วรศักดิ์ มหัทธโนบล : มองกระแสคนจีนโพ้นทะเลอพยพเข้าไทยหลังสมัยใหม่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (4)
หลักคิดแห่งการอพยพ (ต่อ)

การที่แนวระบบได้รับการต่อยอดไปสู่ต้นแบบของการหมุนเวียน แล้วครอบคลุมรูปแบบวงจรการอพยพขึ้นมาโดยเน้นไปที่ระดับนานาชาตินั้น ได้ถูกท้าทายด้วยเงื่อนไขผลประโยชน์ที่เป็นตัวแสดงที่มีเหตุผลภายใต้แรงกดดันของตลาดอย่างถึงที่สุด

และทำให้ปัจจัยทางการเมืองและทางโครงสร้างถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยศูนย์กลางของแนวคิดนี้จะตั้งอยู่บนหลักการแยกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้เป็นไปตามแรงขับของกระบวนการแรงงานที่มักมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ

ระบบที่เป็นวงจรเช่นนี้จะต้องทำให้เศรษฐกิจภายในทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการยังชีพของแรงงานอพยพ หากแต่เป็นระบบความมั่นคงทางสังคมเพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

หลักคิดที่เสนอผ่านแนวระบบนี้ได้รับการยอมรับอย่างมากเมื่อพบว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจกับสถาบันทางการเมืองและกฎหมายต้องพึ่งพาเคียงคู่กันไป โดยการพึ่งพานี้จักมิอาจทำให้วิถีการผลิตถูกผลิตซ้ำได้ ถ้าปราศจากการเข้ามาช่วยเหลือของสถาบันนอกภาคเศรษฐกิจ

ซึ่งก็คือสถาบันทางการเมืองและกฎหมายนั้นเอง

แม้ต้นแบบข้างต้นทำให้เห็นถึงปัจจัยมหภาคเชิงโครงสร้างของการอพยพที่เป็นวงจรก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายมุมมองที่เห็นว่าแรงงานอพยพถูกกำหนดขึ้นจากปัจจัยอิทธิพลความต้องการแรงงาน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เบื้องต้นของการอพยพที่สามารถเห็นได้จากเมืองศูนย์กลางต่างๆ ที่พัฒนาแล้วของโลกทุกวันนี้

ในขณะที่เมืองที่กำลังพัฒนาในโลกก็พบการแพร่ของโรงงานนรก ที่ต่างก็จ้องเอาเปรียบค่าแรงจากแรงงานที่ไร้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ ซึ่งก็คือแรงงานอพยพ และส่วนใหญ่มักเป็นแรงงานที่ไร้ทักษะ แม้ความจริงจะเป็นเช่นนั้น แต่การศึกษาในแนวนี้ก็เป็นที่ยอมรับในฐานะอีกแนวทางหนึ่งของการศึกษา

 

แนวเพศสภาพ (The Gender approach)

การศึกษาการอพยพก่อนทศวรรษ 1980 โดยส่วนใหญ่แล้วมักเพ่งไปที่เพศชาย ตราบจนปลายทศวรรษเดียวกันจึงมีงานศึกษาที่เพ่งไปที่เพศหญิงเกิดขึ้น การศึกษาในช่วงนั้นได้ฉายภาพเส้นทางโคจรที่หลากหลายของผู้อพยพที่เป็นหญิง ที่ต่างก็ถูกใช้แสวงหาผลประโยชน์ไปอย่างผิดๆ

การศึกษาในแนวนี้จึงเสนอว่า แรงงานอพยพหญิงควรได้รับการปฏิบัติในเชิงบวก เช่น การปล่อยให้เป็นอิสระ หรือการมีอิสระทางการเงิน

ถึงแม้จะเป็นปากเสียงให้แก่เพศหญิงที่ทรงพลังก็จริง แต่การศึกษาในแนวสตรีนิยมนี้กลับไม่เคยก้าวขึ้นเป็นกระแสหลักในการวิจัยการอพยพ การศึกษาในแนวนี้จึงค่อนข้างจะขาดแคลน

