ธงทอง จันทรางศุ | สถานการณ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

ธงทอง จันทรางศุ

การเดินทางไปเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานในระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเวลาสามวันสองคืน ทำให้ผู้ร่วมคณะเดินทางที่เป็นเพื่อนฝูงกันมานานกว่า 50 ปีมีเวลาที่จะพูดคุยกันได้สารพัดเรื่อง ในยามว่างจากการเที่ยวและการกินแบบไม่บันยะบันยัง เราพอมีเวลาเหลืออยู่ในขณะที่นั่งรถเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือเวลาที่นั่งอยู่เฉยๆ กับบ้านพักเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ตัวเองก่อนเข้านอน ได้คุยกันแบบนี้หลายยกครับ

คนแก่เกษียณอายุแล้วจะมีอะไรคุยกันได้สนุกมากไปกว่าการคุยถึงเรื่องวันคืนในอดีต เรื่องที่คุยกันไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไรหรอก เพียงแค่การละเล่นของเด็กในวัยของพวกเราตอนเรียนอยู่ชั้นประถมหรือชั้นมัธยม ก็ชวนให้ยิ้มกริ่มเมื่อพูดถึงอดีตอันหอมหวานเหล่านั้นแล้ว

ผู้ที่นั่งอ่านงานเขียนชิ้นนี้อยู่ ใครเคยเล่นหมากเก็บ เป่ากบ เล่นลูกหิน ห่วงเชลย หรือตั้งเตบ้าง

ขอให้รับสารภาพมาเสียโดยดีก่อนที่เราจะลงไม้ลงมือกัน

การละเล่นของเด็กยุคผมนั้นต้นทุนถูกแสนถูก อุปกรณ์ก็หาเอารอบตัวนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน หนังยางหรือที่เรียกว่าหนังสติ๊ก ของแบบนี้ไม่ต้องซื้อต้องหา และมีอยู่ทั่วไปในบ้านของเราเอง จะต้องลงทุนนิดหน่อยก็ตรงห่วงยางสำหรับเล่นห่วงเชลย หรือลูกหินสำหรับเล่นลูกหิน ซึ่งตอนนี้ก็นึกไม่ออกแล้วว่าเล่นกันอย่างไร

จำได้เลือนรางแต่ว่า ก่อนเล่นลูกหินกับเพื่อนต้องทำหลุมขนาดเล็กอยู่ที่กลางลานดินหนึ่งหลุมเป็นประเดิม วิธีทำหลุมที่ว่านี้ ให้ใช้อุปกรณ์ที่มีมาแต่กำเนิดคือส้นเท้าเหยียบลงไปบนดินที่อ่อนนุ่ม พยายามกดน้ำหนักให้ดินเป็นหลุมเว้าลงไป แล้วหมุนส้นเท้านั้นไปโดยรอบเพื่อให้ทำหน้าที่คล้ายสว่านและหลุมจะได้มีขนาดกว้างขึ้นจนเป็นที่พอใจ

ที่พูดมาถึงเพียงนี้ถ้าผิดพลาดก็ขอพระอภัยมณีด้วย เรื่องมันนานแล้วจริงๆ ถ้าใครจำอะไรได้มากกว่านี้ก็เพิ่มเติมความรู้มากันได้นะครับ

พอเราพูดคุยถึงเรื่องการละเล่นของคนยุคเราให้เป็นที่เฮฮาในระหว่างนั่งรถจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งกันพอสมควรแล้ว รายการสลับฉากก็ต้องเป็นเรื่องของการคุยถึงเรื่องหลานๆ ของแต่ละคนซึ่งตัวเล็กตัวน้อยเต็มที อายุเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 10 ขวบ

