เขาต้องการ “อนาคตที่หวังได้”

การเมืองไทย กลับสู่การใช้ท้องถนนเป็นเวทีอีกครั้ง

สวนดุสิตโพลล่าสุดที่สอบถามถึง “สาเหตุที่ทำให้การชุมนุมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้”

ร้อยละ 62.33 เห็นว่า เพราะไม่พอใจการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี

ร้อยละ 49.85 บอกต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย/ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ

ร้อยละ 48.42 เห็นว่า เป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

ร้อยละ 47.11 อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

ร้อยละ 44.15 เห็นว่า ผลงานของรัฐบาลย่ำแย่

ความจริงแล้ว หากรัฐบาลใส่ใจที่จะรับฟังเสียงจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่มาชุมนุม คงรับรู้ว่าเป็นเช่นเดียวกับของประชาชนใน “สวนดุสิตโพล” นี้หรือไม่

เสียงที่เรียกหา “การเมืองที่เป็นธรรม-รัฐธรรมนูญที่ไม่ส่งเสริมการสืบทอดอำนาจ-อนาคตที่มีความหวังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และอื่นๆ”

ว่าไปแล้ว สาระที่ชัดเจนคือ “สังคมที่ขาดความเท่าเทียม การบริหารความยุติธรรมแบบเลือกข้าง”

และที่สุดคือ “การไม่รับฟัง”

และเมื่อ “สวนดุสิตโพล” ถามว่า ประชาชนอยากบอกกับรัฐบาลเกี่ยวกับการชุมนุมนี้อย่างไร

คำตอบของประชาชนผู้ตอบคำถาม ร้อยละ 72.37 บอกว่า ต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข อย่าซื้อเวลา

ร้อยละ 61.69 เห็นว่า ไม่ควรใช้ความรุนแรง

ร้อยละ 60.43 อยากให้ฟังเสียงประชาชน/ผู้ชุมนุม

ร้อยละ 57.41 เห็นว่า เป็นการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตย

ร้อยละ 53.09 เห็นว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เป็นคำตอบที่เกิดคำถามต่อเนื่องขึ้นมาว่า รัฐบาลทำตามที่ประชาชนเห็นว่าควรทำกี่ข้อ หรือไม่เห็นเลย

เช่นเดียวกับ “สิ่งที่อยากบอกกับผู้ชุมนุม” ร้อยละ 72.37 ให้มีสติ อย่าเป็นเครื่องมือการเมืองของฝ่ายใด

ร้อยละ 65.97 ให้ระมัดระวังเรื่องการระบาดของโควิด-19

ร้อยละ 63.85 ไม่ใช้ความรุนแรง

ร้อยละ 60.67 เคารพกฎหมาย

ร้อยละ 60.41 อย่าก้าวล่วงสถาบัน

ก่อเกิดคำถามต่อเนื่องว่ามีกี่ข้อที่ผู้ชุมนุมไม่ทำตาม

ความเห็นของประชาชนใน “สวนดุสิตโพล” ครั้งนี้ว่า “ทำอย่างไรการชุมนุมการเมืองจะยุติ” ร้อยละ 61.44 บอกไม่ใช้ความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย

ร้อยละ 57.90 รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุม

ร้อยละ 56.58 เห็นว่าควรมีการเจรจา/ตกลงกันแบบสันติวิธี

ร้อยละ 49.54 เห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายควรรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผล

ร้อยละ 44.09 เห็นว่าต้องมีความยืดหยุ่นซึ่งกันและกัน/ถอยคนละก้าว

แม้จะเป็นทางออกที่ไม่ค่อยจะให้ความรู้สึกตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมากนัก แต่น่าสนใจตรงที่คำตอบของประชาชนตามโพลนี้หากชั่งน้ำหนักในความรู้สึกให้ดีแล้ว เห็นว่า “ควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดในการแก้ไข”

“ความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร

หากติดตามเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องโดยไม่เอาอคติส่วนตัวเข้ามาชี้นำความคิดตัวเอง ย่อมรู้ว่า “อนาคตที่หวังได้” เป็นประเด็นสำคัญของการเรียกร้อง

และ “อนาคตที่หวังได้” นี่เองที่โยงเข้าสู่ “ความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้”