายประวิต เอราวรรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.ค.ศ.ระบุว่า แนวทางการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาจะใช้ในการย้ายรอบที่ 2 ในกรณีที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาในสถานศึกษาขนาดใหญ่หรือขนาดใหญ่พิเศษว่างหลังจากย้ายครั้งแรก และไม่มีผู้อำนวยการสถานศึกษาในสถานศึกษาขนาดใกล้เคียงยื่นคำร้องขอย้ายเข้ามา ก.ค.ศ.เห็นว่ากรณีดังกล่าวหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายกรณีปกติ ไม่ได้กำหนดให้มีการย้ายข้ามขนาดสถานศึกษาเกินกว่า 1 ขนาดที่ตนดำรงตำแหน่งได้ การนำตำแหน่งว่างหลังจากการย้ายไปดำเนินการขอวิธีการย้ายกรณีปกติ โดยนำไปใช้บรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีผู้ได้รับคัดเลือก อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องการให้ผู้บริหารสถานศึกษาสั่งสมประสบการณ์เป็นลำดับ

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของราชการ ที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติให้ดำเนินการดังนี้

  1. ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณากำหนดสัดส่วนของตำแหน่งว่างที่เกิดขึ้นภายหลังจากการย้ายครั้งแรก เช่น ตำแหน่งว่างที่เกิดจากการเสียชีวิต ลาออก หรือย้ายไปจังหวัดอื่น เป็นต้น แล้วนำมารวมกับตำแหน่งว่างที่เป็นสัดส่วนการย้ายที่เหลือจากการพิจารณาย้ายครั้งแรกมาประกาศ
  2. ประกาศตำแหน่งว่างทันทีให้ทราบโดยทั่วกัน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
  3. ให้ผู้ประสงค์ขอย้ายที่ยื่นคำร้องขอย้ายประจำปีไว้ แต่มิได้ระบุชื่อสถานศึกษาที่ว่างภายหลังไว้ ให้ยื่นความประสงค์ขอย้ายไปดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาดังกล่าวได้ รวมทั้งผู้ที่มิได้ยื่นคำร้องขอย้ายไว้เดิม หากประสงค์จะขอย้ายไปดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาที่มีตำแหน่งว่างและสถานศึกษาที่ไม่มีตำแหน่งว่าง ก็ให้ยื่นคำร้องขอย้ายเพิ่มเติมได้ โดยคำร้องขอย้ายเพิ่มเติมใดไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ย้าย คำร้องขอย้ายดังกล่าวเป็นอันยกเลิก

และ 4. ให้ดำเนินการย้ายเช่นเดียวกับวิธีการย้ายกรณีปกติ ทั้งนี้ การพิจารณาย้ายให้พิจารณาตามสัดส่วนการย้าย ตามที่ กศจ.กำหนด

แนวทางนี้ ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ หรืออนุโลมให้ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดกลางย้ายข้ามไปโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษได้ แต่เปิดโอกาสให้ย้ายรอบ 2 ผู้ที่ไม่ได้ยื่นขอย้ายในรอบแรก สามารถขอย้ายรอบนี้ได้ แต่หากพื้นที่ใดมีปัญหา ให้ส่งเรื่องให้ ก.ค.ศ.พิจารณาเป็นรายโรงไป

หรือเพื่อเปิดช่องให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ เพื่อประโยชน์ทางราชการ!!

 

วิเคราะห์ตามเหตุผลที่ ก.ค.ศ.ไม่ปรับอนุโลมย้ายข้ามขนาดได้ อาจเพราะป้องกันการฟ้องร้องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ดังนั้น การเดินตามหลักเกณฑ์เดิมไปก่อนจึงเป็นแนวทางที่ปลอดภัยมากที่สุด เพราะหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น นอกจากการย้ายครั้งนี้จะต้องหยุดชะงักลงแล้ว อาจส่งผลถึงการบรรจุแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ที่ขึ้นบัญชีไว้ด้วย…

ขณะที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า เท่าที่ดู คาดว่าจังหวัดที่จะมีปัญหาเรื่องการย้ายครั้งนี้มีมากกว่า 10 จังหวัด แนวทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้คือ ต้องปลดล็อกให้ กศจ.สามารถย้ายโรงเรียนขนาดกลางไปขนาดใหญ่พิเศษได้ เพื่อประโยชน์ทางราชการ และป้องกันไม่ให้กลุ่มที่ได้รับการบรรจุใหม่ ข้ามไปบรรจุในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ เพราะผู้ที่บรรจุใหม่บางคนมาจากครูผู้สอนที่ควรสั่งสมประสบการณ์การบริหารไล่ตามขนาดโรงเรียน ตรงนี้เป็นหลักคุณธรรมขั้นพื้นฐาน

“ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก สพฐ. ซึ่งไปกำหนดขนาดโรงเรียนตามจำนวนนักเรียนใหม่ แต่โดยเจตนารมณ์ต้องการให้โรงเรียนขนาดใหญ่มีมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้คัดผู้บริหารที่หลากหลายไปขึ้นบริหารโรงเรียนใหญ่พิเศษ ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องมากกว่าขนาดกลาง เพื่อให้ผู้บริหารขนาดเล็กไล่ขึ้นไปอยู่โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดกลางขึ้นไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ แต่กลายเป็นว่า ไปเพิ่มจำนวนใหญ่พิเศษเป็น 2,000 กว่าโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลางลดลง บางพื้นที่ไม่มีเลย กลายเป็นปัญหา” นายอัมพรกล่าว

ต้องรอดูว่า การย้ายบิ๊กโรงเรียนรอบ 2 นี้จะเกิดปัญหาขึ้นอีกหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ สพฐ.เองคงต้องกลับไปทบทวนการกำหนดขนาดโรงเรียนตามจำนวนนักเรียนใหม่ เพราะไม่เช่นนั้น อาจทำให้เกิดข้อครหาว่า การปรับขนาดโรงเรียนปุบปับครั้งนี้ เพื่อเปิดช่องรับเด็กฝากขึ้นแท่นบิ๊กโรงเรียนใหญ่พิเศษ!!