ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 13 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
สถานะ การเมือง
ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รุก กลายเป็น รับ
การตอบรับเข้าร่วม “คณะกรรมการสมานฉันท์” ของนายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สร้าง “ความหวัง” ขึ้นมาเล็กน้อย
เพราะว่า 3 คนนี้เป็น “อดีต” นายกรัฐมนตรี
ความสำเร็จนี้มิได้มาจากความพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถของนายชวน หลีกภัย ซึ่งดำเนินการไปตามมติจากที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเท่านั้น
หากแต่มาจากความเป็นจริงของ “ปัญหา”
ความเป็นจริงของปัญหาที่ปรากฏขึ้นภายในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของ “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคมที่พัฒนาเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคมนั้นเอง
ทำให้เกิดอารมณ์ “ร่วม” ในทางสังคม
เป็นอารมณ์ “ร่วม” ที่สมควรจะมีกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งมาสะสางปัญหาก่อนที่ปัญหาจะกลายเป็น “วิกฤต” อันใหญ่หลวงขึ้นอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต
ไม่ว่าอดีตเมื่อปี 2519 ไม่ว่าอดีตเมื่อปี 2553
อะไรคือ ปัญหา
ที่จะเป็น “วิกฤต”
ต้องยอมรับร่วมกันว่า ปัญหาที่ปะทุขึ้นอย่างเด่นชัดนับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา เป็นผลพวงอันเนื่องแต่รัฐประหาร 2 รัฐประหารต่อเนื่องกัน
เป็นปมเป็นประเด็นอันมีการกล่าวหา
นั่นก็คือ ปัญหาก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั่นก็คือ ปัญหาก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ความหวังก็คือ จะใช้ “รัฐประหาร” ในการแก้ปัญหาและความขัดแย้ง
ความเป็นจริงในทางการเมืองปัจจุบันพิสูจน์ทราบอย่างเด่นชัดแล้วว่า ปัญหาและความขัดแย้งเหมือนที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เมื่อปี 2548 ก็ยังดำรงอยู่ไม่แปรเปลี่ยน
เพียงแต่เปลี่ยนจาก “ทักษิณ” มาเป็น “ธนาธร” เท่านั้นเอง
ปรากฏการณ์ทางการเมืองนับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาเท่ากับเป็นการตอกย้ำและยืนยันให้รับรู้ร่วมกันว่า รัฐประหารมิได้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
คำถามก็คือ แล้วใครคือโจทย์ ใครคือปัญหาที่ถูกยกขึ้นมา
อำนาจการเมือง
ใหม่ปะทะกับเก่า
หากนับจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 สามารถโค่นล้มและทำลายอำนาจทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยลงได้ นายทักษิณ ชินวัตร ถูกขจัดออกไป
แต่บารมีของนายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังมีเต็มเปี่ยมผ่านพรรคพลังประชาชน
หากนับจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สามารถโค่นล้มและทำลายอำนาจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยลงได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกขจัดออกไป
แต่บารมีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ผนวกเข้ากับของนายทักษิณ ชินวัตร
รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อำนาจทางการเมืองอาจอยู่ในความยึดครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562
อำนาจยังอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไป
แต่ก็ปรากฏพลังใหม่ผ่านชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ ปรากฏตัวละครใหม่คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กระทั่งผู้กุมอำนาจรัฐจำต้องหาทางบดขยี้และทำลายเหมือนที่เคยทำในอดีต
แต่พลังใหม่นี้ก็ไม่ได้ถูกบดขยี้จนแหลกละเอียดเหมือนกับที่หวังตั้งไว้
เยาวชนปลดแอก
คณะราษฎร 2563
ต้องยอมรับว่าการปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” คือตัวละครใหม่ในทางการเมือง เป็นตัวละครที่รับไม่ได้จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในทศวรรษแห่งความมืดมน
ไม่ว่าจะกระทำต่อ “ไทยรักไทย” ไม่ว่าจะทำต่อ “อนาคตใหม่”
สัมผัสได้จากข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ไม่เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตและข้องใจต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันเป็นกลไกแห่งอำนาจและการสืบทอดอำนาจ
หากแต่เขาได้ยกระดับข้อเรียกร้องอย่างชนิดที่ “ทะลุเพดาน”
แม้ว่าพวกเขาจะสะเทือนใจจากชะตากรรมทางการเมืองในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร ในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอดจนที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประสบแทบไม่แตกต่างกัน
กระนั้น พวกเขาก็ได้ก้าวพ้นจากจุดที่ “เหยื่อ” เหล่านั้นเคยเรียกร้อง
รูปธรรมที่พวกเขาตั้งชื่อเป็น “คณะราษฎร 2563” สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการอันมีมากตั้งแต่เมื่อปี 2475 กระทั่งเมื่อปี 2516 และภายหลังสถานการณ์หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
กลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองในอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งสำคัญ
จากรุก เป็นตั้งรับ
โจทก์ เป็นจำเลย
เหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทำให้สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นฝ่ายรุกในทางการเมือง รูปธรรมก็คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
เหมือนกับทำให้ดำรงอยู่ในสถานะเป็น “โจทก์” ในทางการเมือง
โดยที่สามารถรุกไล่และกล่าวหาไปยังตัวละครอื่นไม่ว่านายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่านายธนาธร จึงรุ่งเรือง ให้ดำรงอยู่ในสถานะเหมือนกับเป็น “จำเลย”
แต่เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา
สถานะอันเคยรุกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กลายเป็นตั้งรับ สถานะอันเคยเป็นโจทก์กล่าวหาผู้อื่นก็กลายเป็นจำเลยถูกกล่าวหาและตั้งข้อสังเกตจากสังคม
กระทั่งต้องมีการตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” เพื่อสะสางปัญหาก่อนกลายเป็นวิกฤต