มนัส สัตยารักษ์ | สังคมออนไลน์ คุณอนันต์ โทษมหันต์

วันดีคืนดีเพื่อนนักเขียนผู้มีความรู้และมีอารมณ์ขันคนหนึ่งได้โพสต์ข้อความขึ้นมาลอยๆ ว่า “รับเพิ่มได้อีกเกือบร้อย ลบกลุ่มใกล้ตัวสุดคือนักเขียน…ลาก่อน”

ผมตีความหมายอยู่หลายตลบ จนแปลได้ความว่า “เจ้าของโพสต์ได้ลบชื่อเพื่อนนักเขียนออกจากรายการความเป็นเพื่อนในโปรแกรมเฟซบุ๊กของเขา จึงมีที่ว่างพอที่จะรับเพื่อนใหม่ได้เท่ากับที่ลบออกไป…ลาก่อน”

ไม่แน่ใจว่า “จุดเดือด” คืออะไรกันแน่ถึงได้ลบเพื่อนออกจำนวนมาก จึงกลับไปดูโพสต์ย้อนหลัง แต่ไม่พบคอมเมนต์ใดให้ตีความได้ ทั้งนี้ น่าจะเพราะคอมเมนต์ที่สร้างจุดเดือดได้ถูกลบไปพร้อมกับการลบชื่อนั่นเอง

เพื่อนที่ให้ความรู้และอารมณ์ขันมีค่าสำหรับผมเสมอ เวลาถัดมาผมจึงสำรวจตัวเองอย่างใจเต้นไม่เป็นส่ำว่าเรายังจะเป็นนักเขียนอยู่หรือไม่ และถูกลบชื่อไปด้วยหรือเปล่า?…

ก่อนนี้เคยเป็นครับ แต่แล้วก็หยุดเขียนไปเสียเฉยๆ หลายปี แต่เมื่อสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมีงานชุมนุมวันนักเขียน ผมก็มักจะไปร่วมงานสังสรรค์ด้วยความคิดถึงเพื่อนที่ไม่ได้พบกันนาน ครั้งหนึ่งจะเป็นปีไหนไม่ได้จำ เมื่อจะลงทะเบียน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าผมไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคม ผมงงอยู่ครู่หนึ่ง เพราะผมเป็นสมาชิกระดับเป็นกรรมการสมาคมในยุคที่พี่สุภาว์ เทวกุล เป็นนายกด้วยซ้ำ

แต่ลึกๆ ก็ยอมรับว่า การเป็นนักเขียนของผมอาจจะถูก “ปลด” ไปแล้วก็ได้

ผมจ่ายค่าลงทะเบียนในฐานะ “แขก” ด้วยความสงสัยอีกหลายครั้ง จึงตัดใจจ่ายค่าสมาชิกตลอดชีพ เจ้าหน้าที่รับเงินแล้วบอกว่าจะส่งใบรับหรือบัตรสมาชิกให้ภายหลังแล้วเงียบหายไป

มีอยู่หนหนึ่งผมพบนักเขียนที่รู้จักเพียงคนเดียวในงานวันนักเขียน (คือ สันติ เศวตวิมล) ทำให้รู้สึกตัวว่านักเขียนต้องเขียนหนังสือ ไม่ใช่แค่ไปสังสรรค์หรือแค่มีชื่ออยู่ในสารบบของสมาคม

ดังนั้น ในกรณีที่เพื่อนนักเขียนเกิดจุดเดือดจนลบชื่อเพื่อนออกจากเฟซบุ๊ก จึงมีทางเดียวที่จะตรวจสอบได้คือเข้าไปดูรายชื่อเพื่อนและภาพโปรไฟล์ในแฟ้มของเขา แล้วก็พบด้วยความโล่งอกว่าชื่อและภาพของผมยังอยู่

ผมกังวลใจกับการถูก (หรือไม่ถูก) ลบชื่อออกจากความเป็นเพื่อนในโปรแกรมเฟซบุ๊ก เพราะในเวลาใกล้เคียงกันนี้ เพื่อนรุ่นหลานท่านหนึ่งได้ตอบความเห็นของผมกรณีตำรวจควบคุมฝูงชนฉีดน้ำสลายการชุมนุมของ “ประชาชนปลดแอก” เมื่อค่ำวันที่ 16 ตุลาคม ในเพจของเขาอย่างสุภาพว่า

“ขออนุญาตไม่ติดตามความเห็นท่านนะครับ”

สมองของคนอายุ 85 อาจจะช้าไปหน่อย กว่าผมจะตีความได้ว่าประโยคสุภาพข้างต้นหมายความว่าอย่างไร และกว่าผมจะกลับไปหาพบและลบออกก็หลายวันอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็สามารถลบได้โดยเรียบร้อย

จริงๆ แล้วความเห็นเรื่องปฏิบัติการของตำรวจครั้งนี้ เหมือน “มุมมอง” เลข 6 กับเลข 9 ยากที่จะตัดสินได้ว่ามุมไหนผิดหรือถูก

