สุจิตต์ วงษ์เทศ /นาฏกรรมแห่งรัฐ ผดุงอำนาจด้วยพิธีกรรม

อำนาจเชิงสัญลักษณ์ในกระบวนแห่แหนทางบก (จิตรกรรมฝาผนังวัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

นาฏกรรมแห่งรัฐ

ผดุงอำนาจด้วยพิธีกรรม

นาฏกรรมแห่งรัฐ คือพระราชพิธีซึ่งมาจากประเพณีพิธีกรรมในศาสนาผี แล้วห่อหุ้มคลุมด้วยศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

เพื่อผดุงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของพระราชาในรัฐสมัยอยุธยา

 

พระราชพิธีเริ่มมีเมื่อไร?

พระราชพิธี คือ นาฏกรรมแห่งรัฐนาฏกรรม หมายถึงการแสดงหรือการละเล่นที่รัฐต้องจัดการให้ประชาชาติราษฎรรับรู้ด้วยหูหรือได้ดูด้วยตาเป็นประจำฤดูกาลตลอดปี ดังมีรายการบอกไว้ในเอกสารโบราณ ได้แก่ กฎมณเฑียรบาล, ทวาทศมาสโคลงดั้น เป็นต้น

พระราชพิธีเริ่มมีสมัยหลังบ้านเมืองดั้งเดิมในอุษาคเนย์รับวัฒนธรรมอินเดีย (ได้แก่ ศาสนา, ภาษา, การปกครอง, เทคโนโลยี เป็นต้น) ราวหลัง พ.ศ.1000

บ้านเมืองดั้งเดิมอุษาคเนย์มีประเพณีในศาสนาผีทุกฤดูกาลตลอดปี เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารเลี้ยงชุมชนและบ้านเมืองหลายพันปีมาแล้ว

ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียฝ่ายพระราชาและบรรดาคนชั้นนำได้พัฒนาให้ทันสมัยและศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม โดยสืบทอดประเพณีในศาสนาผี แล้วห่อหุ้มคลุมด้วยศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงเรียกประเพณีเหล่านั้นด้วยภาษาชั้นสูงในลัทธิเทวราชว่า “พระราชพิธี”

รัฐนาฏกรรม หมายถึง รัฐคือโรงละครที่มีการแสดงหรือการละเล่นเป็นไปตามระเบียบโลก (จักรวาล) ทั้งนี้ เพื่อทำให้ประชาชนอุ่นใจว่าตนจะมีชีวิตอย่างมั่นคงแล้วทำมาหากินอย่างปกติ โดยประคับประคองอยู่รอดปลอดภัยด้วยทุกข์สุขตามควรแก่อัตภาพ (ซึ่งไม่ใช่เสมอภาคเท่าเทียม) ลักษณะนี้มีอย่างเดียวกันหรือเหมือนกันในรัฐอุษาคเนย์สมัยโบราณ (ก่อนสมัยใหม่)

บริหารจัดการแบ่งแยกหน้าที่ในนาฏกรรมแห่งรัฐ ดังนี้ (1.) พระราชาและเจ้านายเชื้อวงศ์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง และผู้แสดง (2.) นักบวช (พระสงฆ์, พราหมณ์, หมอพราหมณ์) เป็นผู้กำกับการแสดง (3.) ประชาชาติราษฎร เป็นผู้แสดงประกอบ และผู้ดู

[นิยามคำอธิบายได้แนวทางโดยสรุปจากบทความเรื่องรัฐนาฏกรรม ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 หน้า 30]

 

อำนาจของนาฏกรรม

สมัยอยุธยา ความมั่งคั่งของราชอาณาจักรมีผลเกี่ยวข้องถึงความมั่นคงของราชสำนัก ดังนั้น พระราชาทุกรัชกาลต้องมีพิธีกรรมเพื่อแสดงความมั่งคั่งของราชอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ขณะเดียวกันต้องลงทุนสูงให้มีนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อแสดงความมั่นคงของพระราชาด้วยอำนาจเชิงสัญลักษณ์จากพิธีกรรมที่แสดงออกด้วยนาฏกรรมกระชับอำนาจ

