เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | คำกลายความ

คําไทยที่กลายความไปนั้น คิดคร่าวๆ น่าจะมีอยู่ประมาณสามสาเหตุ เช่นดังนี้

หนึ่ง หมดหน้าที่การใช้ เช่น คำ ดงข้าว ไม้ขัดหม้อ เข็ดน้ำข้าว ซนฟืน ฯลฯ คำเหล่านี้เลิกใช้ไปโดยปริยาย เมื่อมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเข้ามาแทนการหุงข้าวแบบเตาที่ใช้ฟืนไฟ

ที่จริงคำประเภทนี้ไม่ควรจัดเข้าประเภท “กลายความ” หากควรเรียกว่า “เลิกใช้” ไปโดยปริยายเมื่อสิ่งอันเป็นที่มาของการเรียกใช้นั้นหมดไป

เช่นเดียวกับการ “เลิกใช้” นั้นหมดไปตามสมัยนิยม ดังคำเก่าที่เรียกชู้รักหรือคนรักว่า “ชิ้น” คือ “กิ๊ก” ในสมัยนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่า คำ “กิ๊ก” จะยังเป็นที่รู้จักกันอยู่หรือไม่ ด้วย “สมัยนิยม” มันเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน

เป็นอันว่าคำประเภทนี้หมดไปเพราะหน้าที่การใช้ กับหมดไปเพราะสมัยนิยม

สอง กลายความไปตามความคลี่คลายทาง “วาทกรรม” เช่น คำ “เผด็จการ” ที่ความหมายจริงคือการ “รวบอำนาจ” ซึ่งเมื่อทหารเข้ารวบอำนาจปกครองยุคหนึ่งอย่างยาวนาน

คำ “เผด็จการ” จึงกลายความว่าหมายถึงทหารโดยเฉพาะ เหมือนว่าทหารเข้ามามีอำนาจปกครองเมื่อไรก็เป็น “เผด็จการ” เมื่อนั้น แม้จนวันนี้

ส่วนฝ่ายผลเรือนนั้น แม้จะ “รวบอำนาจ” เพียงใด ก็ไม่ถือเป็นเผด็จการ ด้วยภาพเผด็จการทหารมันชัดเจนกว่าอยู่แล้ว

ทหารกลายเป็นสัญลักษณ์ผูกขาดของคำว่า “เผด็จการ” ไปโดยปริยาย

อาจเป็นเพราะทหารเป็นสถาบันของอำนาจเหนือกว่าสถาบันอื่นใดๆ

อำนาจนั้นใช้ได้ทั้งแก้ปัญหาและก่อปัญหา

หากจำแนกจุดนี้ไม่ได้ ทหารจะกลายเป็นสถาบันที่มีปัญหาอยู่ร่ำไป

อีกคำคือ “ประชาธิปไตย” ซึ่งความหมายที่แท้ของคำนี้มีทั้งโดยอรรถะและพยัญชนะ

โดยพยัญชนะ ประชาธิปไตยแปลว่า อำนาจเป็นใหญ่ของประชาชน (ประชา+อธิปไตย)

โดยอรรถะ ประชาธิปไตยหมายถึง อำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารและจัดการ เรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก และเป็นใหญ่

“อำนาจอันชอบธรรมของประชาชน” นั้นขยายความครอบคลุมถึงอำนาจสี่ประการคือ

การได้มาซึ่งอำนาจ ต้องชอบธรรม

การทรงไว้ซึ่งอำนาจ ต้องชอบธรรม

การใช้อำนาจ ต้องชอบธรรม

การมีส่วนร่วมในอำนาจ ต้องชอบธรรม

ความหมายที่กลายไปของคำ “ประชาธิปไตย” คือเน้นจำเพาะ “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็นเป็นใหญ่

แท้จริง เสรีภาพเช่นว่านี้เป็นส่วนหนึ่งในสี่อำนาจที่ว่า “ต้องชอบธรรม” คือ “การมีส่วนร่วมในอำนาจ”