เพราะถ้าเป็นรุ่นลูกของเพื่อนผมก็ซัดเข้าไปอายุประมาณ 40 ด้วยกันทั้งหมดแล้ว

มีการตั้งกระทู้ถามว่า เด็กสมัยนี้เขาเล่นอะไรกันบ้าง บรรดาคุณปู่-คุณย่า คุณตา-คุณยายที่ไปด้วยกันก็พึมพำบอกว่าอธิบายไม่ถูก รู้แต่ว่ามันอยู่ในคอมพิวเตอร์ เป็นเกมอะไรสักอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่ดูดวิญญาณของลูกหลานเราก็ไปอยู่ในหน้าจอวันละหลายชั่วโมง

คนแต่งตำราเลี้ยงเด็กคงพูดได้อีกหลายสิบหน้ากระดาษว่าเป็นการดีหรือการเสียที่ปล่อยให้ลูกหลานของเราอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์แบบนั้น

แต่สำหรับผมและเพื่อน เมื่อชีวิตของเราต้องวุ่นวายและหนีไม่พ้นกับการใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลทำนองนี้ ทางรอดของเรามีเพียงอย่างเดียวคือเรียกหลานมาช่วยทำให้

ผู้ใหญ่อย่างผมต้องพึ่งลูกหลานมาช่วยชีวิตอย่างเดียว

เมื่อสองปีก่อนผมซื้อคอมพิวเตอร์มาเครื่องหนึ่งสำหรับทำงาน แค่จะเปิดจะปิดคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งก็ต้องให้หลานมาสาธิตให้ดูแล้วจดเอาไว้เป็นลำดับขั้นตอน ขณะที่หลานชายของผมสามารถกดปุ่มโน้นปุ่มนี้อย่างรวดเร็วต่อเนื่องกันแล้วก็สงสัยเป็นกำลังว่าทำไมลุงหน่าถึงจำไม่ได้ ถึงกับต้องจดลงกระดาษ

เห็นไหมครับว่า ทักษะของคนแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน วันเวลาที่เดินหน้าไปโดยไม่หยุดยั้งในโลกใบนี้ทำให้คนต่างรุ่นต่างอายุมีประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน

ลองดูตัวอย่างอีกสักเรื่องหนึ่งก็ได้

เอาเรื่องใกล้ตัวผมมาพูดดีกว่า เรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูล สมัยผมเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ในห้องสมุดขนาดใหญ่ของโรงเรียนมีหนังสือเอ็นไซโคลพีเดียชุดใหญ่สองยี่ห้อ ชื่อบริตานิก้ากับอเมริกาน่า

สองชุดนี้เป็นหนังสือที่ฝรั่งอังกฤษกับฝรั่งอเมริกาทำแข่งขันกัน หนังสือแต่ละชุดประกอบด้วยหนังสือปกแข็งอย่างดีจำนวนยี่สิบกว่าเล่ม แลดูโก้หรูหราสุดใจ

ข้างในเล่มหนังสือก็มีความรู้หลากหลายสารพัดไว้ให้ค้นคว้า จำได้ว่าราคาแพงเอาการอยู่ แพงเกินกว่าที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครองจะซื้อไว้ให้ลูกใช้ประจำที่บ้านของแต่ละคน

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนต้องซื้อเอาไว้เพื่อให้บริการในห้องสมุด

ถามว่าเวลานี้เอ็นไซโคลพีเดียแบบที่ว่ายังรอดชีวิตอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนไหนบ้างไหม

คำตอบคือไม่มีเหลืออยู่เลย ไปตามหาที่ร้านเจ๊กขายขวดก็ไม่เหลือเลย

ถามต่อไปว่าทำไม ก็จะมีคำอธิบายว่าความรู้ยุคนี้กว้างใหญ่ไพศาลเสียยิ่งกว่าที่จะมีหนังสือแบบนี้ของประเทศไหนอะไรก็แล้วแต่ จะสามารถนำมาเก็บรวบรวมประมวลไว้ในที่เดียวกันได้ แถมความรู้นั้นก็ไม่ได้สถิตนิ่งงันอยู่กับที่ด้วย เพราะความรู้ในสารพัดเรื่องเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดอยู่เสมอ