อำนาจของพระราชาสมัยอยุธยาในความเป็นจริงมีไม่มากล้น โดยมีต้นตอความเป็นมาดังต่อไปนี้

  1. บ้านเมืองดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว มีหลายชุมชนหมู่บ้านอยู่รวมกันเป็นเมือง โดยแต่ละชุมชนหมู่บ้านมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันและกันทางการแต่งงาน (ต้นตอของระบบอุปถัมภ์) โดยมีพิธีกรรมในศาสนาผีประจำฤดูกาลตลอดปี เช่น หน้าแล้งขอฝนเพื่อทำนา, หน้าน้ำขอขมาและขอน้ำลดเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวแตกรวงเต็มท้องนา เป็นต้น
  2. รัฐโบราณในอุษาคเนย์เติบโตจากบ้านเมืองดั้งเดิม ดังนั้น พระราชารัฐโบราณมีชายาข้าทาสบริวารบ่าวไพร่เป็นลูกหลานเจ้าถิ่น (หมายถึงผู้มีอิทธิพลหรือหัวหน้าชุมชนท้องถิ่น) ที่อยู่รวมเป็นรัฐ จึงต้องเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าถิ่น (เริ่มแรกระบบอุปถัมภ์) นั้นๆ

พิธีกรรมในศาสนาผีมีอำนาจควบคุมทุกฝ่ายให้เคร่งครัดแบบแผนประเพณี พระราชารับศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์มาห่อหุ้มศาสนาผีให้ดูดีทันสมัยก้าวหน้า แล้วสถาปนาพิธีกรรมโอ่อ่าอลังการเพื่อแสดงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ไปในคราวเดียวกัน

  1. รัฐอยุธยาสืบทอดจารีตประเพณีและพิธีกรรมจากรัฐโบราณอุษาคเนย์ ซึ่งพระราชาในความเป็นจริงไม่มีอำนาจมากล้นอย่างที่เข้าใจในหมู่มวลชน ทั้งนี้ มาจากบรรดาข้าราชบริพารอันมีไม่น้อยล้วนเป็นลูกท่านหลานเธอผู้มาจากตระกูลที่มีอำนาจในตัวเอง และพระราชาต้องประนีประนอมหรือลูบหน้าปะจมูกด้วยความเกรงอกเกรงใจในระบบอุปถัมภ์

 

สัญลักษณ์ของอำนาจ

ขบวนแห่แหนในพระราชพิธีทั้งทางน้ำ (ชลมารค) และทางบก (สถลมารค) เป็นนาฏกรรมแสดงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของพระราชาในอุษาคเนย์โบราณ ดังต่อไปนี้

  1. สถานภาพอันสูงสุดของพระราชามีเหนืออื่นใด ดูจากตำแหน่งที่ประทับของพระราชาในขบวนแห่แหน (แม้จะเป็นผู้ได้รับมอบหมายทำแทน เช่น งานแรกนาขวัญ หรือพระบรมโกศในงานพระบรมศพ) อยู่กึ่งกลางค่อนไปข้างหน้า และแวดล้อมด้วยบริพารไพร่พลล้อมหน้าหลัง แห่แหนเครื่องยศของพระราชานับตั้งแต่บังสูรย์, บังแทรก, พัดโบก, จามร, ทอนตะวัน เป็นต้น

ถ้าเสด็จทางน้ำด้วยขบวนเรือมีจำนวนมากเต็มแม่น้ำ พระราชาประทับบนเรือที่มีโขนเรือ (หัวเรือ) แกะสลักเป็นรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์พาหนะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นสัญลักษณ์ว่าพระราชาเสมอด้วยเทวราช ทรงอำนาจเหนือจักรวาล