ความคิดเห็น (comment) ของผมก็คือ ผมเห็นว่า “ตำรวจไม่ได้ทำร้ายประชาชนจากการฉีดน้ำสลายการชุมนุม” ผมเห็นว่าคำ “ทำร้าย” มาจากผู้สนับสนุนม็อบ ผมเชื่อว่าม็อบในปี 2563 ไม่ต้องการยึดพื้นที่ ไม่ต้องการเผา และไม่ต้องการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือภาพและข่าวเจ้าหน้าที่ “ทำร้าย” ผู้ประท้วง

เช่นเดียวกับที่เกิดในฮ่องกง ฝรั่งเศส แคนาดา หรือในเกือบทุกเมืองของสหรัฐ

ผมเขียนแสดงความคิดเห็นไปตามความเชื่อส่วนตัวในฐานะที่เป็นอดีตตำรวจ ซึ่งมีเพื่อนนายตำรวจรุ่นน้องของผมต้องหาคดีอาญาและคดีการเมืองที่ยัง “ไม่รู้จบ” อีกหลายคน ผมคิดว่าตำรวจควบคุมฝูงชนควรมี “ภูมิคุ้มกัน” บ้าง

ในกรณีที่มีการชุมนุมประท้วง ตำรวจทำหรือไม่ทำอะไรก็โดนด่า โดนด่าทั้งขึ้นทั้งล่อง

นึกถึงคาถาของ Geneva Center for the Democratic Control of Armed Forces (DCAF) ที่ว่า “องค์กรตำรวจเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร และเป็นหน่วยงานเดียวที่ผูกขาดการมีอำนาจในการใช้กำลังภายในสังคมอย่างชอบธรรม”

อาจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทุกสังคมเห็นพ้องต้องกัน การปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชาชนถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยในประเทศ

ผมอาจจะอคติไปบ้างด้วยความเป็นอดีตตำรวจ แต่เราก็เห็นๆ กันอยู่แล้วว่า “คุณภาพของระบอบประชาธิปไตย” ของประเทศเราอยู่ในระดับไหน

ผมไม่ชอบเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขสาแก่ใจของ “แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์” ที่ได้สาดสีใส่ตำรวจ

ผมเสียดายการชุมนุมประท้วงที่มีคุณภาพของนักศึกษาและประชาชนส่วนใหญ่ เพราะผมรังเกียจและเกลียดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลายปีก่อน เมื่อผมเริ่มจับแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กมา “เล่น” ใหม่ๆ โดยยังไม่รู้และไม่ตระหนักถึงพิษสงของมันซึ่งมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ มีคำเตือนจากเพื่อนนักเขียนถึงมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามา

ผมเป็นมือใหม่คนหนึ่ง แต่คำเตือนจากนักเขียนมักจะเจือด้วยอารมณ์ขัน และตัวเขาเองก็ยัง “เล่น” มันอย่างไม่วางมือ ทำให้เราเชื่อครึ่ง/ไม่เชื่อครึ่ง แล้วผมก็ผลีผลามบอก unfriend เพื่อนนักเขียน 2 คนด้วยวาจาด้วยเหตุผลว่า “ผมไม่อยากเห็นเพื่อนทะเลาะกันด้วยเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง และไม่ชอบฟังการบริภาษ”

ต่อมาเมื่อเล่นเฟซบุ๊กไปนานๆ พบว่า ถ้าเราอยู่ในสังคมออนไลน์ เราต้องยอมรับสภาวะอันเป็นโทษมหันต์ของมันด้วย ถ้าเราไม่อยาก unfriend กับใคร เราก็อย่า add กับใครง่ายๆ

ผมโชคดีที่เพื่อนนักเขียนเข้าใจ เรายังเป็นเพื่อนพูดคุยกันในโลกแห่งความจริงเหมือนเดิม ราวกับว่าเราไม่เคยอยู่ในโลกเสมือน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า สังคมออนไลน์ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนเท่านั้น แต่มันยังมีอิทธิพลเหนือความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ในส่วนอื่นๆ ด้วย

ไม่เพียงแต่ทำให้เพื่อนขัดแย้งกันในทางความคิดเท่านั้น น่าเศร้าที่แม้แต่พ่อ-แม่กับลูก พี่กับน้องก็เป็นด้วย จนถึงกับมีคำกล่าวว่า “คำพูดในโลกออนไลน์ไม่เพียงแต่สร้างความเท็จเท่านั้น แต่มันบอกความคิดด้านมืดลึกๆ ของผู้พูดอีกด้วย”

ในสังคมออนไลน์ เราจำต้องเห็นภาพและข้อความที่เหยียบย่ำทำลายคุณูปการของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทั่วโลกแซ่ซ้องสรรเสริญ!

วันนี้จึงขอทบทวนการพิจารณาถึง “คาถา” สำคัญของมนุษยชาติ

“เสรีภาพเป็นสิทธิของมนุษยชาติ” กับ

“องค์กรตำรวจเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร และเป็นหน่วยงานเดียวที่ผูกขาดการมีอำนาจในการใช้กำลังภายในสังคมอย่างชอบธรรม”