ผู้คนสมัยนี้จึงใช้เครื่องมืออย่างอื่นในการหาความรู้

ตัวอย่างหนึ่งก็คือการค้นคว้าหาข้อมูลใน Google หรือที่มีคนเรียกขานด้วยความคุ้นเคยว่า อากู๋

ใครจะถามอะไรขึ้นมาอากู๋ก็ตอบได้หมด ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

หนังสือแบบที่ขายเป็นเล่มๆ อย่างโบราณ มีแต่คนรุ่นผมนี่แหละครับที่ไปซื้อมาให้รกบ้าน คนจำนวนไม่น้อยใช้วิธีซื้ออีบุ๊กหรือเข้าไปค้นในสารพัดเว็บไซต์ ใช้เพียงไม่กี่นาทีเขาก็ได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกันกับผมนั่นเอง

คนยุคผมจำได้ดีว่าในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เรียกว่า 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลยุคนั้นตามล่าตามยึดหนังสือที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เอาไปเผาทำลายเสียเป็นอันมาก ใครมีหนังสือจำพวกนี้ในบ้านก็ต้องซุกซ่อนเพราะอาจทำให้ผู้เป็นเจ้าของต้องเดือดร้อนได้

แล้วมาถึงทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้างเล่าครับ

หนังสือมาในลักษณะที่เป็นรูปเล่มอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ ถ้าอยากอ่านหนังสือเรื่องอะไรที่มีคนหวงห้ามกีดกัน ความรู้สึกว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุก็เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นในใจผู้คนแล้ว เขานั่งอยู่หน้าจอโทรศัพท์หรือจอคอมพิวเตอร์ประเดี๋ยวเดียวก็ได้อ่านแล้ว

เอาฝ่ามือไปปิดไปครอบไม่ไหวหรอกครับ

การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนยุคปัจจุบันที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของเราเป็นยุคสมัยที่ไม่มีพรมแดน

ความฝันของคนแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกันครับ

ถ้าเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์แบบผมก็ต้องนึกว่าการมีอาชีพประจำเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต ยิ่งถ้าเป็นข้าราชการแล้วล่ะก็วิเศษเลย แต่เด็กสมัยนี้จะมีกี่คนหนอที่ยังคิดอย่างนั้น ครั้นเราจะบอกว่าเขาคิดผิดขณะที่เราคิดถูกตลอดกาลนานเทอญ ก็ดูจะเป็นการโอ้อวดเกินความเป็นจริง

มีคนบอกผมว่า คนรุ่นผมหลายคนมีความสุขกับอดีตที่งดงาม และฝังใจอยู่กับเรื่องเหล่านั้นมิรู้วาย ในขณะที่เด็กที่เรียนหนังสืออยู่ในชั้นมหาวิทยาลัยก็ดี ในโรงเรียนมัธยมก็ดี เขามีความใส่ใจและความกังวลเป็นพิเศษกับอนาคตของเขาว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

ผมไม่ได้เก่งกล้าสามารถพอที่จะบอกได้ว่า ในยามที่อุณหภูมิของบ้านเมืองขึ้นสูงจนปลอดภัยแตกเช่นวันที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ใครควรทำอะไรและอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ผมพยายามทำตามกำลังสติปัญญาในวันนี้คือ ชี้ให้เห็นและยกตัวอย่างให้ดูว่า เรากำลังพบกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพียงใด

อีกสักสิบปีข้างหน้า ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมว่าจะหยิบบทความของตัวเองวันนี้มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง แล้วนึกถอยหลังไปว่า สิบปีที่ผ่านมาอะไรเกิดขึ้นกับเมืองไทยของผมบ้าง

ในวันนั้น ผมจะรู้สึกอะไรอยู่ในหัวใจบ้าง ยังเดาไม่ถูกครับ

ถ้าผมยังมีแรงเขียนหนังสือได้ รออ่านนะครับ