ซึ่งต้องใช้เสรีภาพโดยชอบธรรมเป็นหลัก

ท่านอาจารย์พุทธทาสให้หลักคิดในเรื่องนี้ว่า เสรีภาพนั้นมีสองอย่างคือ

เสรีภาพไปตามอำนาจของกิเลส

เสรีภาพที่จะไปพ้นจากอำนาจของกิเลส

มีแต่เสรีภาพที่จะไปพ้นจากอำนาจของกิเลสเท่านั้นที่เป็นอำนาจอันชอบธรรมในการมีส่วนร่วมโดยชอบของประชาธิปไตยที่แท้

ถ้าเราจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ทำให้กลายเป็น “วาทกรรม” ขึ้นมาได้อย่างไร เราก็จะเข้าใจความหมายแท้จริงของคำคำนั้นได้ดียิ่งขึ้น

เช่น คำ “ประชาธิปไตย” นี้เป็นต้น

สาม คำหยาบที่กลายความไปตามยุคสมัย ตัวอย่างเช่น คำว่า “แดก” ซึ่งเดี๋ยวนี้เหมือนจะ “เบาความ” ลงไปแล้วกระมัง ด้วยเห็นใช้กัน “เตะตา” อยู่ ร้ายกว่านั้น ร้านริมทางข้างถนนแห่งหนึ่งถึงกับใช้คำเพื่อให้รู้สึกถึงรสชาติแบบสุดๆ โดยใช้คำว่า “แสบดาก” นั่นเลยทีเดียว

เพื่อนสนิทเคยคุยว่า บรรดาคำหยาบคายห้ามพูดที่เป็นคำไทยแท้ๆ นั้นมีอยู่แปดคำเท่านั้น ฟังแล้วก็เห็นจริงด้วย…นึกเอาเองละกัน

ด้วยเหตุนี้กระมังเราจึงแผลงคำนี้เป็นคำอื่นแต่พอให้เป็นที่รู้กัน ดังเช่น คำจิ๋ม คำจู๋ หรือถั่วดำ เป็นต้น

และคำเหล่านี้ก็คลี่คลายกลายความไปเรื่อยๆ จนบางยุคสมัยนำเอาวิถีวัฒนธรรมแบบร่วมมือร่วมใจดังเรียกว่าการ “ลงแขก” คือการช่วยเกี่ยวข้าวหรือร่วมแรงงานอื่นใด แล้วเราก็นำคำนี้มาแทนพฤติกรรมหยาบช้าร่วมโทรมหญิงว่า “ลงแขก”

คำเลี่ยงคำหยาบนี้เป็นคำไม่ใช้พูดพร่ำเพรื่อ เมื่อไม่ค่อยใช้พูดกันนานเข้าก็เลยไม่เห็นว่ามันเป็นคำหยาบตรงไหน

ตัวอย่าง ปัจจุบันมีร้านอาหารริมทางขึ้นป้ายใหญ่โตไม่ต่ำกว่าสองป้ายโดดเด่นเห็นชัดอยู่ริมถนนใหญ่ชานเมือง ป้ายนั้นใช้ข้อความเป็นชื่อร้านว่า

“ครัวสืบพันธุ์”

อุจาดตาจนไม่กล้าอ่าน ด้วยคิดเลยเถิดไปว่า นี่ถ้าจะชวนสาวไปร้านนี้ว่า “ไปสืบพันธุ์กันไหม” จะเป็นอย่างไร

คือคำที่เราไม่ใช้พูดกันด้วยเป็นคำหยาบ (แม้จะเป็นคำเลี่ยงคำหยาบ) นั้น นานไปคนก็ลืมและเลือนไปจนคนอีกรุ่นเห็นเป็นคำธรรมดาไม่หยาบคายอะไร

เห็นเป็นคำไพเราะด้วยซ้ำไปอีกนั่น

น้ำหนักของความหมายที่เปลี่ยนไปในคำเดียวกันนี้แหละเป็นชีวิตชีวาของภาษาหรือที่เรียกว่าภาษามีชีวิต

ที่น่าแปลกคือคนรุ่นใหม่ผู้กลับกล้าใช้คำหยาบคายตรงๆ ต่อสาธารณชนโดยไม่สนใจไยดีว่าถ้อยคำเหล่านั้นเสมือนบูมเมอแรงที่ขว้างไปแล้วสะท้อนกลับ เป็นการประจานทัศนะอุจาดของตนเองเต็มที่