ในประเทศ / GEN ‘อา’

ในประเทศ

 

GEN ‘อา’

 

จะโดยจงใจ หรือไม่จงใจ ก็ตาม

ต้องยอมรับว่า นามของอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

โดดเด่น และถูกจับตามองอย่างยิ่งตอนนี้

ทั้งในบทบาทผู้เล่น

ทั้งในบทผู้ให้คำแนะนำ-และคำปรึกษา

และทั้งในบทกรรมการ

 

โดยในบทบาท “ผู้เล่น” ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Arthit Ourairat”

ระบุว่า ประเทศชาติถึงทางตันแล้ว

รัฐบาลต้องตระหนักรู้ ไม่ดันทุรัง และไม่รัฐประหาร

นายกรัฐมนตรีต้องเสียสละลาออก

ให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีจาก “คนนอก” ตาม ม. 272 วรรค 2

ตั้งรัฐบาลมืออาชีพไม่มีโควต้าพรรค เพื่อสมานฉันท์ปฏิรูปประเทศ กอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่สู่ระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้โพสต์ข้อความ ขยายให้ชัดเพิ่มขึ้นอีกว่า

“ขอเสนอคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก จัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ ปฏิรูปประเทศ กอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 2 ปี”

 

แม้ข้อเสนอดังกล่าว จะไม่มีเสียงตอบรับท่วมท้น

เหมือนตอนที่นายอาทิตย์เคยเสนอนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงหลังเหตุนองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535

ถึงขนาดสังคมยกย่องว่านายอาทิตย์ คือวีรบุรุษประชาธิปไตย ที่กล้าหักพรรคการเมือง เสนอชื่อนายอานันท์เป็นนายกฯ แทนที่จะเป็น พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ที่แต่งชุดขาวรอเก้อ

แต่นายอานันท์ก็เริ่มถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น

ด้วยมีความเคลื่อนไหวในฟาก “เพื่อนอานันท์” ที่ต้องเอาใจใส่

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 ปรากฏภาพถ่ายที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง

เป็นภาพนายอานันท์ไปร่วมงานวันเกิดนายประสาร มฤคพิทักษ์ ที่มณเฑียร ริเวอร์ไซด์

โดยนั่งร่วมโต๊ะกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และมีแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่เคยยืนอยู่ตรงข้ามกับคนเสื้อแดง มาร่วมโต๊ะหลายคน อาทิ นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นต้น

ทำให้มีการตีความกันอย่างกว้างขวางว่านี่คือ การสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป

ตามที่นายอาทิตย์โยนหินถามทาง หรือไม่

แม้นายจตุพรจะชี้แจงว่าการนั่งร่วมโต๊ะกับนายอานันท์ และกลุ่ม พธม. ไม่ได้หมายถึงความเชื่อทางการเมืองของตนจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่กับอีกฝ่าย

ที่มาสังสรรค์งานวันเกิดนายประสารครบรอบ 72 ปี เพราะการต่อสู้ของตนตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน ยืนยันได้ว่า ไม่มีความขัดแย้งเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันเท่านั้น

และความเชื่อที่แตกต่างกันนั้น ในทางส่วนตัวของชีวิตมนุษย์แล้ว ไม่จำเป็นต้องจมอยู่กับความชิงชัง พกแต่ความคับแค้นของกันและกันเสมอไป

“ผมรู้จักนายอานันท์ตั้งแต่การทำรัฐธรรมนูญ 2540 ผมร่วมในฐานะภาคประชาชน นายอานันท์เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ห้วงเวลานั้นได้พบและแลกเปลี่ยนกันหลายครั้ง การเจอกันจึงเป็นเรื่องปกติ และมีมารยาททางสังคมต่อกัน” นายจตุพรกล่าว

 

แต่กระนั้น ในความปกติที่ว่า ก็อดที่จะมีผู้จับตามองไม่ได้ว่า

นายอานันท์กำลังเคลื่อนไหวอะไรอยู่หรือไม่

โดยเฉพาะการ “สมานฉันท์” ที่สังคมไทยขาดอย่างหนักขณะนี้

และกำลังจะกลับมาเป็น “ผู้เล่น” เองอีกหรือไม่

ขณะที่คำถามดังกล่าว ยังไม่มีคำตอบที่กระจ่างชัด

นายอานันท์ก็ออกมาแสดงอีกบทบาทหนึ่ง

คือบทบาทผู้ให้คำแนะนำ-และคำปรึกษา

โดยแสดงผ่านเวทีนักคิดดิจิตอลครั้งที่ 13 “จากรุ่นอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร”

ซึ่งนายอานันท์กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า

“เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้

จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน

แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ผมก็ไม่รู้

แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน

เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว

คุณอาจไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่พยายามเข้าใจสถานะของท่านนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้ว เด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว

ท่านนายกฯ ถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา

เด็กพูดภาษาดิจิตอล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาอะนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง

ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์กล่าว

 

