โฟกัสพระเครื่อง /โคมคำ/เครื่องรางตะกรุดใบลาน หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ[email protected]

 

เครื่องรางตะกรุดใบลาน

หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร

วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

 

“พระครูวินัยธรรม” หรือ “หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร” วัดพวงมาลัย ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งแม่กลอง

เกียรติคุณปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย อุดมด้วยวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง

หลวงพ่อแก้วสร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุดใบลานบางปืน เหรียญปั๊ม และเหรียญหล่อหลายรุ่น เป็นที่นิยมและหวงแหนกันมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตะกรุดใบลาน ที่จัดสร้างให้บรรดาลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิด ตะกรุดของท่านจะยึดเอาใบลานเป็นหลักในการทำ เจาะจงจะต้องนำมาจากต้นตาลที่ขึ้นอยู่ที่ปากคลองบางปืน ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

ใช้ยอดใบลานอ่อนเดือนห้า เหตุที่ต้องใช้ต้นตาลจากบางปืน เพราะเป็นเคล็ดคำว่า “บางปืน” นั้น เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า “บังปืน” ที่กร่อนคำเป็นบังปืน ใช้เป็นการข่มนาม

ครั้นได้ใบลานมาแล้ว จะนำใบลานตัดเป็นชิ้นๆ ขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว แล้วจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาลงอักขระบนใบลาน

อักขระตัวขอม อ่านได้ว่า “ภู ภิ ภู ภะ” ล้อมรอบด้วยตัว “มิ” ไว้ตรงกลาง ประกอบด้วยอักขระหนุนตามสมควร

คาถาในการอาราธนาตะกรุดใบลานบังปืน ตั้งนะโมสามจบ นำตะกรุดจบที่หน้าผาก ว่าดังนี้ “ภูภิ ภูภะ อะมิ อุทถัง อัดโธ นะโมพุทธายะ”

เมื่อคาดเข้าติดตัวให้ว่าคาถาเวลาผูกปมเชือก ดังนี้ “ภูภิ ภูภะ อะมิ มิมังกายะพัทธนัง อธิษฐานมิ”

ตะกรุดใบลานบ้านบางปืน เป็นวัตถุมงคลที่ชาวแม่กลองหวงแหน เด่นด้านอยู่ยงคงกระพัน มีประสบการณ์มามากมาย

ปัจจุบันหาของแท้ยาก

ตะกรุดใบลานบังปืน หลวงพ่อแก้ว

 

กําเนิดในปีมะแม พ.ศ.2393 พื้นเพเป็นชาว ต.บางแค อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ในวัยเยาว์ ศึกษาวิทยาคมจากบิดา ซึ่งอดีตเป็นทหารวังหน้า มีวิชาแก่กล้าเชี่ยวชาญพุทธาคม และเป็นคนโปรดของวังหน้า เมื่ออายุมากขึ้น จึงลาออกจากทหารวังหน้า มาอยู่ที่ ต.บางแค อ.อัมพวา ถ่ายทอดพุทธาคมให้กับบุตรชายทั้ง 3 คน

บรรพชาเมื่ออายุ 10 ขวบ จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ตรงกับปี พ.ศ.2413 จึงอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบางแคใหญ่ มีหลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้นามฉายาว่า พรหมสโร

ศึกษาพุทธาคมและวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ พระอุปัชฌาย์ ที่เชี่ยวชาญและเก่งกล้าในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเรืองพุทธาคม

จากนั้น เดินทางไปเมืองเพชร เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านพุทธาคมและวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี

ทั้งยังศึกษาเพิ่มเติมกับพี่ชายคือ อาจารย์เกต วัดทองนพคุณ และจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ จนพี่ชายได้เป็นเจ้าอาวาส พร้อมทั้งศึกษาเรียนรู้ด้านวิชาช่างไม้ ช่างปูน จากวัดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จนมีความชำนาญ

ด้วยเหตุที่พำนักจำพรรษาและใช้เวลาศึกษาสรรพศาสตร์ต่างๆ อยู่เมืองเพชรเป็นเวลานาน ทำให้มีคนเข้าใจผิดคิดว่าท่านเป็นชาวเพชรบุรี

กระทั่งปี พ.ศ.2424 วัดช่องลม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ขาดเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัด ชาวบ้านจึงไปอาราธนาไปครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม

หลังจากนั้น 6 ปี จึงย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย

 

สําหรับวัดพวงมาลัย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สร้างเมื่อปี พ.ศ.2430 โดยสัสดีพ่วง และนางมาลัย จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดพวงมาลัย โดยอาราธนาหลวงพ่อแก้วจากวัดช่องลม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรก

ในห้วงที่ครองวัดพวงมาลัย มีผลงานการพัฒนาหลายประเภท โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง ด้วยท่านมีฝีมือเชิงช่างที่ได้ศึกษามาจากเมืองเพชร ศิษย์ของท่านสมัยนั้น หากลาสิกขาจะเก่งด้านช่างไม้, ช่างปูน สามารถนำไปประกอบอาชีพได้

รวมทั้งสร้างเจดีย์แบบมอญที่วัดพวงมาลัย เรียกว่า เจดีย์หงสาวดี หรือเจดีย์หงษา ด้านในมีพระพุทธบาทจำลองและพระพุทธปฏิมากรอยู่ทั้ง 4 ทิศ

ในด้านวัตถุมงคลแล้ว ไม่มีใครในเมืองสมุทรสงครามในยุคนั้นที่จะไม่รู้จักตะกรุดใบลาน หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “ตะกรุดบังปืน” หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

ด้วยอุปเท่ห์ในการสร้างที่ต้องเฉพาะเจาะจงให้ผู้ที่ต้องการตะกรุดไปใช้ ต้องไปตัดใบลานด้วยตัวเองจากต้นลาน ที่ปากคลองบางปืนเท่านั้น (ปัจจุบันบ้านบางปืน หมู่ 6 ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม)

นอกจากตะกรุดบังปืนที่เลื่องชื่อ ยังมีผ้ายันต์ ลูกอม

 

ชื่อเสียงเกียรติคุณในด้านความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่เล่าขานโด่งดังขนาดที่ว่าเจ้านายหลายพระองค์ในกรุงเทพฯ แวะมาสนทนาธรรมกับท่านถึงเมืองสมุทรสงคราม อาทิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ

โดยเฉพาะสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อแก้วเป็นพิเศษ โดยได้สร้างตำหนักส่วนพระองค์ชื่อว่า “ญาโณยาน” ไว้ที่ข้างวัดพวงมาลัย 1 หลัง เพื่อเป็นที่พักผ่อน

ตำหนักหลังดังกล่าวเป็นหลังเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จมาประทับ แต่ปัจจุบันตำหนักนั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลงและถูกรื้อไปในที่สุด เหลือเพียงที่ดินตกทอดแก่ทายาทในตระกูลภาณุพันธ์ ซึ่งทายาทท่านนั้นได้ถวายให้เป็นที่ธรณีสงฆ์

มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2462 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 49