  1. ช่วงชั้นทางสังคม ของเจ้านายบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการ มีตามตำแหน่งลดหลั่นลำดับสูงต่ำของอำนาจหน้าที่ ต้องประจำที่ตรงไหน? อย่างไร? ถูกกำหนดตรงตามสถานภาพแท้จริงของแต่ละคน ซึ่งไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียม โดยมิอาจกำหนดตามอำเภอใจได้
  2. เครื่องยศอลังการแสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ดูจากฉลองพระองค์เครื่องทรง, เครื่องแต่งตัวตั้งแต่พระราชาลงมาถึงเจ้านาย, ขุนนางข้าราชการ ล้วนแต่ง “เต็มยศ” รวมถึงไพร่ราบพลเลวที่ถูกเกณฑ์เข้าขบวนแห่แหนก็ต้องสวมเสื้อกางเกงสีต่างๆ ตามลำดับศักดิ์และหมวดหมู่ซึ่งพระคลังศุภรัตน์จัดเตรียมให้

 

พิธีกรรม

นาฏกรรมแห่งรัฐเป็นการละเล่น (หรือการแสดง) เสมือนละครโรงใหญ่ของพิธีกรรมประจำปี เพื่อขอความมั่งคั่งในข้าวปลาอาหารของราชอาณาจักร และความมั่นคงในอำนาจของพระราชา พิธีกรรมประจำปีมี 2 ระดับ คือ ชุมชน กับรัฐ

ระดับชุมชน พิธีกรรมในศาสนาผีเพื่อความมั่นคงทางอาหารการกินของคนในชุมชนไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

ระดับรัฐ ยกประเพณีพิธีกรรมในศาสนาผีของชุมชนไปพัฒนาโดยห่อหุ้มคลุมภายนอกด้วยศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่รับจากอินเดียไม่น้อยกว่า 1,500 ปีมาแล้ว (หรือเรือน พ.ศ.1000) หลังจากนั้นสืบทอดส่งต่อถึงรัฐอยุธยา

พิธีกรรมสำคัญระดับรัฐของทุกปีมีนาฏกรรมแห่งรัฐ โดยรัฐต้องลงทุนด้วยทรัพย์สินมหาศาลจัดนาฏกรรมใหญ่โตโอ่อ่าหรูหราอลังการ เช่น หน้าแล้งขอฝน, หน้าน้ำขอขมาผีน้ำผีดิน เป็นต้น

หน้าแล้งขอฝน อยู่ช่วงเดือน 4, 5, 6 (ทางจันทรคติ)

เดือน 4 (กุมภาพันธ์-มีนาคม), เดือน 5 (มีนาคม-เมษายน), เดือน 6 (เมษายน-พฤษภาคม) ไม่มีฝนตก ซึ่งเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวในนา ได้ข้าวเปลือกเก็บไว้ตำเป็นข้าวสารหุงกินได้ตลอดปี ช่วงเวลานี้ต้องมีพิธีขอฝนเพื่อขอน้ำเตรียมทำนาในฤดูการผลิตต่อไป

หน้าน้ำขอขมาผีน้ำผีดิน อยู่ในเดือน 10, 11, 12 (ทางจันทรคติ) ตรงกับช่วงเวลา เปลี่ยนปีนักษัตร “สิ้นฤดูกาลเก่า ขึ้นฤดูกาลใหม่”

เดือน 10 (สิงหาคม-กันยายน), เดือน 11 (กันยายน-ตุลาคม), เดือน 12 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เป็นช่วงเวลาน้ำหลากจากฝนตกหนักและมาก มีน้ำนองจากทางเหนือไหลลงทางใต้ ท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

ช่วงเวลานั้นต้นข้าวในทุ่งนาออกรวงกำลังเจริญเติบโต บางแห่งเริ่มสุกมีเมล็ดเป็นสีเหลืองแก่ ถ้าน้ำเหนือหลากมากล้นจนท่วมทุ่งนาแล้วท่วมต้นข้าวนานหลายวัน ข้าวเหล่านั้นจะเน่าเสียหายไม่มีเหลือเก็บไว้หุงกิน

ช่วงเวลานี้ต้องมีพิธีขอขมาผีน้ำผีดิน เพื่อร้องขอให้น้ำลดหลากท่วมข้าวในท้องนา