แต่งานศึกษาเท่าที่มีซึ่งเกิดโดยตรงครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1984 ก็ทำให้เห็นถึงบทบาทของเพศสภาพที่สัมพันธ์กับการอพยพจนสรุปได้ว่า เพศหญิงก็มีพื้นที่ทางสังคมพอที่จะก่อให้เกิดหลักคิดเฉพาะตนขึ้นได้

แต่ถ้าเกิดขึ้นเพียงเพราะเห็นอกเห็นใจเพศหญิงก็คงไม่เพียงพอ หากแต่จะต้องพัฒนาหลักคิดนี้ให้เป็นแนวคิดกลาง (central concept) ให้ได้ คือให้เป็นหลักคิดที่เสมอกับหลักคิดการอพยพอื่นๆ

การที่หลักคิดดังกล่าวแยกเพศสภาพออกมาต่างหากเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะบีบคั้น ด้วยได้กดดันไปสู่ข้อสรุปที่ว่า งานในครัวเรือนส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่เพศหญิงและมีความสำคัญน้อย ทั้งยังมีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ต้นทาง ในขณะที่พื้นที่ปลายทางก็ยังได้งานที่ไม่มั่นคงอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป งานศึกษาที่ระบุถึงฐานะของเพศสภาพที่ไร้ความสำคัญในตลาดแรงงานนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงทางเลือกที่ไม่เสมอภาคของครอบครัวที่ยากจะสูญหาย และแม้จะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่การศึกษาแนวนี้ก็มีขึ้นแล้ว

และมีความสำคัญในระดับที่ไม่ควรละเลยหรือเมินเฉย

 

แนวเครือข่ายการอพยพ (Migration networks)

การศึกษาในแนวนี้เริ่มมาจากการวิจารณ์หลักคิดคลาสสิคใหม่ (Neoclassical theory) อย่างแข็งขันโดยนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่ม “เศรษฐศาสตร์ใหม่ของแรงงานอพยพ” (New Economics of Labour Migration, NELM)

กลุ่มนี้แยกตนออกจากหลักคิดเศรษฐศาสตร์จุลภาคของการอพยพ (หรือหลักคิดคลาสสิคใหม่ ซึ่งก็คือแนวจุลภาคเชิงปัจเจกดังได้กล่าวไปแล้ว) โดยมุ่งที่ความเข้าใจยุทธศาสตร์ของครอบครัวที่พึ่งพากันระหว่างผู้อพยพกับครอบครัวของตน

และให้ความสำคัญกับที่พำนักที่ทั้งเสี่ยงต่อการดูแลและการรวมกลุ่ม

การวิเคราะห์ของแนวนี้จะเน้นไปยังระดับครัวเรือนและรูปแบบความมั่นคงทางสังคม กล่าวโดยสรุปคือ การศึกษาแนวนี้ให้ค่ากับทุนมนุษย์ (human capital) มากกว่าหลักคิดคลาสสิคใหม่ ในขณะที่ทุนเครือข่ายและทุนเครือญาติก็ยังคงอยู่ในฐานะที่เป็นทุนทางสังคม

แนวการศึกษานี้ที่เริ่มเมื่อ ค.ศ.1985 ต่อมาได้ถูกพัฒนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยผ่านการวิจัย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การวิจัยที่ว่านี้เจาะจงใส่ใจไปยังประเด็นยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดตามสมรรถนะของผู้อพยพ ที่กลายเป็นตัวแสดงของการเปลี่ยนแปลง (actors of change)