ถือเป็นการแสดงบทบาท “ที่ปรึกษา-ผู้ให้คำแนะนำ” ที่ตรงไปตรงของนายอานันท์

และเป็นความเห็นต่างของคน “เจน” ใกล้เคียงกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนายอานันท์ อย่างมีนัย

และยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะสิ่งที่ เจน “อานันท์” เสนอไปสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของเจน “รุ่นใหม่” อย่างแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน

นี่เองจึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาแก้ต่าง

โดยระบุว่า รับฟังเสียงประชาชนมาโดยตลอด อยากให้เข้าใจซึ่งกันและกันด้วย การเปิดประชุมสภาวิสามัญที่ผ่านมา ก็ทำเพื่อให้ฝ่ายการเมืองและรัฐสภาได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ส่วนตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตั้งกรรมการศึกษาว่าจะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง จำเป็นต้องยึดหลักการของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนี้ ส่วนในอนาคตจะปรับแก้ไขอย่างไร ก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง

“ต้องฟังความเห็นของทุกคน ทุกพวก ทุกฝ่าย แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้กลไกในการบริหารปกติของรัฐบาล กลไกของรัฐสภาในการแก้ปัญหา นั่นคือสิ่งที่ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องยึดมั่น และอาศัยกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวล่วงซึ่งกันและกันมิได้ ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนในประเทศนี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างพบปะประชาชนที่วัดพระเจดีย์แหลมสอ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“บางคนบอกนายกฯ มีปัญหานู่นนี่ ร่ำรวย ทุจริต เขาวัดกันด้วยอะไร เขาวัดกันด้วยการดำเนินคดี การตัดสินของศาล และผมก็ยังไม่เห็น ผมทำอะไรผิดสักอย่าง บางคนบอกผมผิดเพราะผมอยู่นานเกินไป เบื่อขี้หน้า ผมไม่รู้เหมือนกันอยู่ในกติกาข้อไหนของการเมืองไทย แต่ผมก็ไม่ว่า หลายคนบอกผมผิดนู่นผิดนี่ ผมไม่ว่าอะไร ผมฟังเฉพาะศาล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อเสนอนายอานันท์ข้างต้น เป็นไปในทำนอง ฟังแต่ไม่ได้ยิน หรือไม่

ย่อมไม่ยากต่อการตีความ

แต่กระนั้น น่าสังเกตว่า นายอานันท์และ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงต้องมาพัวพันกันอยู่

เป็นการพัวพันในฐานะที่นายอานันท์แสดงอีกบทบาทหนึ่ง

นั่นคือบทบาท “กรรมการ”

ตามการเปิดเผยของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ถึงการตั้งกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ว่า ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังอดีตนายกรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วยนายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้มาเข้าร่วม

ซึ่งนายอานันท์ พล.อ.ชวลิต และนายอภิสิทธิ์ ยินดีและพร้อมจะสนับสนุนให้ความร่วมมือ ส่วนนายสมชายยังติดต่อไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพ ขอให้รอสักระยะ

ตามการเปิดเผยนี้ เท่ากับว่า นายอานันท์กำลังจะมีบทบาทในฐานะ “กรรมการ” ที่จะทำให้วิกฤตการเมืองขณะนี้จบลงที่การปรองดอง และสมานฉันท์ด้วย

 

ซึ่งไม่ว่าในฐานะ “ผู้เล่น” “ผู้ให้คำปรึกษา” หรือ “กรรมการ”

ย่อมทำให้สปอตไลต์ฉายจับไปยังนายอานันท์ในวัย 88 ปีอย่างโดดเด่น

เพราะไม่ว่าในหมวกใบใดก็ย่อมมีบทบาทต่อการคลี่คลายวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่มากก็น้อย

แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ บทบาทอันโดดเด่นที่ว่า

ดูจะไม่ได้เอนเอียงไปยังกลุ่มที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์

สะท้อนให้เห็น กลุ่มชนชั้นนำ อีลีท และทุนดั้งเดิมที่นายอานันท์ซึ่งเคยได้สมญา “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” มีความผูกพัน เกี่ยวโยงอยู่

มิได้เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์

หากแต่เสนอตนหรือกลุ่ม เข้าไปมีบทบาทร่วมไม่ว่าทั้งในฐานะ “ผู้เล่น” “ผู้ให้คำปรึกษา” หรือ “กรรมการ” อีกฝ่ายหนึ่งต่างหาก

ที่น่าสนใจคือ เปิดกว้างและพร้อมที่จะพูดคุยภาษาเดียวกันกับ “เจน” รุ่นใหม่

นี่ย่อมทำให้ฝั่งฟากเจน “อานันท์” อาจจะเชื่อมต่อกับ “เจน” คนรุ่นใหม่ ได้ดีกว่าฟากของ พล.อ.ประยุทธ์

ดังที่นายอานันท์วิพากษ์ไว้

“เด็กพูดภาษาดิจิตอล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาอะนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง”

ทำให้เจน “อานันท์” และเจน “ประยุทธ์” แม้จะใกล้เคียงกัน

   แต่ก็ดูเหมือนมี “ช่องว่าง” ให้เห็นอย่างชัดเจน