วิสัยทัศน์ที่ตีตนออกจากปัจเจกชนและอณูชน (atomistic, ในที่นี้หมายถึงรายบุคคล ซึ่งจัดเป็นหน่วยที่เล็กลงมาจากปัจเจกชน) นี้ ผู้อพยพในปัจจุบันได้คิดแล้วว่าตนคือผลิตผลรวม และทำการเชื่อมต่อครอบครัวผู้อพยพและที่มิใช่ผู้อพยพเข้าไปอยู่ในชุดความสัมพันธ์ร่วมกัน จนยึดถือเป็นการวิเคราะห์แนวใหม่ที่มีความคิดเครือข่ายเป็นแกนหลัก

ควรกล่าวด้วยว่า แม้หลักคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ของแรงงานอพยพจะวิจารณ์หลักคิดคลาสสิคใหม่ก็ตาม

แต่ก็ใช่ว่าหลักคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ฯ จะปลอดพ้นจากการวิจารณ์ก็หาไม่ เพราะถึงที่สุดแล้วก็ยังมีผู้ที่เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วหลักคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ฯ ได้เสนอในสิ่งที่ไม่ต่างกับหลักคิดคลาสสิคใหม่มากนัก

กล่าวคือ ต่างก็พยายามอธิบายว่าการอพยพมาจากแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ จนทำให้บุคคลในระดับปัจเจกและระดับครอบครัวจำต้องตัดสินใจอพยพ โดยไม่สนใจว่าที่ตัดสินใจไปนั้นมีโอกาสที่จะถูกบังคับหรือมีข้อจำกัดจากนโยบาย จากการเมือง หรือจากปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ที่กว้างขวางอย่างไรบ้าง

จากเหตุนี้ งานวิจารณ์บางชิ้นจึงเห็นว่า หลักคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ฯ ไม่ได้เสนออะไรใหม่ นอกจากจุดเด่นในแง่ที่เป็น “ทางที่สาม” (third way) ให้แก่การศึกษาการอพยพ

และตั้งข้อสงสัยว่า ชะรอยหลักคิดนี้จะเป็นได้ก็เพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่” (Old wine in new bottles) ของคลาสสิคใหม่เท่านั้น?

 

นอกจากนี้ งานศึกษาแนวเครือข่ายการอพยพยังได้รับการต่อยอดจากงานในแนวเพศสภาพอีกด้วย โดยศึกษาไปถึงประเด็นเครือข่ายกับเพศสภาพด้วยการชี้ให้เห็นว่า จุดกึ่งกลางของเครือข่ายที่เชื่อมที่พำนักต้นทางกับปลายทางก็คือ ตัวแสดงที่เป็นปัจเจก (จุลภาค) กับแรงผลักดันที่เป็นโครงสร้างใหญ่ (มหภาค)

โดยมีครอบครัวเป็นผู้แสดงบทบาทอยู่ตรงกลาง

งานศึกษานี้ยังชี้ต่อไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพกับเครือข่ายในการอพยพนั้น จะถูกบีบคั้นจากการแบ่งแยกแรงงานตามเพศเข้ามาในการพิจารณาด้วย ในฐานะความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำรงอยู่ในการผลิตของสังคมนั้น

ไม่เพียงเท่านั้น แนวเครือข่ายยังได้รับการต่อยอดต่อไปอีกว่า เครือข่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมนั้น มีการเชื่อมต่อกับผลกระทบที่เกิดตามมาจากการอพยพอยู่ด้วย และวันเวลาที่ผ่านไปก็ได้ก่อให้เกิดการสั่งสมของขั้นตอนวิธีการที่เป็นวงจรเพิ่มมากขึ้น

ถึงตอนนั้นการอพยพก็จะคงที่ด้วยตัวของมันเองในที่สุด จากนั้นก็จะเริ่มสร้างสรรค์ตลาดในภูมิภาคที่กำลังพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น แต่เป็นการสร้างสรรค์ที่ทำให้แบบแผนเดิมของสังคมกับองค์กรทางเศรษฐกิจเกิดภาวะวิจล (disrupt) และเกิดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การอพยพอีกครั้ง

ซึ่งก็คือเกิดสภาพที่เป็นวงจรนั้นเอง

————————————————————————————-
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง “ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย” โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป